อยากมีลูกมากแต่กลัวแฟนมีลูกไม่ได้เพราะปัญหาสุขภาพ

Q.

ผมมีเรื่องทุกข์ใจครับ พี่อ้อย เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกับแฟน เราเริ่มคุยเรื่องแต่งงาน แค่เริ่มมันก็ไม่ราบรื่นแล้ว ผมมีความรู้สึกสองจิตสองใจว่าจะแต่งหรือไม่แต่งดีสองสามเดือนให้หลัง เราทะเลาะกันตลอดแบบสามวันดีสี่วันไข้ ที่เราต้องพูดถึงเรื่องแต่งงาน เพราะเขามีปัญหาเรื่องสุขภาพ มีลูกยาก เหลือรังไข่แค่ข้างเดียว หากเราแต่งงานไปแล้ว ไม่มีลูก ตัวผมเองคงไม่มีความสุขแน่ๆ เพราะผมอยากมีลูกจริงๆ จนเราได้คุยกันกับญาติฝ่ายหญิงว่างั้นหมั้นก่อน แล้วเริ่มกระบวนการทำ IVF ไปปรึกษาหมอ ทำไปทะเลาะกันไป ด้วยความที่ฝ่ายหญิงอยากแต่งงาน เขาเลยรู้สึกน้อยใจว่าเหมือนเราต้องการลูกมากกว่าเขา จนตอนนี้ผมยังอยากทำเหมือนเดิม ไม่ได้อยากเปลี่ยนความต้องการที่ตั้งไว้ หากไม่มีลูกก็ต้องจบด้วยการแยกทางกันแน่ๆ จนเขารอไม่ไหว ผมอยากถามพี่อ้อยว่า ผมควรทำอย่างไรครับ ลึกๆ แล้วพอผมนึกถึงอนาคตที่เราอยู่กับเขาแล้วไม่มีลูกก็ดูไม่ตอบโจทย์ เหมือนผมก็ไม่ได้รักเขาสุดหัวใจขนาดนั้นจริงๆ

A.

“ปล่อยเขาไปเถอะน้อง” นี่คือประโยคแรกที่พี่อุทานเลย หลังจากอ่านคำถามของน้องจบ ยังไม่ต้องนับเรื่องมีลูกหรือไม่มีลูก แค่น้องบอกว่า “ไม่ได้รักเขาขนาดนั้น” ก็เพียงพอให้ความสัมพันธ์จบลงแล้ว งานแต่งงานไม่สำคัญเท่าชีวิตหลังแต่งงานค่ะ ความเบื่อทำงานทุกวัน บางคู่ที่รักกันมากๆ ยังยากจะประคองความรักในยุคที่มีสิ่งล่อตาล่อใจมากมายขนาดนี้ นับประสาอะไรกับความรู้สึกที่ไม่ค่อยรักเท่าไหร่ ชีวิตคู่จะเดินไปได้ไกลถึงไหนหรือ “การแต่งงาน” ไม่ใช่การรับใบปลิวค่ะ รับๆ ไป แล้วไปทิ้งเอาข้างหน้า แต่งๆ ให้จบไป ข้างหน้าค่อยว่ากัน หัวใจคนนั้น รักได้และเจ็บเป็น

วันนี้ไม่แปลกเลยที่แฟนน้องจะรู้สึกน้อยใจ เพราะผู้ชายคนหนึ่งรักในมดลูกมากกว่าตัวเธอ เราไม่ได้เลือกกันเพราะรักกัน ผู้หญิงคนนี้มีค่า มีผลต่อใจ อยากหลับนอนและตื่นมาด้วยกัน อยากหายใจอยู่ใกล้ๆ กัน เปล่า … แค่อยู่ที่เธอมีลูกได้เปล่า ถ้าไม่มี ก็ไร้ประโยชน์ที่จะอยู่ด้วยกัน ถ้าเป็นแบบนั้น ทำผู้หญิงคนหนึ่งท้อง แล้วแต่งงานทีหลังดีกว่าไหม เพราะเหมือนเรากำลังตัดสินคุณค่าของผู้หญิงคนหนึ่งแค่ว่าเขาเป็นแม่ได้ไหม ไม่ได้บอกว่าสิ่งที่น้องตั้งเป้าหมายไว้นั้นผิดนะคะ แต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่าคิดแค่ว่า เราคือศูนย์กลางจักรวาล เป็นผู้เลือกได้แต่เพียงผู้เดียว ถ้าใครคนไหนไม่ได้ดั่งใจเรา เขาผิด ทำไมทำตามสิ่งที่เราขอไม่ได้ ที่จริงการหมั้นไว้ก่อนคล้ายๆ การแทงกั๊ก เข้าทำนองไม่ค่อยรักเท่าไหร่แต่ “หมั้น” เพื่อจองที่ไว้ แล้วดูอีกทีว่ามีลูกได้ไหม ถ้าไม่ได้ก็ไม่ต้องแต่งฯ มาถอนหมั้นเอาทีหลัง เราคิดถึงหัวใจเขาน้อยไปหน่อยหรือเปล่า ลองถามตัวเองดูดีๆ อีกทีนะคะ

ความรักเป็นเรื่องคนสองคนที่ต่างรักและเลือกกัน ไม่ใช่น้องคนเดียวที่เลือกได้ วันนี้ฝ่ายหญิงตัดสินใจยุติความสัมพันธ์ ไม่ใช่แค่รอไม่ไหว แต่คงรู้สึกเสียใจที่คนที่เธอรักตัดสินเธอด้วยเรื่องนี้ หมั้นๆ ไปเพื่อดูว่าเธอผ่านการทดสอบในการผลิตมนุษย์ไหม น้องคะ การที่ผู้หญิงคนหนึ่งมีลูกยาก ไม่ใช่ความผิดของเธอแต่เพียงผู้เดียว เราเองก็มีส่วน การป้ายความผิดให้เธอทั้งหมด เอาจริงๆ เราก็ไม่ได้น่ารักมากพอจะเป็นสามีที่ดีเช่นเดียวกัน เธอเลยเลือกทางที่เธอไม่ต้องต่อสู้หรือพิสูจน์ตัวเองเพื่อรอความรักจากผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งวัดคุณค่าของเธอแค่การตั้งท้องอีกต่อไปแล้ว

 

พี่เข้าใจความรู้สึกนี้ดีค่ะ ต่อให้ตัวเองร่างกายสมบูรณ์ เคยมีลูกแล้วแท้งไป เขาก็ไม่มาอีกเลย มุมเล็กๆ ในใจ คิดตำหนิตัวเองเสมอว่า เธอช่างเป็นผู้หญิงที่ไม่สมบูรณ์ แค่เป็นแม่เธอยังเป็นไม่ได้เลย แต่สามีพี่บอกเสมอ เราไม่ได้มีใครเพิ่ม แต่โชคดีที่เรายังไม่มีใครขาดเลยนะ เรายังอยู่ข้างๆ กัน กอดกัน แค่นี้ก็ดีที่สุดแล้ว ไม่ว่าประโยคเหล่านี้จะเป็นแค่ประโยคปลอบใจหรือเปล่า แต่มันทำให้อีกฝ่ายรู้สึกดีขึ้นจริงๆ นะคะ เพราะถ้าคนเราเลือกได้ เราก็อยากเลือกเป็นเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดของตัวเอง บางเรื่องนอกเหนือการควบคุม ความสุขไม่ได้อยู่ที่เรามีอะไร แต่อยู่ที่เรารู้สึกยังไงกับสิ่งที่เรามี รู้ว่าคนที่เรารักมีรังไข่ข้างเดียว น้องไม่ห่วงแฟนเหรอ อาการเป็นยังไง เจ็บปวดตรงไหนหรือเปล่า เราจะดูแลเธอยังไงให้มีความสุขกับร่างกายที่อวัยวะบางส่วนไม่สมบูรณ์ ไม่ใช่ด้อยค่าสิ่งที่เธอเลือกไม่ได้ แล้วมาตัดสินว่า ฉันไม่เอาเธอ เพราะเธอมีลูกไม่ได้

— DJ อ้อย นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล

คอลัมน์ หัวใจไม่จนมุม

Hug magazine 

“พี่ดีใจกับแฟนน้องจริงๆ นะคะที่ไม่ได้แต่งงานกับน้อง ไม่อย่างนั้นเธออาจจะต้องรู้สึกไร้ค่า ทั้งที่เป็นคนข้างๆ น้อง การที่น้องบอกว่า ถ้าไม่มีลูก น้องต้องไม่มีความสุขแน่ๆ แต่พี่กลับรู้สึกว่า ที่น้องไม่มีความสุข เพราะน้องไม่ได้รักเธอเท่าไหร่ อยู่ๆ กันไปก็กลายเป็นความฝืนใจกันเปล่าๆ คนสองคนรักกัน กอดกัน ใส่ใจกัน และสร้างครอบครัวที่อบอุ่นพร้อมพอเพื่อรอให้ลูกมาเกิด แค่ความหวังของน้องผูกความสุขไว้กับสิ่งที่อยู่ในอนาคตเกินไป เกิดมีลูก แล้วลูกดื้อหรือซน ไม่ได้ดั่งใจ น้องจะโทษภรรยาอีกไหมที่มีลูกแล้วดื้อขนาดนี้ ถ้าจะเป็นแบบนั้นจริงๆ แยกย้ายตอนนี้ ย่อมดีต่อทั้งสองฝ่าย เอาไว้เมื่อไหร่ที่น้องเจอใครสักคนที่รักกันแบบไม่ว่าเธอจะเป็นยังไง ฉันก็จะรักเธอ เมื่อนั้นค่อยแต่งงาน พี่ว่าน่าจะมีความทุกข์ใจน้อยที่สุดค่ะ”

— DJ อ้อย นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล


PTSD แท้จริงคืออะไร

PTSD แท้จริงคืออะไร

โรค PTSD ชื่อที่เริ่มคุ้นหูคุ้นตาจากข่าวสารและสื่อต่างๆ แต่จะมีใครเข้าใจถ่องแท้บ้าง แล้วรู้ไหมว่ามันเกิดได้อย่างไร ผศ.นพ. ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเป็นผู้มาอธิบายโรคดังกล่าวให้เข้าใจกันง่ายขึ้น และเตือนให้ตระหนักว่าโรคนี้ใกล้ชิดคุณมากกว่าที่คิด

 

ความเข้าใจเรื่องจิตเวช

“ต้องเข้าใจว่ามนุษย์แต่ละคนคิดต่างกัน มีเหมือนกันและมีต่างกัน แต่ไม่ค่อยเผื่อใจ ชอบคิดว่าของเราคือใช่ ชอบมองหาถูกผิด แน่นอนว่าทุกคนอยากถูก เช่นอยากเข้าใจคนอื่น ถ้าเราเป็นเขาจะทำยังไง เขาต้องคิดอย่างนี้ ซึ่งมันอาจถูกและอาจผิด แต่บางคนไม่รับตรงนี้ ไปตัดสินเลยว่าเขาเป็นคนดี คนเลว อย่างหลายข่าวในสังคม สักพักมีหลักฐานใหม่มา แต่ตอนตัดสินคุณใส่อารมณ์ไปแล้ว มันไม่ใช่พื้นที่ของความเข้าใจแล้ว”

PTSD คืออะไร

“PTSD ย่อมาจาก Post Traumatic Stress Disorder

– Post หมายถึงเกิดทีหลัง

– Traumatic ก่อนนี้ภาษาไทยใช้คำว่าอุบัติเหตุ แต่อุบัติเหตุเราจะนึกถึงบาดเจ็บกายภาพ ในภาษาจิตวิทยาเรียกว่าเหตุการณ์สะเทือนขวัญ กำหนดไม่ได้ว่าระดับไหนถึงเรียกสะเทือนขวัญ มันเป็นอัตวิสัยของแต่ละคน

– Stress Disorder เป็นคำทางจิตเวช บอกถึงระดับความเครียดที่ผิดปกติ

“การเป็น PTSD จึงต้องดูที่ความผิดปกติ ยกตัวอย่าง คนที่เจอสึนามิ เกิดความผวา ได้ยินอะไรก็วิ่งแล้ว สองสามวันแรกไม่คงที่ กลัว กังวล บ้านหายไปต่อหน้าต่อตา คนที่รักจากไปกะทันหัน เขาเจอเหตุไม่ปกติ ดังนั้นสิ่งที่เขากระทำจึงเป็นเรื่องปกติในเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ จะเพี้ยน บ้า สติแตกกรีดร้อง วงการแพทย์มองว่าปกติ

“ไม่ต้องระบุว่าร้องดังหรือเบา หรือควรวิ่งไหม ทุกคนมีอาการต่างกันในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือติดในห้างที่มีคนกราดยิง อาจแบ่งอาการตอบสนองได้หลายอย่าง เช่น สู้ หาอาวุธต่อต้านกลับ อาจหนี หาที่ซ่อน อาจนิ่งไปเลย ทำอะไรไม่ถูก ช็อค แต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ทั้งหมดนั้นไม่ใช่อาการป่วย เพราะกำลังสะเทือนขวัญ หรือผ่านเหตุกราดยิงไปหนึ่งสัปดาห์นอนไม่หลับเลย หมอให้ยาช่วยนอนไปไม่ผิด ไม่ได้มองว่าคุณป่วย ให้ยาช่วยปรับจนหายรวนเท่านั้น

“แต่ PTSD จะผิดปกติเมื่อเรื่องจบลงแล้ว และผ่านมาสักระยะหนึ่ง มีอาการที่ควบคุมไม่ได้ ระบบการทำงานของสมองเชื่อมต่ออารมณ์ และอารมณ์ลบเชื่อมแรงกว่าบวก อารมณ์กลัวเชื่อมมากกว่าอารมณ์สุข เป็นไปตามธรรมชาติเพื่อความอยู่รอด มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะถ้ามนุษย์อยู่ในโหมดเอาตัวรอดมากเกินไป ความเห็นอกเห็นใจจะไม่มี

“คนเจอเหตุร้ายกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ อาจรู้สึกแย่ ไม่กล้าไปในที่ชุมชน หรือได้ยินเสียงแล้วตกใจง่าย แต่ช่วงแรกย้ำอีกทีว่ามันปกติ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของสิ่งมีชีวิตคือการอยู่รอด การกลัวหรือวิตกกังวลว่าจะทำยังไงให้รอด กลัวเพราะรักชีวิต จึงปกติ ไม่มีระบบนี้มนุษย์อาจสูญพันธ์แล้ว แต่ในบางคนเกิดพัง ไม่สามารถปรับกลับระบบเดิมได้ ผมใช้คำว่าหลังจากวันนั้นชีวิตไม่เหมือนเดิมอีกเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกราดยิง โดนพ่อตบหน้า หรือคนในบ้านล่วงละเมิดก็ตาม อย่างที่บอกการสะเทือนขวัญของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางเรื่องสำหรับคนอื่นดูเล็ก แต่ถ้าเป็นเขา มันใหญ่มาก”

 

PTSD ในสังคมไทย

“เคสหนึ่ง เด็กผู้หญิงเจอเพื่อนที่โรงเรียนรุมแกล้ง จับหัวกระแทกพื้น รุมทำร้าย เขาขวัญเสียไม่อยากไปโรงเรียนอีก ฟังดูเด็กผู้หญิงคนนี้ป่วยหรือยัง ในตอนนั้นยังไม่ป่วย แต่เมื่อผ่านไปเป็นปี ย้ายโรงเรียนแล้ว ก็ยังไปโรงเรียนใหม่ไม่ได้ เข้าที่ชุมชนไม่ได้ เรียนติวเตอร์ไม่ได้ แค่ยืนอยู่ก็รู้สึกว่าทุกคนจะเข้ามาทำร้าย มีแต่ภาพเก่าผุดขึ้นมาในหัวทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจคิด ไม่อยากคิด นั่นเป็นเพราะระบบประสาททำงานมากเกินไป ดึงเหตุการณ์ในอดีตมาคอยย้ำเตือนโดยที่เจ้าตัวไม่ต้องการแต่ควบคุมไม่ได้

“มนุษย์เราเวลานึกถึงเรื่องไม่ดีย่อมมีอาการแน่ละ เป็นความสอดคล้องของร่างกาย จิตใจ ระบบประสาท เช่นนึกถึงสิ่งมีความสุขก็รู้สึกเบาๆ หรือเจออะไรขยะแขยงก็อยากอ้วกขนลุก ไม่แปลก คือปกติ แต่ PTSD มีสิ่งเหล่านี้สูงมาก กะทันหัน ทรมาน และคุมไม่ได้เลย พอเจ้าของร่างกายคุมไม่ได้ ชีวิตยากที่จะอยู่ ทำอะไรก็เสียสมาธิ นึกถึงแต่เรื่องแย่ๆ

“โรคนี้พบเห็นชัดเจนช่วงที่ทหารกลับจากสงคราม ยังหลอน คิดวนเรื่องสงคราม บางครั้งกลัว บางครั้งรู้สึกผิด ฝันเห็นเพื่อนที่ตายไป หลายคนติดเหล้า เป็นโรคแทรกซ้อน จนค้นพบว่าจุดเริ่มต้นคือ PTSD จึงเกิดการตื่นตัวที่อเมริกาว่าจะรักษาอย่างไร ต่อมาถึงพบว่าการเกิด PTSD ไม่จำเป็นต้องเหตุการณ์ใหญ่ แค่การทำร้ายร่างกายก็เกิด PTSD ได้ ในบ้านบางคนไม่ต่างกับสนามรบ พ่อแม่ทะเลาะตบตี หรือรุนแรงใส่ก็เป็นเหตุได้ หลายคนคิดถึงขั้นไม่อยากอยู่ เพราะทนสิ่งเหล่านี้ไม่ไหว ระบบภายในสมองถูกกระตุ้นมากไป เหมือนอยู่ในเหตุการณ์ตลอดทั้งที่ผ่านมาเป็นปี

“เคสที่เล่าไป การที่เด็กคนหนึ่งไปโรงเรียนไม่ได้ จะอยู่ยังไงต่อ ชีวิตที่ไม่มีการศึกษา ถึงยุคนี้จะมีการศึกษาทางเลือกมากมาย แต่เขาก็พังระดับหนึ่ง สุดท้ายคนไข้เข้ามหา’ลัยได้จริง แต่ต้องผ่านการรักษาอยู่หลายปี ทั้งที่เหตุการณ์เกิดตั้งแต่ประถม ซึ่งตอนนั้น พอไปถึงโรงเรียนเขาจะยังไม่เข้าห้องเรียน แต่หลบในห้องน้ำแล้วนั่งรอจนแปดโมงค่อยเข้าเรียน พักเที่ยงกินข้าวเสร็จก็หลบมาอยู่ในห้องน้ำ เพราะกลัวถูกแกล้ง น่าสงสารมาก

“นอกจากแบบนี้ อาจพบว่ามีอาการฝันร้าย เรื่องนั้นวนเวียนอยู่ในสมองเวลานอน หรือเป็นเรื่องราวรุนแรง ย่ำแย่ ทุกข์กับสภาพนี้ตลอดเวลา อยู่อย่างทรมาน บางรายกลบสิ่งเหล่าด้วยการทำอะไรที่รุนแรงกว่าเดิม บางรายเสียผู้เสียคนไปเลย ติดยาเสพติด อยู่กลุ่มแก๊งทำอะไรแรงๆ เพื่อกระแทกอารมณ์ ใช้ชีวิตเสี่ยงๆ หรือใช้เรื่องเพศมากลบ เด็กวัยรุ่นที่มีปัญหาทางพฤติกรรม ลึกลงไปบางทีเขาอาจมีปัญหาทางจิตใจที่ซับซ้อนมากก็ได้ ที่ทำลงไปก็เพื่อกลบความรู้สึกเหล่านั้น


“มีเคสหนึ่งที่เริ่มจาก PTSD ตามด้วยซึมเศร้า ต่อมาคืออยากตาย เป็นเด็กผู้หญิงระหว่างเดินทางกับน้องชาย เกิดอุบัติเหตุ เห็นน้องชายเสียชีวิตต่อหน้าต่อตา เขารู้สึกแย่ที่ช่วยไม่ทัน มีแต่ภาพน้องเลือดท่วมหลอนในหัวตลอดเวลา คิดแต่ว่าทำไมไม่ตายตามน้อง ไปเรียนหนังสือไม่ได้ต้องอยู่แต่ในบ้าน เวลาเห็นสะพานหรือหน้าต่างก็อยากกระโดด อยากทำให้ตัวเองตาย พอกลับมามีสติก็รู้สึกกลัวว่าถ้าเผลอคงตายไปแล้ว หรือทำไปแล้วแต่เพื่อนมาช่วยไว้ทัน เหมือนมีอะไรมาดึงให้ไปตายตลอดเวลา

“ถ้าเชื่อตามไสยศาสตร์คงมองว่าเป็นวิญญาณพยาบาท ที่จริงเป็นเพราะสมองของเขาคิดอยากยุติความทรมานเนื่องจากประสาทถูกกระตุ้นมากเกินไป ทั้งนี้ไม่ได้เกิดกับทุกคนที่ญาติเสียแล้วอยากตายตาม เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน ปัจจัยที่ส่งผลจึงไม่เท่ากัน”

