ด้วยรักและศรัทธา
วันนี้เรามาเยี่ยมเยือนคุณเอนกและคุณวรรณาถึง “บ้านพิพิธภัณฑ์” สถานที่เก็บและแสดงสิ่งสำคัญต่างๆ เอาไว้ ยามปกติทุกคนล้วนรู้จักคุณเอนกในฐานะเจ้าของผลงานทรงคุณค่าที่บันทึกประวัติทางศิลปวัฒนธรรมไทย แต่เรื่องราวในวันนี้เป็นเรื่องรักที่คุณเอนกไม่เคยบอกเล่าเก้าสิบแก่สาธารณชน ถือว่าเป็นครั้งแรกที่แฟนานุแฟนจะได้รับรู้เรื่องความรักแสนสนุกระคนอารมณ์ขันที่ชวนให้อมยิ้มตามกัน
แรกพบสบตา
วันแรกที่พบกัน ทั้งสองต่างเป็นนักศึกษาในรั้วจามจุรี และสมาชิกชมรมวรรณศิลป์ คุณวรรณาเป็นสาวรุ่นพี่คนกรุงเทพฯ ส่วนคุณเอนกเป็นหนุ่มรุ่นน้องคนสงขลา ที่คลุกคลีตีโมงทำกิจกรรมร่วมกันเสมอมา ภาพประทับใจในตอนนั้นคือความพิลึกของหนุ่มสงขลาคนนี้
วรรณา: เขาเป็นคนแปลก มีพฤติกรรมไม่เหมือนคนอื่น การแต่งกายก็เป็นที่ฮือฮา เพราะไม่ได้ใส่เสื้อผ้าสำเร็จรูป ตัดเอาเอง เสื้อเลยมีกระเป๋าเยอะ เสียบปากกา เสียบคัตเตอร์ ดูบ้าบอพอสมควร ชอบไปเดินท่อมๆ ตามวัด พวกรุ่นพี่จดจำได้ว่าเป็นเด็กประหลาด แต่ตัวเขาหน้าตาดี ตอนนั้นต่างก็ไม่ได้คิดอะไร เรามีแฟนอยู่แล้ว เขาก็เที่ยวไปชอบสาวตามคณะต่างๆ แอบชอบคนเยอะ (หัวเราะทั้งคู่)
เอนก: ผมชอบหน้าตาแบบไทยๆ เย็นๆ บางทีการอ่านหนังสือมีส่วนทำให้วาดภาพจินตนาการตาม เช่นอ่านเรื่องเด็กบ้านสวน (ผลงาน พ.เนตรรังษี) จะเขียนถึงพี่เลียบ เป็นลูกชาวสวน ลักษณะสวยเย็น ตัวคุณวรรณาก็มีความเด่นคือเป็นที่รักของทุกคน พูดจาน่าฟัง มีเหตุมีผล เขาไปเรียนต่างประเทศ พอกลับมาก็เลิกกับแฟน ช่วงนั้นเราช่วยกันทำกิจกรรมหลายอย่าง ผมรู้แล้วว่าเริ่มชอบเขาละ
สานใจสายใยรัก
จากวันนั้น กิจกรรมจิตอาสาที่ได้ทำร่วมกัน ก็ช่วยกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองให้มั่นคง ถึงคุณเอนกจะเป็นคนแปลกประหลาดในสายตาใครต่อใคร แต่สิ่งที่เขาทำก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจยิ่งนักสำหรับคุณวรรณา
วรรณา: เขาสนใจเรื่องเพลงพื้นบ้าน ที่บ้านเราแม่ชอบเพลงฉ่อย เลยรู้จัก เขาตระเวนไปสัมภาษณ์พ่อเพลงแม่เพลงตอนเรียนปีสี่ ไปดูเขานวดข้าวด้วยวัว เริ่มทำอะไรด้วยกัน ดูหนังเรื่องแผลเก่าที่โรงหนังในเมืองนนทบุรี ยุคนั้นมีโรงเล็กสองแห่ง อยู่ตรงสี่แยกพอดี นัดเจอกันที่หน้าโรงหนัง ยังไม่มีมือถือ สรุปยืนคอยคนละโรง (หัวเราะ) ในที่สุดตัดสินใจเดินมาหากันอีกโรง เพราะคิดว่าน่าจะยืนผิดที่ละ โกรธมากเลยตอนนั้น
