หลายคนคงเคยผ่านเหตุการณ์ช้ำรักมาไม่มากก็น้อย เชื่อว่าในช่วงเวลาแห่งการอกหักนั้น การฟังเพลงถือเป็นวิธีคลายเศร้าซึ่งใครต่อใครเคยทำ โดยการค้นหาเพลงที่เนื้อโดนใจแล้วเปิดฟังมันซ้ำๆ นับร้อยรอบ ร้องไห้พร้อมกับดื่มจนเมาไปด้วยบ้างทั้งนี้แล้วแต่บริบทและรสนิยมของแต่ละคน ทว่ามีคนที่จริงจังกับเรื่องนี้อยู่ครับ

 

 

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ที่ผ่านมา บริษัท FinanceBuzz ประกาศตามหาหนุ่มสาวที่เพิ่งอกหักหมาดๆ มาร่วมการวิจัยฟังเพลย์ลิสต์เพลงอกหักความยาว 24 ชั่วโมงเพื่อบันทึกข้อมูลว่า เพลงแบบไหนช่วยให้หนุ่มสาวหัวใจเดาะมูฟออนได้ดีที่สุด บริษัทฯ ได้ศึกษามาแล้วว่า การรักษาแผลใจด้วยวิธีต่างๆ ทั้งการเข้าคอร์สบำบัด พบนักจิตวิทยา หรือดูซีรีส์ Netflix เพื่อใช้เวลาเหล่านั้นทำกิจกรรมอื่นๆ แทนที่จะจมอยู่กับความเศร้าเฝ้าคิดถึงแฟนเก่านั้นใช้เงินราว 1,100 ดอลลาร์ (39,000 บาท) บริษัทฯ จึงจ่ายค่าตอบแทนแก่อาสาสมัครเข้าร่วมวิจัยครั้งนี้เป็นเงิน 1,100 ดอลลาร์ สิ่งที่กลุ่มคนอกหักเหล่านั้นต้องทำคือการลงคะแนนว่าแต่ละเพลงช่วยให้เขาหรือเธอรู้สึกดีขึ้นมากน้อยเพียงใด และจัดกรุ๊ปว่าเพลงนั้นอยู่ในขั้นไหนของจิตวิทยาความผิดหวัง

 

เพลงใดจัดอยู่ในจิตวิทยาความผิดหวังขั้นไหน 

 

 

โดยปกติเมื่อมนุษย์รู้สึกผิดหวังจะเกิดการตอบสนองหลายอย่าง ในทางจิตวิทยาได้จัดการตอบสนองเหล่านี้เป็น 5 ขั้นตามลำดับ (มีบางตำราที่แบ่งเป็น 7 ขั้น) ดังนี้ครับ

  1. ปฏิเสธ: เป็นขั้นช็อก ไม่ยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือเรื่องจริง สมองอาจยังไม่ทันรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นด้วยซ้ำ (คล้ายกับในละครเมื่อตัวร้ายรู้ว่านางเอกจะได้สมบัติทั้งหมด ก็ตะโกนว่า “ไม่จริง ไม่จริง” แล้วก็กรี๊ดสลบไปนั่นแหละครับ)
  2. โกรธ: เริ่มรับรู้ว่านี่คือเรื่องจริงจึงรู้สึกโกรธ พาลหาเรื่องคนโน้นคนนี้ ตั้งแต่คนรักจนถึงเพื่อนๆ ที่ให้ข้อเสนอแนะ ผลจากการแสดงความโกรธอาจทำให้เสียทั้งคนรักและเพื่อนได้
  3. ต่อรอง: เป็นช่วงง้อและคิดว่าจะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไรให้สถานการณ์กลับมาเหมือนเดิม ซื้อขนม ของขวัญ หรือดอกไม้ นับเป็นช่วงที่เรียกได้ว่า “จัดหนัก จัดเต็ม ทุ่มสุดตัว”
  4. เศร้า: รับรู้ว่าทำอะไรก็ไม่ได้ผล ร้องไห้ เมามาย ฟูมฟาย โทร.หรือออกไปใช้เวลาอยู่กับเพื่อนๆ เพื่อเยียวยาจิตใจตัวเอง ขณะที่บางคนอาจเก็บเนื้อเก็บตัว ทั้งนี้แล้วแต่วิธีการของแต่ละคน
  5. ยอมรับ: ยอมรับว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่สามารถแก้ไขหรือไปต่อไม่ได้แล้ว เป็นช่วงเวลาแห่งความเข้าใจให้มูฟออน

 

 

โดยมากการตอบสนองเหล่านี้มักเริ่มจาก 1 จนถึง 5 บางคนอาจใช้เวลากับบางขั้นนานหรือเวลาบางขั้นเพียงน้อยนิด หรืออาจวนกลับไปกลับมาระหว่างขั้นต่างๆ หลายรอบ

จะเห็นว่าในบรรดาเพลงอกหักที่เราฟังต่างก็อยู่ในธีมของเรื่องราวเหล่านี้ หากเพลงไหนตรงกับขั้นของเรา ณ ช่วงเวลานั้นก็จะทำให้เราถูกอกถูกใจเพลงนั้นเป็นพิเศษจนต้องเปิดฟังซ้ำหลายรอบเช่น หากอยู่ในช่วงต่อรอง การฟังเพลง “คุกเข่า” ของวง cocktail ที่ร้องว่า “… ฉันกำลังขอร้อง อ้อนวอนเธออย่าไป ทิ้งตัวลงคุกเข่ากอดขาเธอเอาไว้ …” คงตรงใจ แต่เนื้อเพลงนี้อาจไม่โดนใจเท่าไหร่ หากตกอยู่ในช่วงโกรธย่อมพอใจที่จะร้อง “… แค่ผู้หญิงที่รักไม่จริง ทิ้งกันไป ไม่ทำให้ถึงตาย เรื่องแค่นี้มันขี้หมา …” ของวง Y Not 7 มากกว่า

 

หลายคนคงพอเห็นภาพแล้วใช่มั้ยครับว่า เพลงอกหักที่ฟังไม่ใช่แค่เพลงเฉยๆ แต่เชื่อมโยงกับจิตใต้สำนึกและอารมณ์ของเรา ณ ตอนนั้นด้วย และการที่เรารู้ว่าตัวเองอยู่ในขั้นไหนของความผิดหวังก็ช่วยให้ทำความเข้าใจตัวเองได้ดีขึ้น แน่นอนว่าทุกคนย่อมอยากข้ามไปสู่ขั้นที่ 5 เพื่อให้ตัวเองก้าวผ่านความเศร้าโดยเร็วที่สุด แต่เรายังเป็นมนุษย์ที่มีจิตใจ การอกหักต้องผ่านขั้นตอนและสภาวะหลายขั้นกว่าจะยอมรับได้ เพราะฉะนั้นอย่าลืมให้เวลากับตัวเองนะครับ

 

 

สุดท้ายนี้ผมขอฝาก QR code เพลย์ลิสต์เพลงจากการวิจัยข้างต้นไว้ด้วยนะครับ เผื่ออยากลองฟังกัน

 

อ้างอิง

คอลัมน์ “จักรวาลแห่งความรัก ดาวเคราะห์แห่งความเหงา”โดย นพ.ปีย์ เชษฐ์โชติศักดิ์