ควรช่วยอย่างไร

“PTSD ไม่ได้เป็นแล้วเดี๋ยวดีขึ้นเอง ต้องตระหนักในใจด้วยว่าผู้ที่อยากช่วยเหลือควรเข้าใจสถานการณ์ของเขาให้มากพอ พ่อแม่บอก ‘สู้ๆ นะลูก ไม่เป็นไรหรอก อย่ามัวแต่นั่งร้องไห้ ร้องไห้ไม่ช่วยอะไร’ มันเป็นความอยากของเราล่ะ คุณต้องใจเย็น ปฏิบัติอย่างศรัทธาว่าเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีศักยภาพ เขาไม่ได้อยากทุกข์เช่นกัน มันอยู่ตรงกลางระหว่างเฉยเมยไม่สนใจกับการอยากช่วยเยอะเกินไป ถ้าถามในเวลาที่เจ้าตัวไม่พร้อมก็จะสร้างความอึดอัด เหมือนโดนซักในเวลาถูกข่มขืนว่ารู้สึกยังไงถึงไหน มันแย่นะ

“อยากช่วยเขาเป็นความตั้งใจดี แต่ในแง่หนึ่งก็สื่อว่าคุณกำลังผิดปกติ สมมติเราติดในห้างโคราช มีคนช่วยออกมาได้ เขาพยายามใช้ชีวิตต่อไป อาจพักวันสองวัน อยากกลับไปปกติ แต่มีคนมาบอกว่าสงสาร อยากช่วยบำบัด ขอสัมภาษณ์หน่อย มันก็เยอะไป เพราะฉะนั้นเรื่องช่วยเหลือแล้วแต่ความต้องการของเขา คุณอยากช่วยเพราะคิดว่าเขาผิดปกติ บางครั้งไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการก็ได้ เขาอาจอยากสู้ปัญหาดูสักพักก่อน คนไทยใจดีมีเมตตา แต่ต้องประเมินด้วยว่าการอยากช่วยเหลือของเรา แค่อยากช่วยเพื่อสนองความต้องการของเราหรือเปล่า

“สมัยก่อนเคยเชื่อว่า ถ้าคนประสบเหตุมาพูดคุยเล่าเรื่องได้ก็ไม่น่าจะคาใจ และจะไม่เกิด PTSD จึงพยายามทำกลุ่มให้ผู้ประสบภัยมาเจอกัน แลกเปลี่ยนความรู้สึกกัน ปรากฏว่าได้ผลแค่ในบางคน มีคนที่ไม่ได้อยากเจอใคร อยากทำใจเงียบๆ ดังนั้นกลับไปที่หลักการเดิม มนุษย์ไม่เหมือนกัน ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว วิธีที่พ่อแม่โอเค ลูกไม่โอเคก็มีครับ”

ภายนอกปกติแต่ภายในพังทลาย

“เขาจะสั่งให้ตัวเองต้องปกติ ถ้านั่งสงบเมื่อไรข้างในเขาเจ็บปวดมาก บางคนเจออะไรก็เฉยชา แต่ใครจะรู้ว่าวัยเด็กเขาอาจยับเยินมากจนแน่นิ่งไปเลย ดังนั้นสิ่งที่ควรเรียนรู้ทางจิตวิทยาคืออย่าเพิ่งยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งที่คิดหรือเข้าใจ มันใช่แบบนั้น ไม่ใช่โจทย์ที่เราต้องพยายามไปคิดคำตอบให้ถูกต้อง

“ทุกคนมีเหตุผลของตัวเอง สมมติอยู่บ้านที่พูดอะไรไปก็โดนด่า คงไม่มีใครอยากพูดอะไร หรือพ่อบอก ‘อย่าคิดมากสิ ทำตัวอ่อนแอเอง เมื่อไรจะโต หาอะไรทำสิ อย่ามัวแต่นั่งเฉยๆ’ จริงๆ พ่อห่วงนะ แต่ใช้วิธีแก้ความทุกข์ไม่ถูก เขาเลยไม่กล้าพูดอะไร แต่ถ้าให้ผมบอกว่า คุณต้องกล้าสื่อสารสิ ก็เหมือนผมไปสั่งเขาอีกทีหนึ่งด้วยเช่นกัน เพราะผมยังไม่ทันเข้าใจเลยว่าเขาติดอยู่ตรงไหน ถึงต้องมีอาชีพหรือหน่วยงานที่ทำด้านนี้แล้ว

“การเป็น PTSD ไม่ได้ตอกย้ำว่าคุณเป็นโรคจิต แต่เป็นการระบุถึงปัญหา จึงช่วยเหลือได้ถูกต้อง ถ้าสงสัยหรือเอะใจ ลองคุยกับเขา หรือมาคุยกับหมอ ไม่ต้องกลัวหมอจะยัดเยียดโรคให้ หมอก็งานเยอะอยู่แล้ว ไม่ได้อยากเพิ่มงาน โรคนี้ทุกข์มาก ค่อยๆ ชวนมารับการรักษา หรือติดต่อสายด่วนได้ การกินยาช่วยให้อาการทุเลาลงระดับหนึ่ง อารมณ์จะไม่แปรปรวน หลอนน้อยลง ความเศร้าไม่ซึมลึก พอประคับประคองไปได้ เมื่อรักษาแล้วยังจำได้นะ ยังรู้สึกแย่นะ แต่เราไม่ป่วย ไม่หลอน อาจพูดว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่แย่ที่สุดในชีวิต แต่มันจะเป็นแค่ความจำ ไม่ได้เป็นอาการอีกแล้ว

“การพบหมอไม่ใช่การรับฟังที่คุณพูดชั่วโมงหนึ่ง หมอนั่งฟังอย่างเดียว เพราะคุณจะวนแต่เรื่องเดิม การคิดแบบเดิมจะให้ผลแบบเดิม สิ่งที่เราต้องการคือการคิดใหม่ การรับฟังในที่นี้ ฟังเพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ว่ามีเหตุอะไร ส่วนอดีตที่ว่าใครทำร้ายคุณ มันเปลี่ยนคนคนนั้นไม่ได้ ถ้าจะเปลี่ยน คือการคิดว่าจะทำอย่างไรกับชีวิตต่อไป ที่มาหาหมอคือต้องการแนวคิดใหม่ การรับฟังเพื่อรู้ว่าคุณทุกข์ มีอาการแบบนี้นะ หมอจะเสนอทางแก้ปัญหา อาจทั้งทางใจ ทางการแพทย์”

 

ความอายของคนไทยกับโรคทางจิตเวช

“ปัจจุบันคนเข้าใจมากขึ้น แต่ที่ยากคือ สมมติเกิดในวัยรุ่น คนที่พามาก็คือคนก่อเหตุ ผู้ปกครองไม่อยากคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำกระทบกระเทือนใจลูกแค่ไหน มีเคสที่หาหมอแล้วกลับไปบ้านด่าลูก หรือกระชากซองยาทิ้ง บอกอย่าไปกิน ต่อให้คุณไม่เห็นด้วยก็ไม่ต้องรุนแรงขนาดนั้น ไม่ต้องบอกว่าลูกโง่ ลูกผิด ลองคุยกันในรายละเอียดลึกๆ ดู

“จริงแล้วลึกๆ คุณพ่อคุณแม่รู้ว่าฉันผิดเอง ฉันดูแลลูกไม่ดี แต่ไม่อยากรับ หรือเกิดจากความไม่เห็นอกเห็นใจ คุณพ่อคุณแม่บอกได้ว่าอะไรดีไม่ดี อะไรผิดถูก อะไรควรไม่ควร แต่ไม่ค่อยเห็นอกเห็นใจ ว่าสิ่งที่ดี ที่ถูกที่ควร บางทีไม่ใช่ความสุขของลูก การเรียนหนังสือดี แต่เข้าใจไหมว่าลูกไม่มีความสุข อาชีพนี้มั่นคง เรียนหมอกันเพียบ แต่ไม่ใช่ เขาไม่ได้ต้องการแบบนั้น พอถูกมองว่าความรู้สึกเป็นเรื่องไม่สำคัญ เหตุผลสำคัญกว่า ถึงจุดหนึ่งเขาจะเฉยชา ไร้ความรู้สึก จะคิดว่าอยู่ไปทำไมในเมื่อไม่ได้รู้สึกมีความสุข ถ้าต้องทำโดยที่ไม่มีความสุขไปเรื่อยๆ ชีวิตก็ไม่สำคัญ สิ่งที่ถูก ดี และควร บางทีไม่ใช่ของเขา แค่ถูกยัดเยียดมา แต่อันนี้ไม่ใช่ PTSD ค่อนไปทางโรคซึมเศร้า”

 

หายแล้วกลับมาเป็นอีกได้ไหม

“ทุกโรคมีโอกาสกลับมาเสมอ มะเร็งยังมีเลย ไม่มีอะไรหายถาวร ต่อให้บางโรคบอกว่าหายแล้วมีภูมิต้านทาน มันก็อาจเป็นเชื้อกลายพันธุ์อีกได้ แค่แก้กันไป วงการแพทย์ไม่ได้มีเส้นทางเดียว ยาบางชนิดทานแล้วไม่เห็นผล ก็เปลี่ยนยาตัวใหม่ โรคเหล่านี้อยู่ในสมองครับ PTSD เป็นโรคที่ทำให้เราเข้าใจระบบสมองมนุษย์ ว่าจริงๆ คนป่วยกับคนไม่ป่วยไม่ได้ต่างกัน แค่คนป่วยมีวัตถุดิบทางลบเยอะกว่ามาก เจอเรื่องแย่ๆ เยอะกว่า ถ้าเขาไปเกิดในอีกครอบครัวหนึ่ง เจอโรงเรียนอีกแบบหนึ่ง เขาอาจไม่เป็นแบบนี้ก็ได้”

 

PTSD เกิดจากสื่อฯ ได้หรือไม่

“อย่างที่บอก เราตีกรอบไม่ได้ว่าสำหรับคนคนนี้หนักหรือเบา ที่อเมริกาตอนเครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรด บางรายแค่เห็นภาพก็แย่แล้ว ครุ่นคิดว่าโลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป บางทีภาพที่ได้รับมาค้างในสมอง เพราะสื่อฯ ลงภาพสยดสยองจนติดตา แต่ถึงขั้น PTSD ไหม ผมไม่แน่ใจนะ แต่อย่างน้อยสุขภาพจิตเสียได้แน่ครับ เริ่มต้นด้วยความอยากรู้อยากเห็น เลยรับเข้าไป แต่บางอย่างกลายเป็นข้อมูลด้านลบที่สร้างอารมณ์ลบอยู่ข้างใน พอรับเยอะขึ้น รู้ตัวอีกทีนอนไม่หลับ คิดวนไปมา ฝันร้าย มองโลกแง่ร้าย สื่อฯ ประโคมอีก คุณไม่ได้อยู่ในโลกความเป็นจริงละ แต่อยู่ในโลกที่รับรู้ผ่านใครบางคนอีกที ถ้าใครบางคนคอยบอกคุณตลอดว่าโลกมันอันตราย อย่าไว้ใจใครนะ มีแต่จะฆ่ากันทำร้ายกัน ฟังมากเข้าก็เข้าใจว่าโลกที่แท้จริงเป็นแบบนั้น

“หรือช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมือง ฟังความข้างเดียวจะเข้าใจว่าอีกฝ่ายเป็นแบบนั้นจริงๆ ฝ่ายเราถูกเสมอ ดังนั้นควรตั้งหลัก มีสติ ข้อมูลที่เรารับรู้อาจจริงหรือไม่จริงก็ได้ ผู้เขียนหรือคนผลิตขึ้นมาอาจมีเจตนาบางอย่าง เพื่อปรุงแต่งเรื่องราวในสมอง เป็นการรับสารพิษเข้าสมอง คนยุคนี้ที่นอนไม่หลับกันเยอะเพราะดูเรื่องพวกนี้ก่อนนอนแหละครับ ถ้าเป็นไปได้ก็ตัดบ้าง ตั้งสติดีๆ เราต้องการความผ่อนคลายไม่ใช่เหรอครับ”

ถึงทุกคนที่เป็นในตอนนี้

“โรงพยาบาลใหญ่ทางภาครัฐมีจิตแพทย์เกือบทุกสถานที่ หรือโรงพยาบาลจังหวัดก็ค่อนข้างครอบคลุม แต่ถ้าเทียบภาพใหญ่ของสังคม จำนวนจิตแพทย์ถือว่าขาดแคลน เลยต้องรอคิวนานหน่อย แต่ถ้าฉุกเฉินถึงขั้นไม่อยากอยู่แล้ว ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เป็นแพทย์ทั่วไปก่อนได้

“คุณพ่อคุณแม่ถ้ายังไม่รู้จะช่วยยังไง พาลูกมาประเมินอาการก่อน จะไปทางเลือกพิเศษ ไปรดน้ำมนต์ ไม่ห้ามครับ แต่อย่าคาดหวังว่าไปทางนั้นแล้วจะเปลี่ยน อย่าเชื่อทางสายไสยศาสตร์มากเกินไป ยิ่งปล่อยไว้นานอาการก็ยิ่งหนัก บางทีเจ้าตัวจะคิดถึงขั้นไม่อยากอยู่ ทั้งที่จริงแล้วยังแก้ไขได้ทัน

“เวลาเราวางแผนทำอะไร อวัยวะที่ใช้คือสมอง ถ้าสมองไม่คงที่ ซ่อมตัวมันไม่ได้ ไม่แปลกที่จะเอาตัวเองไม่รอด จะอยากตาย ดังนั้นต้องขอความช่วยเหลือ เหมือนคนไข้ขาหัก จะเดินไปโรงพยาบาลได้ไหม ถ้าคุณสมองพัง ระบบอารมณ์แปรปรวนไปหมด หมอเป็นเองก็ไม่รอดนะ ต้องพึ่งคนอื่น การขอความช่วยเหลือไม่ใช่เรื่องผิด หน่วยงานที่อยากช่วยนั้นมี องค์กรที่เห็นคุณมีค่าก็มี คุณมีค่าพอที่จะได้รับความช่วยเหลือครับ”

ทิ้งท้ายก่อนจากกัน คุณหมอภุชงค์แนะนำว่าถ้าอยากเข้าใจเรื่อง PTSD ยิ่งขึ้น ให้อ่านหนังสือแปลชื่อ ฝันร้ายในร่างกาย ผู้แต่ง เบสเซล แวน เดอ คอล์ค ของสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา จะช่วยตอบเรื่อง PTSD ได้อย่างแจ่มแจ้ง เพราะโรคนี้มีทางรักษา ไม่ใช่โรคที่เยียวยาไม่ได้

HUG Magazine

คอลัมน์: แขกรับเชิญ 

เรื่อง: มาศวดี ถนอมพงษ์พันธ์


'คุยข่าวรัก' ก้อย บุญญิตา

คุยข่าวรัก

บุญญิตา งามศัพพศิลป์ & สิทธิชัย เรียบร้อย

ทุกเช้าทางช่อง 8 เราจะได้ยินเสียงแจ่มใสชวนให้หายง่วงของนักข่าวหญิงมือดี ‘ก้อย’ บุญญิตา งามศัพพศิลป์ ที่คอยจัดรายการข่าว ตั้งแต่หกโมงเช้าจนถึงแปดโมงห้าสิบเป็นประจำ นอกจากนั้นเธอยังเป็นพิธีกรด้านสุขภาพในรายการ ‘ใส่ใจไกลโรค’ ของ RS Mall อีกด้วย เรียกว่างานแน่นทุกวัน แต่ยังมีพลังบวกได้เสมอ เพราะพลังใจสำคัญจากสามีคู่ชีวิต ‘ต้อย’ สิทธิชัย เรียบร้อย และลูกชายสุดหล่อน ‘ดราก้อน’ กตตน์ เรียบร้อย วันนี้เหยี่ยวข่าวคนขยันจะขอมารายงานข่าวรักฉบับพิเศษให้ ฮัก โดยเฉพาะ

 

 

ประเดิมข่าวรัก

“เข้ามาเป็นนักข่าวก็ได้แฟนเลย” คุณก้อยหัวเราะเสียงดังกังวาน ไม่ต่างจากตอนอ่านข่าวเลยสักนิด เมื่อเล่าย้อนหลังถึงการพบกันระหว่างนักข่าวสาวสายบันเทิงกับช่างภาพหนุ่มสายการเมืองที่กลายมาเป็นคู่ชีวิตกันได้

“พี่ต้อยเป็นคนจัดตารางงานให้ช่างภาพในทีม ส่วนเราเพิ่งจบมาทำงาน ก็ได้เจอกันบ่อยๆ”

“คงเป็นพรหมลิขิตมั้ง” คำตอบสั้นๆ ของคุณต้อยพร้อมด้วยรอยยิ้มบนหน้า กลบความเขินอายเล็กๆ บุคลิกพูดน้อยแต่ทำจริง ช่างแตกต่างจากภรรยาที่ร่าเริงตลอดเวลา และดูคล้ายพระนางในละครสักเรื่องจริงๆ

คุณต้อยเล่าเสริมว่าเพราะต่างคนต่างโสด ตัวคุณก้อยน่ารักจนสะดุดตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงหัวเราะของเธอ จึงอดใจไม่ได้ที่จะอยากสานสัมพันธ์ด้วย

“อยู่ๆ เขาก็พูดว่า พี่ชอบหนูนะ เรานึกในใจเอาแล้วโว้ย (หัวเราะทั้งคู่) พี่ต้อยมีความเป็นผู้ใหญ่ ตั้งแต่คบกันมา เขาสนับสนุนเราทุกเรื่อง หันมาเมื่อไรก็เจอเขา และในทุกวิกฤติของเรา หรือทุกเรื่องราวที่ต้องตัดสินใจ พี่ต้อยจะคอยหนุนหลังตลอด ถึงบางเรื่องไม่เคยพูดเลย แต่ก็ไม่เคยหายไปไหน ทำให้รู้สึกผูกพัน จนวันหนึ่งก็ตัดสินใจอยู่ร่วมกัน”

 

ใจประสานใจ

ทำงานอาชีพเดียวกันดูมีข้อดีที่เข้าใจกัน แม้ว่าตารางงานที่ยุ่งนั้นจะส่งผลกระทบอยู่ไม่น้อย แต่สองคนนี้กลับไม่มีปัญหาใดๆ

“ตอนที่พี่ต้อยต้องเดินทางตามนายกฯ ไปทำข่าว ก็หายไปนานๆ แต่ไม่ขาดการติดต่อ เรายังคุยกันอยู่ จะมีการแบ่งเวลาว่าเจอกันอาทิตย์ละครั้งนะ แต่ถ้ามีงานก็ไม่เป็นไร ตัวก้อยก็วิ่งข่าวและอ่านข่าวด้วย ช่วงนั้นจัดรายการตอนดึก ส่วนพี่ต้อยเป็นหัวหน้าซึ่งต้องจัดหมายงานให้นักข่าวตอนกลางคืน ถ้าเขาไม่ได้ออกไปไหนก็จะคอยรอรับเราตอนตีสองทุกวัน ในขณะที่เขาต้องตื่นไปทำงานตอนตีห้า แต่ไม่เคยหายไปเลย นอกจากไปทำงานที่ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศเท่านั้น แต่ถ้าอยู่กรุงเทพฯ จะมารอเราที่ตึกอาร์เอสเสมอ (ยิ้ม)”

 

อาถรรพ์ตัวเลขที่ไม่มีจริง

ทั้งสองคบหากันถึงเจ็ดปีจึงค่อยแต่งงาน แต่ที่จริงแล้ว แผนอนาคตถูกวางเอาไว้ตั้งแต่ปีที่สี่ของการคบหาเป็นอีกสิ่งที่พิสูจน์ว่า ทั้งสองต้องการจะเป็นคู่ชีวิตกันจริงๆ ไม่ใช่แค่การคบหาอย่างเลื่อนลอยไปวันๆ

“คิดว่าถ้าคบได้สี่ปีแล้วไม่คืบหน้าก็ไม่เอาละ เราเป็นผู้หญิงไม่อยากเสียเวลา เลยคุยกันตรงๆ พี่ต้อยก็ให้เราเก็บเงินเดือนของเขา เรารู้สึกดีนะ ไม่ใช่เพราะเรื่องเงิน แต่เป็นการพิสูจน์ว่าเขาจริงจังจริงใจกับเรา ก้อยจึงเป็นคนดูแลเงินสำหรับแต่งงานและจัดสรรการใช้จ่าย วางแผนต่างๆ แล้วป๊าก้อยเกิดป่วย พี่ต้อยเลยไปคุยกับญาติผู้ใหญ่ ขอเลื่อนการแต่งงานให้เร็วขึ้นกว่าเดิม ทั้งหมดเริ่มจากการไว้วางใจ เขาไม่เคยหายไปไหน ไม่ใช่ผู้ชายขี้งก”

“ให้ดูที่ความเสมอต้นเสมอปลายของผู้ชาย ไม่ใช่แรกๆ ดี หลังๆ มาค่อยๆ ออกลาย ควรเข้าหาครอบครัวทั้งสองฝ่าย อย่างเราสองคนคือพาเข้าบ้านกันแต่แรก แนะนำให้รู้จักครอบครัวเราและครอบครัวเขา พอผมคิดว่าถึงเวลาแล้ว ประจวบกับป๊าก้อยป่วย ตอนนั้นทางบ้านก้อยยังไม่มีใครแต่งงาน และอยากทำเพื่อป๊าด้วยเลยตัดสินใจไม่ยาก (ยิ้ม)”