เอนก: ผมชอบออกไปสำรวจวัด คลอง นั่งเรือไปตามที่ต่างๆ เก็บเรื่องเพลงพื้นบ้าน เพราะเป็นสิ่งที่กำลังจะหายไป นั่งรถบขส.ไปกัน และชอบไปวัดเฉลิมพระเกียรติ เมืองนนทบุรี ข้ามฟากตรงท่าเรือแถวหอนาฬิกาเทศบาลนนทบุรี ผ่านวัดสลักใต้ ต้องเดินเข้าสวนไปครึ่งชั่วโมง สวนสวยมาก ผมชอบพาคนที่ชอบไปวัดนี้ แต่ละคนประทับใจทั้งนั้น ผมพาเขาไป เกรงใจเขานะ เพราะเป็นรุ่นพี่ และเป็นคนกรุงเทพฯ คนต่างจังหวัดยุคนั้นมักเกรงคนกรุงเทพฯ คนกรุงพูดภาษาเขาคล่อง เราจึงก็ต้องระมัดระวังคำเวลาพูด
วรรณา: สวนสวยมากจริงๆ วันที่ไปนั้นน้ำท่วม เดินลุยเข้าไป ถกกางเกงเป็นระยะๆ ในที่สุดไม่ต้องถกละ น้ำขึ้นมาจะถึงเอวแล้ว เรียกว่าพาไปวัดใจ (หัวเราะ) เราไม่มีปรุงแต่งใส่กัน เที่ยววัด ออกต่างจังหวัดเก็บข้อมูล ไม่รู้สึกลำบาก ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นคุณหนู มองเป็นเรื่องธรรมดา
และแล้วเมื่อตกลงปลงใจแน่ชัด สาวชาวกรุงยินยอมตกล่องปล่องชิ้นกับหนุ่มสงขลา จึงต้องลงไปทักทายญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชาย ทำเอาทั้งบ้านตื่นเต้นกันยกใหญ่ว่าจะมีสาวกรุงเทพฯมาเยือน บ้านเกิดคุณเอนกเป็นร้านขายแบบเรียนชื่อ “บุญส่งพานิช” ทุกวันนี้ป้ายร้านถูกนำมาประดับไว้ในบ้านพิพิธภัณฑ์ เป็นหนึ่งในความทรงจำงดงามของทั้งคู่
วรรณา: ทั้งบ้านเขาตื่นเต้นกันมาก มโนกันไปใหญ่เพราะอ่านนิยายกันเยอะ บ่นกันว่าจะทำยังไงดี เขาจะอยู่ได้เหรอ ทำตัวไม่ถูกเลยว่าสาวกรุงเทพฯจะมา แต่พอมาถึง ไม่ใช่แบบที่คิดไว้เลย ไม่ได้นุ่งกระโปรงสวยๆ ไม่ได้มีเสื้อผ้าหน้าผมเป๊ะๆ มาแบบธรรมดาทั่วไป ไม่รู้ว่าพวกเขาผิดหวังไหมนะ (หัวเราะชอบใจ) เราเพิ่งจะรู้เรื่องนี้จากหลานที่มาเล่าให้ฟัง
ก้าวต่อไปของชีวิต
จากคู่รักสู่คู่ชีวิตที่ตกลงร่วมหอลงโรง พิธีแต่งงานจัดขึ้นอย่างเรียบง่ายในบ้าน เชิญเพียงพ่อเพลงแม่เพลงและคนที่รู้จักกัน เพราะสิ่งสำคัญไม่ใช่พิธีวิวาห์หรูหรา แต่เป็นการมุ่งมั่นตั้งใจที่จะก้าวเดินเคียงข้างกันไปตลอดทาง
เอนก: สำหรับผู้ชาย การแต่งงานเป็นเรื่องใหญ่ ต้องคิดแล้วคิดอีก ความอิสระที่เคยมีมันเปลี่ยนไปแน่ แล้วเงินทองฐานะอีก จะเลี้ยงดูยังไง ตอนนั้นเขาเป็นอาจารย์ ส่วนผมก็อยู่สำนักพิมพ์เล็กๆ เงินเดือนน้อยมาก คุณวรรณาเป็นคนมีความรู้ มีเหตุมีผล มีตรรกะ ต้องไม่ทำให้เขาเสียใจ
