การคลอดก่อนกำหนดคือการคลอดตั้งแต่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ จนถึงก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ หรือคลอดก่อน 259 วัน นับจากวันแรกที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้าย ร่วมพูดคุยกับหมอเป้-พญ.ดาริน จตุรภัทรพร แพทย์โรงพยาบาลวัฒโนสถ คุณแม่ลูกสองที่ผ่านประสบการณ์คลอดก่อนกำหนดในท้องแรก เมื่อครั้งให้กำเนิดน้องลินลา น้ำหนัก 555 กรัม ด้วยอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ มาติดตามกันว่ากว่าเด็กจิ๋วจะใหญ่จนวัยครบ 6 ขวบ น้องลินลาและครอบครัวต้องผ่านอะไรมาบ้าง



รักก่อนกำเนิด เกิดก่อนกำหนด

               เพจเฟซบุ๊กชื่อ “รักก่อนกำเนิด เกิดก่อนกำหนด” เป็นช่องทางซึ่งคุณหมอเป้สร้างขึ้นเพื่อให้ความสำคัญแก่การคลอดก่อนกำหนด และเพื่อแบ่งปันความรู้แก่ผู้สนใจ คุณศุ บุญเลี้ยงเป็นผู้ตั้งชื่อเพจให้

             “เราเริ่มทำเพจ ‘รักก่อนกำเนิด เกิดก่อนกำหนด’ ตอนที่ลินลาเกิดมาได้ประมาณหนึ่งขวบครึ่ง เกิดจากความอยากรู้ว่าเด็กที่เกิดมาด้วยน้ำหนักตัวน้อยมากๆ จะสามารถเติบโตได้อย่างไร มีปัญหาสุขภาพอะไรไหม พัฒนาการทุกด้านเป็นอย่างไร ตอนนั้นหาข้อมูลเยอะมาก ข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างประเทศก็มีคนที่เขียนบล็อกไว้บ้าง จากจุดนั้นจึงเกิดความรู้สึกว่าน่าจะมีคนซึ่งประสบการณ์ใกล้เคียงกันที่อยากเห็นว่าเด็กที่คลอดก่อนกำหนดเติบโตได้อย่างไรบ้าง จึงแบ่งปันประสบการณ์ตรงจากการคลอดน้องลินลาว่า ตอนที่คลอดนั้นเป็นยังไง มีเรื่องราวอะไรที่เราประสบมาแล้วอยากส่งต่อ และจากการอ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้มาเยอะจึงมีการให้ความรู้ด้วย เพจนี้บรรลุวัตถุประสงค์ในแง่การสร้างกำลังใจมากกว่าให้ความรู้ เพราะเมื่อหลายคนเห็นว่าเด็กที่คลอดก่อนกำหนดในช่วง 24 สัปดาห์นั้นสามารถเติบโตได้ เขาก็จะหาความรู้อื่นๆ ต่อยอด

          “หลังจากแชร์รูปของลินลาก็มีพ่อแม่ส่งรูปลูกที่คลอดก่อนกำหนดเข้ามาว่า ลูกเขาตอนเกิดก็มีน้ำหนักตัวน้อยมาก ปัจจุบันลูกเขาเติบโตน้ำหนักเท่านี้แล้วนะ เมื่อมีการแบ่งปันรูปเด็กๆ เหล่านี้ก็ส่งผลให้พ่อแม่ที่มีประสบการณ์เดียวกันมีแรงสู้ต่อ บางคนมีแรงกลับไปปั๊มนม อาจบอกได้ว่าเพจนี้ช่วยในแง่กำลังใจ และอยากมีส่วนช่วยให้เด็กคลอดก่อนกำหนดแข็งแรง เป็นคนดี และมีความสุข ในเพจมีคอลัมน์หนึ่งชื่อ ‘ลงรูป เล่าเรื่อง ลูกรัก’ เปิดพื้นที่ให้พ่อแม่ส่งรูปลูกเข้ามา มีเคสที่น่าสนใจและจุดประกายให้ใครหลายคนได้ บางคนอาจกำลังมองหาคนที่มีปัญหาใกล้เคียงกับตนเอง เช่น มีเรื่องไส้เลื่อนก็เอามาแชร์ ช่วยให้อีกบ้านเห็นว่าการผ่าตัดไส้เลื่อนของลูกนั้นไม่น่ากลัวอย่างที่คิด หรืออีกบ้านหนึ่งต้องผ่าตัดหัวใจก็มาแชร์ประสบการณ์ไว้ คำถามส่วนใหญ่จะส่งทางอินบ็อกซ์ประมาณ 20 คำถามต่อวัน

