PTSD แท้จริงคืออะไร
โรค PTSD ชื่อที่เริ่มคุ้นหูคุ้นตาจากข่าวสารและสื่อต่างๆ แต่จะมีใครเข้าใจถ่องแท้บ้าง แล้วรู้ไหมว่ามันเกิดได้อย่างไร ผศ.นพ. ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเป็นผู้มาอธิบายโรคดังกล่าวให้เข้าใจกันง่ายขึ้น และเตือนให้ตระหนักว่าโรคนี้ใกล้ชิดคุณมากกว่าที่คิด
ความเข้าใจเรื่องจิตเวช
“ต้องเข้าใจว่ามนุษย์แต่ละคนคิดต่างกัน มีเหมือนกันและมีต่างกัน แต่ไม่ค่อยเผื่อใจ ชอบคิดว่าของเราคือใช่ ชอบมองหาถูกผิด แน่นอนว่าทุกคนอยากถูก เช่นอยากเข้าใจคนอื่น ถ้าเราเป็นเขาจะทำยังไง เขาต้องคิดอย่างนี้ ซึ่งมันอาจถูกและอาจผิด แต่บางคนไม่รับตรงนี้ ไปตัดสินเลยว่าเขาเป็นคนดี คนเลว อย่างหลายข่าวในสังคม สักพักมีหลักฐานใหม่มา แต่ตอนตัดสินคุณใส่อารมณ์ไปแล้ว มันไม่ใช่พื้นที่ของความเข้าใจแล้ว”
PTSD คืออะไร
“PTSD ย่อมาจาก Post Traumatic Stress Disorder
– Post หมายถึงเกิดทีหลัง
– Traumatic ก่อนนี้ภาษาไทยใช้คำว่าอุบัติเหตุ แต่อุบัติเหตุเราจะนึกถึงบาดเจ็บกายภาพ ในภาษาจิตวิทยาเรียกว่าเหตุการณ์สะเทือนขวัญ กำหนดไม่ได้ว่าระดับไหนถึงเรียกสะเทือนขวัญ มันเป็นอัตวิสัยของแต่ละคน
– Stress Disorder เป็นคำทางจิตเวช บอกถึงระดับความเครียดที่ผิดปกติ
“การเป็น PTSD จึงต้องดูที่ความผิดปกติ ยกตัวอย่าง คนที่เจอสึนามิ เกิดความผวา ได้ยินอะไรก็วิ่งแล้ว สองสามวันแรกไม่คงที่ กลัว กังวล บ้านหายไปต่อหน้าต่อตา คนที่รักจากไปกะทันหัน เขาเจอเหตุไม่ปกติ ดังนั้นสิ่งที่เขากระทำจึงเป็นเรื่องปกติในเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ จะเพี้ยน บ้า สติแตกกรีดร้อง วงการแพทย์มองว่าปกติ
“ไม่ต้องระบุว่าร้องดังหรือเบา หรือควรวิ่งไหม ทุกคนมีอาการต่างกันในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือติดในห้างที่มีคนกราดยิง อาจแบ่งอาการตอบสนองได้หลายอย่าง เช่น สู้ หาอาวุธต่อต้านกลับ อาจหนี หาที่ซ่อน อาจนิ่งไปเลย ทำอะไรไม่ถูก ช็อค แต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ทั้งหมดนั้นไม่ใช่อาการป่วย เพราะกำลังสะเทือนขวัญ หรือผ่านเหตุกราดยิงไปหนึ่งสัปดาห์นอนไม่หลับเลย หมอให้ยาช่วยนอนไปไม่ผิด ไม่ได้มองว่าคุณป่วย ให้ยาช่วยปรับจนหายรวนเท่านั้น
“แต่ PTSD จะผิดปกติเมื่อเรื่องจบลงแล้ว และผ่านมาสักระยะหนึ่ง มีอาการที่ควบคุมไม่ได้ ระบบการทำงานของสมองเชื่อมต่ออารมณ์ และอารมณ์ลบเชื่อมแรงกว่าบวก อารมณ์กลัวเชื่อมมากกว่าอารมณ์สุข เป็นไปตามธรรมชาติเพื่อความอยู่รอด มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะถ้ามนุษย์อยู่ในโหมดเอาตัวรอดมากเกินไป ความเห็นอกเห็นใจจะไม่มี