วรรณา: การอยู่ด้วยกันคือการช่วยเหลือกัน คุณเอนกเป็นคนเอาจริงเอาจัง เราร่วมด้วยช่วยกันในสิ่งที่เขาทำ ถ้าเห็นคุณค่าในสิ่งเดียวกัน จึงไม่มีปัญหา เป็นการแต่งเขยเข้าบ้าน ขนหนังสือมาเยอะ เป็นห้องสมุด แม่ยายเห็นหนังสือใส่รถหกล้อมา ก็บอกว่าโชคดีนะที่ลงเสาเข็มบ้านไว้แน่นหนา (หัวเราะทั้งคู่) แม่ยายชอบเรื่องเพลงพื้นบ้าน พาพ่อเพลงแม่เพลงมานอนค้างอ้างแรมด้วย แม่ยายต้อนรับขับสู้ หุงข้าวหาอาหาร ปูที่หลับปัดที่นอน มีความสุขมาก ถ้าเป็นบ้านอื่นใครจะให้เข้าบ้าน เพราะพ่อเพลงแม่เพลงในทัศนะบางคนมองว่าเป็นคนบ้านนอก แต่พวกเขามีความสามารถในศิลปะ เราสองคนไม่ได้มีอุปสรรคเหมือนในนิยาย ผู้ใหญ่ยอมรับได้
อย่างไรเสีย ชีวิตคู่ต้องมีการปรับตัว ยิ่งมาอยู่ร่วมร่มไม้ชายคาบ้านภรรยาด้วยแล้ว คุณเอนกยิ่งต้องปรับตัวมากทีเดียว แต่มีเรื่องหนึ่งซึ่งทุกวันนี้ยังทำไม่สำเร็จสักที คือเรื่องอาหารการกิน จนคุณวรรณาตั้งฉายาให้ว่าเป็น “คุณวิบากบริโภค”
เอนก: เป็นคนกินอาหารยากตั้งแต่เด็กจนถึงวันนี้ ส้มตำก็ไม่เคยกิน น้ำพริก แกงเหลืองก็ไม่เคยกิน ไม่กินอาหารบ้านใคร ไม่กินตามวัด ไม่กินที่อื่นใดทั้งสิ้น เรื่องมากที่สุด (ยิ้ม)
วรรณา: แม้แต่อาจารย์จักรพันธ์ โปษยกฤต ยังเห็นถึงโทษสมบัตินี้ (หัวเราะ) แม่ยายบอกว่าพ่อเหนกไม่กินอะไรที่แม่ทำเลย แม่ภูมิใจในฝีมืออาหารมาก แต่เสียใจที่ลูกเขยไม่กิน เลยบอกว่าไม่ต้องเสียใจหรอก แม่ของเขาทำให้ก็ยังไม่กิน
กำเนิดทายาทนาวิกมูล
ความมีเหตุมีผลของภรรยาซึ่งคุณเอนกชื่นชมนั้น ดูได้จากเมื่อยามจะมีทายาท คุณวรรณาก็ยังคิดวางแผนการขั้นตอนทุกอย่างเอาไว้ ชนิดที่ระบุช่วงเวลาคลอดได้ตั้งแต่ยังไม่ตั้งครรภ์เลยทีเดียว ทำเอาที่บ้านแม่สามีถึงกับงุนงงว่าสั่งได้ด้วยหรืออย่างไร
วรรณา: ถ้าจะมีลูก วางแผนให้คลอดตอนปิดเทอม ถ้าคลอดระหว่างสอน งานไปเพิ่มที่ครูคนอื่น เผอิญคนโตมาเร็วอาทิตย์หนึ่ง แต่เราออกข้อสอบไว้หมดแล้ว ทำให้ชั่วโมงสุดท้ายครูอีกท่านเข้าคุมสอบได้ คลอดลูกเสร็จเราก็ตรวจข้อสอบได้ แม่ยายมีความหวังตลอดมาว่าลูกสาวจะอยู่บ้านบ้าง สมัยเรียนทำกิจกรรมกลับค่ำมืดตั้งแต่ม.ปลาย จนมหา’ลัย พอแต่งงานออกไปตะลอนกับสามี พอมีลูกอยู่ได้สักพัก ลูกโตพอจูงเดินได้ ก็พาลูกไปนอกบ้านต่อ (ยิ้ม)
