ยาคุมกำเนิดเพศชายได้ผลจริงหรือ?

สวัสดีครับคุณหมอชัญวลี

ผมอยากขอความรู้เกี่ยวกับยาคุมกำเนิดสำหรับผู้ชายครับ ผมเคยอ่านเจอในข่าวเมื่อปีที่แล้ว อยากทราบถึงผลข้างเคียงและรายละเอียดอื่นๆ ครับ ขอบคุณมากครับ.


 

  • การคุมกำเนิดแบ่งเป็น ชนิดชั่วคราว และชนิดถาวร 
  • ประเทศไทยเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่การคุมกำเนิดล้วนเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายหญิง ไม่ว่าจะเป็นชนิดชั่วคราวหรือถาวร จึงเป็นความใฝ่ฝันของผู้หญิงทั่วโลกที่จะให้ฝ่ายชายรับผิดชอบคุมกำเนิด เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน ฯลฯ
  • ที่ผ่านมาการคุมกำเนิดชั่วคราว ร้อยละ 75-80 อยู่ในมือฝ่ายหญิงซึ่งเป็นการคุมกำเนิดที่เชื่อถือได้ มีประสิทธิภาพมากกว่าร้อยละ 90 ได้แก่ ยาคุมกำเนิดชนิดกิน ชนิดฉีด ชนิดฝัง และการใส่ห่วงอนามัย
  • ส่วนการคุมกำเนิดที่ฝ่ายชายเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนใหญ่ เป็นการคุมกำเนิดที่เชื่อถือได้ไม่ดี มีประสิทธิภาพร้อยละ 60-80 เท่านั้น เป็นการคุมกำเนิดชั่วคราวแบบดั้งเดิม (Traditional methods) ได้แก่

 

  1. ถุงยางอนามัย นอกจากคุมกำเนิดยังป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ด้วย แม้ถุงยางอนามัยได้รับการออกแบบให้มีลูกเล่นมากมาย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ เช่น มีหลากสี เรืองแสง บางเฉียบ มีกลิ่น มีรส มีรูปร่างขนาดต่างๆ แต่ยังมีข้อจำกัดในการใช้ ผู้ใช้ส่วนหนึ่งรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมชาติ นอกจากนั้นบางรายไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง เช่น ไม่สวมถุงยางอนามัยทันทีเมื่อพร้อม แต่สวมเมื่อจะหลั่งน้ำอสุจิ เป็นต้น
  2. เว้นระยะการมีเพศสัมพันธ์ช่วงไข่ตก ไข่มีอายุอยู่เพียง 24 ชั่วโมง หากไม่มีเพศสัมพันธ์ช่วงนี้ ไข่จะฝ่อหายไป ทำให้ไม่เกิดการปฏิสนธิ ปัญหาคือ นับวันไข่ตกไม่เป็น ใช้สูตรหน้า 7 หลัง 7 โดยถือว่าประจำเดือนมานับเป็นวันที่ 1 แต่บางคนมีเลือดออกช่วงไข่ตก จึงเข้าใจผิดว่าเป็นเลือดประจำเดือน การคุมกำเนิดวิธีนี้จึงอาจท้องได้
  3. หลั่งนอก หลักการคือไม่ให้น้ำอสุจิเข้าไปข้างใน หลังมีเพศสัมพันธ์โดยการสอดใส่ เมื่อจะหลั่งก็ชักออกมาหลั่งข้างนอก ปัญหาคือชักไม่ทัน หรือมีอสุจิปนเปื้อนอยู่ก่อนหลั่งแล้ว

 

 

การคุมกำเนิดชั่วคราวสมัยใหม่ (Modern methods) ได้แก่

  1. ฉีดสารอุดตันท่ออสุจิ (Vas occlusion) ใช้สารโพลีเมอร์ พลาสติก หรือสารอื่นๆ ฉีดผ่านผิวหนังอัณฑะไปอุดตันท่ออสุจิ ประสิทธิภาพไม่เทียบเท่าการทำหมันชาย ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา
  2. อบลูกอัณฑะ (Heating) เป็นที่ทราบกันว่า ความร้อนช่วยลดการสร้างและทำลายอสุจิได้ เช่น ชายที่เป็นหมันเพราะลูกอัณฑะไม่ลงถุงอัณฑะ หรือแช่น้ำร้อนเป็นประจำ วิธีนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนพัฒนา แต่อบลูกอัณฑะฟังแล้วอาจน่ากลัวไปหน่อย
  3. ใช้วัคซีนอสุจิ มีการค้นพบมาเป็นเวลานานแล้วว่า ชายที่มีภูมิต้านทานอสุจิมักมีลูกยากหรือเป็นหมัน จึงมีการคิดค้นวัคซีน แต่อาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อลูกอัณฑะหรือระบบการสร้างอสุจิ ปัจจุบันวัคซีนอสุจิใช้ในการทดลองกับสัตว์
  4. ใช้สารเคมีที่ไม่ใช่ฮอร์โมน สารเคมีจากพืชหลายชนิด ทำให้มีลูกยากเป็นหมัน เช่น น้ำมันเมล็ดฝ้าย (Gossypol) คื่นช่าย กระเทียม ใบผักชี หรือสารเคมีอื่นๆ ทั้งจากธรรมชาติและการประดิษฐ์ แต่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ต้องระมัดระวังผลข้างเคียง เช่น เป็นพิษต่อระบบประสาท ตับ ไต เป็นต้น
  5. ฮอร์โมนเพศ วิธีนี้เป็นการคุมกำเนิดชั่วคราวแบบสมัยใหม่ที่ผ่านการวิจัย และจะผลิตเพื่อนำมาใช้เป็นยาคุมกำเนิดในเพศชายต่อไปในอนาคต

ผลการทดลองพบว่า ยาคุมกำเนิดรวมสำหรับเพศชายนี้สามารถคุมกำเนิดได้ร้อยละ 98 ไม่มีผลข้างเคียงเรื่องการขาดฮอร์โมนเพศชาย ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับไขมัน ไม่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคตับ โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก นอกจากในบางรายที่ส่งผลให้ผิวหน้ามัน เป็นสิว หนวดเคราดกเพิ่มขึ้นจากฤทธิ์ของฮอร์โมนเพศชาย นอกจากนั้นหลังจากหยุดฉีดแล้วอสุจิจะกลับมาปกติภายใน 2-3 เดือน

การทดลองนี้ทำอย่างกว้างขวางใน 13 ประเทศทั่วโลกในประชากรชายนับหมื่นคน ทั้งสามีและภรรยาต่างยอมรับและพึงพอใจ ประเทศอินเดียจึงเป็นประเทศแรกที่ประกาศใช้ยาคุมกำเนิดเพศชายฮอร์โมนรวมชนิดฉีด ภายในกลางปี 2563 นี้

 

จาก เรื่อง “ยาคุมกำเนิดเพศชายได้ผลจริงหรือ?”
คอลัมน์ “สุขภาพสุขเพศ”
โดย พญ.ชัญวลี ศรีสุโข
Hug magazine ปีที่ 12 ฉบับที่ 5
(15 เม.ย.-14 พ.ค. 2563)