“คนเจอเหตุร้ายกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ อาจรู้สึกแย่ ไม่กล้าไปในที่ชุมชน หรือได้ยินเสียงแล้วตกใจง่าย แต่ช่วงแรกย้ำอีกทีว่ามันปกติ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของสิ่งมีชีวิตคือการอยู่รอด การกลัวหรือวิตกกังวลว่าจะทำยังไงให้รอด กลัวเพราะรักชีวิต จึงปกติ ไม่มีระบบนี้มนุษย์อาจสูญพันธ์แล้ว แต่ในบางคนเกิดพัง ไม่สามารถปรับกลับระบบเดิมได้ ผมใช้คำว่าหลังจากวันนั้นชีวิตไม่เหมือนเดิมอีกเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกราดยิง โดนพ่อตบหน้า หรือคนในบ้านล่วงละเมิดก็ตาม อย่างที่บอกการสะเทือนขวัญของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางเรื่องสำหรับคนอื่นดูเล็ก แต่ถ้าเป็นเขา มันใหญ่มาก”
PTSD ในสังคมไทย
“เคสหนึ่ง เด็กผู้หญิงเจอเพื่อนที่โรงเรียนรุมแกล้ง จับหัวกระแทกพื้น รุมทำร้าย เขาขวัญเสียไม่อยากไปโรงเรียนอีก ฟังดูเด็กผู้หญิงคนนี้ป่วยหรือยัง ในตอนนั้นยังไม่ป่วย แต่เมื่อผ่านไปเป็นปี ย้ายโรงเรียนแล้ว ก็ยังไปโรงเรียนใหม่ไม่ได้ เข้าที่ชุมชนไม่ได้ เรียนติวเตอร์ไม่ได้ แค่ยืนอยู่ก็รู้สึกว่าทุกคนจะเข้ามาทำร้าย มีแต่ภาพเก่าผุดขึ้นมาในหัวทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจคิด ไม่อยากคิด นั่นเป็นเพราะระบบประสาททำงานมากเกินไป ดึงเหตุการณ์ในอดีตมาคอยย้ำเตือนโดยที่เจ้าตัวไม่ต้องการแต่ควบคุมไม่ได้
“มนุษย์เราเวลานึกถึงเรื่องไม่ดีย่อมมีอาการแน่ละ เป็นความสอดคล้องของร่างกาย จิตใจ ระบบประสาท เช่นนึกถึงสิ่งมีความสุขก็รู้สึกเบาๆ หรือเจออะไรขยะแขยงก็อยากอ้วกขนลุก ไม่แปลก คือปกติ แต่ PTSD มีสิ่งเหล่านี้สูงมาก กะทันหัน ทรมาน และคุมไม่ได้เลย พอเจ้าของร่างกายคุมไม่ได้ ชีวิตยากที่จะอยู่ ทำอะไรก็เสียสมาธิ นึกถึงแต่เรื่องแย่ๆ
“โรคนี้พบเห็นชัดเจนช่วงที่ทหารกลับจากสงคราม ยังหลอน คิดวนเรื่องสงคราม บางครั้งกลัว บางครั้งรู้สึกผิด ฝันเห็นเพื่อนที่ตายไป หลายคนติดเหล้า เป็นโรคแทรกซ้อน จนค้นพบว่าจุดเริ่มต้นคือ PTSD จึงเกิดการตื่นตัวที่อเมริกาว่าจะรักษาอย่างไร ต่อมาถึงพบว่าการเกิด PTSD ไม่จำเป็นต้องเหตุการณ์ใหญ่ แค่การทำร้ายร่างกายก็เกิด PTSD ได้ ในบ้านบางคนไม่ต่างกับสนามรบ พ่อแม่ทะเลาะตบตี หรือรุนแรงใส่ก็เป็นเหตุได้ หลายคนคิดถึงขั้นไม่อยากอยู่ เพราะทนสิ่งเหล่านี้ไม่ไหว ระบบภายในสมองถูกกระตุ้นมากไป เหมือนอยู่ในเหตุการณ์ตลอดทั้งที่ผ่านมาเป็นปี