เอนก: ทุกวันนี้ยังไม่ค่อยยอมกลับบ้านเท่าไร สอนมา 40 ปีไม่เลิก จนเกษียณยังสอนต่อ ผมจะบ่นว่ากลับบ้านบ้าง ห่วงเขา นั่งรถสาธารณะไปเป็นชั่วโมง กลับอีกชั่วโมง การเดินทางในปัจจุบันมันน่ากังวล รถติดอีก แต่เขาไม่เคยบ่นเรื่องการเดินทางเลย ผมขับรถเองยังรำคาญเพราะเสียเวลา
วรรณา: ชอบสอนหนังสือ รู้สึกว่าเรายังมีอะไรที่อยากบอกเด็กๆ ให้แนวคิดที่เป็นประโยชน์แก่เด็กๆ ได้อยู่ การสอนหนังสือเป็นสิ่งที่ดี ได้ใส่วิธีคิดที่เป็นประโยชน์ อยากให้ลูกศิษย์ได้เห็นคุณค่าในสิ่งที่เรียนรู้ ไม่ได้ให้รักและภาคภูมิใจ แต่ให้เข้าใจสังคม จะมีอนาคตแบบไหนขึ้นอยู่กับพวกเขานะ ดังนั้นเวลาที่คุณเอนกบอกให้เลิกสอนจะเคือง คอยโทร.มาถามว่าอยู่ที่ไหน ตอนนี้ผมนอนห่วงอยู่ที่บ้าน เป็นการห่วงที่ลำบากมาก (หัวเราะทั้งคู่)
ส้มจุกและส้มจิ๊ด
ภาพเด็กน้อยผมจุกที่ประดับบ้านหลังนี้ เป็นภาพสาวน้อยทายาทตระกูลนาวิกมูลที่ถ่ายไว้เมื่อวัยเยาว์ ด้วยความที่ชมชอบเด็กผมจุกมานาน คุณเอนกจึงมุ่งมั่นให้ลูกๆ ไว้ผมจุกตั้งแต่ยังเล็กๆ ดูน่าเอ็นดู ภาพน่ารักๆ นี้จึงกลายเป็นหนึ่งในความทรงจำที่ชวนอมยิ้มทุกครั้ง
วรรณา: พาลูกขึ้นรถสองแถว มีป้ามาทัก กุมารทอง งวดนี้ออกอะไรลูก (หัวเราะ) ตอนที่ไปวังนารายณ์ รุ่นพี่เป็นภัณฑารักษ์อยู่ มีบ้านพักอยู่เป็นเรือนแถวเจ้าจอม ส้มจุก (คนโต) ใส่เสื้อคอกระเช้า นุ่งผ้าถุง ยืนอยู่ที่หัวกระได ก็แซวกันว่าถ้าเห็นกลางคืนคงวิ่งป่าราบ และได้ขึ้นหน้าปกสตรีสาร แม่และเด็ก เพราะเป็นเด็กผมจุกจริงๆ การไว้จุกเป็นคุณนะ ส้มจิ๊ด (คนเล็ก) ตอนเด็กขี้ร้อน หัวเป็นชันนะตุ พอไว้จุกปั๊บแผลหายเลย การไว้จุกช่วยเรื่องสุขอนามัย เป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่ง เรื่องนี้แม่ยายอนุมัติ อวยลูกเขยหมด เพราะชอบเหมือนกัน จนอนุบาล 3 ส้มจุกมาบอกว่า อยากมีผมยาวรอบๆ หัว แสดงว่าเริ่มมีความละเอียดอ่อนละ ถ้าลูกทวงถามก็โกนจุกได้ละ ให้ไว้ผมตามปกติได้ เพราะเราไม่ได้ไว้จุกตามความเชื่อตั้งแต่แรก
ร่วมด้วยช่วยกัน
บ้านหลังนี้ไม่มีหัวหน้าครอบครัว คุณเอนกกล่าวชัดเจน ทั้งเรื่องงานและเรื่องการดูแลลูกๆ ล้วนไม่มีใครเป็นผู้นำ แต่ต่างร่วมทีมเดียวกัน แบ่งหน้าที่คอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไปมาด้วยกันตลอดเวลา