คุณก้อยยังเสริมถึงเรื่องความกังวลของผู้หญิงในสังคม ที่รีบแต่งงานจนกลายเป็นว่าตัดสินใจผิดพลาด ทั้งโดนหลอก หรือได้คู่ไม่ดี ตามข่าวที่ได้อ่านกันบ่อยครั้ง

“เข้าใจนะว่าผู้หญิงย่อมอยากฝากผีฝากไข้ไว้กับใครสักคน แต่ดูแค่ประวัติไม่พอหรอก ต้องไปถึงบ้าน ลงลึกในรายละเอียด ถ้ามันจะใช่ ถึงเวลาก็ใช่เอง จริงอยู่บางคนใจร้อนแล้วได้ดีก็มี แต่อาจเป็นคู่ของเขา ยังต้องระวัง ที่จริงแต่ละคนมีเซนส์นะ จะรู้เองว่าคนคนนี้สามารถอยู่ในชีวิตเราได้ยั่งยืนหรือเปล่า หรือแค่มาประเดี๋ยวประด๋าว มีวิธีการดูออกหลายอย่าง เช่น เขาเริ่มไม่เหมือนเดิม หรือเราจับโทรศัพท์เขาแป๊บหนึ่งแล้วเริ่มมีปัญหา หรือใครโทรมาหาเขาแล้วเขาเริ่มคุยเสียงเบามาก หรือหนีไปคุยที่ห้องน้ำทุกที มันก็น่าแปลกละ ของแบบนี้สอนไม่ได้ เพราะประสบการณ์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่ต้องรีบ อะไรที่เป็นของเราก็เป็นของเรา อะไรที่ไม่ใช่ พยายามให้ตายก็ไม่ใช่”

 

เมื่อขอเลิกครั้งแรก

ทั้งสองยอมรับว่าตอนแต่งงานใหม่ๆ ตารางชีวิตยังวุ่นวายอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวคุณก้อยเองที่นอกจากงานประจำ ก็มีสอนหนังสือ เรียนหนังสือ จัดรายการวิทยุ เรียกว่าเจ็ดวันเต็มอัตรา สามีหมาดๆ คอยไปรับไปส่งเช่นเคย จนวันหนึ่งคุณต้อยพูดว่า ‘เราจะเป็นแบบนี้อีกนานไหม’ ภรรยาคนเก่งจึงตัดสินใจได้ในทันทีว่า

“เลิกเลยค่ะ (หัวเราะ) เลิกเรียน เลิกสอน เลิกจัดรายการวิทยุ เหลือแค่งานประจำอย่างเดียว เพราะติดสามี (หัวเราะร่วน) ไม่นานก็มีลูกพอดี ทุกอย่างเป็นจังหวะชีวิตนะ ทั้งที่ไม่ได้คิดถึงการมีลูกเลย แค่คิดว่าใช้ชีวิตด้วยกันบ้างดีกว่า ไปเที่ยวกันบ้าง”

“เป็นครั้งแรกที่เราสองคนได้หยุดเสาร์อาทิตย์ ตอนนั้นผมเป็นผู้จัดการอยู่ในออฟฟิศแล้ว ไม่ต้องไปทำข่าวข้างนอก ตามแค่เมียอย่างเดียว (หัวเราะ) กลายเป็นว่าอยู่ในสายตากันเสมอ เพราะทำงานที่เดียวกัน จากที่ไม่เคยมีเวลาให้กัน ก็อยู่ด้วยกันตลอดเวลาแทน”

ถึงจะพูดแบบนั้นแต่รอยยิ้มสุขใจบนใบหน้าส่งว่าคุณต้อยเองก็ดีใจไม่ใช่น้อย

 

มีลูกเมื่อพร้อม

ในยุคนี้การมีลูกสักคนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสภาพสังคม เศรษฐกิจ ความเครียด ฯลฯ ทำให้เกิดคำขวัญว่า ‘มีลูกเมื่อพร้อม’ รวมทั้งการเปรียบเทียบว่า มีพ่อแม่เมื่อพร้อมเช่นกัน ทั้งคู่คิดเห็นอย่างไรในเรื่องนี้

“คำว่า ‘พร้อม’ มันจำเป็นจริงนะ ไม่ใช่พร้อมแค่เรื่องเงินหรือหน้าที่การงาน แต่ยังเป็นเรื่องวุฒิภาวะของพ่อแม่ที่พร้อมดูแลเด็กคนหนึ่งให้มีคุณภาพ เราไม่ได้การันตีว่าลูกเราดีที่สุด แต่เชื่อว่าลูกมีความอบอุ่น ตอนนี้ดราก้อนอายุสิบสองแล้วยังกอดหอมพ่อแม่ พูดกับพวกเราได้เสมอ การมีลูกเมื่อพร้อมจริงๆ ทำให้รู้ว่าเรื่องใหญ่แค่ไหนเราสองคนก็ยอมฟ่อนปรนกันได้เพราะลูก (ยิ้ม) ก้อยมาจากครอบครัวไม่สมบูรณ์ แม่ตายแต่เด็ก พี่ต้อยก็พ่อตายแต่เด็ก อยากให้ลูกจดจำแต่เรื่องดีๆ หันมาก็มีพ่อแม่คอยสนับสนุนตลอดเวลา มันคือความพร้อมที่จะเลี้ยงคนคนหนึ่งให้มีคุณภาพ ไม่รู้สึกขาดอะไรอีกแล้ว”

“โชคดีมีคุณย่าช่วยด้วย พวกผมจ้างพี่เลี้ยง และให้ย่าคอยดูแลอีกที ให้ทำคนเดียวไม่ได้เพราะท่านแก่แล้ว ตอนเช้าเราสองคนไปทำงาน พอกลับบ้านตอนเย็นก็มาดูลูกต่อ เข้านอนพร้อมกัน ให้เวลากัน ในตอนนี้ก้อยต้องไปทำงานแต่เช้ามาก ส่วนผมมีบริษัทของตัวเอง เลยแบ่งหน้าที่กันทำว่า ผมขับรถไปรับส่งลูกนะ แต่ถ้าตอนเย็นก้อยว่างก็จะไปรับลูกพร้อมกัน”

“มีรุ่นพี่เคยแนะนำค่ะว่า ถ้าอยากให้เด็กรู้สึกอบอุ่นก็ไปรับส่ง แล้วเวลานั่งในรถ เขาจะบอกว่าวันนี้เจออะไรมาบ้าง ช่วงเวลาสั้นๆ แบบนี้เราได้รู้ว่าลูกไปเจออะไรมานะ ก็สามารถแก้ไขได้ รวมทั้งป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นทัน ที่บ้านเลยรับส่งลูกเป็นประจำ และก็กินข้าวด้วยกันเท่าที่มีโอกาสค่ะ ในเวลาที่พ่อไม่อยู่บ้าน แม่จะอ่อนแอขึ้นมาเลย (หัวเราะร่วน) บอกว่าทำไม่ได้ หรือขอแรงจากเขา ลูกก็จะวิญญาณพ่อเข้าสิง มาคอยหยิบนั่นจับนี่ทำนู่นให้ บอกคุณแม่ไม่ต้อง ดราก้อนทำเอง (ยิ้ม) เพราะเขารู้ว่าถ้าพ่อไม่อยู่ เขาต้องทำแทนได้”

สมเป็นมังกรน้อยที่เติบโตมาได้น่ารักจริงๆ

 

เติมน้ำตาลรสชาติเฉพาะ

ทั้งคู่เติมความหวานให้กันอย่างไร เราถามเพราะเห็นหลายคู่เมื่อมีลูกก็มักละเลยคนรักของตน ทุ่มเทให้ลูกจนลืมไปว่า บางครั้งชีวิตคู่ก็ต้องหาเวลาคลอเคลียกันสองต่อสองบ้าง ทั้งสองตอบว่าแทบไม่มีปัญหานี้ เพราะต่างใช้ทุกช่วงเวลาที่มีด้วยกันอยู่แล้ว เวลาไปไหนก็จูงมือกันตลอด จนมีบางคนทักว่าตัวติดกันเกินไปหรือเปล่า

“ผมไม่อึดอัดอะไรนะ และเราสองคนไม่มีความลับต่อกัน อย่างมือถือผมวางไว้ ก้อยหยิบดูได้เลย และบ้านเราไม่มีเซอร์ไพรส์ ไม่มีเทศกาล ใครอยากได้อะไรบอก จะไม่ห้ามกันด้วย (หัวเราะ) ทำงานมาเหนื่อยๆ เติมให้ตัวเองก็ได้ ไม่ต้องรอคนอื่นเติมความหวาน”

เพราะฉะนั้นเพื่อนบ้านอย่าแปลกใจที่มีกองพัสดุมาส่งบ้านหลังนี้อยู่เนืองๆ

ลดทิฐิเพื่อไปต่อ

“จะถูกหรือผิด ผมต้องขอโทษก่อน (หัวเราะ) เพราะขอโทษแล้วปัญหาคลี่คลาย เรื่องจบ”

คุณต้อยย้ำชัดหนักแน่นในกฎเหล็กของบ้าน ที่เขาเต็มใจทำแต่โดยดี เพราะรู้ว่ามันเป็นแค่สองคำสั้นๆ ที่ใช้เพื่อปิดประเด็นเรื่องราวเท่านั้น ตัวคุณก้อยเองหัวเราะและยอมรับในความยึดมั่นตรงนี้ แต่เหตุผลของเธอก็น่าฟังจนพอจะให้อภัยได้

“เป็นผู้ชายต้องขอโทษจริงไหม (ยิ้ม) บางครั้งที่เขาขอโทษ เรารู้นะว่าเราผิด ตอนเราเอ่ยปากก่อนว่าขอโทษหรือยัง นั่นคือการง้อในแบบของเราแล้ว เพราะคนโกรธกันจริงๆ หน้าก็ไม่อยากมอง ไม่อยากพูดก่อนหรอก เราเองก็อยากให้จบด้วยดี เมื่อก่อนเคยไม่ยอมถึงกับนอนขวางประตูห้องนอน ไม่ให้เขาออกไป พี่ต้อยก็เดินข้ามเราไปเลย (หัวเราะ)”

“ผมว่ายอมได้ก็ยอม อย่ายึดติดว่าเป็นผู้ชายต้องมีศักดิ์ศรีแบบนั้นแบบนี้ เมื่อเราใช้ชีวิตร่วมกันแล้ว ต้องยอมๆ กัน ถูกบ้างผิดบ้างยอมไปเถอะ ไม่เสียหายอะไรหรอก ชีวิตคู่อย่าเอาแต่ถือทิฐิ”

ถึงวิธีนี้จะใช้ไม่ได้กับทุกคน คุณก้อยก็แนะให้ลองคิดในมุมอื่นดูบ้าง

“ทั้งหมดอยู่ที่ความเข้าใจในคู่ตัวเอง มันไม่ได้ราบรื่นทุกวันหรอก เรายังมีหลายอารมณ์ในหนึ่งวันเลย บางครั้งหัวเสียกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง แต่ถ้าอยู่ด้วยความเข้าใจกัน ก็จะโอเค และให้อภัยเยอะๆ คุณยังต้องมีเรื่องไม่ถูกใจกันอีกจนกว่าจะตายจากกัน แต่เมื่อเลือกเขาแล้ว ก็ต้องยอมรับมัน คนเรามีทั้งข้อดีข้อเสีย พี่ต้อยก็มี แต่เราไม่ให้ความสำคัญแก่ข้อเสียของเขามากไป และตัวเขายอมงดเว้นข้อเสียที่มีได้ด้วย บางครั้งข้อเสียของเขาก็เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่นไม่ตัดเล็บ (หัวเราะ) สำหรับเราสาวๆ มันคือเรื่องใหญ่มากเลยนะ ชอบผู้ชายมือสะอาด พอโตก็รู้ว่าไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต ยอมบ้าง เพราะลงท้ายไม่ได้อยากให้เขาหายไปไหน ต่อให้โมโหแค่ไหนก็ต้องนั่งอยู่ด้วยกันตรงนี้ ไม่รู้จะทะเลาะไปเพื่ออะไร”

“ที่ไม่ตัดเพราะต้องถ่ายรูป ต้องหยิบของเล็กๆ ถ้าตัดก็หยิบไม่ถนัด จับนั่นนี่ไม่ได้ (โชว์ให้ภรรยาดู)”

 

หลักการเลือก ‘บ้าน’ ที่ดี

“เลือกคนที่อยู่ด้วยแล้วเหมือนอยู่บ้านค่ะ 1.มีความสบายใจ 2.อบอุ่น 3.ปลอดภัย ถ้าเจอแล้วไม่รู้สึกว่าต้องเกร็ง ไม่ต้องกังวลเวลาอยู่ด้วยกันว่าทำแบบนี้ เขาคิดอย่างไร จะว่าอะไรไหม ถ้าเจอคนที่เราอยู่ด้วยสบายใจให้รักษาเอาไว้ มันไม่ได้หวือหวา แต่สบายใจ ไม่ต้องระแวงใครอีกแล้ว”

“ผมคิดว่า เลือกคนที่อยู่ด้วยแล้วไม่ต้องเก๊ก สบายๆ รับสิ่งที่เราเป็นได้ และเรารับสิ่งที่เขาเป็นได้ ยิ่งถ้าคิดตรงกันก็โอเคเลย”

ส่วนใครที่ยังไม่เจอ ‘บ้าน’ ของตน ทั้งสองเห็นพ้องกันว่าไม่ผิด ในเมื่อยังไม่เจอคนที่ใช่ ก็ให้เลือกต่อไป ไม่จำเป็นต้องฝืนทน บางคนอาจอยู่คนเดียวแล้วมีความสุขสบายใจด้วยซ้ำ 

“เราสองคนถือว่าโชคดีเกิดมาเจอกันค่ะ เผอิญว่าเคมีเข้ากัน ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง ถ้าต้องเปลี่ยนจนขาดความเป็นตัวเอง และเกิดความไม่สบายใจ มันก็ไม่ใช่แล้วละ ไม่ต้องทนเพื่อสิ่งนี้”

 

 

เมื่อความเครียดครอบงำ

“ไม่ควรมีความลับครับ ผมบอกทุกเรื่อง อยากรู้อะไรถามได้” คุณต้อยตอบชัดเจนถึงคำถามในกรณีที่หัวหน้าครอบครัวต้องแบกภาระจนเครียดแล้วเก็บกดเอาไว้ ไม่อยากให้คนในบ้านพลอยเป็นกังวลด้วย ส่วนคุณก้อยมองว่า

“ในฐานะภรรยาเราก็อยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น จะได้ช่วยกันคิดหาทางออก ดีที่บ้านเรามีอะไรคุยกันหมด จะรับรู้ปัญหาร่วมกันตลอด ที่พี่ต้อยบอกว่าอย่ามีความลับกับคู่ชีวิตนั้น ถูกต้องแล้ว เพราะถ้าตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกันแล้ว การที่ได้รับรู้ปัญหาของอีกฝ่าย ก็แสดงว่าเขาไว้ใจที่จะบอกเราซึ่งเป็นคนนอนอยู่ข้างๆ เขานะ แต่ถ้าได้รู้เป็นคนสุดท้ายหรือเมื่อสาย มันเจ็บปวดมาก อยากบอกทุกคู่ว่าอย่ามีความลับต่อกัน อย่าให้ต้องรู้สึกคลางแคลงใจ แต่ถ้าหมอบอกพี่ต้อยเป็นโรคอะไร ไม่ต้องมาบอกนะ (หัวเราะทั้งคู่) ไม่ขอรู้ดีกว่า กลัวทำใจไม่ได้”

“ผมว่าต้องปรึกษากัน คนอื่นไม่สนิท ไม่รู้ใจเท่าภรรยา คุยกับภรรยาดีกว่า ให้เขารู้จากปากผม ดีกว่ารู้จากปากคนอื่น”

“ตรงนี้เป็นข้อพิสูจน์ได้ด้วยว่า ถ้าเรื่องนี้ยังคุยกันไม่รู้เรื่อง ฉันควรไปต่อหรือพอแค่นี้ เพราะต้องเจอปัญหาอีกเยอะมาก เรื่องเล็กน้อยอาจบานปลายเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคต เขาเป็นเพื่อนคู่คิดที่พร้อมหาทางออกด้วยกัน หรือให้คำแนะนำที่ดีได้ไหม ทุกคนเชื่อและคาดหวังกับคนในบ้านมากกว่าคนนอกบ้าน แต่ถ้าเมื่อไรที่เขาไปปรึกษาคนนอกบ้าน แสดงว่าความไว้ใจคนในบ้านไม่มีละ เพราะคิดว่าคนในบ้านช่วยเหลือเขาไม่ได้ แล้วจะให้ความสำคัญแก่คนในบ้านอีกทำไม”

 

รักที่ตรงไปตรงมา

“ผมเป็นคนมีอะไรก็บอกหมด บอกเขาตรงๆ หลายครั้ง ตอนแรกเจอกันก้อยตัวเล็กๆ น่ารักดี เดี๋ยวนี้ก็น่ารักอยู่ (หัวเราะ) เวลาขำจะตลกดี เป็นตัวของตัวเอง ตอนนั้นก้อยเป็นผู้ประกาศแล้วนะ ผมก็เป็นช่างภาพธรรมดา แต่เขาไม่วางท่าอะไรเลย”

“ตอนนั้นพี่ต้อยบอกว่าอยากมีเมียแล้ว (หัวเราะชอบใจ) เป็นไงล่ะ ทุกวันนี้ตั้งแต่ลืมตาตื่นจนเข้านอน ธุระลูกเมียทั้งนั้น มิหนำซ้ำมีแมวอีก ธุระแมวด้วย”

“สมน้ำหน้ามัน (ขำ) ตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้ผมยังรักก้อยเหมือนเดิมแหละ ยังคอยดูแลกันไปเรื่อยๆ ก้อยไม่ค่อยมั่นใจในตัวเองเท่าไร ต้องสะกิดบอกเสมอว่าทำดีแล้วนะ และเขาจะคอยถามว่ารักก้อยไหม ถามตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน แล้วยังหันไปถามลูกว่ารักแม่ไหม (พี่ก้อยหัวเราะ) เขาเป็นคนชอบความรัก ผมก็เลยให้เขาตลอด รักนะ (หันไปบอกภรรยา)”

“ถ้ากลับไปบอกช่างภาพคนนั้นได้ จะบอกว่าได้เมียดีนะรู้ไหม (ยิ้ม) ตอนนี้ที่ห่วงสุดคือเรื่องสุขภาพ ห่วงทั้งเขาและเรา ไม่อยากให้ใครเป็นอะไรก่อน พอเรามีลูกก็ตั้งเป้าหมายต่อไปเรื่อยๆ อยากเป็นคุณปู่คุณย่าที่แข็งแรงกัน”

ในไม่กี่อึดใจเราได้ยินคำบอกรักจากปากฝ่ายชายหลายครั้ง แต่ยังไม่ได้ยินจากปากฝ่ายหญิงเลย จึงขอฟังพอหอมปากหอมคอ ทำเอาคุณก้อยหัวเราะเขิน

“พี่ต้อยเคยถามว่าหนูรักพี่ไหม (หัวเราะ) คือก้อยเป็นคนถามอย่างเดียวแต่ไม่ค่อยบอกรักไง แต่เขาก็รู้ว่าเราขาดเขาไม่ได้แหละ ตอนนั้นพี่ต้อยต้องผ่าหัวไหล่ แถมออกจากห้องผ่าตัดเลยเวลาที่กำหนดด้วย พอออกมาก็สะลึมสะลือขอจับมือเรา รู้แล้วว่าเขาก็ขาดเราไม่ได้เช่นกัน ปกติพี่ต้อยเป็นคนที่แข็งแรงมากนะ ไม่เคยเห็นพี่ต้อยอ่อนแออย่างนี้ รู้เลยว่าใครบางคนอาจหายไปจากชีวิตเขาได้ แต่ก้อยต้องอยู่ เอ๊ะ หรือฉันคิดไปเอง (หันไปมองสามี)”

“ก็คิดเหมือนกันแหละ แล้วรักมั้ย”

“ก็รัก จะไม่รักได้ไงเล่า เลือกมาแล้วนี่”

คำรักที่ได้ยินชัดๆ จากภรรยาคนเก่งนี้ ทำเอาคุณสามียิ้มไม่หุบเลยทีเดียว ที่เขาว่าหวานจนน้ำตาลจืดนั้นน่าจะมีอยู่จริง เป็นรายงานข่าวที่ไม่ต้องเติมรสอะไรอีก เพราะรสพิเศษนี้จะทำคุณอิ่มใจโดยไม่รู้ตัว

ความรุนแรงไม่ใช่ความรัก

ข่าวมากมายตอนนี้มักรายงานความรุนแรงอันเนื่องด้วยความรักอยู่บ่อยครั้ง ทั้งสองจึงอยากฝากสารถึงคนที่กำลังจะก่อเหตุรุนแรงโดยอ้างว่าทำไปเพราะรัก