“เคสที่เล่าไป การที่เด็กคนหนึ่งไปโรงเรียนไม่ได้ จะอยู่ยังไงต่อ ชีวิตที่ไม่มีการศึกษา ถึงยุคนี้จะมีการศึกษาทางเลือกมากมาย แต่เขาก็พังระดับหนึ่ง สุดท้ายคนไข้เข้ามหา’ลัยได้จริง แต่ต้องผ่านการรักษาอยู่หลายปี ทั้งที่เหตุการณ์เกิดตั้งแต่ประถม ซึ่งตอนนั้น พอไปถึงโรงเรียนเขาจะยังไม่เข้าห้องเรียน แต่หลบในห้องน้ำแล้วนั่งรอจนแปดโมงค่อยเข้าเรียน พักเที่ยงกินข้าวเสร็จก็หลบมาอยู่ในห้องน้ำ เพราะกลัวถูกแกล้ง น่าสงสารมาก
“นอกจากแบบนี้ อาจพบว่ามีอาการฝันร้าย เรื่องนั้นวนเวียนอยู่ในสมองเวลานอน หรือเป็นเรื่องราวรุนแรง ย่ำแย่ ทุกข์กับสภาพนี้ตลอดเวลา อยู่อย่างทรมาน บางรายกลบสิ่งเหล่าด้วยการทำอะไรที่รุนแรงกว่าเดิม บางรายเสียผู้เสียคนไปเลย ติดยาเสพติด อยู่กลุ่มแก๊งทำอะไรแรงๆ เพื่อกระแทกอารมณ์ ใช้ชีวิตเสี่ยงๆ หรือใช้เรื่องเพศมากลบ เด็กวัยรุ่นที่มีปัญหาทางพฤติกรรม ลึกลงไปบางทีเขาอาจมีปัญหาทางจิตใจที่ซับซ้อนมากก็ได้ ที่ทำลงไปก็เพื่อกลบความรู้สึกเหล่านั้น
“มีเคสหนึ่งที่เริ่มจาก PTSD ตามด้วยซึมเศร้า ต่อมาคืออยากตาย เป็นเด็กผู้หญิงระหว่างเดินทางกับน้องชาย เกิดอุบัติเหตุ เห็นน้องชายเสียชีวิตต่อหน้าต่อตา เขารู้สึกแย่ที่ช่วยไม่ทัน มีแต่ภาพน้องเลือดท่วมหลอนในหัวตลอดเวลา คิดแต่ว่าทำไมไม่ตายตามน้อง ไปเรียนหนังสือไม่ได้ต้องอยู่แต่ในบ้าน เวลาเห็นสะพานหรือหน้าต่างก็อยากกระโดด อยากทำให้ตัวเองตาย พอกลับมามีสติก็รู้สึกกลัวว่าถ้าเผลอคงตายไปแล้ว หรือทำไปแล้วแต่เพื่อนมาช่วยไว้ทัน เหมือนมีอะไรมาดึงให้ไปตายตลอดเวลา
“ถ้าเชื่อตามไสยศาสตร์คงมองว่าเป็นวิญญาณพยาบาท ที่จริงเป็นเพราะสมองของเขาคิดอยากยุติความทรมานเนื่องจากประสาทถูกกระตุ้นมากเกินไป ทั้งนี้ไม่ได้เกิดกับทุกคนที่ญาติเสียแล้วอยากตายตาม เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน ปัจจัยที่ส่งผลจึงไม่เท่ากัน”
ควรช่วยอย่างไร
“PTSD ไม่ได้เป็นแล้วเดี๋ยวดีขึ้นเอง ต้องตระหนักในใจด้วยว่าผู้ที่อยากช่วยเหลือควรเข้าใจสถานการณ์ของเขาให้มากพอ พ่อแม่บอก ‘สู้ๆ นะลูก ไม่เป็นไรหรอก อย่ามัวแต่นั่งร้องไห้ ร้องไห้ไม่ช่วยอะไร’ มันเป็นความอยากของเราล่ะ คุณต้องใจเย็น ปฏิบัติอย่างศรัทธาว่าเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีศักยภาพ เขาไม่ได้อยากทุกข์เช่นกัน มันอยู่ตรงกลางระหว่างเฉยเมยไม่สนใจกับการอยากช่วยเยอะเกินไป ถ้าถามในเวลาที่เจ้าตัวไม่พร้อมก็จะสร้างความอึดอัด เหมือนโดนซักในเวลาถูกข่มขืนว่ารู้สึกยังไงถึงไหน มันแย่นะ