         “มีบางกรณีซึ่งลูกเพจเขียนมาเล่า เช่น เรื่องเลือดออกในสมอง ต้องบอกว่าการเกิดก่อนกำหนดนั้นมีผลกระทบที่น่ากลัวหลายอย่าง เลือดออกในสมองจะส่งผลต่อเนื่องยาวนาน แต่ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ทำให้มีเทคนิคการรักษาหลายแบบ วิธีการผ่าตัดคือถ่ายน้ำในสมองให้มาออกที่หน้าท้อง แพทย์เฉพาะทางด้านนี้ก็บอกว่ามีหลายเคสที่ตอนนี้เด็กมีชีวิตเติบโตเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นแล้ว”

 

เรื่องเล่าจากประสบการณ์ตรง

            “ตอนนั้นตั้งครรภ์ได้ประมาณ 23 สัปดาห์ มีงานที่ต้องเดินทางไปประชุมที่ประเทศแคนาดา หลังจากผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ขากลับก็แวะเยี่ยมสามีที่อเมริกา ตอนนั้นเริ่มรู้สึกปวดท้องเลยนอนพัก วันรุ่งขึ้นมีเลือดออกไปโรงพยาบาล เมื่อมีการวัดค่าบางตัวก็ได้ข้อบ่งชี้ว่าอาจมีการคลอดก่อนกำหนด ในเบื้องต้นแพทย์ยังไม่ค่อยรู้สาเหตุและพยายามยับยั้งเหตุก่อน ในที่สุดระหว่างอยู่ดูอาการ สัปดาห์ต่อมาน้องลินลาก็คลอดตอน 24 สัปดาห์ หมอได้นำข้อมูลไปตรวจเพิ่มเติมจึงรู้ว่าที่เด็กคลอดเพราะรกลอกตัวออก ซึ่งมีสาเหตุจากหลายปัจจัย อาจเพราะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการสูบบุหรี่มากเกินไป มีความเครียด หรือประสบอุบัติเหตุ โดยส่วนตัวเราไม่ค่อยแน่ใจ แต่พอนึกย้อนไปเมื่อหนึ่งเดือนก่อนมีอาการปวดท้อง เราเคยหกล้มในห้องน้ำแต่ตอนนั้นไม่มีเลือดออก นั่นอาจเป็นปัจจัยหนึ่งเพราะความอดทนของแต่ละคนไม่เท่ากัน เมื่อมีงานที่ต้องเดินทางไกล พักผ่อนไม่เพียงพออาจส่งผลให้เกิดความเครียดขึ้นอันเป็นผลสืบเนื่อง ซึ่งตัวเองได้แต่สันนิษฐานเพราะไม่สามารถหาสาเหตุที่ชัดเจนได้ ส่วนการนั่งเครื่องบินไม่ได้ส่งผลให้คลอดก่อนกำหนด แต่ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ อีกประเด็นหนึ่งคือตอนเจ็บท้องนั้นอยู่ที่อเมริกา การหาหมอยากกว่าในไทย เราเริ่มปวดท้องวันเสาร์ตอนเย็น แต่คลินิกไม่เปิดเลยต้องรอ พอท้องที่สองเราอยู่เมืองไทยทำงานในโรงพยาบาล ก็หาหมอง่ายขึ้น บวกกับประสบการณ์เดิมทำให้เราระมัดระวังมากขึ้น

           “สิ่งสำคัญข้อแรกคืออย่าโทษตัวเอง เพราะพ่อแม่ทุกคนมีความตั้งใจดูแลลูกอย่างดีที่สุด แต่อาจมีปัจจัยอื่นที่ทำให้คลอดก่อนกำหนด พ่อแม่ต้องพยายามตั้งหลักให้ได้ว่าเราจะทำอะไรเพื่อช่วยลูกได้บ้าง แล้วจึงสร้างกำลังใจให้ตัวเอง จากนั้นเราจึงหาความรู้เพื่อนำมาดูแลลูกของเรา”

