ในเรื่องของความรัก ไม่ใช่ว่าคนคนหนึ่งอยากจะหยุด แล้วก็หยุดได้ง่ายๆ เหมือนกดรีโมท กว่าจะหยุดได้ต้องผ่านอะไรมามากมาย แต่สาเหตุใดล่ะครับที่ทำให้เราหยุดได้จริงๆ

เรื่องนี้นักวิจัยทั้งทางจิตวิทยา สังคมศาสตร์ การแพทย์ ศึกษาค้นหากันมานาน เพราะปัญหาระดับโลกหลายอย่างก็เกิดจากการหยุดไม่ได้นี่แหละ ทั้งการหยุดกินของหวานมันเค็ม หยุดสูบบุหรี่ กินเหล้า หรือยาเสพติด

สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทุกคนทราบดี คือ ความรู้หรือเหตุผลแทบไม่ได้ช่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่น คนที่ป่วยเป็นเบาหวาน ความดันหรือโรคอ้วน ต่างยังคงกินของเหล่านี้อยู่ เช่นเดียวกับรักพังๆ ที่รู้แก่ใจว่าคงไปไม่รอด แต่ก็ยังฝืนเอาไว้ ถึงจะเคยพยายามหยุดตัวเองมาแล้วหลายครั้ง แม้ว่าจะประสบความสำเร็จบ้างในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็มักกลับไปมีปัญหานั้นอีกครั้งเสมอ

 

 

นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามหาว่าอะไรเป็นสาเหตุที่จะทำให้เราหยุดหรือเปลี่ยนได้จริงๆ

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซาร์รีย์ (University of Surrey) สหราชอาณาจักร จึงทำการวิจัยตั้งคำถามเชิงลึกแก่ผู้ที่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้ (ลดน้ำหนักมากกว่า 12.7 กก. หรืองดสูบบุหรี่มาได้เกิน 3 ปีขึ้นไป) เพื่อหาว่าปัจจัยใดที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือการหยุดของพวกเขา

  • พบว่าคนจำนวนมากสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเองได้ เป็นเพราะพวกเขาไปให้สุดหรือ life crisis 

 

ผลการวิจัยพบว่า คนจำนวนมากที่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้อย่างถาวร เป็นเพราะพวกเขามี life crisis ในชีวิต บางคนเกิดโรคหัวใจแล้วกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เลิกสูบบุหรี่อย่างจริงจัง บางคนกลับมาผอมสวยเนื่องจากเลิกกับสามี บางคนมีลูกเลยเลิกบุหรี่ได้

ที่จริงอาจไม่จำเป็นต้องอยู่ในภาวะ crisis จริงๆ แต่ขึ้นกับมุมมองของเราเองด้วยว่ามัน crisis หรือเปล่า เช่น ในงานวิจัยบอกว่า บางคนต้องเข้าไปนอนโรงพยาบาลด้วยเรื่องปวดท้องเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเป็นการไปอยู่โรงพยาบาลเพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่ถ้านึกสภาพว่าถ้าเขาสูบบุหรี่ต่อไป สักวันเขาคงต้องมาอยู่ที่นี่เป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือเป็นปี เลยเป็นจุดเริ่มให้เขาเลิกบุหรี่ หรือไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องด้านลบเสมอไปก็ได้นะครับ เพราะมีผู้หญิงคนหนึ่งใช้วันเกิดครบ 30 ปีของตัวเองในการตั้งเป้าว่าจะเลิกบุหรี่ เพราะคิดว่าถ้ายังสูบบุหรี่ต่อไป พออายุย่าง 40 สุขภาพเธอก็คงย่ำแย่เกินเยียวยาแล้ว

ฉะนั้นเราสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้โดยไม่จำเป็นต้องเกิด life crisis ที่รุนแรงขึ้นในชีวิต แต่พลิกมุมมองว่า เหตุการณ์ในครั้งนั้นให้ความรู้สึกที่รุนแรงแก่เราต่างหาก งานวิจัยยังพบว่า life crisis ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้เป็น life crisis ที่ทำให้เรามองเห็นว่าเรื่องแย่ๆ ในชีวิตของเราสัมพันธ์กับไลฟ์สไตล์ที่เราทำอยู่อย่างไร เมื่อเรามองเห็นว่าสองสิ่งนี้สัมพันธ์กัน ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนั่นเอง

 

 

ถึงแม้งานวิจัยนี้อาจไม่ได้บอกว่าเราจะหยุดความสัมพันธ์แย่ๆ ได้อย่างไร

แต่อาจเชื่อมโยงได้ว่า เรามีไลฟ์สไตล์ความคิดอะไรบ้างที่ทำให้ความสัมพันธ์แย่ๆ นี้ยังไม่จบสิ้นสักที เช่น เราเป็นคนขี้สงสาร กลัวเขาจะเจ็บ กลัวเขาจะดาวน์ จนเราไม่กล้าเลิกกับเขา หรือเราเป็นคนโทษตัวเองทุกครั้งที่เกิดปัญหาในความสัมพันธ์ เราก็เลยไม่เลิกกับเขา เพราะคิดว่าถ้าเราเปลี่ยนตัวเองแล้วทุกอย่างจะดีขึ้น หรือกลัวว่าถ้าเขาไม่รักเรา ก็จะไม่มีใครรักเราอีกแล้

ไลฟ์สไตล์ความคิดเหล่านี้บางทีอาจดูเข้าท่าในหัวของเรามาก แต่หากเล่าให้เพื่อนเราฟังแล้วให้เขาออกความเห็น ผมคิดว่าเพื่อนของคุณก็น่าจะบอกได้ว่าไลฟ์สไตล์ความคิดเหล่านี้ทำให้ความรักของคุณพังได้อย่างไร

สุดท้ายสำหรับคนที่กำลังอยากจะ move on แต่ไปไม่ได้สักที ลองไปให้สุดดูสักตั้ง อาจจะเป็นอีกทางเลือกที่ดีก็ได้นะครับ

 

___________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________

อ้างอิง

https://journals.sagepub.com/doi/10.1177/1363459308094417

  • คอลัมน์ “จักรวาลแห่งความรัก ดาวเคราะห์แห่งความเหงา”
    โดย นพ.ปีย์ เชษฐ์โชติศักดิ์