“อยากช่วยเขาเป็นความตั้งใจดี แต่ในแง่หนึ่งก็สื่อว่าคุณกำลังผิดปกติ สมมติเราติดในห้างโคราช มีคนช่วยออกมาได้ เขาพยายามใช้ชีวิตต่อไป อาจพักวันสองวัน อยากกลับไปปกติ แต่มีคนมาบอกว่าสงสาร อยากช่วยบำบัด ขอสัมภาษณ์หน่อย มันก็เยอะไป เพราะฉะนั้นเรื่องช่วยเหลือแล้วแต่ความต้องการของเขา คุณอยากช่วยเพราะคิดว่าเขาผิดปกติ บางครั้งไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการก็ได้ เขาอาจอยากสู้ปัญหาดูสักพักก่อน คนไทยใจดีมีเมตตา แต่ต้องประเมินด้วยว่าการอยากช่วยเหลือของเรา แค่อยากช่วยเพื่อสนองความต้องการของเราหรือเปล่า
“สมัยก่อนเคยเชื่อว่า ถ้าคนประสบเหตุมาพูดคุยเล่าเรื่องได้ก็ไม่น่าจะคาใจ และจะไม่เกิด PTSD จึงพยายามทำกลุ่มให้ผู้ประสบภัยมาเจอกัน แลกเปลี่ยนความรู้สึกกัน ปรากฏว่าได้ผลแค่ในบางคน มีคนที่ไม่ได้อยากเจอใคร อยากทำใจเงียบๆ ดังนั้นกลับไปที่หลักการเดิม มนุษย์ไม่เหมือนกัน ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว วิธีที่พ่อแม่โอเค ลูกไม่โอเคก็มีครับ”
ภายนอกปกติแต่ภายในพังทลาย
“เขาจะสั่งให้ตัวเองต้องปกติ ถ้านั่งสงบเมื่อไรข้างในเขาเจ็บปวดมาก บางคนเจออะไรก็เฉยชา แต่ใครจะรู้ว่าวัยเด็กเขาอาจยับเยินมากจนแน่นิ่งไปเลย ดังนั้นสิ่งที่ควรเรียนรู้ทางจิตวิทยาคืออย่าเพิ่งยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งที่คิดหรือเข้าใจ มันใช่แบบนั้น ไม่ใช่โจทย์ที่เราต้องพยายามไปคิดคำตอบให้ถูกต้อง
“ทุกคนมีเหตุผลของตัวเอง สมมติอยู่บ้านที่พูดอะไรไปก็โดนด่า คงไม่มีใครอยากพูดอะไร หรือพ่อบอก ‘อย่าคิดมากสิ ทำตัวอ่อนแอเอง เมื่อไรจะโต หาอะไรทำสิ อย่ามัวแต่นั่งเฉยๆ’ จริงๆ พ่อห่วงนะ แต่ใช้วิธีแก้ความทุกข์ไม่ถูก เขาเลยไม่กล้าพูดอะไร แต่ถ้าให้ผมบอกว่า คุณต้องกล้าสื่อสารสิ ก็เหมือนผมไปสั่งเขาอีกทีหนึ่งด้วยเช่นกัน เพราะผมยังไม่ทันเข้าใจเลยว่าเขาติดอยู่ตรงไหน ถึงต้องมีอาชีพหรือหน่วยงานที่ทำด้านนี้แล้ว
“การเป็น PTSD ไม่ได้ตอกย้ำว่าคุณเป็นโรคจิต แต่เป็นการระบุถึงปัญหา จึงช่วยเหลือได้ถูกต้อง ถ้าสงสัยหรือเอะใจ ลองคุยกับเขา หรือมาคุยกับหมอ ไม่ต้องกลัวหมอจะยัดเยียดโรคให้ หมอก็งานเยอะอยู่แล้ว ไม่ได้อยากเพิ่มงาน โรคนี้ทุกข์มาก ค่อยๆ ชวนมารับการรักษา หรือติดต่อสายด่วนได้ การกินยาช่วยให้อาการทุเลาลงระดับหนึ่ง อารมณ์จะไม่แปรปรวน หลอนน้อยลง ความเศร้าไม่ซึมลึก พอประคับประคองไปได้ เมื่อรักษาแล้วยังจำได้นะ ยังรู้สึกแย่นะ แต่เราไม่ป่วย ไม่หลอน อาจพูดว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่แย่ที่สุดในชีวิต แต่มันจะเป็นแค่ความจำ ไม่ได้เป็นอาการอีกแล้ว