ต้อย: อยากให้คิดเยอะๆ คิดถึงเรื่องดีๆ ที่ผ่านมา ตอนดี เราดีกันยังไง อย่ามัวคิดแต่เรื่องร้ายๆ ต้องมีสติเอาไว้

ก้อย: ในหลายข่าวล้วนเกิดจากความหุนหันพลันแล่น คุณต้องมีวิธีรับมืออารมณ์ชั่ววูบนั้น ขาดสติตอนโมโหมีกันทุกคน อยู่ที่ดึงสติกลับมาได้อย่างไร บางคนมีภาพลูกลอยมาในหัว ก็จะฉุกใจได้ละ อะไรคือสิ่งที่เหนี่ยวรั้งสติคุณไว้ ให้ลองทำการบ้านฝึกเอาไว้ เชื่อว่าทุกคนสามารถควบคุมอารมณ์ได้ แล้วแต่ว่าคุณจะปล่อยให้มันเตลิดไปไหม จะต้องฝึกอยู่ทุกวัน

HUG Magazineคอลัมน์: รักไม่รู้จบ

เรื่อง: มาศวดี ถนอมพงษ์พันธ์

ภาพ: อนุชา ศรีกรการ


ปลดล็อกความเชื่อผิดๆ ของผู้หญิง

ปลดล็อกความเชื่อผิดๆ ของผู้หญิง : พญ.พันธนันท์ มัตตะธนาพันธ์

 

“ผู้หญิงไทยมักถูกสอนให้รักนวลสงวนตัว ห้ามเปิด ห้ามให้เห็น เกิดความอายกันเยอะ เลยไม่กล้าให้ตรวจ ซึ่งการตรวจภายในไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวหรือน่าอาย และก็ไม่ได้เจ็บอย่างที่โดนปลูกฝังกันมาตลอด มันคือการตรวจปกติ เข้าใจว่าอายหมอ ตัวหมอต้องทำงานตรงนี้ทุกวัน ดูแล้วคิดว่ามันคือร่างกายมนุษย์ทั่วไป ไม่รู้สึกอย่างอย่างอื่น จะสนใจแค่เรื่องของความผิดปกติที่เกิดขึ้นมากกว่าค่ะ”

พญ.พันธนันท์ มัตตะธนาพันธ์ สูตินารีแพทย์ประจำโรงพยาบาลศิครินทร์ เล่าถึงหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่พบเจอแทบทุกเมื่อเชื่อวัน ถึงโลกจะเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ต ข้อมูลมีมากมาย แต่ผู้คนก็ยังมีความเชื่อผิดๆ ฝังหัว วันนี้เราจะมาเปลี่ยนความเชื่อผิดๆ ให้เข้าใจถูกกัน

 

หน้าที่ของสูตินรีเวช

“สูตินรีเวชดูแลโรคเฉพาะผู้หญิงทั้งหมด แต่เกี่ยวกับอวัยวะสืบพันธุ์โดยเฉพาะ เช่น มดลูก รังไข่ ปีกมดลูก ช่องคลอด หรือแม้แต่ฮอร์โมนที่มาจากรังไข่เอง รวมทั้งการตั้งท้องด้วยค่ะ จะดูแลตั้งแต่การฝากท้องตลอดเก้าเดือน พอเด็กคลอดออกมา ก็อยู่ในการดูแลของหมอเด็ก ส่วนหมอสูติฯดูแลคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์กับหลังคลอดเท่านั้น แต่ถ้าเกี่ยวมะเร็งเต้านมจะเป็นหน้าที่ของหมอศัลยกรรม บางคนเข้าใจผิด คิดว่าเป็นอะไรเกี่ยวกับเต้านมก็มาหาหมอสูติฯ ส่วนของผู้ชายจะเป็นหมอศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ ดูแลเรื่องอวัยวะเพศชายโดยตรง”

 

ตีต้นก่อนไข้

“ประการแรกคือความกลัวการตรวจภายใน คิดว่าตรวจแล้วเจ็บ เลยไม่ตรวจจนกว่าจะเป็นโรค ประการที่สองคิดว่าเมื่อไม่มีเพศสัมพันธ์ ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจภายใน ส่วนประการที่สาม เมื่อเกิดอาการผิดปกติ ก็ไม่กล้ามาตรวจเพราะกลัวการตรวจ แล้วตัวเองยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ด้วย ที่จริงมีวิธีการตรวจอย่างอื่นที่ช่วยวินิจฉัยโรคได้ เช่น ตรวจอัลตร้าซาวนด์ ตรวจด้วยการคลำหน้าท้อง ถ้าหากว่าไม่ตรวจเลย ปล่อยให้อาการกำเริบก็จะรักษายากขึ้น บางครั้งพบอีกทีขั้นรุนแรงแล้ว

“เข้าใจว่าอายหมอ แต่หมอไม่ใส่ใจเรื่องสวย ไม่สวย ดูดี ดูไม่ดีเลย เคยถามเพื่อนผู้ชายที่เป็นหมอสูติฯ ว่าคิดอย่างไร เขาก็ตอบว่าไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะเราเรียนมาว่ามันคืออวัยวะอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่เราต้องรักษา หมอจึงไม่อาจมีอารมณ์ทางเพศมาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะของผู้หญิงหรือของผู้ชายก็ตาม”

 

ทำอย่างไรให้หายกลัว

“ต้องรณรงค์ว่าผู้หญิงอายุเกินยี่สิบห้าปีต้องตรวจภายใน ซึ่งไม่ได้น่ากลัว เหมือนการตรวจร่างกายอย่างหนึ่ง คนที่เคยมีเพศสัมพันธ์จะไม่เจ็บเลย ส่วนคนที่ยังไม่เคยก็จะมีวิธีการตรวจที่ทำให้ไม่เจ็บ มีอุปกรณ์ตัวเล็กใช้ตรวจ หรือในกรณีที่เด็กเล็ก เด็กอนุบาล ที่มีอาการป่วยจำเป็นต้องตรวจจริงๆ เราก็มีอุปกรณ์พิเศษสำหรับตรวจได้ บางคนกลัวมาตรวจแล้วเจอ หรือไม่เห็นเป็นอะไรก็เลยไม่มาตรวจ มาอีกทีคือเป็นเยอะแล้ว การตรวจแล้วเจอดีกว่าปล่อยให้อาการกำเริบจึงค่อยรักษาค่ะ”

 

ป่วยแบบไหนจึงไปพบแพทย์

“ทุกอาการที่เรารู้สึกว่ารบกวนชีวิตประจำวันควรมาหาหมอค่ะ อย่างผู้หญิงมีประจำเดือน การปวดประจำเดือนจะมีระดับขั้นของการปวด ปวดเบาๆ กินยาแล้วหาย แต่วันหนึ่งกินยาไม่หาย ไปทำงานไม่ได้ ต้องกินเพิ่มขึ้น บางคนตกขาว ปกติครั้งเดียวหาย ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นทุกเดือน อย่างนี้รบกวนชีวิตประจำวันละ ก็ต้องหาสาเหตุให้ได้ ไม่ต้องทนค่ะ ต้องพบแพทย์ละ เพราะน่าจะมีความผิดปกติบางอย่าง

“มีหลายโรคที่เกิดในคนไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ เช่น ถุงน้ำรังไข่ เด็กก็เป็นได้ ถ้าเราตรวจสุขภาพทั่วไป แล้วคลำเจอก้อน สงสัยว่าใช่โรคที่เกี่ยวกับสูตินรีเวชไหม ก็ควรจะอัลตร้าซาวนด์ ซึ่งเป็นการตรวจสูติฯ แบบหนึ่ง ถ้ายังกลัว ปัจจุบันหมอผู้หญิงเยอะ ก็สามารถแจ้งได้ว่าขอหมอผู้หญิง หรือแจ้งหมอว่าอยากตรวจ แต่ไม่กล้าตรวจภายในเพราะมีปัญหา หมอก็จะแนะนำวิธีการตรวจที่เหมาะสมให้ได้ค่ะ”

 

ควรตรวจก่อนหรือหลังมีประจำเดือน

“ถ้าเป็นการตรวจมะเร็งปากมดลูก ควรตรวจหลังจากมีประจำเดือนสักหนึ่งสัปดาห์ แต่ถ้าเกิดความผิดปกติตอนที่ประจำเดือนมาจริงๆ ก็สามารถตรวจภายในได้ค่ะ เพราะบางโรคจะแสดงอาการตอนมีประจำเดือน คนเรามักกังวลว่าสกปรกหรือเปล่า เลอะเทอะไหม อายหมอจัง ทั้งที่เป็นการตรวจภายในธรรมดา ตรวจได้ตลอด ไม่ว่าจะก่อนหรือหลัง หรือระหว่างมีประจำเดือนก็ตาม”

 

ช่วงอายุที่ควรตรวจ

“ควรเริ่มตรวจมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่อายุยี่สิบห้าปีขึ้นไป แต่ถ้ามีเพศสัมพันธ์ตอนอายุน้อย ก็ควรเริ่มตรวจเลย ถ้าตรวจต่อเนื่องทุกปีจนถึงอายุเจ็ดสิบปี แล้วไม่มีอาการผิดปกติ เราก็ตรวจปีเว้นปี หรือสามปีครั้งได้ เพราะบางทีในตัวอาจมีก้อนอยู่แต่แรก แล้วค่อยกลายมาเป็นสิ่งผิดปกติตอนอายุเยอะก็มีค่ะ”

 

มายาคติเรื่องทำหมัน

“ความเชื่อผิดๆ ที่หมอได้ยินมาบ่อยๆ คือ ทำหมันแล้วทำงานหนักไม่ได้ ทำหมันแล้วเซ็กซ์จัดกว่าเดิม ซึ่งไม่จริง เพราะการทำหมัน ถ้าในผู้หญิง คือการผูกท่อรังไข่ ซึ่งถ้าทำคลอดด้วยการผ่าตัด จะยิ่งทำง่าย เพราะหมอเห็นตำแหน่งในการผูกชัดเจน แค่ผูก ตัดออก ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนแต่อย่างใด การผูกท่อรังไข่ไม่ต่างกับการผ่าตัดไส้ติ่ง ส่วนการทำหมันชาย ผู้ชายจะกลัวว่าทำแล้วเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ก็ไม่จริงค่ะ วิธีทำไม่ต่างกันกับผู้หญิง คือผูกท่ออสุจิเท่านั้น ไม่ได้ทำให้ฮอร์โมนเปลี่ยน ทุกอย่างยังเหมือนเดิม แล้วทำง่ายกว่าผู้หญิงด้วย ส่วนผู้หญิงถ้าทำหลังคลอดเลยจะง่ายกว่า ดังนั้นสามีภรรยาควรคุยกันว่าใครอยากทำ การแก้หมันทำได้ค่ะ แต่อาจได้ผลไม่เต็มที่ ขึ้นกับวิธีผูกหมัน ถ้าผูกง่ายก็แก้ง่าย แต่ก็เสี่ยงหลุดง่ายเช่นกัน เพราะฉะนั้นถ้าอายุยังน้อยหมอจะไม่แนะให้ทำหมัน เปลี่ยนเป็นการฝังยาคุมแทน จนแน่ใจจริงว่าจะไม่มีลูกแล้วนะ ค่อยทำหมัน”

 

กันไว้ดีกว่าแก้

“ต้องยอมรับว่าโลกเปลี่ยนไปจากเดิมมาก เด็กมีเพศสัมพันธ์กันเร็วขึ้น คุณพ่อคุณแม่ต้องเปิดใจก่อนว่าเด็กเดี๋ยวนี้ตัดสินใจเร็วกว่ายุคพ่อแม่เยอะ ฉะนั้นต้องให้ความรู้ในด้านเพศศึกษาแก่ลูกเพิ่มขึ้น ว่าการมีเพศสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องคิดก่อนว่าถ้าหากเราพลาดไม่ป้องกันจะเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่ช่วยให้ไม่พลาดคือการคุมกำเนิด จะฝังหรือฉีดก็ได้ทั้งนั้น รัฐบาลแนะนำการฝังยาคุมให้คุณแม่วัยรุ่น เช่นอายุ 17-18 ตั้งท้อง ด้วยอายุควรอยู่ในวัยเรียนมากกว่า ในโรงพยาบาลรัฐ หลังคลอดแล้วจะฝังยาคุมให้เลย การฝังครั้งหนึ่งจะมีอายุใช้งาน 3-5 ปี ถึงตอนนั้นเขาก็เรียนจบแล้ว และมีความรับผิดชอบที่จะทำงานหรือเลี้ยงลูกเองได้

“ที่เจอมา ท้องในวัยเรียน คุณพ่อคุณแม่อยากให้ยุติการตั้งครรภ์ แต่ตัวเด็กเองบอกว่ารับผิดชอบได้ เขาอยากเก็บไว้ เราไม่รู้หรอกว่าน้องสามารถดูแลลูกตัวเองได้จริงไหม แต่ความเป็นพ่อแม่ มองว่าน้องยังเรียนอยู่ เขาก็อยากให้ยุติเพื่อที่เด็กจะมีอนาคตต่อไป ในกรณีนี้ ถ้าหากว่าคุณพ่อคุณแม่เปิดอกแนะนำการป้องกันก่อน ให้ความรู้เขาว่ามีเพศสัมพันธ์แบบไหนแล้วปลอดภัยทำให้ไม่เกิดโรค ไม่เกิดการตั้งครรภ์ในวัยเรียน เรื่องแบบนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะเราไม่สามารถทำอย่างเดิมได้ จึงต้องหาสิ่งที่ปลอดภัยที่สุด เหมาะสมและไม่ขัดขวางสังคมของเขามากนัก เพราะยิ่งขวาง เด็กก็จะยิ่งหาทางไปมากขึ้น แล้วถ้าในหมู่เพื่อนทำแบบนี้กันหมด ตัวเขาไม่ทำ ก็จะเกิดความแตกต่างจนเขาไม่อาจอยู่ในสังคมเพื่อนได้”

 

เปิด ปรับ เพื่อรับฟัง

“มีคุณพ่อพาลูกสาวมาให้รักษาเหมือนกันค่ะ อย่างประจำเดือนผิดปกติ หรือเป็นสิวเยอะ ก็ให้หมอช่วยดูหน่อยว่าต้องกินยาคุมไหม สิวถึงจะหาย (หัวเราะ) หลักการเลี้ยงดูคือ การคุยกัน การเปิดใจ ยุคนี้เปิดคอมฯ ค้นหาได้ทุกอย่าง แต่คุณพ่อต้องคัดกรองว่าสิ่งไหนจริง สิ่งไหนเหมาะสมสำหรับลูกสาว ต้องเปิดใจให้ลูกคุยกับเราได้ทุกเรื่อง พอมีอะไรผิดปกติ เขาจะนึกถึงเราก่อน กล้ามาพูดกับพ่อ แต่ถ้าพ่อเข้ากับลูกไม่ได้ คุยกันไม่เข้าใจ เขาก็ไปเข้าหากลุ่มเพื่อนแทน และด้วยความไม่รู้ของเด็กๆ พลอยทำให้ทุกสิ่งผิดไป สมมติลูกมาเล่าเรื่องให้ฟังว่า ‘พ่อ เพื่อนหนูมีแฟนแล้ว’ ถ้าพ่อบอกลูกว่า ‘อย่าไปคบเพื่อนคนนี้นะ เขาไม่ดี’ อาจทำให้ลูกต่อต้านเรา เปลี่ยนเป็นถามว่า ‘เหรอ เพื่อนมีแฟนแล้วหนูคิดยังไงละ’ ลองคุยจนให้เราล่วงรู้ความคิดของลูก จะได้วางแผนถูกต้อง เป็นความสัมพันธ์ในแบบที่ลูกอยากพูดคุยด้วย”

 

เปลี่ยนไปอย่าตกใจ

“สีไม่ได้เป็นคำตอบค่ะ เลือดเป็นสีแดงอยู่แล้ว แต่จะเปลี่ยนเป็นดำขึ้น หรือเป็นก้อนเลือด ขึ้นกับระยะเวลาที่เลือดค้างอยู่ในช่องคลอด เวลาเลือดโดนอากาศจะมีสีเข้มขึ้น ถ้าประจำเดือนมาแล้วไหลออกมาเลย ก็จะเห็นเป็นสีแดงสด แต่บางคนมาแล้วยังไม่ออก รวมกันเป็นก้อน ก็เป็นสีแดงเข้ม หรือมาน้อย พอมาน้อยแล้วค้างในช่องคลอดนาน เลยออกมาสีคล้ำเหมือนสีน้ำตาลอมดำ ก็ตกใจละ ที่ต้องดูคือเรื่องปริมาณและกลิ่นมากกว่าค่ะ ปริมาณปกติของประจำเดือนในหนึ่งรอบคือ 80 มิลลิลิตร บางคนอาจมีสามวัน ถ้าได้แปดสิบ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ถ้าเยอะขึ้น เช่นเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกหนึ่งชั่วโมง ต้องใส่ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ อันนี้คือสิ่งผิดปกติละ ถ้าเป็นแบบนี้ทุกเดือน อาจเป็นเนื้องอกในมดลูก ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่ทำให้เลือดออกเยอะก็ได้ ถ้ามาเยอะในวันสองวันแรกถือว่าไม่ผิดปกติ แต่ถ้าเป็นตลอดช่วงมีประจำเดือน เช่น มาเจ็ดวันก็เยอะทุกเจ็ดวันเลย แล้วมีอาการอื่นร่วม อ่อนเพลีย หน้ามืด ก็ควรต้องพบแพทย์ และประจำเดือนเกี่ยวกับระบบฮอร์โมนในร่างกาย ดังนั้นคนที่อายุน้อยจะมีปริมาณประจำเดือนเยอะกว่าคนที่อายุมาก อายุ 25 มาเจ็ดวัน อายุ 40 มาสามวัน ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติค่ะ”

 

น้องสาวสีคล้ำบอกโรคไหม

“หมอว่าเป็นเรื่องความสวยงามมากกว่า ถ้าเราไม่ได้มีโรคทางผิวหนังอย่างด่างขาวหรือเม็ดสีผิดปกตินะ การที่สีคล้ำเกิดจากฮอร์โมน จากสีผิวเดิมของตัวเอง เราจะไม่เคยเห็นนิโกรที่มีสีตรงนั้นขาว มันอยู่ที่เม็ดสีของเขา สาเหตุอีกอย่างคืออาจจะชอบใส่กางเกงรัดๆ เกิดการเสียดสีเยอะๆ หรือบางคนทำกิจกรรมขี่ม้า ขี่จักรยาน เสียดสีกับกางเกงที่ใส่ ก็คล้ำกว่าตรงอื่น ไม่เกี่ยวกับโรคอะไรทั้งสิ้น”

 

เป็นมะเร็งเพราะชะล่าใจ

“ปัจจุบันคนมีน้ำหนักตัวเยอะขึ้น ผู้หญิงที่น้ำหนัก BMI 25 ขึ้นไป จะมีปัญหาประจำเดือนมาผิดปกติ ทั้งไม่มา หรือ 5-6 เดือนมาที บางคนหนึ่งปีมาครั้ง ที่เคยเจอคือน้ำหนักเยอะ อายุแค่ยี่สิบหก ประจำเดือนไม่มาหนึ่งปี อยู่ดีๆ ก็มาเยอะมาก เลือดออกไม่หยุด ต้องขูดมดลูกไปตรวจ ผลปรากฎว่าเป็นมะเร็ง ซึ่งมะเร็งพวกนี้เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกผิดปกติ แล้วที่ผิดปกติก็เนื่องจากประจำเดือนไม่มานานๆ จนเยื่อบุหนาตัวขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ต้องรักษาด้วยการตัดมดลูก รังไข่ ไม่สามารถมีบุตรได้แล้ว คนอ้วนมักมีอาการแบบนี้ และจะคิดว่าสบายดีที่ประจำเดือนไม่มา เลยไม่หาหมอ แต่เขาคิดผิด ตรวจอีกทีอาจเป็นเยอะแล้วก็ได้ ส่วนคนผอมที่มีอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ ก็ควรตรวจ เพราะส่วนใหญ่ฮอร์โมนจะไม่ปกติ”

 

โรคที่เจอเยอะขึ้น

“มะเร็งค่ะ อาจเป็นเพราะเกิดเพศสัมพันธ์ในอายุที่น้อยลง หรือการมีคู่นอนหลายคน เสี่ยงต่อการติดเชื้อ การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ จนภูมิร่างกายต่ำลงก็ติดง่ายขึ้น เลยติดเชื้อ HPV ที่ทำให้เป็นมะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่ทำให้ผู้หญิงเสียชีวิตเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งเต้านม แล้วถ้าไม่ได้ตรวจร่างกายเลย เชื้อพวกนี้วันดีคืนดีก็ก่อมะเร็ง เดี๋ยวนี้อายุ 25 ก็เป็นมะเร็งแล้ว สืบพบสาเหตุว่าคุณมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อยๆ ก็จะแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันค่ะ ฉีดแล้วจะป้องกันได้เนิ่นๆ และลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็ง ปัจจุบันวัคซีนชนิดใหม่ครอบคลุมได้ถึงเก้าสายพันธุ์ เขาแนะนำให้ฉีดตั้งแต่อายุน้อยกว่ายี่สิบหกปี ถ้ายังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ จะมีประสิทธิภาพได้ถึง 99% ค่ะ