พญ.ดาริน จตุรภัทรพร


ปัจจัยเสี่ยงทำให้คลอดก่อนกำหนด

               “ภาวะเสี่ยงคลอดก่อนกำหนดที่พบสาเหตุชัดเจน เช่น แม่มีความดันโลหิตสูงส่งผลให้เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ กรณีนี้สามารถตรวจทราบได้จากการวัดค่าความดัน ขาบวม ถ้าค่าความดันโลหิตสูงมากอาจเกิดภาวะชักซึ่งเป็นอันตรายแก่แม่และเด็ก เพราะเมื่อความดันสูง สิ่งที่ตามมาคือรกเริ่มทำงานผิดปกติ ส่วนใหญ่ภาวะครรภ์เป็นพิษเกิดขึ้นในช่วงอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ขึ้นไป และเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย ทั้งนี้การทำคลอดขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ว่าสามารถยื้อเวลาให้เด็กอยู่ในครรภ์ได้นานที่สุดกี่สัปดาห์ และต้องตามดูอาการคุณแม่ว่าขาบวมมากน้อยแค่ไหน ความดันขึ้นสูงถึงระดับที่อันตรายหรือยัง เมื่อถึงจุดอันตรายจึงยุติการตั้งครรภ์โดยการผ่าคลอด

               “ส่วนการอยู่ในพื้นที่ควันบุหรี่ก็ส่งผลให้เด็กในครรภ์เติบโตไม่ค่อยดีเท่าที่ควร เช่น เด็กมีขนาดตัวเล็กกว่าปกติ แพทย์อาจพิจารณาแล้วว่าคลอดออกมาดีกว่าอยู่ในครรภ์ อีกเรื่องที่เป็นผลจากควันบุหรี่คือรกส่งอาหารให้ทารกได้ไม่เพียงพอ พูดง่ายๆ บุหรี่ส่งผลโดยตรงทำให้รกลอกตัว ตอนนั้นที่เรามีปัญหานี้หมอก็ถามทันทีว่า สูบบุหรี่ไหม หรืออยู่ในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่หรือเปล่า ถ้าสูบบุหรี่มากๆ ร่างกายจะขับเลือด ส่งผลให้รกไม่มีคุณภาพและค่อยๆ หลุดลอก ขึ้นกับว่าเหตุเกิดตอนอายุครรภ์กี่สัปดาห์

               “ปัจจัยเสี่ยงมีทั้งจากแม่และลูก ปัจจัยจากลูก เช่น ลูกตัวเล็กมากและไม่สามารถเติบโตต่อได้ในครรภ์ หรือลูกมีภาวะผิดปกติบางอย่าง พิการ หรือมีโครโมโซมผิดปกติ ส่วนปัจจัยจากแม่ เช่น แม่ไม่ฝากครรภ์ ไม่ดูแลตัวเองจึงไม่รู้ว่าตนเองมีภาวะผิดปกติอะไรหรือไม่ ที่พบบ่อยอีกปัจจัยหนึ่งคือความเครียดเพราะส่งผลให้ความดันโลหิตสูง ความเครียดไม่กระทบโดยตรงแต่ส่งผลให้ร่างกายเสียสมดุล เช่น ทำงานหนักจนดื่มน้ำไม่เพียงพอ ไม่ลุกไปเข้าห้องน้ำ ส่งผลให้ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะซึ่งเกิดได้ง่ายในคนท้อง ผลที่ตามมาคือรกติดเชื้อ มดลูกบีบตัว ความเครียดเป็นตัวการก่อปัญหาหลายอย่าง คุณแม่หลายต่อหลายคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าความเครียดส่งผลให้ดูแลร่างกายได้ไม่เต็มที่ เช่น หลีกเลี่ยงการยกของหนักไม่ได้ทำให้มดลูกถ่วงลง พอปากมดลูกสั้นอันเป็นลักษณะทางกายของแต่ละคน สมมติว่าปากมดลูกสั้นเมื่อยกของหนักย่อมส่งผลให้ปากมดลูกขยายพร้อมคลอดได้ง่าย ตอนที่พี่เป้ท้องลูกคนที่สอง หมอต้องวัดปากมดลูกเพื่อหาสาเหตุการคลอดก่อนกำหนดของลูกคนแรกด้วย ก็พยายามแก้ไขปัญหาเท่าที่ทำได้ เพราะหมอบอกว่าสาเหตุที่คลอดก่อนกำหนดนั้นยังระบุไม่ได้ชัดเจน บางรายอาจเกิดการคลอดก่อนกำหนดในท้องต่อๆ ไปได้ หรือไม่เกี่ยวข้องกันเลย

 