วรรณา: เขาตั้งใจทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ยั่งยืนทางศิลปวัฒนธรรม เราเป็นสายสนับสนุน เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าจึงช่วยกัน แต่ถ้าเรื่องเลี้ยงลูก คุณเอนกไม่มีทักษะเลย ลูกควรเรียนอะไรดี ตอบว่าไม่ต้องเรียนก็ได้ (หัวเราะ) ตัวเราเป็นคนไม่โกหกกับลูกเป็นอันขาด อย่างออกจากบ้านไปทำงาน แล้วลูกร้องจะตาม ก็บอกว่าร้องได้นะ แต่แม่ไม่พาไปแน่นอน ไปหาหมอ ก็บอกว่าหมอฉีดยาเจ็บนะ แต่เจ็บขนาดไหน จะยกอุบัติเหตุที่เขาเคยเจอมาว่าเจ็บมากกว่าหรือน้อยกว่า ลูกเตรียมใจไปละ หมอยังชมเลยว่าเตรียมตัวมาดี โรงเรียนก็พาไปดูของจริงให้ลูกเลือกเองว่าชอบที่ไหน พอได้เห็นโต๊ะเก้าอี้ตัวเล็กๆ น่ารัก ลูกก็อยากรีบไปโรงเรียน จะบอกลูกว่าอาจารย์ให้ทำอะไรในแต่ละวัน ลูกได้เตรียมตัวละ วันแรกไปกับรถโรงเรียนได้และกลับมาโดยไม่ร้องไห้เลย ส่วนคุณเอนก ลูกเป็นของเล่น ชอบนั่งถ่ายวิดีโอลูกไปเรื่อยๆ จนบางทีลูกก็รำคาญ (หัวเราะ) แต่เวลาผ่านไปมันเป็นสิ่งที่มีคุณค่า
บทเรียนชีวิตคู่
เอนก: ผลัดกันดูแลลูก เป็นเรื่องธรรมดาของคู่ชีวิต ดูแลตัวเองได้ ดูแลครอบครัวได้ ถ้าเป็นไปได้ต้องช่วยดูแลสังคมด้วย ถ้าคนเราคิดแต่เรื่องส่วนตัวอย่างเดียว คนอาจจะเห็นแก่ตัว แต่ถ้าแบ่งเวลาให้ส่วนรวม ประเทศชาติก็จะได้พัฒนาขึ้น
วรรณา: มีลูกศิษย์มาปรึกษาเสมอ ต้องเข้าข้างเขาก่อน ให้รู้สึกสบายใจว่าเป็นพวกเดียวกัน ต่อไปค่อยให้สติ ในโลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ ถ้าชั่งตวงวัดแล้วมีส่วนดีมากกว่าส่วนเสีย ถ้าชอบส่วนดีของเขา ส่วนเสียโยนทิ้งไปได้ไหม ก็จะจบ มีลูกศิษย์จะหย่า รู้ว่าหย่าไม่ได้หรอก ยังห่วงกัน มันเป็นแค่อารมณ์ชั่ววูบในตอนนั้น ชีวิตมีหลายแง่มุม ไม่มีอะไรที่ดีหมด แล้วเรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร ต้องพิจารณาตัวเอง ก่อนไปเรียกร้องใคร เหมือนคำที่พระท่านว่า “ให้จับถูก อย่าจับผิด” ถ้ามัวแต่หาข้อเสียของเขา มันก็คือการจับผิดกัน
เอนก: ผมไม่มีปัญหา เพราะผู้หญิงถูกเสมอ ทุกคำที่ผมพูดประจำคือ ขอโทษ ขอโทษ (หัวเราะ) ยังไงก็ขอโทษไว้ก่อน ผิดไม่ผิดไม่รู้ละ ตัดอารมณ์ไปแล้ว ผู้ชายจำไว้เลยว่า ต้องขอโทษก่อน