“ปัจจุบันสนับสนุนให้ผู้ชายฉีดด้วยเช่นกัน เพราะผู้ชายจะเป็นคนพาเชื้อ HPV มาให้ ตัวผู้ชายอาจไม่ได้ติดโรคแต่เป็นพาหะให้ผู้หญิง แล้วเราต้องนึกถึงกลุ่ม LGBTQ+ ด้วย ว่าเขาสามารถแพร่เชื้อ HPV ให้กันได้ ถึงจะไม่เป็นมะเร็งปากมดลูกแต่เป็นมะเร็งทวารหนักแทน ดังนั้นจึงแนะให้ฉีดในผู้ชาย ลดการติดเชื้อได้ด้วย”

 

คำฝากจากหมอ

“ย้ำอีกครั้งว่าตรวจภายในไม่น่ากลัวค่ะ ถ้าไม่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้วอยากตรวจ หมอก็สามารถเลือกอุปกรณ์ตัวเล็กให้ได้ หรือตรวจอัลตร้าซาวนด์แทน การตรวจหาเชื้อ HPV สามารถตรวจเบื้องต้นได้ ในกรณีที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรตรวจทุกปี และความเชื่อว่าไม่มีอาการไม่ตรวจ นั้นไม่จริงค่ะ บางอย่างเป็นแล้วแต่ไม่แสดงอาการก็มี ถ้าตรวจทุกปีก็ช่วยลดเรื่องโรคต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ หมออยากบอกว่าความเชื่อหลายอย่างนั้นไม่ถูกต้อง ยิ่งในโลกโซเชี่ยลด้วยแล้ว ไม่มีอะไรยืนยันว่าข้อมูลที่อ้างมาจากดร.คนนั้นคนนี้ ดร.คนที่ว่ามีตัวตนจริงไหม เขาเขียนจริงหรือเปล่า ถ้าเป็นวิธีการดูแลสุขภาพทั่วไป อิงตามหลักที่เราเรียนมาตั้งแต่เด็ก กินห้าหมู่ กินวิตามินให้ครบ การพักผ่อนที่เพียงพอ การขับถ่ายที่ดี ถ้าปฏิบัติตามเกณฑ์นี้แล้วก็ไม่ต้องหาอย่างอื่นมาช่วย เช่น มะนาวโซดา กินไปจะช่วยอะไรได้ ที่แน่ๆ คือโซดากัดกระเพาะ ทำให้เกิดแก๊สเพิ่มขึ้น มะนาวทำให้เกิดกรดอีก และอาจเกิดกรดไหลย้อนได้”

 

HUG Magazine

คอลัมน์: แขกรับเชิญ 

เรื่อง: มาศวดี ถนอมพงษ์พันธ์

ภาพ: อนุชา ศรีกรการ


เพราะเราต่างวัยหรือใจเราต่างกัน

เพราะเราต่างวัยหรือใจเราต่างกัน : ประสาน อิงค์นันท์

 

“สิ่งที่ผมพยายามทำคือการทำให้คนเปิดใจกันมากกว่า เปิดใจและรับฟังกัน เพจมนุษย์ต่างวัยเหมือนเพจคนแก่ แต่ที่จริงเพื่อสร้างทัศนคติที่ดีต่อกัน เราจึงมีคำขวัญว่า ‘แค่ต่างวัยแต่ไม่ได้ต่างดาว’ เพราะคุณแค่อายุต่างกัน แต่ไม่จำเป็นต้องมองต่างกัน” ประสาน อิงคนันท์ เจ้าของเพจมนุษย์ต่างวัย จากบริษัทบุญมีฤทธิ์มีเดีย จำกัด ได้นิยามถึงสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ ว่าแท้จริงแล้ว คำว่า ‘ต่างวัย’ อาจไม่ใช่แค่อายุ แต่เป็นจิตใจต่างหากที่ทำให้เราต่างกัน

 

ก้าวแรกของมนุษย์ต่างวัย

“ผมเปิดบริษัทบุญมีฤทธิ์มีเดียมาเจ็ดปีแล้ว ในสองปีแรกตั้งโจทย์เรื่องสังคมสูงวัยร่วมกับไทยพีบีเอส สมัยก่อนผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่รู้จักคำว่า ‘สังคมสูงวัย’ เท่าไร ตอนนั้นคำว่า age gap หรือความต่างระหว่างวัยยังไม่มี จึงมองว่าเป็นเรื่องของคนแก่เท่านั้น พอค้นข้อมูลให้ลึก ได้รู้ว่าสังคมสูงวัยมีทั้งระบบเศรษฐกิจถดถอย คนทำงานน้อยลง และสิ่งที่เป็นกันทั่วโลกคือทัศนคติของคนสูงวัย ซึ่งที่เคยมีหน้าที่การงาน มีความรับผิดชอบ รู้สึกว่าตัวเองด้อยค่าลง ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เกิดทัศนคติเชิงลบต่อตัวเอง มันมีหลายสิ่งมากนะ รวมทั้งยังมีมายาคติว่าคนแก่ต้องไปรำไท้เก๊ก รดน้ำต้นไม้ เลี้ยงหลานอยู่บ้าน เข้าวัดปฏิบัติธรรม เหมือนเราตัดพวกเขาออกจากสังคม

“ตอนนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว คนแก่ยุคนี้ไม่เหมือนยุคก่อน การรักษาพัฒนามากขึ้น ร่างกายแข็งแรงขึ้น เสพสื่อมากขึ้น วิธีคิดจึงเปลี่ยนไป คนแก่รุ่นใหม่ๆ อยากออกไปเล่นกีฬา ทำกิจกรรม อายุหกสิบจึงไม่ใช่จุดสิ้นสุด หลายคนพูดว่าเกษียณคือจุดเริ่มต้นของการทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาทั้งชีวิต เพราะที่ผ่านมาอยู่กับภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบหาเงินดูแลครอบครัว บางคนพอหกสิบเหมือนมีอิสระ ได้กำหนดชีวิตของตัวเอง ดังนั้นเมื่อพูดเรื่องสังคมสูงวัย จึงไม่ควรพูดแค่เรื่องป่วยไข้ หรือการเตรียมรับเข้าวัยชราอีกต่อไป ที่จริงสังคมสูงวัยเป็นเรื่องของคนทุกวัย เพราะวันหนึ่งเราทุกคนต้องแก่ตัวลง”

 

แค่ไม่กี่ปีก็ต่างกัน

“บนโลกออนไลน์พอพูดต่างปุ๊บ จะโยงเข้าไปสู่เจนเนอเรชันหรือรุ่นวัยกันหมดเลย คิดแบบมนุษย์ป้า มนุษย์ลุง เบบี้บูม เด็กสมัยนี้ กลายเป็นโจมตีที่วัยแทนไม่ใช่เนื้อหาละ อยากให้มองว่าแต่ละวัยเติบโตมาในสภาพสังคมแตกต่างกัน มีกรอบความเชื่อไม่เหมือนกัน อยากให้ทุกคนได้เห็นและเข้าใจว่าคนแต่ละวัยเป็นอย่างไร ปัญหานี้แม้แต่เด็กที่จบก่อนหน้าสองปี เจอเด็กที่เพิ่งจบมาทำงานด้วย ก็บอกว่าเด็กรุ่นนี้คุยกันไม่รู้เรื่อง แค่สองปีเองนะ (หัวเราะ) ทั้งที่ผมรู้สึกว่าพวกเขาเป็นคนรุ่นเดียวกัน มนุษย์ต่างวัยจึงทำหน้าที่ในการจูนทัศนคติของคนต่างวัย ต่างความคิด ให้มีความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น แล้วยอมรับว่าพวกเราไม่เหมือนกัน แต่อยู่ร่วมกันได้”

หันหูรับฟังกัน

“มีแผนการที่กำลังทำคือ ‘หันหูเข้าหากัน’ เช่นเอาคนเจนวายมาคุยกับคนเจนเบบี้บูม เอามาหลายๆ คู่ ตั้งประเด็นถามหลากหลายมาก เช่น คุณควรมีเซ็กซ์กับแฟนก่อนแต่งไหม มองยังไง? แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่ารุ่นเขาทำยังไง รุ่นหลานทำยังไง หรือเลือกงานที่รักหรืองานที่ได้เงิน มาตั้งประเด็นถาม แน่นอนว่าคำตอบแต่ละเจนไม่เหมือนกัน อย่างเรื่องงาน คนเจนเก่าบอกว่าเลือกงานที่รักก่อนสิถึงจะได้เงิน คนเจนใหม่แย้งว่าแล้วเมื่อไรจะได้เงิน ต้องทำงานให้ได้เงินก่อนสิจึงจะไปทำงานที่รักต่อได้ เราหันหน้าคุยกันมากแล้ว ลองหันหูมาฟังกันบ้าง มันไม่มีข้อสรุปหรอกว่าอะไรผิดถูก แค่ให้เข้าใจว่าทำไมคนรุ่นนั้นคิดแบบนี้ เราพยายามเชื่อมโยงสู่ทุกวัยมากที่สุด

“ถ้าไม่สัมภาษณ์คนวัยนั้น อาจไม่รู้ปัญหาเลยก็ได้ อย่างเคสหมอกระต่าย มนุษย์ต่างวัยทำประเด็นเรื่องการใช้สะพานลอยกับทางม้าลาย คนแก่บางคนก็บอกว่าอยากข้ามทางม้าลายแต่แถวบ้านไม่มี แล้วเวลาคนแก่ข้ามทางม้าลาย เขาจะก้าวได้ช้า ใจไปถึงที่หมายแล้ว แต่ขาค่อยๆ ข้าม พอจะใช้สะพานลอย ก็ดูสิว่ามันเหมาะสำหรับเขาไหม กว่าจะขึ้นบันไดแต่ละขั้นต้องเหนี่ยวราวขึ้นไป บางคนผ่าตัดลิ้นหัวใจหรือผ่าข้อเข่ามา แล้วบางแห่งมีสายไฟพาด ขั้นบันไดที่สร้างก็แคบและชันอีก มีคนตั้งคำถามว่าแล้วคนแก่ออกมานอกบ้านทำไม เขาไม่ได้ออกมาเที่ยว แต่เขาต้องไปโรงพยาบาลทุกเดือน ทำไมไม่สร้างสะพานเพื่อรองรับคนทุกกลุ่มแต่แรกละ ดังนั้นคุณต้องรู้เรื่องของเขา เพื่อที่จะคิดเผื่อต่อไปได้”

 

แสดงจุดร่วม สงวนจุดต่าง

“ปีนี้ผมอายุ 50 ส่วนอายุเฉลี่ยพนักงานในบริษัทอยู่ที่ประมาณ 26 ผมใช้หลักการเดียวกันคือมองหาจุดดีจุดด้อยของกันและกัน ตัวผมจุดดีคือประสบการณ์ จับประเด็นได้ดี เข้าใจเรื่องราว มีทักษะสื่อสารพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการทำงาน เช่น การเขียนต้องไม่สะกดผิด ส่วนจุดด้อยของผม ตอนนี้โลกเปลี่ยนไป ผงเล่นโซเชียลมีเดียก็จริง แต่ให้ตามโลกว่าที่ไหนพูดอะไร มีกระแสอะไร บางทีตามไม่ทัน ดังนั้นงานที่คิดออกมา เมื่อสิบปีก่อนยังใช้ได้ดี แต่ตอนนี้อาจเชยแล้ว การชวนน้องๆ มาทำงานก็ได้เห็นข้อดีของเขาว่า พวกเขาอยู่ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกตลอดเวลา แต่จุดอ่อนคือไม่มีประสบการณ์ ไม่สามารถมองประเด็นต่างๆ ได้คมชัด ก็เอาจุดแข็งของผมไปเสริม แล้วให้เขามาอุดจุดอ่อนของผม เรื่องแบบนี้ตบมือข้างเดียวไม่ได้ ต้องเปิดใจให้กว้าง ถ้าใครสักคนปิดรับก็ไม่สำเร็จ ทั้งสองฝ่ายต้องมาเจอกัน

“เราจะประชุมแบ่งปันความคิดเห็นกันตลอด ผมถามพวกเขาตรงๆ ว่า ถ้าคิดแบบนี้คนรุ่นนี้จะดูไหม มันอ่อนไหวกับคนรุ่นนี้ไหม บางชื่อฟังแล้วเชยไหม คนรุ่นนี้ดูอะไรกัน ส่งมาให้ดูหน่อยสิ อาจมีข้อขัดแย้งหรือเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ต้องยอมฟังกัน แล้วใช้เวลาดูว่าผลเป็นอย่างไร ชื่อ ‘มนุษย์ต่างวัย’ ก็มาจากการประกวดหาชื่อร่วมโหวตกัน เพราะถ้าใช้ชื่อที่ผมคิดเองคงเชย (หัวเราะ) สิ่งสำคัญคือการเปิดใจอย่างจริงจังและยอมรับว่าโลกมันเปลี่ยนเรื่อยๆ เราต้องตั้งเป้าให้ตัวเองด้วยว่าคุณอยากเป็นคนแบบไหน อยากเป็นหัวหน้างานที่ยึดติดความรู้เดิมๆ ไม่เปลี่ยนแปลง หรือหัวหน้างานที่พร้อมจะเรียนรู้และเติบโตไปด้วยกัน ทั้งหมดนี้เป็นหลักการที่ใช้ในการทำเพจมนุษย์ต่างวัยครับ (ยิ้ม)”

 

วัยไหนที่คุยยากสุด

“ผมว่าไม่ใช่เรื่องของวัยนะ เป็นเรื่องบุคคลมากกว่า อย่างคนรุ่นใหม่ก็มีคนที่ปิดตัวเอง แต่คนแก่ที่คิดว่าจะปิดตัว กลับเปิดกว้าง อยากเรียนรู้สิ่งใหม่ก็เยอะ วัยเป็นสิ่งที่กำหนดว่าใครเด็กใครแก่ ข้างในจิตใจต่างหากที่บอกว่าคุณเป็นคนแบบไหน ผมเจอคนแก่หลายคนที่บอกว่าอายุ 60 เป็นวัยเริ่มต้น หัดไปเล่น Tiktok เรียนรู้เทคโนโลยีกันมากขึ้น แต่เด็กบางคนให้หัดทำอะไรใหม่ๆ กลับไม่กล้าลอง กลัวหรืออาย ไม่มีความมั่นใจ ส่วนคนแก่ที่ทัศนคติดี จะคิดว่ายิ่งแก่ ยิ่งไม่มีฟอร์ม เพราะมีมาทั้งชีวิตแล้ว (หัวเราะ) จะล้มก็ไม่เป็นไร ไม่ใช่เรื่องน่าอาย อยากลองอะไรทำเลย เคยมีคนถามผมว่า ผมอยากเป็นคนแก่แบบไหน แน่นอนว่าผมอยากเป็นคนแก่ที่แข็งแรง สิ่งสำคัญคือไม่เป็นภาระคนอื่น และยังเปิดใจยอมรับฟังความคิดเก็นใหม่ๆ จากคนอื่นๆ ได้ ไม่ว่าความคิดเห็นนั้นเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม แต่ยังพยายามทำความเข้าใจอยู่เสมอ เมื่อโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว สุดท้ายปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่วัย แต่อยู่ที่ใจล้วนๆ ครับ”

ความเข้าใจผิดที่พบบ่อย

“คนแก่ที่คิดว่าอายุเท่านี้ไม่น่าทำอะไรได้ก็มีนะ ในทางกลับกันก็มีคนแก่ที่คิดว่ารุ่นนี้ควรใช้เวลาไปทำสิ่งที่ยังไม่เคยลองทำ ไม่ต้องสุดโต่งถึงกับซื้อมอเตอร์ไซค์ขับไปรอบโลก (หัวเราะ) แต่แค่สามารถมองหาแรงบันดาลใจในการมีชีวิตต่อได้ การเรียนรู้สิ่งใหม่ที่เข้ากับรูปแบบชีวิตที่ไม่ยากเกินไป เช่นปั้นเซรามิก หรือออกกำลังกาย โดยตั้งเป้าหมายให้ตัวเอง

“เราทำโปรเจกต์กับสสส. เปิดอบรมอาชีพให้คนแก่ พวกเขาเข้ามาสมัครกันเยอะมาก มาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยากเป็นบาริสต้า influencer นักแสดง มองด้วยใจเป็นกลาง ความอยากของเขาไม่ต่างจากความอยากของคนหนุ่มสาว ที่อยากพาตัวเองไปต่างประเทศ อยากเข้าวงการ คนวัยหกสิบไม่ต้องหยุดฝัน โลกเขามีเป้าหมายของเขา มันเป็นจุดร่วมกันของคนที่อยู่คนละวัย คนที่อยากฝัน อยากรู้สิ่งใหม่ๆ อยากชนะอุปสรรค สังคมสูงวัยมันมาถึงแล้ว เราจะทำยังไงให้อยู่ด้วยกันได้ เอื้อเฟื้อกันได้

“ในยุคปัจจุบันที่คุณอายุยืนขึ้น จะทำอะไรกับชีวิตที่เหลือ มีคนแก่อายุ 102 ปี ออกไปวิ่งแข่งแล้วได้รางวัลตลอด เพราะคนวัยเดียวกันตายหมดแล้ว (หัวเราะ) หลายคนมีเป้าหมายเล็กๆ คือสุขภาพดี ไม่เป็นภาระลูกหลาน ยังวิ่งได้ก็ภูมิใจแล้ว คนเราไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะตายเมื่อไหร่ คุณจะให้ตัวเองรู้สึกภูมิใจยังไงในเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ถ้าตื่นมาเอาแต่คิดว่าโลกนี้ไม่น่าอยู่ ทุกอย่างดูขวางหูขวางตาแล้ว เราจะอยู่กับโลกนี้ได้อย่างไร”

 

 

ตรงกลางที่ต้องการ

“หลักที่ทำให้คนสองวัยร่วมกันได้คือ ‘ฟังและทำความเข้าใจกัน’ แน่นอนว่าอาจยอมรับได้บางเรื่อง บางเรื่องรับไม่ได้ แต่ถ้าเข้าใจกัน คุณจะอยู่กันได้ และค่อยๆ เริ่มยอมรับซึ่งกันและกัน เป็นเรื่องสำคัญนะ เพราะสิ่งที่ไม่ตรงใจเรา เรามักตัดสินกันไปก่อนแล้ว แต่ถ้าตั้งใจฟังจริงจัง ว่าทำไมเขาเชื่อแบบนี้ ทำไมเขามองแบบนี้ ทำไมเขาทำแบบนี้ ก็จะเข้าใจกันมากขึ้น ในโลกยุคโซเชียลมีเดีย ความเชื่อถูกทำให้แคบลง ยิ่งเราเสพสิ่งใดมากๆ มันยิ่งส่งสิ่งนั้นให้เราเสพมากขึ้น เราเลยคิดว่าเราถูก กลายเป็นการตีกรอบความเชื่อของเราถูกต้องแล้ว พอไปเห็นความเชื่อคนอื่น จึงคิดว่าไม่ถูกต้อง เราจึงต้องเปิดใจและยอมรับฟังกัน

“การเปิดใจนั้นรวมถึงตัวเราเองด้วย ถ้าผิดต้องขอโทษบ้าง เห็นสังคมพูดถึงการบูลลี่เมื่อใช้คำถามว่าทำไมอ้วนขึ้น ดำขึ้น ถ้าพ่อแม่ทักแบบนี้ คนยุคนี้คงตัดสินว่าเขาบูลลี่ แต่ในยุคที่เขาเติบโตมา ก็ต้องยอมรับว่าเจตนาของยุคนั้นไม่ใช่การบูลลี่ แต่เป็นความห่วงใย ทักเรื่องสุขภาพมากกว่า เขาจึงเห็นว่าเรื่องแบบนี้ไม่ได้เสียมารยาท แต่แล้ววันหนึ่งกลับถูกคนรุ่นหลังตำหนิบอกว่าสิ่งที่เชื่อมาตลอดนั้นผิด มันก็เข้าใจกันยาก ดังนั้นคุณไม่อาจเอามาตรฐานในยุคใหม่ไปตีกรอบว่าอีกฝ่ายผิดไร้มารยาท เพราะเขาไม่ได้เติบโตมาในสังคมยุคเดียวกับคุณ และในทางกลับกัน ผู้ใหญ่เองก็ต้องยอมรับว่าความเชื่อในยุคสมัยนี้ต่างจากความเชื่อแบบเดิมเช่นกัน คนรุ่นเก่าต้องปรับตัวและทำความเข้าใจโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง เพราะคุณต้องใช้ชีวิตในโลกนี้ต่อ”

