ทำไมเราถึงชอบตกหลุมรักคนนิสัยเดิมๆ แล้วมักลงเอยด้วยความผิดหวังซ้ำซาก

กี่คนแล้วที่มักผิดหวังกับความรักแบบเดิมๆ และไม่ว่าเขาจะต้องเจ็บกับคนแบบนี้มากี่ครั้ง

เขาก็ยังตกหลุมรักคนแบบเดิมอย่างไม่รู้จักจำ

ผมแน่ใจว่าคุณต้องมีเพื่อนที่ชอบผู้ชายเจ้าชู้แล้วต้องทนเจ็บซ้ำๆ แม้ว่าจะเลิกกันไป เพื่อนของคุณก็ยังไปคบผู้ชายคนใหม่ที่แสนเจ้าชู้เหมือนเดิม ดีไม่ดีตอนนี้คุณอาจจะเป็นคนคนนั้นอยู่ก็ได้ ใช่มั้ยครับ?

 

  • เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้ยังไง วันนี้ผมมีทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องนี้มาเล่าให้ฟัง

 ทฤษฎี Imago Theory จาก ฮาร์วิลล์ เฮนดริกซ์ (Harville Hendrix) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันอธิบายว่า ทุกคนมีภาวะพร่องทางจิตใจบางด้านที่ไม่ได้ถูกเติมเต็มในวัยเด็ก เมื่อโตขึ้นด้านนั้นก็ยังคงอยู่ และเราจะถูกคนที่มีด้านที่เราขาดดึงดูดโดยไม่รู้ตัว เช่น เราเป็นคนไม่ค่อยมั่นใจตัวเอง เราจึงมักชอบคนที่มั่นใจในตัวเองสูง

ฉันชอบเขา เพราะเขามีสิ่งที่ฉันไม่มี เขาทำในสิ่งที่ฉันทำไม่ได้”

ระหว่างที่เราตกหลุมรัก ด้วยอิทธิพลของฮอร์โมนหลายชนิด เราจึงมองเห็นแต่ข้อดีของสิ่งที่เราพร่องในตัวของอีกคนหนึ่ง (เช่น เราอาจจะปิ๊งคนที่มั่นใจในตัวเอง เพราะรู้สึกว่าเขามีอิสระ ในขณะที่เรากลับเป็นคนที่ตามใจคนอื่นจนขาดความเป็นตัวของตัวเอง)

แต่เมื่อช่วงเวลาตกหลุมรักหรือช่วงโปรฯ ผ่านพ้นไปแล้ว เราจะเริ่มเห็นข้อเสียของสิ่งที่เราพร่องชัดเจนขึ้น ถ้าเราชอบคนที่มั่นใจในตัวเองสูง เราก็จะเริ่มเห็นว่าคู่ของเรานั้นไม่รับฟังเราเลย

เราจะเริ่มทะเลาะกับแฟนด้วยเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ และพฤติกรรมที่เขาแสดงออกเป็นเรื่องที่เรารับไม่ได้ คุณจะเริ่มรู้สึกว่าเขาเปลี่ยนไป (หากถามเขาก็จะบอกว่า เขาก็เป็นแบบนี้มาตั้งนานแล้ว)

คุณอยากให้เขาเปลี่ยน! แน่นอนว่าเขาก็ไม่ยอมเปลี่ยน เพราะนี่คือสิ่งที่เขาเป็นมาทั้งชีวิต

หลายคนยุติความสัมพันธ์ด้วยการแยกทางกัน แต่เป็นแค่ชั่วคราวเท่านั้น เพราะเมื่อเราเริ่มมองหาคู่ใหม่ ระบบจิตใต้สำนึกเดิมๆ ของเราก็ทำงานอีกครั้ง ลงท้ายกลายเป็นการย้อนรอยเรื่องราวเดิมๆ เป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่เท่านั้นเอง


“สิ่งสำคัญคือ คุณต้องเข้าใจตัวเองก่อนว่าสิ่งที่คุณพร่องไปคืออะไร และคุณจะเติมเต็มสิ่งนั้นด้วยตัวเองได้อย่างไร หรือพูดคุยขอความช่วยเหลือจากคู่ของคุณ”

 

การที่เราสามารถเติมเต็มสิ่งที่เราขาดด้วยตัวเราเองได้ จะช่วยลดความต้องการ ความคาดหวัง การเรียกร้องของเราจากอีกฝ่าย ส่งผลให้สัมพันธภาพระหว่างเรากับคู่ไม่ตึงเครียด มีความสบายมากขึ้น และเมื่อเรากำลังหาคู่คนใหม่ เราก็จะมองหาคนในลักษณะแบบเดิมน้อยลง เนื่องจากส่วนที่เราขาดนั้นได้รับการเติมเต็มแล้ว

เพียงเท่านี้ คุณก็จะแฮปปี้ขึ้นไม่ว่าจะเป็นชีวิตคู่หรือชีวิตโสดครับ!

 

อ้างอิง

Love: The Psychology of Attraction by Leslie Becker-Phelps

http://www.livinginhealthyconnection.com/about-imago.html

 

ขอบคุณบทความจาก : นพ.ปีย์ เชษฐ์โชติศักดิ์