ความกังวลที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง

              “ตอนที่รู้ว่าต้องคลอดลูกในอายุครรภ์ 24 สัปดาห์นั้นเป็นกังวลสุดๆ ยิ่งเรารู้ข้อมูลว่าถ้าคลอดตอนนี้จะพบปัญหาใดต่อไปบ้างก็ยิ่งกังวล เหมือนกับเห็นภาพอนาคต ช่วงแรกก็เซ ตั้งตัวแทบไม่ไหว วันคลอดตกใจมาก แอบคิดว่าการเกิดไม่ใช่เรื่องน่ายินดี โรงพยาบาลที่อเมริกาหลังจากคลอดแล้วเจ้าหน้าที่ก็เข็นรถพาเราไปยังจุดสั่นกระดิ่ง เพื่อส่งสัญญาณว่าในวันนี้มีเด็กเกิดใหม่ มีชีวิตใหม่เกิดขึ้นแล้ว เขาให้แม่เป็นผู้สั่นกระดิ่ง วินาทีนั้นมีเพลงแสดงความยินดีดังทั่วโรงพยาบาล เหตุการณ์นั้นดึงสติเราให้ฉุกคิดได้ว่าการเกิดมาของลูกเราเป็นเรื่องที่น่ายินดี ต่อจากนี้เราจะทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วเราก็ไปดูลูกที่อยู่ในตู้อบ ตอนนั้นลูกตัวแดงมาก ขนาดตัวประมาณสองฝ่ามือ น้ำหนักแค่ครึ่งกิโลกรัม พยาบาลบอกให้เรากลับไปปั๊มน้ำนม ยังไม่ต้องสนใจเรื่องอื่น

          “เรื่องเศร้าอีกเรื่องคือ หลังจากครบ 48 ชั่วโมงทางโรงพยาบาลให้เรากลับบ้าน แต่ลูกต้องอยู่ต่อ โดยปกติภาพที่เราเคยเห็นตอนออกจากโรงพยาบาลคือ แม่อุ้มลูกกลับบ้านพร้อมกัน แต่เราเดินคอตกออกจากโรงพยาบาล กฎของที่นั่นมีว่าถ้าคลอดเองจะให้อยู่โรงพยาบาล 48 ชั่วโมง ถ้าผ่าคลอดให้อยู่ 72 ชั่วโมง เขาถ่ายวิดีโอของลูกมาไว้ให้เราดูระหว่างปั๊มนม ปั๊มนมไปก็ร้องไห้ไป น้ำนมไหล น้ำตาก็ไหล ช่วง 2-3 วันแรกไปเยี่ยมลูกแต่ทำได้แค่มองเขาผ่านตู้อบเท่านั้น หมอบอกว่าเด็กรับรู้ความทุกข์ได้ ให้เราดูแลเขาใกล้ๆ หลังจากวันที่ 3 เราถามพยาบาลว่าขอกอดลูกได้ไหม เขาก็ให้เจ้าหน้าที่เคลื่อนย้ายลูกออกมาไว้บนหน้าอกของเรา เรียกว่าการทำ kangaroo care แล้วลินลาก็เอามือเล็กๆ ของเขามาสัมผัสเบาๆ นั่นเป็นครั้งแรกที่เรามีโอกาสได้กอดลูก

          “หลังจากคลอดลินลาต้องอยู่โรงพยาบาลรวมทั้งสิ้น 149 วัน ลินลาอยู่ในตู้อบนานประมาณสองเดือนครึ่ง และอยู่โรงพยาบาลต่อเพื่อฝึกให้กินนมเองได้ เรารู้สึกว่าที่เขาอดทนมาจนรอดเพราะมีเลือดนักสู้ ปัจจุบันแนวโน้มการคลอดก่อนกำหนดมีประมาณร้อยละ 10 ในหญิงตั้งครรภ์ 100 คนจะมีคนที่คลอดก่อนกำหนดอยู่ 10 คน แต่ช่วงอายุครรภ์จะต่างกัน เรียกว่าเป็นทารกคลอดก่อนกำหนดหรือพรีมี (preemie หรือ premie) อย่างของลินลาเรียกว่า ไมโคร พรีมี (Micro preemie) หมายถึงเด็กคลอดก่อนกำหนดที่อายุครรภ์น้อยกว่า 26 สัปดาห์ หรือมีน้ำหนักน้อยกว่า 800 กรัม ส่วนอายุครรภ์ 34 สัปดาห์ น้ำหนักอาจเกือบ 2 กิโลกรัมจะไม่มีปัญหาสุขภาพมากนัก เมื่อหกปีที่แล้วอายุครรภ์ 24 สัปดาห์มีอัตราการรอดชีวิตของทารกคือร้อยละ 50-70 ปัจจุบันสถิติการรอดชีวิตนั้นดีขึ้น อีกทั้งเด็กที่รอดชีวิตก็มีอายุครรภ์น้อยลงด้วย ตอนนี้ต่ำสุดน่าจะอายุครรภ์ 22 สัปดาห์ น้ำหนักกว่า 200 กรัมก็รอดชีวิตได้ ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า สิ่งที่สะท้อนผ่านทางแฟนเพจคือแพทย์ในประเทศไทยนั้นเก่งมาก เพราะพ่อแม่ที่ส่งเรื่องราวเข้ามาก็มีอายุครรภ์ 22-23 สัปดาห์เยอะพอสมควร”