จุดร่วมของครอบครัว

“ผมไม่ได้โลกสวยถึงกับว่าเมื่อทำเพจนี้แล้ว คนสองวัยจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสวยงาม (หัวเราะ) แต่พยายามทำให้เห็นว่าโลกมีความหลากหลาย อะไรทำให้เขาคิดต่างจากเรา การยอมฟัง ยอมเข้าใจความแตกต่าง จึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ต้องเข้าใจกันทั้งหมดก็ได้ แค่หาจุดร่วมของกันและกัน เพจมนุษย์ต่างวัยก็ต้องเคลื่อนไปตามความรวดเร็วของสังคมให้ทัน เช่นช่วงหนึ่งที่สถานการณ์การเมืองรุนแรง มีการฉีดน้ำไล่เด็ก มีการ call out ตอนนั้นก็คิดว่าเราควรพูดอะไร ในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง ซึ่งอาจไม่เข้าหูอีกฝ่าย ผู้ใหญ่อาจไม่เข้าใจ เด็กอาจคิดว่าเขาทำผิดอะไร ที่สุดแล้วทำเป็นแคมเปญว่า #เราไม่สามารถ delete ใครออกไปจากสังคม แล้วไปคุยกับทุกฝ่ายที่เห็นต่างกัน ทั้งพ่อแม่เห็นต่างจากลูก ครูเห็นต่างจากนักเรียน เจ้านายเห็นต่างจากลูกน้อง เพื่อความเข้าใจกัน เพราะถึงเราไม่ชอบใครก็ไม่สามารถกดลบเขาไปจากชีวิตได้จริงๆ ไม่เหมือนกดลบจากหน้าจอสี่เหลี่ยม มันอาจได้แค่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่สุดท้ายเราก็ต้องเจอกัน ต้องอยู่ร่วมกันอยู่ดี”

 

 

สวัสดีวันจันทร์

“มนุษย์ต่างวัยเคยทำประเด็นที่คนแก่ชอบส่งไลน์มาทักสวัสดีวันจันทร์ ส่งมาทั้งวัน พอถามคนรุ่นใหม่ เขาบอกมันน่าเบื่อ สร้างความรำคาญ แต่พอถามคนแก่ เขามองว่าเป็นการทักทายแสดงความห่วงใย เพราะคนแก่ไม่ได้เจอกันบ่อย ไม่ได้ออกจากบ้านไปมีสังคมเหมือนวัยรุ่นที่เจอได้ทุกอาทิตย์ทุกเดือน บางทีพวกเขาเจอกันปีละสองหน เพราะเดินทางไม่ถนัด ถ้าลูกหลานไม่พาไปก็ไม่ได้เจอกัน และการส่งไลน์ก็เพื่อบอกว่าฉันยังอยู่นะ บางคนเคยส่งให้เพื่อนทุกวัน หายไปสามวัน โทร.ไปเช็กปรากฏว่าเพื่อนตายไปแล้ว การตอบไลน์จึงบอกว่าฉันยังมีชีวิตอยู่

“ดังนั้นความหมายของคนสองวัยจึงไม่เหมือนกัน ทั้งที่เป็นของสิ่งเดียวกันแท้ๆ มันจึงไม่แฟร์ถ้าเราจะไปตัดสินว่าอันนี้ถูกอันนี้ผิด ยิ่งในประเด็นครอบครัวเราจะไม่นำเสนอด้านเดียว จะเสนอทั้งสองมุมมอง แม้บางครั้งอาจมีเรื่องเจ็บปวด เพราะคุณไม่สามารถยึดมุมมองของตัวเองได้ตลอดไป ถ้าทั้งสองฝ่ายยอมรับกันได้ จะมีความทุกข์น้อยลง แต่ถ้ายอมรับไม่ได้ จะมีความขัดแย้งตลอดเวลา มนุษย์ต่างวัยจึงพยายามทำสิ่งนี้เสมอมา”

 

 

เชื่อมต่อความแตกแยก

“ถ้าเราไม่ทำเรื่องพวกนี้ลงในพื้นที่สื่อเลย โลกคงล้วนพูดแต่ในมุมมองของตัวเองเท่านั้น ไม่ใช่แค่ในไทย แต่ต่างประเทศก็เป็นประเด็น เพราะโลกมีคนหลากหลายวัยมากขึ้น ถ้าเอาแต่สร้างพื้นที่เฉพาะกลุ่ม เช่น แบ่งเป็นเกาะฉัน เกาะเธอ อาจมีความสุขที่ได้อยู่กับคนกลุ่มที่คิดเหมือนกัน แต่โลกจะไม่ขับเคลื่อนไปไหน แต่ถ้าสร้างสะพานไม้เล็กๆ ระหว่างเกาะ ยังสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ ถ้าคุณจิตใจคับแคบ ยึดมั่นตัวเองเป็นหลัก พอคิดไม่เหมือนกันก็ผลักไปอีกฝ่าย วนเวียนแต่การด่าทอโจมตีกัน มันคงยากแน่ๆ ผมเชื่อนะ ว่าไม่มีคนอยากสร้างเกาะส่วนตัวกันหมดหรอก ยังต้องมีคนอยากเชื่อมโยงหากันอยู่ เพราะที่สุดแล้วโลกต้องมีความแตกต่างที่หลากหลาย ไม่งั้นก็อยู่กันไม่ได้ จะไม่ใช่ระบบนิเวศที่ดี (หัวเราะ)”

ถึงคนทุกรุ่นวัย

“ให้ลองตั้งใจว่า อะไรที่ทำให้เขาคิดแตกต่างกับเรา มองให้เห็นถึงความเป็นคนของเขา อาจช่วยบรรเทาความไม่ชอบลงไปได้บ้าง แน่นอนว่าความขัดแย้งบางอย่างไม่สามารถแก้ไขได้ภายในพริบตา อาจต้องใช้เวลาเป็นปี แต่ไม่มีใครอยากอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งแน่นอน เพราะที่สุดแล้วก็ทุกข์ใจเปล่าๆ”

HUG Magazine

คอลัมน์: แขกรับเชิญ 

เรื่อง: มาศวดี ถนอมพงษ์พันธ์


เส้นทางศึกษาธรรมชาติ เขานางพันธุรัต

เส้นทางศึกษาธรรมชาติ เขานางพันธุรัต

ดินแดนแห่งวรรณคดีไทย

วันหยุดอันแสนพิเศษแวะเวียนมาทักทายเหมือนทุกสัปดาห์ ทริปนี้เลยหนีวิวตึกชวนไปชมวิวภูเขา เดินทางสะดวกสบายเพราะไม่ไกลกรุงเทพฯ นัก จุดหมายปลายทางมุ่งสู่เมือง ‘เขาสวย ทะเลงาม น้ำตาลอร่อย’ จังหวัดเพชรบุรี แต่ไม่ต้องเก็บกระเป๋าให้เหนื่อย เพราะทริปนี้เราไปเช้าเย็นกลับได้ พาไปชมธรรมชาติ สูดอากาศบริสุทธิ์ เติมออกซิเจนให้เต็มปอด แล้วตามหาเจ้าเงาะ ลงชุบตัวในบ่อทอง ตามรอยวรรณคดีเรื่อง สังข์ทอง ที่วนอุทยานเขานางพันธุรัต

เราลุกจากที่นอนตั้งแต่เช้าตรู่ แต่งตัวตามสบายเดินตัวปลิวออกจากบ้าน มุ่งหน้าไปตามเส้นทางสู่ภาคใต้บนถนนสายเพชรเกษม วิวสองข้างที่มีแต่ตึกก็ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นทุ่งนา ภูเขาใหญ่เริ่มปรากฏให้เห็นระหว่างทางเป็นระยะ รถวิ่งแยกจากถนนหลวงอันขวักไขว่เข้าสู่ถนนลาดยางเส้นเล็กๆ สองข้างทางเต็มไปด้วยผืนนาและต้นตาล ขุนเขาทะมึนดูคล้ายผู้หญิงตัวใหญ่กำลังนอนหลับ สอดคล้องกับตำนานของชาวเพชรบุรีและวรรณคดีเรื่องสังข์ทอง ตอนนี้เราค่อยๆ ขยับเข้าใกล้เขานางพันธุรัต แม่บุญธรรมของพระสังข์แล้ว

 

 

วนอุทยานเขานางพันธุรัต ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ที่นี่มีภูเขาลูกหนึ่งเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของชาวเรือ ใช้เป็นจุดบอกเขตว่าได้มาถึงชะอำแล้ว ต่อมาภูเขาลูกนี้กลายเป็นพื้นที่สัมปทานระเบิดหินของเอกชน จนเมื่อในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์ผ่านมาและทอดพระเนตรเห็นความเสียหายจากการระเบิดหิน จึงทรงขอให้ยุติการทำสัมปทานระเบิดหิน กรมป่าไม้จึงได้ฟื้นฟูธรรมชาติและจัดตั้งเป็นวนอุทยานแห่งชาติเขานางพันธุรัต ปัจจุบันผืนป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจอันมีชื่อเสียงของจังหวัดเพชรบุรี

 

ด้วยภูเขามีความสูงกำลังดีเหมาะที่จะไต่ขึ้นไปชมความงามซึ่งธรรมชาติได้สร้างสรรค์ไว้ ทางอุทยานฯ จึงจัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติแบบพอเพียงมากประมาณ 3.5 กิโลเมตร ในเส้นทางศึกษาธรรมชาตินี้ เราจะได้เพลิดเพลินกับเรื่องเล่าของนางพันธุรัตและพระสังข์ เมื่อครั้งที่พระสังข์แอบไปเที่ยวเล่น แล้วได้รู้ความจริงว่านางพันธุรัตน์เป็นยักษ์ จึงแอบชุบตัวและขโมยชุดเจ้าเงาะหนีไป นางพันธุรัตเลยตรอมใจตายและล้มลง จนกลายมาเป็น “เขานางพันธุรัต” หรือเขานางนอนที่ชาวบ้านเรียกกันจนติดปากนั่นเอง

 

พอถึง 8 นาฬิกาก็ได้เวลาเริ่มออกผจญภัย ร่มเงาของเขาหินปูนลูกใหญ่ปกแผ่ทั่วบริเวณ แสงแดดพาดผ่านยอดเขารูปทรงแปลกตาที่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้า จากนี้ให้เรานึกภาพว่าตัวเองเป็นพระสังข์ กำลังเข้าไปในเขตหวงห้ามของนางพันธุรัต เส้นทางช่วงแรกเป็นบันไดปูนที่ค่อยๆ พาเราไต่ขึ้นไปทีละขั้นๆ สุดทางบันไดกลายเป็นทางดินที่ถูกย่ำซ้ำแล้วซ้ำอีกจนพื้นราบเรียบ ตลอดเส้นทางเดินเราได้พบสิ่งของและสถานที่ตามวรรณคดีที่นางยักษ์พันธุรัตซุกซ่อนเอาไว้ เช่น กระจกนางพันธุรัต บ่อพระสังข์ ลานเกือกแก้ว เมรุนางพันธุรัต คอกช้างที่ตั้งชื่อตามเนื้อเรื่อง สภาพป่าที่ฟื้นฟูสู่ความอุดมสมบูรณ์ เส้นทางเดินลัดเลาะผ่านป่าเขา แต่ละก้าวที่เหยียบบนพื้นดินขรุขระ พฤกษานานาพรรณ ในเขตเขาหินปูนนี้ บางต้นก็คุ้นเคย บางต้นก็ดูแปลกตา จนต้องยกโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายภาพ เก็บไว้ถามผู้รู้เมื่อออกจากที่นี่ ยิ่งเดินก็ยิ่งสนุก

จากป่าที่เขียวทึบค่อยๆ เปลี่ยนเป็นป่าโปร่ง ต้นไผ่สีทองยืนไหวเอน สายลมพัดมาเอื่อยๆ พอให้เหงื่อที่ซึมผิวกายค่อยๆ แห้งไป แล้วเส้นทางเริ่มลาดชัน ต้นไม้เริ่มน้อยลง กลายเป็นก้อนหินรูปทรงตะปุ่มตะป่ำ จึงต้องใช้ทักษะการปีนป่ายและทรงตัวมากเป็นพิเศษ เพราะถ้าไม่ระวังก็อาจลื่นหกล้มเจ็บตัวได้ เวลาผ่านไป 1 ชั่วโมง ในที่สุดเราก็ไปถึงจุดชมวิวโคกเศรษฐี จุดสูงสูดของเขานางพันธุรัต บริเวณตรงนี้ทางอุทยานได้จัดทำลานกว้างขวางไว้ให้นักท่องเที่ยวได้นั่งพักผ่อนเสพบรรยากาศรอบข้าง แนวหินปูนเป็นสันโค้งทอดตัวยาว ดุจดั่งประติมากรรมที่ธรรมชาติได้มอบไว้ให้มนุษย์ชื่นชม จากตรงนี้สามารถดื่มด่ำทิวทัศน์ได้ทั้งทะเลของเมืองชะอำ หมู่บ้านและทุ่งนาเขียวขจี เสียงนกร้อง เสียงลมพัดผ่าน ราวกับว่าเวลานี้กำลังลอยอยู่บนสรวงสวรรค์

เวลาผ่านไปนานจนกระทั่งแสงแดดเริ่มร้อนระอุ เป็นสัญญาณบอกว่าได้เวลาอันสมควรแล้ว ที่จะต้องบอกลายอดเขานางพันธุรัต จากจุดชมวิวทุ่งเศรษฐีสู่พื้นข้างล่าง เป็นทางบันไดเดินได้อย่างสะดวกสบาย ใช้เวลาเพียงไม่นานเราก็กลับลงมาได้อย่างไม่อยากเย็น

 

ถ้าเบื่อวิวตึกเมื่อไหร่ลองออกไปหาเส้นทางใหม่ๆ สัมผัสรสชาติของชีวิตในอีกรูปแบบ บางครั้งการพักผ่อนก็มาในรูปแบบการได้ชื่นชมธรรมชาติและสิ่งรอบๆ ตัว แล้วถ้าทริปหน้ายังไม่มีแพลนจะไปไหน ลองเดินเข้าป่าดูสักครั้ง แล้วจะติดใจโดยไม่รู้ตัว

HUG MAGAZINE

ปีที่13 ฉบับที่ 5

พาหัวใจไปเที่ยว


Style Of Star 'แพทริค อนันดา'

หนุ่มลูกครึ่งไทย-นิวซีแลนด์ เจ้าของเสียงนุ่มละมุนหูจากค่ายดัมบ์ เรคคอร์ดดิงส์ ที่หมั่นส่งเพลงชวนให้แฟนๆ หัวใจสั่นไหว บทเพลงล่าสุดยิ่งเศร้าบาดลึก พร้อมลุคที่ดูเติบโตยิ่งขึ้นในเพลง “Lavender” ฮักมีโอกาสพูดคุยกับหนุ่มแพทริคที่เขาเปิดเผยถึงความในใจ ความรัก และรสนิยมอย่างหมดเปลือก

 

 

เพลงใหม่กับกลิ่นรักเก่า

“Lavender” คือเพลงที่ตรงกับความรู้สึกของผมมากที่สุด แต่งจากมุมมองเกี่ยวกับแฟนเก่าของผม ที่เราเลือกจบความสัมพันธ์และเดินออกมาเองด้วยหลายเหตุผล ทั้งที่เขายังไม่อยากเลิกและพยายามขอคืนดี แต่ผมกลับปฏิเสธ คำพูดสุดท้ายที่เขาบอกคือ ‘ขอกอดเป็นครั้งสุดท้ายได้ไหม’ ในท่อนฮุคของเพลงจึงมีหลายประโยคที่เราเคยพูดกัน”

 

รักที่ต้องเดินหน้าไปต่อ

“สำหรับผมความรักต้องใช้ความเข้าใจมากๆ เราต่างต้องเข้าใจในกันและกัน ผมเองก็ไม่ได้ทำถูกต้องไปทุกอย่าง มีบ้างที่ตัดไม่ขาด มีความไม่แน่ใจ ทำให้อีกฝ่ายงงว่าสรุปแล้วเราคิดยังไง ทั้งที่เราเป็นคนเลือกเดินออกมาแต่มีบางช่วงที่ผมทักไปเพราะคิดถึง กลายเป็นให้ความหวังและทำให้เขาเจ็บ การที่เราไม่ชัดเจนยิ่งทำให้อีกฝ่ายเสียใจกว่าเดิม การเลิกราต้องมีความแน่วแน่ ไม่อย่างนั้นจะอยู่ในวังวนไม่จบสิ้น”

 

การดูแลตัวเองแบบผู้ชาย

“ผมกินอาหารคลีนทุกมื้อมาหลายเดือนแล้วครับ กินข้าวไรซ์เบอร์รี่กับเนื้อสัตว์ไม่ปรุงรส ข้อดีคือรู้สึกว่าร่างกายสดชื่นกว่าการกินอาหารปกติที่ใส่ผงชูรสหรือเครื่องปรุงเยอะๆ และน้ำหนักลดไปเยอะมาก You are what you eat คือเรื่องจริง ถึงคุณไม่ออกกำลังกายแต่การกินช่วยควบคุมน้ำหนักได้ ถ้าเรากินให้น้อยกว่าที่ร่างกายเผาผลาญในแต่ละวันครับ”

 

จิตตกต้องห้ามเงียบ

“ช่วงนี้มีบ้างที่จิตตกครับ ด้วยสถานการณ์โควิด-19 จึงต้องอยู่แต่ในบ้าน จากที่เราเคยออกไปทำงาน ได้เจอเพื่อนๆ เล่นดนตรี พอมีโรคระบาดก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากทำเพลง รอปล่อยเพลง สัมภาษณ์ทางออนไลน์ ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่หน้าจอคอมฯ กับห้องนอนเท่านั้น ในแต่ละวันผมจึงพยายามคุยกับเพื่อนให้มาก เพราะพอผมจิตตกจะไม่ค่อยคุยกับใคร ยิ่งรู้สึกแย่กว่าเดิม เลยพยายามตอบข้อความมากขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยตอบ ซึ่งวิธีนี้ช่วยให้ผมและเพื่อนรู้สึกดีขึ้นเพราะต่างคนต่างได้ปรับทุกข์กัน”

 

 

ตัวตนจริงกับบทเพลง

“ผมเป็นคนตลกนะ ชอบกวนและป่วนเพื่อนๆ ไม่ค่อยคิดอะไรมาก ส่วนความชอบเรื่องเพลงที่ผมชอบทำเพลงแนวนี้ โดยส่วนตัวเป็นคนชอบเพลงเศร้าเพราะโดนใจ ให้ความรู้สึกรุนแรงกว่า เนื้อหาพูดถึงความรักที่จบลงหรือถูกทิ้งก็ได้ ผมคิดว่าเพลงเศร้าส่งความรู้สึกได้มากกว่า เวลาดีใจสุดๆ กับเศร้าสุดๆ ผมรู้สึกอินกับความเศร้ามากกว่า”

 

สาวที่ชวนให้ใจหวั่นไหว

“ผมชอบคนที่ความคิดและทัศนคติเป็นอย่างแรก หน้าตาเป็นอันดับสอง ชอบคนที่คุยเรื่องงานได้ สามารถสนับสนุนงานงานของกันและกันได้ ผมไม่ได้เป็นคนโรแมนติก ให้ความสำคัญต่องานที่ทำมากกว่าเอาอกเอาใจกัน เป็นความสัมพันธ์ที่คอยช่วยเหลือแบบนี้ยั่งยืนและดีต่อใจมากกว่าครับ ส่วนเรื่องหน้าตาหรือรูปลักษณ์ภายนอก ผมมองที่ดวงตาก่อน ชอบคนตาโต เวลาจ้องใครจะโดนตกเพราะสายตา (หัวเราะ)”

 

 

Patrick’s Tip

ผมอาจไม่ได้ขัดสนหรือลำบากมากหากเทียบกับคนอื่น แต่ผมเข้าใจถึงข้อจำกัดในการใช้ชีวิตแบบนี้ ผมเพิ่งเรียนจบแต่ชีวิตถูกเบรกทันที จากที่จะไปต่างประเทศ มีแพลนจะซื้อรถหรือย้ายที่อยู่ แต่โควิด-19 ก็ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก รายได้ไม่มากพอตามที่ต้องการ เชื่อว่าหลายคนก็เจอปัญหา พ่อค้าแม่ค้าเพิ่งจะกลับมาเปิดร้านอีกครั้ง แต่ก็มีหลายร้านที่ปิดตัวถาวร ผมเป็นกำลังใจให้ทุกคนครับ เราต้องอดทนและรอวันกลับไปใช้ชีวิตปกติ เพราะเราทำทุกอย่างแล้วจริงๆ เพื่อให้ชีวิตดำเนินต่อไป

 

ภาพสวยๆ จาก: IG @patrickananda


สูญเสียแต่ไม่เสียสูญ

สูญเสียแต่ไม่เสียสูญ

ในช่วงเวลาที่โควิด-19 ระบาดหนักจนเกิดความสูญเสียอย่างมากมาย ทั้งกับตัวเองและคนรอบข้าง ข่าวสารต่างๆ ส่งผลกระทบต่อผู้คนให้รู้สึกเศร้าสลดหดหู่อึมครึม หลายคนเลยตั้งคำถามว่าเมื่อไรสิ่งเหล่านี้จะจบสักที ควรทำเช่นไรต่อไป และถ้าฉันมีความสุขจะผิดไหม

“ความรู้สึกในสภาวะสูญเสียเป็นอารมณ์ที่เข้มข้นมากๆ ความรู้สึกเศร้า ความอยากได้สิ่งที่สูญเสียไปกลับคืนมา ความกังวลว่าจะต้องทำอย่างไร ความโกรธต่อสิ่งที่เกิดขึ้น โกรธการบริหารจัดการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โกรธคนที่นำเชื้อมาติดคนที่เรารัก หรือโกรธคนที่เป็นสาเหตุของการสูญเสียหน้าที่การงาน หรือไม่รู้จะโกรธใครก็โกรธสถานการณ์นี้ กระทั่งโกรธตัวเองที่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้สูญเสีย เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นได้”

นั่นคือคำอธิบายจาก คุณกวีไกร ม่วงศิริ นักจิตวิทยาการปรึกษาประจำศูนย์บริการปรึกษา Knowing Mind Center และบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาไมตรี ถึงหนึ่งในสาเหตุที่ข้างในหัวใจใครหลายคนมืดมนหม่นหมองหนักอึ้งนัก

 

ความสูญเสียหลากหลายรูปแบบ

“ถ้าพูดถึงการสูญเสียมักจะนึกถึงชีวิต แต่ในช่วงโควิดก็มีหลายอย่าง บางคนสูญเสียสิ่งที่ไม่ใช่บุคคล เป็นหน้าที่การงาน โอกาสต่างๆ ความรู้สึกปลอดภัย ความมั่นใจในชีวิต หรือกระทั่งสูญเสียการดำเนินชีวิตอย่างปรกติ ที่เราเรียกว่า normal แล้วก็มีการยกคำว่า new normal ขึ้นมาแทน ถือได้ว่าสูญเสียในทุกพื้นที่

“คงไม่มีสูตรสำเร็จว่าการรับมือแบบไหนดีที่สุด หรือใช้ได้ผลกับทุกคน ผมก็อึดอัดเหมือนกันที่จะพูดคำนี้ แต่ข้อแรกคือการยอมรับให้ได้ครับ ให้มองว่าสิ่งไหนอยู่ในอำนาจที่เราจัดการได้บ้าง และแน่นอนว่าต้องมีสิ่งที่อยู่นอกขอบเขตด้วยเช่นกัน ส่วนที่จัดการไม่ได้จริงๆ เราจำต้องยอมรับมัน ซึ่งไม่ได้น่าพึงพอใจหรอกนะ และเมื่อยอมรับสถานการณ์แล้ว ก็ต้องยอมรับในความรู้สึกของเราด้วย”

 

การหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดด้วยการโกรธ?

