4 หลักพุทธฯ ฉุดใจคว้ารัก
________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________
ฉบับนี้แหวกแนวกว่าฉบับที่ผ่านมา เพราะ Wonder Wanners ได้อ่านการเลือกคู่ตามหลักศาสนาพุทธแล้วรู้สึกว่าน่าสนใจมาก สามารถไปนำประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิต ทั้งยังมีความเชื่อมโยงกับจิตวิทยาด้วย มาดูกันว่ามันเชื่อมโยงกันอย่างไร หลักธรรมในการเลือกคู่ครองและครองรักกันอย่างมีความสุขและยืนยาว คือ “สมชีวิธรรม 4” เราควรเลือกคู่ครองให้มี 4 ลักษณะ ดังนี้
1. สมสัทธา (to be matched in faith)
คือ มีศรัทธาสมกัน หรือเสมอกัน มีความเชื่อในสิ่งเดียวกัน มีทัศนคติในการมองโลกและรสนิยมในการใช้ชีวิตไปในทางเดียวกัน เมื่อศรัทธาเสมอกันจะทำให้เข้าใจกัน อยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืน ไม่มีความขัดแย้ง และชักจูงการดำเนินชีวิตไปในทิศทางเดียวกัน
2.สมสีลา (to be matched in moral)
คือ มีศีลสมกัน หรือเสมอกัน กล่าวคือ มีหลักในการประพฤติปฏิบัติตนเรื่องผิดชอบชั่วดีเหมือนๆ กัน เช่น ถ้าคนหนึ่งไม่ชอบการโกหก อีกคนหนึ่งต้องไม่ชอบการโกหกด้วย ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมักโกหกเป็นนิสัย อีกฝ่ายหนึ่งย่อมเกิดความไม่ไว้วางใจและอยู่ด้วยกันอย่างไม่มีความสุข หรืออยู่อย่างทนทุกข์ทรมาน
3.สมจาคา (to be matched in generosity)
คือ มีจาคะสมกัน หรือเสมอกัน มีน้ำใจ เมตตากรุณา โอบอ้อมอารี เท่าๆ กัน ชอบเกื้อกูลสนับสนุนญาติพี่น้อง และคนที่ตกทุกข์ได้ยาก ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนตระหนี่ ก็ย่อมเกิดความไม่พอใจทุกครั้งที่อีกฝ่ายหนึ่งช่วยเหลือแบ่งปันแก่ผู้อื่น พอจาคะไม่เสมอกัน หากอยู่ร่วมกันไป ชีวิตย่อมจะมีแต่ความขัดแย้ง ไม่มีความสงบราบรื่น
4.สมปัญญา (to be matched in wisdom)
คือ มีปัญญาสมกัน หรือเสมอกัน ทั้งชายและหญิง มีความเฉลียวฉลาดพอๆ กัน ความคิดความอ่านต้องไปกันได้ ใช้วิจารณญาณในการมองปัญหา แก้ปัญหา และตัดสินใจไปในทิศทางเดียวกัน เช่น ถ้าฝ่ายหนึ่งชอบใช้เหตุผลในการแก้ปัญหา แต่อีกฝ่ายหนึ่งชอบใช้อารมณ์ ก็ไม่ควรเลือกมาเป็นคู่ครอง เพราะชีวิตสมรสจะมีแต่การทะเลาะเบาะแว้ง คู่ชีวิตควรเช่วยกันฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ
หากปัญญาไม่เสมอกันจะทำให้เกิดความไม่กลมกลืนกัน ไม่สมดุลย์กัน คุยกันไม่รู้เรื่อง มีแต่ความอึดอัดรำคาญใจ
ในทางจิตวิทยา มีงานวิจัยที่สนับสนุนเรื่องของการเลือกคู่แบบ homophily (หมายถึง คนเรามักแต่งงานกับคนที่มีพื้นฐาน นิสัย ทัศนคติ ความเชื่อ อายุ ฯลฯ คล้ายกับตนเอง) ตามหลัก similarity attraction theory งานวิจัยของ Humbad และคณะ (2010) กล่าวว่าคนเราจะแต่งงานกับคนที่คล้ายกับตนเอง หรือถ้าแต่งกับคนที่ไม่คล้ายกัน อยู่นานๆ ไปจะคล้ายกันไปเอง ซึ่งสอดคล้องกับหลักการครองคู่ของศาสนา
นักจิตวิทยาได้เน้นย้ำว่าความคล้ายคลึงกันด้านทัศนคติ ความเชื่อ และค่านิยม สำคัญกว่าความเหมือนกันด้านบุคลิกภาพ (Bradbury & Karney, 2010) เชื่อมโยงกับหลัก “สมสัทธา” ที่ว่า ความศรัทธา ความเชื่อต้องเสมอและไปในทิศทางเดียวกัน จากที่กล่าวมานี้จึงเห็นได้ว่าหลักจิตวิทยานั้นสอดคล้องกับหลักสมชีวิธรรม 4 ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก
คุณสมบัติของผู้ชายที่ดีที่เราควรมองหาในคู่ชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนา
มีดังนี้1) ความอดทน 2) ขยัน 3) หนักแน่นไม่โกรธง่าย 4) จริงใจในการคบหา 5) สงเคราะห์เกื้อหนุนผู้อื่น มีเมตตา 6) พูดจาไพเราะ 7) มีปัญญา 8) มีความกตัญญู และ 9) มีความเสมอต้นเสมอปลาย (ภิรมย์, 2554)
เช่นเดียวกันกับงานวิจัยทางจิตวิทยาที่ได้เสนอว่าคุณสมบัติหลักๆ ที่เราควรมองหาในคู่ชีวิต
คือ 1) ความไว้วางใจ ความสัตย์จริง (trustworthiness) 2) ความมีเมตตา ใจดี (kindness) 3) บุคลิกนิสัย (personality) และ 4) ความฉลาดเฉลียวของคู่ (mate’s intelligence) (Campbell, Pink, & Stanton, 2003)
เห็นไหมว่าหลักธรรมในศาสนาพุทธนั้นทันสมัยขนาดไหน? ผ่านมากว่า 2,500 ปี ยังเป็นคำสอนที่นำมาใช้ได้ถึงทุกวันนี้ ผลของการวิจัยทางจิตวิทยาตามหลักวิทยาศาสตร์ก็ออกมาสอดคล้องกับคำสอนของพระองค์อย่างไม่บังเอิญ ลองศึกษาธรรมะแล้วไปประยุกต์ใช้ดูค่ะ สนุกดี
สุดท้ายนี้ “ตัวเรา”เป็นผู้เลือกว่าชีวิตของเราจะไปทิศทางใด คู่ชีวิตคือฐานพลังสำคัญที่เป็นเบื้องหลังความสำเร็จในชีวิต
การเลือกคู่ชีวิตต้องเลือกด้วยสติปัญญา และรักในแบบที่เขาเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ อย่าเลือกด้วยความหลงใหล เพราะความหลงใหลมันไม่ยั่งยืน
ขอให้ทุกคนมีความสุขกับการมีรักดีๆ ค่ะ
อ้างอิง:
บุญยิ้ม ภิรมย์. (2554). การศึกษาหลักการเลือกคู่ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท (วิทยานิพนธ์). มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, กรุงเทพมหานคร.
“อากงฺเขยฺยํ เจ คหปตโย อุโภ ชานิปตโย” จาก สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต-พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑
ธรรมะกับชีวิตประจำวัน – เรื่อง การเลือกคู่ครอง. http://oknation.nationtv.tv. (2551). http://oknation.nationtv.tv/blog/pimahn/2008/04/23/entry-1.
Bradbury, T. N., & Karney, B. R. (2010). Intimate Relationships (1st ed.). New York: W.W. Norton & Company, Inc.
Campbell, L., Pink, J. C., & Stanton, S. C. E. (2015). Ideal mate standards and romantic relationships. APA Handbook of Personality and Social Psychology, Volume 3: Interpersonal Relations., 247–269. https://doi.org/10.1037/14344-009
Humbad, M. N., Donnellan, M. B., Iacono, W. G., Mcgue, M., & Burt, S. A. (2010). Is Spousal Similarity for Personality A Matter of Convergence or Selection? Personality and Individual Differences, 49(7), 827–830.doi: 10.1016/j.paid.2010.07.010
คอลัมน์ : รอบรู้เรื่องรัก โดย Wonder Wanners
การแต่งงานของเราเป็นแบบคลุมถุงชนรึเปล่า? : สำรวจวัฒนธรรมคลุมถุงชนอย่างเข้าใจง่าย
การแต่งงานของเราเป็นแบบคลุมถุงชนรึเปล่า (Is your marriage…