เฝ้าดูพัฒนาการเจ้าเด็กจิ๋ว

          ในการนับอายุตามพัฒนาการของเด็กนั้น ให้นับพัฒนาการของเด็กที่คลอดก่อนกำหนดตามอายุจริง เช่น คลอดครบกำหนดคืออายุครรภ์ 40 สัปดาห์ หากคุณแม่คลอดลูกน้อยตอนอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ คือคลอดก่อนกำหนด 16 สัปดาห์ ให้เริ่มนับพัฒนาการลูกหลังจากคลอด 16 สัปดาห์ เป็นเดือนที่หนึ่ง เนื่องจากพัฒนาการของทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะยังไม่เริ่ม คือ ยังมองไม่เห็น พูดคุย หรือยิ้มไม่ได้ แต่เมื่อทารกครบกำหนดอายุอีก 8 สัปดาห์ ก็จะเริ่มมองเห็นและมีพัฒนาการตามอายุจริง “ลินลาเกิดก่อนกำหนดสามเดือนครึ่ง ตอนที่เกิดมาเท่ากับอายุศูนย์วัน เช่น ลินลาเดินได้ตอนอายุ 17 เดือน ก็ลบสามเดือนครึ่ง เท่ากับว่าเดินได้ตอน 13 เดือนครึ่งที่เป็นอายุปรับ ซึ่งไล่ตามพัฒนาการปกติ เมื่ออายุเกิน 2-3 ขวบก็ไม่ต้องนับอายุปรับแล้ว อย่างตอนนี้ลินลาอายุหกขวบครึ่ง ถ้านับตามอายุปรับจะอายุเท่ากับหกขวบสองเดือน แต่พอมาวัยนี้เขาก็สามารถตอบได้ว่าอายุหกขวบครึ่ง ส่วนวันเกิดก็คือวันที่คลอดจริง

         “ที่สำคัญคือพัฒนาการตามอายุปรับ ที่พ่อแม่กังวลว่าทำไมลูกห้าเดือนแล้วแต่อายุจริงเขาอาจจะแค่เดือนกว่าเอง มีคุณแม่คนหนึ่งสอบถามทางเพจว่า ลูกเกิดมาพร้อมๆ กับลูกของญาติ มีอายุห้าเดือนเท่ากัน ลูกของญาติคว่ำได้แล้ว แต่ลูกของเขายังยิ้มไม่ได้เลย ขอบอกว่าห้ามนำมาเปรียบเทียบกันโดยเด็ดขาด เพราะเป็นคนละกรณีกัน เด็กที่คลอดก่อนกำหนดเขาใช้เวลาที่ต้องโตในท้องออกมาโตข้างนอก แต่พอช่วงอายุ 5-6 ขวบพัฒนาการก็จะไล่ทันกันแล้ว แต่ในช่วงเดือนแรกเหมือนเขาใช้พลังในการต่อสู้เพื่อให้มีชีวิตรอดจึงเป็นเรื่องยากกว่าปกติ พ่อแม่เองไม่ควรเปรียบเทียบ คนรอบข้างก็ต้องทำความเข้าใจว่าการเกิดของเด็กนั้นแตกต่างจากคนอื่น แต่เป็นเรื่องแปลกอย่างหนึ่งคือมีการนำมาเปรียบเทียบกันเยอะ ทำให้พ่อแม่รู้สึกไม่ดีเพราะบางคนอาจไม่เข้าใจในเรื่องนี้ ดังนั้นยิ่งคลอดห่างจากกำหนดคลอดจริงมากเท่าไหร่ ยิ่งต้องขยายวันปรับให้ลูกไปอีกหน่อย แต่สมมติคลอดก่อนกำหนดสองสัปดาห์อาจไม่เป็นไรเพราะเด็กก็เติบโตทันกันแล้ว เรื่องพัฒนาการอาจมีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้น คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตและปรึกษาแพทย์เป็นกรณีไป บางคนเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อได้ไม่เต็มที่จึงต้องพบนักกายภาพบำบัด อย่างลินลามีช่วงหนึ่งที่เขาพูดช้า คุณหมอก็ส่งนักฝึกพูดมาสอน แต่ละคนอาจเจอปัญหาแตกต่างกันไป”