“ความโกรธเป็นระยะหนึ่งของกระบวนการปรับตัวกับการสูญเสีย ทีแรก เราจะปฏิเสธก่อนว่าไม่อยากให้ความสูญเสียนี้เกิดจริง แต่พอเกิดขึ้นแล้ว เราก็จะรู้สึกโกรธทุกสิ่งที่เกี่ยวข้อง ก็ถึงขั้นต่อรองว่าเป็นไปได้ไหมที่จะไม่ให้เกิดขึ้นจริง เช่นสวดมนต์ขอ พอต่อรองไม่ได้ ก็เข้าสู่ความเศร้า อาการเศร้าจะคงอยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน ค่อยไปสู่การเยียวยา บางคนอาจเป็นการเลี่ยงเผชิญกับความเจ็บปวด หรืออาจเป็นกระบวนการทางร่างกายที่ระบายความรู้สึกออกมา ขอให้มองว่าความโกรธเหล่านี้เป็นวิธีการหนึ่งของการรับมือและเผชิญการสูญเสีย

“สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้เป็นสถานการณ์ที่น่าเห็นใจมาก เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในไม่กี่วัน ถ้าเป็นมะเร็งยังมีเวลาอีกหลายเดือน หลายปี ให้ปรับตัวยอมรับการจากลา มีช่วงเวลาทำสิ่งดีแก่กัน แต่สำหรับโควิด-19 คนในครอบครัวอยู่ตรงหน้า แต่เข้าไปอุ้มสัมผัสไม่ได้ เยี่ยมไม่ได้ แถมจากไปแล้วขั้นตอนพิธีกรรมต่างๆ ยังสั้นอีก ต้องเผาอย่างเดียว เราไม่สามารถจัดการอะไรได้เลย ที่พอทำได้คือความเชื่อตามศาสนา แต่ละศาสนามีพิธีกรรมในแบบเฉพาะ คนไทยก็ทำบุญ คนจีนก็เผากระดาษเงินทองไปให้ คาดหวังว่าผู้ที่อยู่ในภพภูมิจะได้รับสิ่งที่เราส่งไปให้ ก็คลายใจเราส่วนหนึ่งเหมือนกัน

วิธีที่ต้องผ่านไปให้ได้

“ความยากคือเส้นทางที่ไปสู่การยอมรับ แบบเร็วๆ คงมีสามรูปแบบ หนึ่ง การเลี่ยงเผชิญหน้า เพราะการเผชิญความเศร้าที่เข้มข้น มันยากนะ หลายคนใช้วิธีหาบางสิ่งทำ เพื่อดึงดูดความสนใจนี้ออกไป เศร้ามากก็ทำงานเยอะขึ้น ไปเล่นเกม ดูซีรี่ส์ หรือเลือกไม่ทำอะไรเลย สอง การหาแหล่งซัพพอร์ตทางใจ โทร.หาเพื่อน ญาติ หรือแม้แต่จิตแพทย์ เพราะสิ่งที่เขาต้องจัดการคืออารมณ์ความรู้สึกของเขาเอง และสาม อยากอยู่กับตัวเอง ไม่สุงสิงกับใคร อยู่กับความรู้สึกตรงนี้ให้เต็มที่ ซึ่งทั้งสามอย่างนี้ไม่มีวิธีไหนเรียกว่าผิดหรือถูก คนคนหนึ่งทำแล้วรู้สึกเศร้าเบาลง แต่อีกคนเลี่ยงเผชิญครั้งแล้วครั้งเล่า แต่นึกถึงทีไรก็ยังรู้สึกเศร้าเท่าเดิม บางคนหาแหล่งซัพพอร์ตแล้วไม่หาย แถมยังรู้สึกผิดอีกที่เอาปัญหาไปให้เพื่อนซึ่งอาจจะเหนื่อยล้ากับปัญหาที่คล้ายกัน บางคนอยู่กับตัวเองจนจมดิ่งยิ่งกว่าเดิม

“คนมักพูดกันว่าให้ยอมรับสิ จะทำได้ทันทีไม่ได้หรอก หรือผ่านมาหลายปีแล้วยังยอมรับไม่ได้ซักที ต้องทำยังไง คือต้องตระหนักถึงความทุกข์ใจของเราก่อน ว่ากำลังเศร้าเสียใจ โกรธขุ่นเคือง เครียดในเรื่องนี้ แสดงว่ากำลังเผชิญปัญหาบางอย่างอยู่ บางปัญหาก็ใช้วิธีอื่นจัดการได้ อย่างที่เรียกว่าขับเคลื่อนด้วยการด่า (หัวเราะ) บางอย่างเราไม่ต้องยอมรับเสมอไป แต่ต้องตระหนักว่าเรื่องนี้อยู่นอกขอบเขตการจัดการของเราจริงๆ

“คำแนะนำคือ อนุญาตให้ตัวเองมีความรู้สึกเหล่านี้ได้ ในช่วงโควิด-19 นี้ เราต้องแบกรับและเผชิญอะไรมาหลายอย่างตั้งแต่ยังไม่สูญเสียแล้วครับ เช่นเรื่องงาน เรื่องเงิน หรือจะได้ฉีดวัคซีนไหม จะติดไหม มีความเครียดกังวลเกิดขึ้น จึงไม่แปลกที่ความรู้สึกจะดิ่งลงมากๆ อยากให้ทุกคนทราบว่าแม้ตอนนี้คุณจะรับมือมันไม่ได้ แต่เราทุกคนกำลังอยู่ในกระบวนการของการรับมือและปรับตัว สภาวะนี้ไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป มันแค่ชั่วคราว แต่สั้นยาวของแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน บางทีการอนุญาตให้ตัวเองได้รู้สึกถึงความเศร้าบ้าง สัมผัสมันบ้าง ก็จะได้ปลดเปลื้องมันออกไปจากใจ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าอยากจะเลิกเศร้าหรือลืมมันเสียหน่อย เศร้าต่อไปแต่ดูแลคนอื่นได้ด้วย หรือทำงานต่อไปได้ด้วย การจมอยู่กับความเศร้าไม่ใช่เรื่องผิดครับ

“เช่นสูญเสียคุณพ่อไป ไม่อยากให้เกิดขึ้นเลยเศร้า รู้สึกผิดที่ยังทำบางอย่างให้พ่อไม่ได้ และเสียดายในฐานะคนเป็นลูก สิ่งเหล่านี้ยังอยู่ แต่ถ้าเริ่มไม่โอเคเลยที่ยังเศร้าอยู่ แสดงว่ามีอย่างอื่นไม่เกี่ยวกับเรื่องพ่อเข้ามาแล้วนะ อาจเป็นเรื่องงาน เรื่องแม่ พี่น้องคนในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากความเศร้าของเราด้วย เมื่อเห็นประเด็นนี้ ให้กลับมาดูว่าเรายังทำอะไรได้บ้าง เพราะคุณไม่สามารถให้คุณพ่อกลับมามีชีวิตได้ แต่ครอบครัวที่อยากดูแล หน้าที่การงานที่อยากก้าวหน้า คือสิ่งที่เรายังลงมือทำได้ครับ”

เมื่อคนเริ่มด้านชาต่อความสูญเสียที่มากขึ้น

“การพยายามทำใจให้ด้านชาเพราะไม่อยากเศร้าไปกว่านี้ ก็อาจเป็นการรับมือในอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ถ้าเราทำใจให้ด้านชา แล้วสามารถดำเนินชีวิตประจำวันต่อไปได้ แต่ต้องคอยสังเกตว่าเรากำลังกดทับความรู้สึกของตัวเองอยู่ไหม การกดทับความรู้สึกถ้าเป็นระยะสั้นๆ ก็คงได้ แต่ถ้านานไปก็อาจส่งผลด้วยเช่นกัน เราอาจไม่เผชิญความเศร้า แต่หดหู่แทนในแต่ละวัน ไม่อยากทำอะไร เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ แล้วใครทำอะไรนิดหน่อยก็ไม่พอใจ แสดงว่าส่งผลกระทบแหละ คงไม่ใช่วิธีที่ดีแล้ว”

 

เมื่อความเศร้าหนักหน่วงจนสิ้นหวัง

“กว่าคนคนหนึ่งจะถึงจุดที่รู้สึกว่าสิ้นหวัง ให้อภัยตัวเองไม่ได้จนอยากฆ่าตัวตาย คงมีความซับซ้อนรายละเอียดในปัญหานั้น สิ่งหนึ่งที่ผมพอจะชวนทำได้ คือขอให้ลองมองเรื่องราวโดยเปรียบเทียบว่าถ้าเพื่อนสนิท หรือคนที่เราห่วงใย ตกอยู่ในสถานการณ์นี้ เราอยากจะบอกกับเขาว่าอะไร

“เพื่อนนักจิตวิทยาท่านหนึ่งเคยบอกผมไว้ และผมก็ชอบคำนี้ของเขานะ ว่าบางทีเราใจดีได้กับคนทั้งโลก แต่เราไม่อาจอ่อนโยนกับตัวเองได้ ถ้าคิดว่าฉันสิ้นหวังแล้ว ทุกคนเสียชีวิตแล้วทำไมฉันรอดอยู่คนเดียว คิดว่าการตายคือทางออก สมมติถ้าคนที่กำลังรู้สึกอยู่นี้คือเพื่อนสนิทที่เราแคร์และห่วงใย ก็จะเริ่มรับรู้ในมุมที่ต่างออกไป จะอ่อนโยนกับตัวเองได้ แต่สำหรับบางคนที่จมกับความรู้สึกนี้มากๆ การเข้าถึงแหล่งช่วยเหลือที่เป็นนักวิชาชีพถือเป็นทางออกที่สำคัญครับ”

 

เมื่อสูญเสียแต่อ่อนแอไม่ได้?

“การต้องฝืนเพราะเป็นเสาหลักของครอบครัว คิดว่าเป็นผู้เดียวที่ต้องแบกภาระหน้าที่รับผิดชอบทุกอย่างเอาไว้เอง อาจถึงเวลาต้องตระหนักแล้วว่าเราฝืนไปต่อไม่ไหวแล้วนะ มันอาจส่งสัญญาณมาทางความรู้สึก หรือร่างกาย ตื่นมาไม่อยากทำอะไรเลย เหนื่อยล้า คิดอะไรไม่ออก ต้องมาประเมินกันใหม่ ตกลงอยากฝืนเพื่อให้เป็นเสาหลักได้ แต่ฝืนแล้วกลายเป็นเสาที่กำลังล้มลงหรือเปล่า คิดว่าตัวเองเป็นหัวหน้าครอบครัว ต้องแบกความรู้สึกตัวเองฝ่ายเดียว ผมพบว่าหลายๆ คนพอได้เปิดเผยความรู้สึกกับคนในครอบครัว พบว่าครอบครัวเข้าใจ หรือพร้อมและยินดีแบกภาระร่วมกัน ถ้าบางคนไม่สามารถทำแบบนั้นได้จริง ก็มองหาแหล่งช่วยเหลืออื่นๆ เช่นเพื่อนที่วางใจ สายด่วนที่สาธารณสุขมีให้ หรือบริการทางจิตวิทยา นักจิต หรือจิตแพทย์ เพราะต้องกลับมาที่เป้าหมายว่า อยากเป็นเสาหลัก แล้วสิ่งที่ทำอยู่ทำให้เราสามารถยืนหยัดเป็นเสาหลักได้จริงไหม

“ในสังคมไทย ผู้ชายถูกโยงเข้ากับความเข้มแข็ง สิ่งที่อยู่ขั้วตรงข้ามคือความอ่อนแอ สำหรับคนที่เชื่อในแนวคิดนี้ ผมคงไม่สามารถพูดว่าผู้ชายก็อ่อนแอได้นะ ไม่ต้องเข้มแข็งเสมอไป เพราะจะไปขัดกับสิ่งที่เขาเชื่อถือ ทัศนคตินี้คงไม่ใช่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายเช่นกัน

“ถ้าให้เปรียบเทียบ สมมติเพศชายเป็นนักรบ ต้องเจอศึกที่ไม่มีจุดจบ บางคนเจอปัญหาเศรษฐกิจ บางคนกังวลว่าได้ฉีดวัคซีนหรือยัง แล้วที่ฉีดมีประสิทธิภาพพอไหม จนถึงปัญหารอบตัวที่ขึ้นลงเป็นรายวัน เป็นนักรบที่ต่อสู้จนสะบักสะบอม บาดเจ็บ เสบียงพอบ้างไม่พอบ้าง ศัตรูก็ไม่หมดซักที ระยะทางอีกไกลจนไม่รู้ว่าสงครามนี้จะจบลงตรงไหน ถ้าผมบอกว่านักรบคนนี้จะต้องไม่รู้สึกอ่อนล้าเลย มันเป็นไปได้จริงหรือ มันยุติธรรมกับนักรบคนนั้นหรือครับ

“เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าต้องเข้มแข็งตลอดเวลา หรือห้ามอ่อนแอ และที่เกิดความคิดนี้ แสดงว่าเรากำลังอยู่ในภาวะที่อ่อนแอแล้วละ เพราะถ้าไม่อยู่ในสภาวะนั้นเราเองคงไม่คิดอย่างนี้ ถ้าอยากเป็นนักรบที่เข้มแข็งเราต้องการอะไร ต้องการได้พัก น้ำ เสบียง เปรียบเหมือนการมีแหล่งซัพพอร์ตจิตใจ เพื่อที่จะได้กลับมาเข้มแข็ง ถึงเราจะอยู่ในภาวะที่อ่อนแอ แต่ก็ยังเพียรพยายามสู้และไปต่อ พอไม่ไหวแล้วก็ต้องพัก อิงแอบเพื่อนสนิท คนในครอบครัว หรือคู่รัก เพื่อเติมพลังใจให้เดินต่อได้ รู้ว่าใจเราอยากสู้นะ อยากพาครอบครัวผ่านพ้นวิกฤตินี้ เป็นการสัมผัสความเข้มแข็งของใจตัวเองเหมือนกัน”

 

ความช่วยเหลือสำหรับผู้สูญเสีย

“ไม่มีกฎตายตัวว่าคำไหนห้ามใช้ หรือคำไหนได้ผลดีอย่างแน่นอน เพราะที่ผมเคยเจอมา ไม่ใช่ทุกคนจะรู้สึกแย่กับคำว่าสู้ๆ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะรู้สึกดีกับคำนี้เช่นกัน ต้องสังเกตว่าคนที่เราสื่อสารด้วยมีท่าทียังไงบ้าง ตระหนักถึงขอบเขตบทบาทของเราว่า เรามีความเข้าใจมากพอที่จะช่วยเหลือให้เขาดีขึ้นได้จริงหรือเปล่า อย่างผมทำงานจิตวิทยาศึกษา ต้องตระหนักเสมอว่าคนที่มาคุยกับผม ไม่ใช่ดีได้ด้วยผมเพียงปัจจัยเดียว ขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย การพูดคุยอาจทำให้ดีขึ้นเพราะได้ระบาย พอระบายก็เลยเห็นว่าเขายังมีแหล่งช่วยเหลืออยู่นะ หรือระหว่างที่คุยกัน เขาอาจได้ไปเจอแหล่งช่วยเหลืออื่นๆ ที่จะเข้ามาแก้ปัญหา

“สิ่งหนึ่งที่ช่วยได้ดีสุดคือต้องไม่หวังผลว่าจะทำให้เพื่อนดีขึ้น ให้คำนึงผลลัพธ์ว่าจะทำอย่างไรให้มีความรู้สึกที่ดีต่อกัน พอเราอยากให้เขาดีขึ้น ก็จะสรรหาวิธีต่างๆ ได้เอง เราไม่สามารถควบคุมให้ใครเลิกเศร้าได้ ถ้าอยากช่วยเหลือจริงๆ เริ่มด้วยการสื่อสารความห่วงใยง่ายๆ เช่นแสดงความเสียใจเป็นห่วง ถ้ามีอะไรให้ช่วยเหลือ สามารถบอกเราได้นะ ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็พร้อมยินดีช่วยเหลือ ผมว่าสิ่งนี้ปลอดภัยนะ เพราะไม่ต้องบังคับให้ใครคิดหรือเชื่อตามอะไร แล้วสื่อได้ด้วยว่าเราเป็นอีกคนหนึ่งในชีวิตเขา ที่ยังห่วงใยเขาอยู่ครับ”

 

แสงสว่างกลางความมืด

“ในสถานการณ์โควิด-19 ตอนนี้ ถ้าจะมองหาแสงสว่าง คงไม่เจอ แต่ไม่ได้แปลว่าโลกใบนี้จะไม่มีจุดที่พอเป็นแสงสว่างให้เราได้เลย เหมือนอยู่ชิดกำแพง ข้างหน้ามีแต่ข่าวการติดเชื้อโควิด-19 รายวัน ดูหดหู่ ถ้าถอยออกมาหน่อยจะเริ่มเห็นภาพรวมสถานการณ์นี้มากขึ้น อาจได้เห็นผู้คนที่มาร่วมด้วยช่วยกัน เห็นความพยายามทุ่มเทของบางหน่วยงาน การช่วยเหลือเด็ก ผู้สูงอายุ คนที่ยังหาเตียงไม่ได้ ช่วยได้ทัน ก็รู้สึกปีติปลื้มใจยินดี ถอยออกมาอีก ก็อาจได้เห็นสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับโควิด-19 อย่างเหตุการณ์ Popcat ซึ่งคนไทยร่วมกันกดจนได้ที่1 ในแง่หนึ่งอาจดูไร้สาระ แต่นั่นก็เป็นหนึ่งหรือสองนาทีที่ทำให้เรารู้สึกว่าวันนี้มันยิ้มได้เหมือนกันนะ อาจไม่ได้แก้ปัญหา แต่เป็นการดูแลสภาพจิตใจของเราด้วย”

“ถ้ารู้สึกถึงความเหนื่อย อ่อนแอ หดหู่ นั่นคือสัญญาณที่บอกว่ามีสิ่งที่กำลังท่วมท้นเกินไปข้างในใจ ต้องทำอะไรสักอย่างแล้วละ เหมือนเทน้ำออกจากแก้ว เพื่อให้ปลอดโปร่งมากขึ้น แล้วสามารถไปต่อได้ เพราะสถานการณ์โควิด-19 นั้นเป็นศึกระยะยาวครับ”

ถึงทุกคนที่ร่วมเดินทางไปด้วยกัน

“การเผชิญกับสิ่งที่ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดตรงไหนเป็นเรื่องที่ยากจริงๆ เหมือนกับที่ผมเปรียบเทียบไว้ว่าเป็นศึกระยะยาว สิ่งจำเป็นสำหรับศึกระยะยาวคือเสบียงเพื่อให้มีเรี่ยวแรงยืนหยัด ในกรณีนี้อาจแจกแจงได้เป็นเสบียงสำหรับกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ เสบียงทางกายคือการดูแลร่างกายให้สมบูรณ์พร้อมเท่าที่พอจะเป็นไปได้ การกิน นอน ออกกำลัง เสบียงทางใจคือการดูแลอารมณ์ความรู้สึกด้วยวิธีต่างๆ เช่น มีช่วงพักความคิดจากงาน พักผ่อนหย่อนใจด้วยกิจกรรมที่ชอบหรือสนใจ พักจากข่าวสารที่กระทบความรู้สึก เสบียงทางสังคมคือการติดต่อคนที่วางใจ โทร.ไปพูดคุย วิดีโอคอลล์ หรือทักทายส่งข้อความหากัน มีโอกาสได้เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เหมือนมีเพื่อนร่วมทาง เพื่อไม่รู้สึกโดดเดี่ยวในยามมีปัญหาหนัก ยังนึกออกว่าพอจะพึ่งพาใครได้ เสบียงทางจิตวิญญาณคือการตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งที่เรากำลังพยายามทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลตนเองหรือครอบครัว

“คุณค่าไม่ได้เกี่ยวเนื่องเฉพาะเรื่องที่ดูยิ่งใหญ่หรือสำคัญเท่านั้น เรื่องพื้นฐานอย่างสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างเท่าที่ทำได้ ก็เพื่อปกป้องทั้งตนเองและคนรอบข้าง อีกทั้งเป็นการรับผิดชอบต่อสังคม เราต่างสามารถรู้สึกอิ่มเอมใจกับสิ่งเหล่านี้ได้ สัมผัสถึงความปรารถนาดีที่มีต่อตนเองและคนรอบข้างได้ ใครที่พอจะแบ่งปันได้ก็แบ่งปัน หากไม่ได้อยู่ในสถานะที่พร้อมแบ่งปัน ก็รับรู้ความปรารถนาดีจากผู้อื่นได้เช่นกัน ไม่ว่าเราจะเป็นผู้รับเอง หรือเป็นผู้สังเกตเห็นความเป็นไปที่เกิดขึ้น

“สุดท้ายนี้ขอเป็นกำลังใจให้แก่ทุกคน เส้นทางแต่ละคนอาจยากง่ายไม่เท่ากัน หวังว่าแนวทางการเติมเสบียงให้แก่ตนเองนี้จะพอเป็นประโยชน์ในการใช้ดูแลตัวเองเพื่อรับมือสถานการณ์นี้ครับ”

HUG Magazine

คอลัมน์: แขกรับเชิญ 

เรื่อง: มาศวดี ถนอมพงษ์พันธ์


อย่าสร้างหนึ่งชีวิตบริสุทธิ์ เพื่อหวังจะหยุดคนไม่รู้จักพอ

Q.