“การพบหมอไม่ใช่การรับฟังที่คุณพูดชั่วโมงหนึ่ง หมอนั่งฟังอย่างเดียว เพราะคุณจะวนแต่เรื่องเดิม การคิดแบบเดิมจะให้ผลแบบเดิม สิ่งที่เราต้องการคือการคิดใหม่ การรับฟังในที่นี้ ฟังเพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ว่ามีเหตุอะไร ส่วนอดีตที่ว่าใครทำร้ายคุณ มันเปลี่ยนคนคนนั้นไม่ได้ ถ้าจะเปลี่ยน คือการคิดว่าจะทำอย่างไรกับชีวิตต่อไป ที่มาหาหมอคือต้องการแนวคิดใหม่ การรับฟังเพื่อรู้ว่าคุณทุกข์ มีอาการแบบนี้นะ หมอจะเสนอทางแก้ปัญหา อาจทั้งทางใจ ทางการแพทย์”
ความอายของคนไทยกับโรคทางจิตเวช
“ปัจจุบันคนเข้าใจมากขึ้น แต่ที่ยากคือ สมมติเกิดในวัยรุ่น คนที่พามาก็คือคนก่อเหตุ ผู้ปกครองไม่อยากคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำกระทบกระเทือนใจลูกแค่ไหน มีเคสที่หาหมอแล้วกลับไปบ้านด่าลูก หรือกระชากซองยาทิ้ง บอกอย่าไปกิน ต่อให้คุณไม่เห็นด้วยก็ไม่ต้องรุนแรงขนาดนั้น ไม่ต้องบอกว่าลูกโง่ ลูกผิด ลองคุยกันในรายละเอียดลึกๆ ดู
“จริงแล้วลึกๆ คุณพ่อคุณแม่รู้ว่าฉันผิดเอง ฉันดูแลลูกไม่ดี แต่ไม่อยากรับ หรือเกิดจากความไม่เห็นอกเห็นใจ คุณพ่อคุณแม่บอกได้ว่าอะไรดีไม่ดี อะไรผิดถูก อะไรควรไม่ควร แต่ไม่ค่อยเห็นอกเห็นใจ ว่าสิ่งที่ดี ที่ถูกที่ควร บางทีไม่ใช่ความสุขของลูก การเรียนหนังสือดี แต่เข้าใจไหมว่าลูกไม่มีความสุข อาชีพนี้มั่นคง เรียนหมอกันเพียบ แต่ไม่ใช่ เขาไม่ได้ต้องการแบบนั้น พอถูกมองว่าความรู้สึกเป็นเรื่องไม่สำคัญ เหตุผลสำคัญกว่า ถึงจุดหนึ่งเขาจะเฉยชา ไร้ความรู้สึก จะคิดว่าอยู่ไปทำไมในเมื่อไม่ได้รู้สึกมีความสุข ถ้าต้องทำโดยที่ไม่มีความสุขไปเรื่อยๆ ชีวิตก็ไม่สำคัญ สิ่งที่ถูก ดี และควร บางทีไม่ใช่ของเขา แค่ถูกยัดเยียดมา แต่อันนี้ไม่ใช่ PTSD ค่อนไปทางโรคซึมเศร้า”
หายแล้วกลับมาเป็นอีกได้ไหม
“ทุกโรคมีโอกาสกลับมาเสมอ มะเร็งยังมีเลย ไม่มีอะไรหายถาวร ต่อให้บางโรคบอกว่าหายแล้วมีภูมิต้านทาน มันก็อาจเป็นเชื้อกลายพันธุ์อีกได้ แค่แก้กันไป วงการแพทย์ไม่ได้มีเส้นทางเดียว ยาบางชนิดทานแล้วไม่เห็นผล ก็เปลี่ยนยาตัวใหม่ โรคเหล่านี้อยู่ในสมองครับ PTSD เป็นโรคที่ทำให้เราเข้าใจระบบสมองมนุษย์ ว่าจริงๆ คนป่วยกับคนไม่ป่วยไม่ได้ต่างกัน แค่คนป่วยมีวัตถุดิบทางลบเยอะกว่ามาก เจอเรื่องแย่ๆ เยอะกว่า ถ้าเขาไปเกิดในอีกครอบครัวหนึ่ง เจอโรงเรียนอีกแบบหนึ่ง เขาอาจไม่เป็นแบบนี้ก็ได้”
PTSD เกิดจากสื่อฯ ได้หรือไม่