วรรณา: มีบอกด้วยนะว่าแกล้งขอโทษเขาบ้างได้ไหม เวลามีปัญหาอยากให้คิดถึงเรื่องดีๆ เข้าไว้ การที่เขามาเลือกเราแสดงว่ารสนิยมดีในระดับหนึ่ง (ยิ้ม) คุณเอนกชอบหยอดเหรียญให้เกมเดิน ทั้งที่รู้ว่าพูดแบบนี้เราจะต้องขึ้น ก็ยังมาแหย่ให้ปรี๊ด แล้วสุดท้ายต้องมาขอโทษ บอก-ผมนึกแล้วว่าพูดแบบนี้เธอจะต้องเป็นแบบนี้ อ้าว แล้วพูดทำไม เพราะเขาอยากเห็นเราเวลาอารมณ์ขึ้น ถ้าไม่ขึ้นจะผิดหวัง บ่นว่าทำไมไม่โมโห
เอนก: ผมชอบแหย่ ชอบเล่น ต้องทะเลาะกันถึงจะสนุก โต้เถียงกัน แต่รู้ว่าเถียงยังไงก็ไม่ชนะ เพราะสุดท้ายผมต้องขอโทษอยู่ดี (หัวเราะ)
สิ่งที่เป็นห่วง
สามสิบกว่าปีที่ได้ร่วมชีวิต ความผูกพันมันย่อมเพิ่มพูน แม้จะไม่ใช่คู่ที่เอ่ยคำหวานต่อกัน แต่ความเป็นห่วงที่มีให้ หนักแน่นไม่แพ้ใครเช่นกัน
เอนก: อยากให้เขาพักผ่อน เป็นนายกสมาคมศิษย์เก่าสตรีวิทยา กลับบ้านก็ขนงานมาทำ งานที่ช่วยเราก็มี อยากให้เพลาลงหน่อย อยากให้พักบ้าง มีเวลานั่งคุยกันบ้าง ต้องคอยบอกว่ามานั่งคุยกันหน่อยสิ ชีวิตคู่อยากให้แกล้งเป็นสนใจกัน
วรรณา: ผู้ชายดูแลตัวเองไม่ค่อยเป็น เวลาไม่สบายคือเรื่องใหญ่ จามทีบ่นว่าไม่เห็นถามผมเลยว่าเป็นอะไรไหม ตราบใดที่เขายังขับรถไปดูพระอาทิตย์ตกในนาได้ ไม่ค่อยห่วง มีช่วงที่เป็นห่วงมากคือตอนโดนหมอสั่งให้กินยาคุมเบาหวาน ตอนนั้นคุณเอนกผอมมาก ผอมจนเปลี่ยนไซส์เสื้อผ้าหมด จนไปวูบหมดสติที่บ้านคนอื่น ไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน เลยบอกว่าเธอต้องเลิกเชื่อหมอคนนี้ หยุดกินยาตัวนี้ ไม่งั้นตายแน่ เปลี่ยนหมอเลยดีขึ้น คุณหมอบอกว่าหมออายุน้อย ชอบดูแต่ตัวเลข ไม่ค่อยดูตัวคนไข้ ไม่ได้สังเกตว่าคนไข้กินยาแล้วผอมหนักขนาดนี้ ยาทำให้เบื่ออาหาร จนกินอะไรไม่ลง
เอนก: แต่ละคู่นั้น ต้องเตือนว่าอย่าผลีผลาม มีสติเสมอ คนเราเผลอกันได้ แต่ต้องมีสติ และคิดให้ออกว่าสิ่งที่ทำไปจะเกิดผลยังไง เอาพลังชีวิตคู่ไปคิดในเรื่องที่ดีขึ้น สร้างสรรค์สิ่งดีขึ้น ดีกว่ามาคิดแต่เรื่องตัวเอง ควรคิดถึงเรื่องการแบ่งปันจุนเจือให้สังคม อย่าหมกหมุ่นกับตัวเองมากไป
วรรณา: หมกหมุ่นกับตัวเอง ก็จะมีแค่เรื่องของเรา ความต้องการของเรา เสียใจแต่เรื่องของเรา ถ้าหมั่นมองออกไปนอกตัวเรา จะทำให้โลกนี้ดีขึ้น สิ่งที่ห่วงจริงจังในตอนนี้คงเป็นเรื่องงาน ก้าวต่อไปของบ้านพิพิธภัณฑ์เป็นก้าวใหญ่มาก มีหลายคนเข้ามาร่วมด้วย แสดงถึงความไว้ใจ แล้วการที่ไว้ใจมันเป็นเรื่องหนักที่ต้องรักษาเอาไว้
