แหวนเรื่องใหญ่ หัวใจเรื่องเล็ก

     เมื่อพูดถึงเรื่องการแต่งงาน สิ่งที่ดูจะขาดไม่ได้เลยคือแหวนแต่งงาน เพราะเมื่อสวมแหวนที่นิ้วนางข้างซ้ายก็เหมือนประกาศตัวกลายๆ กับคนอื่นๆ ว่า ฉันมีเจ้าของแล้วนะ โดยที่ไม่ต้องพูดอะไร และเมื่อถอดแหวนนั้นทิ้ง ก็เหมือนย้ำให้ชัดเจนอยู่ในทีว่า ชีวิตการแต่งงานระหว่างฉันกับเธอได้สิ้นสุดแล้ว ไม่จำเป็นต้องพูดอะไรมากมายให้เสียเวลา

     สำหรับคนบางคน เรื่องแหวนแต่งงานนี้อาจไม่สำคัญ แต่เชื่อเถอะครับ คนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดอย่างนั้น แหวนแต่งงานยังเป็นเรื่องสำคัญเสมอ และเมื่อมันสำคัญขนาดนี้ สิ่งที่ตามมาก็คือปัญหาใหญ่ที่หลายคนอาจมองข้ามจนต้องเจอเหตุการณ์ด้วยตัวเองนั่นแหละครับ ถึงจะเข้าใจว่าเรื่องใหญ่จริงๆ นั่นคือ ราคาของแหวนแต่งงาน

     หากแหวนราคาถูกไป ก็จะดูไม่สมศักดิ์ศรีกับความรักที่เรามีให้แก่เจ้าสาว ไม่สมฐานะของเธอ พ่อแม่พี่น้องหรือเพื่อนๆ ของเธออาจครหาได้ว่ามาอยู่กับผู้ชายที่ไม่เอาถ่าน ในทางกลับกัน หากซื้อแพงเกินไปก็เป็นปัญหา เพราะมันอาจกลายเป็นเรื่องทำอะไรเกินตัว จนก่อให้เกิดหนี้สินตั้งแต่ชีวิตคู่ยังไม่เริ่มต้นด้วยซ้ำ ผมเชื่อว่าคนที่ผ่านการแต่งงานมาแล้วต้องเคยปวดหัวกับเรื่องนี้เป็นแน่ใช่มั้ยล่ะ?

     สาเหตุที่พอจะเดาเรื่องนี้ได้(แม้ผมเองจะยังไม่เคยแต่งงาน) ก็เพราะมันเป็นปัญหาโลกแตกจนมีนักวิทยาศาสตร์สนใจมาทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ครับ

      โดยทั่วไปแล้ว สังคมอเมริกันเขามีธรรมเนียมง่ายๆ ในการซื้อแหวนแต่งงานว่า ควรมีราคาสัก 2 เท่าของเงินเดือน ถึงจะถือว่าสมฐานะ แต่จากงานวิจัยพบว่าจริงๆ แล้ว แหวนแต่งงานส่วนใหญ่มีราคาแค่ครึ่งหนึ่งของเงินเดือนเท่านั้น (อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าเงินเดือนของคนอเมริกันนั้นมากกว่าเงินเดือนของคนไทยเอาการอยู่)

     ถ้าสำรวจแค่ว่าแหวนราคาเท่าไหร่ ก็คงไม่ค่อยน่าสนใจ นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามค้นหาต่อว่า ราคาของแหวนเนี่ย สัมพันธ์กับเรื่องอื่นๆ ด้วยรึเปล่า จนพวกเขาพบว่า จริงๆ แล้ว ราคาของแหวนสัมพันธ์กับอัตราการหย่าร้าง

     ราคาแหวนยิ่งสูง อัตราการหย่าร้างก็ยิ่งสูงขึ้นด้วย

     จากการสำรวจคนจำนวนกว่า 3,151 คน ส่วนใหญ่ซื้อแหวนในราคาน้อยกว่าวงละ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ และพบว่าคนที่จ่ายเงินมากกว่า 2,000 ดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป มีความเสี่ยงสูงที่จะเลิกกัน และยิ่งสูงลิ่ว (เกิน 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ยิ่งมีโอกาสเลิกมากขึ้น แต่คนที่ซื้อแหวนในราคาต่ำกว่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ จะมีความเสี่ยงต่ำในการเลิกรา

     (เนื่องจากถ้าเปรียบเทียบเป็นสกุลเงินไทยตรงๆ ก็อาจดูไม่ค่อยตรงสักเท่าไหร่ เอาเป็นว่าผมให้ค่าเฉลี่ยของเงินเดือนคนอเมริกันไว้คือ 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนไทยคือ 20,000 บาท นะครับ)

     ข้อมูลนี้อาจทำให้หลายคนงง เพราะคนที่มีตังค์ซื้อแหวนแพงๆ ก็ควรมีเงินใช้จ่ายอู้ฟู่แหละ ไม่งั้นจะเอาตังค์ที่ไหนมาซื้อแหวน และการมีเงินไม่ขาดตกบกพร่องนั้นก็น่าจะเป็นผลดีแก่ชีวิตคู่ (ที่อาจต้องทะเลาะกันทุกวันหากเงินไม่พอใช้)

     คำอธิบายง่ายๆ อย่างตรงไปตรงมาคือ ยิ่งใช้เงินมากก็ยิ่งเป็นหนี้มาก เมื่อเป็นหนี้มากก็ก่อให้เกิดความเครียดกับชีวิตคู่ เลยเลิกกันง่ายขึ้น แต่นั่นแหละครับ ถ้าสามีเป็นคนรวยอยู่แล้ว การจะซื้อแหวนเพชรแพงหรู 18 กะรัตมาให้ภรรยาก็คงจะไม่ทำให้เขาเกิดความเครียดเพราะใช้เงินมากแต่อย่างใด คำอธิบายนี้จึงไม่ใช่คำอธิบายที่สมบูรณ์แบบนัก

     คำอธิบายต่อมาคือ การที่ซื้อแหวนราคาประหยัด มักเนื่องจากคนสองคนนั้นมีนิสัยเข้ากันได้ รสนิยมคล้ายกัน ต่างฝ่ายต่างรู้กันอยู่ในทีว่าควรประหยัดเรื่องนี้ เลยซื้อแหวนถูกๆ มา ไม่ได้เกี่ยวกับเงินที่ใช้ซื้อแหวนแต่อย่างใด (ส่วนผู้ชายที่ใช้เงินซื้อแหวนราคาแพง อาจทำเช่นนั้นเพื่อสนองความต้องการของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ได้ ทั้งที่เขาอยากประหยัด แต่รู้ว่าผู้หญิงอยากได้แหวนหรูๆ ก็เลยจำใจต้องซื้อให้ ภาวะฝืนใจไม่บอกไม่กล่าวนี่แหละ เป็นอันตรายแก่ชีวิตคู่อย่างยิ่ง)

   

     เพราะฉะนั้นบทสรุปจากงานวิจัยนี่ก็คือ คุยกันให้มากๆ ไว้ อย่ามโนเอาเองว่าอีกฝ่ายชอบหรือไม่ชอบอะไร ถ้าอยากรู้อะไรก็ให้ถามตรงๆ

     ดีกว่าสุดท้ายเสียทั้งเงิน เสียทั้งความรู้สึก และอาจจะเสียคนรักด้วย

     ขอให้รักกันยาวๆ ครับ

 

นพ. ปีย์ เชษฐ์โชติศักดิ์

จักรวาลแห่งความรัก ดาวเคราะห์แห่งความเหงา

HUG Magazine

ปีที่ 13 ฉบับที่ 4