“อย่างที่บอก เราตีกรอบไม่ได้ว่าสำหรับคนคนนี้หนักหรือเบา ที่อเมริกาตอนเครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรด บางรายแค่เห็นภาพก็แย่แล้ว ครุ่นคิดว่าโลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป บางทีภาพที่ได้รับมาค้างในสมอง เพราะสื่อฯ ลงภาพสยดสยองจนติดตา แต่ถึงขั้น PTSD ไหม ผมไม่แน่ใจนะ แต่อย่างน้อยสุขภาพจิตเสียได้แน่ครับ เริ่มต้นด้วยความอยากรู้อยากเห็น เลยรับเข้าไป แต่บางอย่างกลายเป็นข้อมูลด้านลบที่สร้างอารมณ์ลบอยู่ข้างใน พอรับเยอะขึ้น รู้ตัวอีกทีนอนไม่หลับ คิดวนไปมา ฝันร้าย มองโลกแง่ร้าย สื่อฯ ประโคมอีก คุณไม่ได้อยู่ในโลกความเป็นจริงละ แต่อยู่ในโลกที่รับรู้ผ่านใครบางคนอีกที ถ้าใครบางคนคอยบอกคุณตลอดว่าโลกมันอันตราย อย่าไว้ใจใครนะ มีแต่จะฆ่ากันทำร้ายกัน ฟังมากเข้าก็เข้าใจว่าโลกที่แท้จริงเป็นแบบนั้น
“หรือช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมือง ฟังความข้างเดียวจะเข้าใจว่าอีกฝ่ายเป็นแบบนั้นจริงๆ ฝ่ายเราถูกเสมอ ดังนั้นควรตั้งหลัก มีสติ ข้อมูลที่เรารับรู้อาจจริงหรือไม่จริงก็ได้ ผู้เขียนหรือคนผลิตขึ้นมาอาจมีเจตนาบางอย่าง เพื่อปรุงแต่งเรื่องราวในสมอง เป็นการรับสารพิษเข้าสมอง คนยุคนี้ที่นอนไม่หลับกันเยอะเพราะดูเรื่องพวกนี้ก่อนนอนแหละครับ ถ้าเป็นไปได้ก็ตัดบ้าง ตั้งสติดีๆ เราต้องการความผ่อนคลายไม่ใช่เหรอครับ”
ถึงทุกคนที่เป็นในตอนนี้
“โรงพยาบาลใหญ่ทางภาครัฐมีจิตแพทย์เกือบทุกสถานที่ หรือโรงพยาบาลจังหวัดก็ค่อนข้างครอบคลุม แต่ถ้าเทียบภาพใหญ่ของสังคม จำนวนจิตแพทย์ถือว่าขาดแคลน เลยต้องรอคิวนานหน่อย แต่ถ้าฉุกเฉินถึงขั้นไม่อยากอยู่แล้ว ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เป็นแพทย์ทั่วไปก่อนได้
“คุณพ่อคุณแม่ถ้ายังไม่รู้จะช่วยยังไง พาลูกมาประเมินอาการก่อน จะไปทางเลือกพิเศษ ไปรดน้ำมนต์ ไม่ห้ามครับ แต่อย่าคาดหวังว่าไปทางนั้นแล้วจะเปลี่ยน อย่าเชื่อทางสายไสยศาสตร์มากเกินไป ยิ่งปล่อยไว้นานอาการก็ยิ่งหนัก บางทีเจ้าตัวจะคิดถึงขั้นไม่อยากอยู่ ทั้งที่จริงแล้วยังแก้ไขได้ทัน
“เวลาเราวางแผนทำอะไร อวัยวะที่ใช้คือสมอง ถ้าสมองไม่คงที่ ซ่อมตัวมันไม่ได้ ไม่แปลกที่จะเอาตัวเองไม่รอด จะอยากตาย ดังนั้นต้องขอความช่วยเหลือ เหมือนคนไข้ขาหัก จะเดินไปโรงพยาบาลได้ไหม ถ้าคุณสมองพัง ระบบอารมณ์แปรปรวนไปหมด หมอเป็นเองก็ไม่รอดนะ ต้องพึ่งคนอื่น การขอความช่วยเหลือไม่ใช่เรื่องผิด หน่วยงานที่อยากช่วยนั้นมี องค์กรที่เห็นคุณมีค่าก็มี คุณมีค่าพอที่จะได้รับความช่วยเหลือครับ”
ทิ้งท้ายก่อนจากกัน คุณหมอภุชงค์แนะนำว่าถ้าอยากเข้าใจเรื่อง PTSD ยิ่งขึ้น ให้อ่านหนังสือแปลชื่อ ฝันร้ายในร่างกาย ผู้แต่ง เบสเซล แวน เดอ คอล์ค ของสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา จะช่วยตอบเรื่อง PTSD ได้อย่างแจ่มแจ้ง เพราะโรคนี้มีทางรักษา ไม่ใช่โรคที่เยียวยาไม่ได้
HUG Magazine
คอลัมน์: แขกรับเชิญ
เรื่อง: มาศวดี ถนอมพงษ์พันธ์