       “การดูแลที่พิเศษกว่าเด็กที่คลอดตามกำหนดคือ ต้องหาหมอบ่อยกว่าเด็กทั่วไป เพราะมีภาวะบางอย่างที่ต้องติดตามใกล้ชิด บางอย่างไม่ผิดปกติแต่ต้องติดตามสักระยะ ในหนึ่งอาทิตย์หาหมอ 3-4 คน พบจักษุแพทย์เพราะต้องทำเลเซอร์ตา เนื่องจากเด็กที่คลอดก่อนกำหนดนั้นได้รับออกซิเจนอยู่ตลอด ส่งผลให้เส้นเลือดในตาผิดปกติ ทำให้ตามองไม่เห็น ประสบการณ์ของลินลาคือหลังจากคลอดเข้าสู่เดือนที่ 3 น้องต้องทำเลเซอร์เพื่อป้องกันเส้นเลือดผิดปกติ จึงต้องตรวจเป็นระยะตามนัด ผลที่ออกมาถือว่าดีเพราะทุกวันนี้สายตาลินลาปกติ

        “อีกเรื่องคือพัฒนาการด้านต่างๆ นอกจากนี้ต้องมีการทำกายภาพบำบัดด้วยเพื่อดูว่ากล้ามเนื้อแต่ละมัดเคลื่อนไหวได้ดีแค่ไหน แล้วก็พบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนตามปกติเหมือนเด็กทั่วไป สิ่งสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังอีกอย่างคือการติดเชื้อ ในช่วงปีแรกถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรพบปะผู้คนเลย เพราะมีโอกาสติดอาร์เอสวี (respiratory syncytial virus) เชื้อไวรัสชนิดหนึ่งซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง แต่ถ้าเป็นในเด็กอายุน้อยอาจจะต้องพ่นยา ส่วนเด็กคลอดก่อนกำหนดถ้าติดเชื้อจนปอดบวมต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ บางรายถึงกับต้องเข้าห้องไอซียู ส่วนลินลาได้พบปะผู้คนตอนอายุครบหนึ่งขวบ แต่ก็ต้องรักษาความสะอาดอย่างมาก ข้อดีคือตอนนั้นยังอยู่อเมริกา จึงไม่มีใครไปเยี่ยมมากนัก อยากฝากบอกว่าสำหรับเด็กคลอดก่อนกำหนดต้องระวังเรื่องการติดเชื้อจากการสัมผัส โดยเฉพาะในขวบปีแรกซึ่งภูมิต้านทานยังไม่แข็งแรง”


               เรื่องเล่าทั้งหมดนี้เป็นเพียงประสบการณ์จากคุณแม่ท่านหนึ่ง แม่ตั้งครรภ์ที่รู้ตัวว่ามีปัญหาสุขภาพหรืออยู่ในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงข้างต้น ควรงดหรือเลิกทำทุกกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยง ทั้งนี้เพื่อถนอมชีวิตของตนและลูกน้อย การฝากครรภ์ การดูแลสุขภาพ นอนหลับพักผ่อน กินอาหารที่มีประโยชน์อย่างเพียงพอ ไม่เครียด และพบแพทย์ตามกำหนด เป็นการปฏิบัติตัวที่ช่วยลดความเสี่ยงได้อย่างแน่นอน

 

— Hug Magazine ปี 11 ฉบับที่ 6 คอลัมน์ แขกรับเชิญ —

 

" สิ่งสำคัญข้อแรกคืออย่าโทษตัวเอง เพราะพ่อแม่ทุกคนมีความตั้งใจดูแลลูกอย่างดีที่สุด แต่อาจมีปัจจัยอื่นที่ทำให้คลอดก่อนกำหนด พ่อแม่ต้องพยายามตั้งหลักให้ได้ว่าเราจะทำอะไรเพื่อช่วยลูกได้บ้าง "

— พญ.ดาริน จตุรภัทรพร