พี่อ้อยคะ หนูเพิ่งตรวจเจอว่ากำลังตั้งครรภ์ค่ะ พ่อของเด็กจะรับผิดชอบ เขามีภรรยาที่ยังไม่หย่าและลูกหนึ่งคน แล้วมีภรรยาอีกคนกับลูกหนึ่งคน ซึ่งเขาก็ยังส่งเสียและติดต่อกัน แต่บอกเราว่าไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกันแล้ว ช่วงแรกหนูโอเคค่ะ พออยู่มาเรื่อยๆ ก็เริ่มรู้สึกน้อยใจหนักมาก เวลาเขาคุยกับเมียคนที่หนึ่งและสอง หนูรู้ตัวว่าหึงเขามาก หนูควรไปเอาเด็กออกแล้วเลิกยุ่งกับเขาไหมคะ ยังรักเขา แต่เขาไม่กล้าเลิกกับเมียเก่า ต่อให้หนูมีลูก เขาก็ไม่เลิกกับเมียคนไหนเลย เขาบอกว่าถึงเวลาจะหนีมาอยู่กับหนูเงียบๆ ไม่บอกใคร แต่ไม่รู้อีกกี่ปี หนูเลยคิดหนัก กลัวมีปัญหาตามมา ยิ่งช่วงโควิดฯ ระบาดยิ่งแย่ ฝากท้องกับหาหมอก็ลำบาก เด็กเกิดมาก็เสี่ยงอีก หนูเครียดมาก ตอนนี้เลยคิดอยากเอาเด็กออกแต่ก็กลัวบาป

A.

ตั้งสติให้ดีก่อนนะคะ วันนี้น้องมีอีกหนึ่งชีวิตที่กำลังเติบโตในท้องของเรา คำว่า “แม่” ยิ่งใหญ่กว่าที่เราคิด ชีวิตน้อยๆ นี้เกิดจากความรักของเรา เมื่อพ่อเขาไม่พร้อมดูแล คนเป็นแม่ก็ต้องดูแลเขาให้ได้อย่างดีค่ะ

 

พ่อของเด็กมีภรรยาตั้งสองคน แล้วยังมามีเรา น้องรู้ทุกอย่างก่อนหน้านี้แล้วไม่ใช่หรือ ไม่เห็นมีอะไรเหนือความคาดหมายเลย เขาบอกว่าไม่ได้ยุ่งกันแล้วแต่ยังส่งเสียและติดต่อกัน นี่คือความจริงที่น้องมองข้ามไม่ได้ เวลาเรารักใคร เรามักเลือกมองแต่สิ่งที่เรา “อยาก”มอง จนมองข้ามอีกหลายอย่างที่เรา “ควร” มอง ไม่ว่าเขาจะพูดอะไร ดูง่ายๆ ที่การกระทำ เขาบอกว่าไม่ยุ่งกันกับภรรยาทั้งสองแล้ว พอน้องยอมเข้ามาเป็นคนที่สามเลยทรมานตามท้องเรื่อง คนเก่าเขายังอยากมีไว้ คนใหม่ก็ไม่อยากเสียไป และดูเหมือนเราต้องทนให้ได้กับสิ่งที่เขาเป็น จะหึงยังไง ในเมื่อสองคนนั้นมาก่อน

 

น้องบอกว่า ต่อให้หนูท้อง เขาก็ยังไม่คิดจะเลิกกับเมียคนไหน น้องคิดว่าเด็กคือตัวประกันหรือ ลมหายใจของเขามีเอาไว้แค่เรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้ชายคนหนึ่งเท่านั้นหรือ พอดึงผู้ชายไว้ไม่ได้เลยจะเอาเด็กออก อ้างเหตุผลสารพัดว่า กลัวโควิดฯ หาหมอยาก ที่จริงน้องควรกลัวเรื่องนี้ตั้งแต่ก่อนหน้านี้หรือเปล่า คุมกำเนิดทำได้ไม่ยากแต่ก็ปล่อยมาถึงตอนนี้ เพราะคิดว่าบางทีเขาอาจเลิกกับคนอื่นเพื่อเรา น้องลืมมองไปว่า ทั้งที่ภรรยาคนที่หนึ่งและคนที่สองต่างมีลูกเป็นของตัวเอง ก็ยังไม่อาจหยุดความไม่รู้จักพอของเขาได้เลย ไม่ว่าน้องจะหยุด หรือจะทน เขาก็ปันใจให้หญิงอื่นอยู่ดีค่ะ น้องใช้ชีวิตเสี่ยงไปหน่อย ต่อให้ทุกความรักมีความเสี่ยง แต่ลงท้ายเราควรเลือกคนที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด นี่เขาไม่เคยเลิกกับใครเลย ทั้งเมียหนึ่งและเมียสอง น้องยังยอมเป็นตัวสำรองคนที่สาม ทำไมเขาต้องตามใจน้อง ถ้าเรายอมเป็นตัวสำรองอย่างเต็มใจ ทำไมเขาถึงต้องเลือกเราเป็นตัวจริง สิ่งที่เขาพูดเหมือนการขายฝัน เดี๋ยวจะเลิกกับสองคนนั้นเพื่อไปอยู่กับน้อง ช้าก่อน แล้วบรรดาลูกเมียก่อนหน้านี้ เขาจะดูแลรับผิดชอบยังไง ถ้าเป็นแบบนั้นก็ต้องระวังตัวและหัวใจให้ดี รักไหนที่ได้จากการแย่งชิง เราก็อาจถูกทิ้งไม่ต่างกัน

 

 

ล่าสุดได้ดูซีรี่ส์เรื่องหนึ่ง Love (ft .Marriage and Divorce) ความรักของคนหลายคู่ที่คบชู้กันได้ง่ายมาก บ้างเจอบนเครื่องบิน บ้างเจอที่ฟิตเนส จุดเริ่มต้นแต่ละคู่คล้ายๆ กันคือ คิดว่านิดหน่อยไม่น่าเป็นอะไร นอกใจก็คล้ายติดยา เริ่มจากการคิดว่าไม่ติด ไม่น่าเป็นอะไร สุดท้ายเรื่องก็บานปลาย คนนั้นก็อยากมี คนนี้ก็ไม่อยากเสียไป พอถามจะเลือกใคร เขาก็ตอบว่าเลือกไม่ได้ อย่าคิดว่าเขารักมากทุกๆ คนนะคะ ที่จริงเขารักแต่ตัวเอง เห็นแก่ตัวจนไม่แคร์หัวใจใคร คิดว่าการไม่เลือกอะไรคือความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ เขาอ่อนแอเกินกว่าจะเสียใครไป เลยรวบเป็นทุกคนไว้ด้วยกันเป็นวิตามินรวมแบบนี้

 

ในซีรีส์เรื่องนี้เล่าถึงหัวอกของลูกๆ ด้วย วันที่พ่อทรยศหัวใจแม่ คนเป็นลูกจะรู้สึกแย่แค่ไหน ผู้ชายคนหนึ่งให้เหตุผลว่า “ลูกพ่อ ไม่มีใครหรอกที่จะรักคนคนเดียวไปทั้งชีวิต นี่เพราะแม่คือแฟนคนแรกคนเดียวของพ่อ เรารักกันเร็วไป ชีวิตเลยต้องมาถึงจุดนี้ จุดที่พ่อไปรักผู้หญิงอีกคน แต่ลูกไม่ต้องกลัวนะ ทุกอย่างที่เกี่ยวกับลูกยังคงเหมือนเดิม พ่อยังส่งเสียลูกเหมือนเดิม” ประโยคหนึ่งในเรื่องจุกหัวใจมากค่ะ “อย่าคิดว่าแค่ให้เงินก็หมดหน้าที่ของความเป็นพ่อแล้วนะ” พ่อพยายามให้เหตุผลของคนเห็นแก่ตัวต่อไป “ต่อให้ลูกแค้นพ่อทั้งชีวิต พ่อก็ต้องไปกับผู้หญิงอีกคนอยู่ดี” ลูกสาวร้องไห้แล้วพูดไปว่า “อย่าใช้คำว่าแค้นเลย ความแค้นจะเกิดขึ้นกับคนที่เราคาดหวัง แต่กับพ่อ หนูไม่มีอะไรให้คาดหวังอีกแล้วจริงๆ”

 

รู้ว่าย้อนไปแก้อดีตไม่ได้ แต่เราน่าจะมีบทเรียนอะไรจากความรักครั้งนี้บ้าง สัญญาณอันตรายดังลั่น เราแค่ไม่ยอมฟัง มีเมียสองลูกสอง ยังยอมเป็นตัวสำรองให้เขา สามีภรรยาเลิกกันก็กลายเป็นคนอื่นค่ะ แต่ความเป็นแม่ลูกและพ่อลูกพันผูกกันทั้งชีวิต รู้ว่าน้องคือคนตัดสินใจ แต่ยังไงก็อยากให้คิดถึงหัวใจลูกเอาไว้เยอะๆ อย่าอ้างโควิดฯ ว่าเดี๋ยวชีวิตลูกจะลำบาก ชีวิตของเขาไม่ควรเกิดมาเพื่อสังเวยความมักได้หรือมักมากของใคร และเมื่อวันนี้เขาเกิดมาแล้ว แม้จะไม่สามารถดึงผู้ชายคนไหนเอาไว้ได้ อย่างน้อยลมหายใจของเขาต้องพึ่งพาคนเป็นแม่อย่างเรา อย่าทำให้เขาผิดหวังเลยนะคะ

— DJ อ้อย นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล

คอลัมน์ หัวใจไม่จนมุม

Hug magazine 

การมีลูกไม่ใช่แค่การให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “คน” แต่คือการที่เราต้องร่วมกันสร้างครอบครัวที่อบอุ่นพร้อมพอ เพื่อหล่อหลอมให้ลูกเติบโตอย่างดีด้วยความรัก ไม่ใช่มีลูกเพื่อผูกมัดใคร คิดว่าลูกจะเป็นโซ่ทองเอาไว้คล้องใจ แต่ลืมไปว่า “ใจ” คล้อง “ใจ” คือสิ่งที่สำคัญที่สุด หยุดคิดเอาชีวิตบริสุทธิ์มาหยุดคนไม่รู้จักพอ เพราะมันไม่ได้ผลค่ะ

— DJ อ้อย นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล


สมดุลของความรัก เท่าไหร่ถึงเรียกว่าพอดี

สมดุลของความรัก–เท่าไหร่ถึงเรียกว่าพอดี

แม้ว่าสมัยนี้มีเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกให้เราได้พบเจอหนุ่มๆ ง่ายขึ้น มีตัวเลือกมากขึ้น แต่จะมีสักกี่คนที่โชคดีมีรักดีๆ มั่นคงตั้งแต่อายุยังน้อย แน่นอนว่าผู้หญิงสมัยนี้เก่งขึ้น หาเงินเลี้ยงตัวเองได้ แต่งงานช้าลง แต่อัตราการหย่าร้างกลับเพิ่มขึ้น ดังนั้นในช่วงหนึ่งของชีวิตสาวๆ หลายคนจึงมีช่วงเวลาที่โสด จะโสดนานหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับจังหวะและเวลา ประเด็นคือ อะไรคือความพอดีสำหรับการออกแบบความรักของชีวิตเรา? ฉบับนี้ Wonder Wanners ขอหยิบยกประเด็นนี้มาชวนให้คุณได้ขบคิดกัน

บางคนบอกว่าอยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร เดี๋ยวรักก็เข้ามาเอง แต่ถ้าวันเวลาล่วงเลยไป จนอายุย่าง 30 หรือ 40 แล้ว เราจะยังอยู่เฉยๆ ไหม ใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้าน ไม่ทำอะไร แล้วความรักจะลอยมาหาได้อย่างไร

สำหรับ Wonder Wanners ตอนเด็กๆ ก็เคยเชื่อว่า ไม่ต้องทำอะไรมาก เดี๋ยวเจ้าความรักก็เข้ามาเอง (แล้วมีใครเข้ามาไหม และสมหวังหรือเปล่า) แต่เมื่ออายุมากขึ้น เราเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ความรักนั้นคล้ายกับการหาเงิน ถ้าเราอยากรวยแต่ไม่ลงมือทำอะไรสักอย่าง เราจะรวยได้อย่างไร การซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลโดยหวังว่าจะถูกรางวัลที่ 1 นั่นก็คือการลงมือทำอย่างหนึ่ง คือเลือกเลขและลงทุนซื้อ ความรักก็เช่นกัน ถ้าอยากมีรักก็ต้องลงมือทำ

 

 

บางคนขยันมาก อยากมีรักดีๆ ก็ทำทุกช่องทาง เช่น บอกให้เพื่อนๆ แนะนำคนรู้จักที่ยังโสดให้ เล่นแอพพลิเคชั่นหาคู่ ไปพบปะผู้คนมากหน้าหลายตาร่วมกิจกรรมต่างๆ อย่างอีเว้นท์จัดหาคู่ ไปทุกวัดที่ดังเพื่อขอพรเรื่องคู่ ฯลฯ แต่ละเดือนนัดเดทกับคนนั้นคนนี้จนเพื่อนนับไม่ถูกว่ามีกี่คน ไปเดทเยอะมากแต่ก็ยังไม่สำเร็จสักที จนบางทีน่าคิดนะว่า การที่คนคนหนึ่งขยันได้ขนาดนั้น อาจแสดงถึงการโหยหาความรัก จนกลายเป็นความขาดแคลนหรือเปล่า เป็นเพราะมัวแต่เสาะหาความรักจากข้างนอกจนลืมรักตัวเองใช่ไหม หรือว่าจริงๆ แล้วคือการสร้างโอกาสด้านความรักที่ช่วยให้เราเข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้น

อย่างแรกเลยคือ เดินทางสายกลาง ตามคำสอนของพระพุทธเจ้าคือไม่สุดโต่ง ไม่พยายามมากจนเกินไปแต่ก็ต้องลงมือทำด้วย (คือเปิดโอกาสให้ตัวเองได้พบผู้คน) การเจอรักแท้นั้นก็เหมือนทุกๆ เรื่องของชีวิต คือ ต้องมีความศรัทธาว่ารักแท้ (ที่เป็นของเรานั้น) มีอยู่จริง และต้องมีความเพียรพยายาม ลงมือทำโดยไม่กลัวความล้มเหลว หากล้มแล้วก็ลุกขึ้นมาใหม่ เรียนรู้จากความล้มเหลว และปรับปรุงพัฒนาตัวเองทั้งกาย (ฟิตหุ่นให้ดูดี หน้าสวยเด้ง) ใจ (ขัดเกลานิสัยใจคอ) และปัญญา (ลับสมองให้ฉลาด หมั่นศึกษาหาความรู้) ปรุงเสน่ห์ตัวเองให้เป็นคนรักที่ดี มีคุณสมบัติแม่ของลูก จนดูเป็นธรรมชาติของเราที่ไม่ใช่เพราะดัดจริต

อย่างที่สอง การมีรักที่ดีนั้นต้องเริ่มจากการรักตัวเอง การรักตัวเองแม้เป็นเรื่องพื้นๆ แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งและเข้าถึงยากมาก ทุกคนมีสัญชาตญาณเอาตัวรอด ต้องคำนึงถึงตัวเองก่อน แต่การรักตัวเองคือการที่เรารัก เคารพ ภูมิใจ และนับถือในตัวเอง (ซึ่งต่างกับการหลงตัวเอง หรือที่เรียกว่า narcissism)

โดยธรรมชาตินั้น มนุษย์ย่อมอยากเป็นที่รักของคนในสังคมตัวเอง หรือเป็นที่รักของใครสักคน เป็นเรื่องธรรมดาที่เราอยากมีใครสักคนเพื่อให้เป็นที่รักและได้รับการยอมรับ แต่เราก็ไม่ควรต้องไปเสาะแสวงหาจนเราลืมรักตัวเอง เราควรทำให้ตัวเองมีความสุข การที่เราโสดไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีค่า การเป็นโสดกลับเปิดโอกาสให้เราได้ใช้ชีวิตตามลำพัง ทำในสิ่งที่อยากทำ มีอิสระ และค้นหาความหมายของชีวิต ใช้ความโสดให้คุ้มค่า จนกว่าเราจะเจอคนที่ร่วมชีวิตแล้วดีขึ้นก็ค่อยสละโสด ไม่ต้องไปเสาะแสวงหาความรักจากภายนอก แต่จงรักตัวตนภายในของเรา เพราะเขาอยู่กับเราทุกช่วงเวลาทั้งดีและร้ายของชีวิต

อย่างที่สาม เป็นผู้ให้ ถ้าอยากมีความรักที่ดี เราต้องรู้จักให้ความรักก่อน ไม่ต้องรอว่าความรักดีๆ จะมาเมื่อไหร่ เป็นผู้ให้ก่อนเลย เช่น กอดพ่อแม่ บอกรักคนรอบข้าง สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ดูแลเอาใจใส่ผู้อื่น ตอบแทนสังคมโดยเป็นจิตอาสา ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส เช่น บริจาคสิ่งของให้เด็กกำพร้า ให้ความรักโดยไม่ต้องคาดหวังว่าจะได้สิ่งใดตอบแทน กับหนุ่มๆ ที่คบหาเราก็เป็นมิตรกับเขา เปิดใจคุยเขา แต่อย่าเพิ่งทุ่มเทหมดใจ ค่อยๆ พิจารณาศึกษาดูใจไป การเรียนรู้นิสัยใจคอต้องใช้เวลา แต่ก็อย่าตั้งแง่มากจนเสียคนดีๆ ที่รักเราไปอย่างน่าเสียดาย

ความรักคือศาสตร์และศิลป์ที่ต้องใช้ผสมผสานกันอย่างเหมาะสม ความรักเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่ต้องใช้ประสบการณ์บ่มเพาะเพื่อให้เราประสบความสำเร็จในการสร้างความสัมพันธ์กับใครสักคน ความรักเป็นหนึ่งในบรรดาเรื่องที่คาดเดายากที่สุดของชีวิต ไม่รู้ว่ามาเมื่อไหร่ แต่สิ่งสำคัญคือการทำตัวให้พร้อมสำหรับความรักดีๆ ที่จะเกิดขึ้น และรู้จักรักให้เป็น ความรักคือการเดินทางที่ทำให้เราเติบโตทั้งกายใจ อย่ากลัวที่จะมีรักใหม่ รักตัวเองให้มาก ขอให้ทุกคนมีความสุขกับความรักนะคะ

 

HUG Magazine

คอลัมน์: รอบรู้เรื่องรัก 

เรื่อง: Wonder Wanners