หนังสือเล่มเดียวของบ้านนาวิกมูล
ในฐานะนักเขียนเรืองนาม เมื่อให้ตั้งชื่อหนังสือเล่มเดียวนี้ คุณเอนกก็ยิ้มพรายทันทีว่าชื่อเรื่อง “คู่คิดคู่ใจ”
เอนก: ความหมายของหนังสือเล่มนี้คือการช่วยกันสร้างสรรค์ ไม่ได้คิดแต่เรื่องของตัวเอง นับถือเขานะ เขามีความเป็นผู้ใหญ่ มีความคิดอ่าน ดูแลครอบครัวได้ดี สิ่งสำคัญคือเป็นคู่คิดที่ดีมาก ทำให้เราประคองชีวิตกันมาได้
วรรณา: เขายังเหมือนเดิม เป็นคนเดิม มีศรัทธาในสิ่งที่ทำ มีความบ้าบอที่สร้างสรรค์ สิ่งที่เขาคิดนั้นทำยาก แต่ถ้าวางมือก็จะไม่มีคนอื่นทำเลย เราช่วยกัน แก้ปัญหาร่วมกันไป เขาเป็นคนที่มีความมุ่งมั่น ยินดีจะเป็นคู่คิดกับเขาต่อไป (ยิ้มมองสามี)
คำรักสักครั้ง คำหวานสักหน
เอนก: สมัยหนุ่มสาวเป็นเรื่องของความรักบวกความใคร่ แต่เมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว ความรักคือความเข้าใจ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ร่วมทำหลายสิ่งมาด้วยกันนานขนาดนี้ย่อมมีความผูกพันลึกซึ้ง
วรรณา: เรามีศรัทธาซึ่งกันและกัน ไว้เนื้อเชื่อใจ รู้ว่าเขาไม่เหลวไหล การที่มีชีวิตคู่โดยการมองออกไปนอกตัวเอง ทำให้ชีวิตมีความหมาย เป็นสาระสำคัญมากกว่าอารมณ์วูบวาบสมัยหนุ่มสาว สักวันหนึ่งอีกคนอาจจะไม่อยู่แล้ว ถ้างานยังมีก็ต้องเดินต่อไป มีศรัทธาในสิ่งที่เขาคิดและทำ เรายังเป็นคู่คิดคู่ใจกันต่อไป เขาเคยถามว่าทำไมไม่แต่งหน้าทาปากบ้าง เห็นเพื่อนแต่งงานกับนายพล หน้านวลทั้งวัน ผมตีกระบัง ส่วนเราแบกของไปจัดงานนิทรรศการจนหน้ามัน แต่เพราะเป็นคนแบบนี้ เลยได้มาอยู่ด้วยกัน ไม่อย่างนั้นคงไม่เลือกเขา (ยิ้ม) ขอแค่อย่ากระแนะกระแหนเวลาไปสอนหนังสือ ลูกๆ ก็บ่น เพราะเป็นห่วงว่าแม่อายุมากแล้ว นานๆ ทีลูกจะอยู่ข้างพ่อ ปกติลูกอยู่ข้างแม่
เอนก: เขาเป็นคนสุขภาพดีมาก ไม่ค่อยเจ็บไข้ได้ป่วย แต่เราไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นยังไง ต้องเตรียมตัวสำหรับวันข้างหน้า ไม่ประมาทในชีวิต มาถึงวัยนี้ต้องระวัง แต่เขาไม่ค่อยมีเวลาเตรียมในเรื่องนี้
วรรณา: เขาเริ่มกระแนะกระแหนฉันอีกแล้ว (หัวเราะทั้งคู่)
หลังจากนั้นทั้งสองก็ยังโต้เถียงในเรื่องบทเพลงที่เคยฟังมา จนต้องพิสูจน์ว่าใครถูกใครผิด และแน่นอนว่าคุณเอนกเป็นฝ่ายขอโทษเสมอ พร้อมรอยยิ้มขบขันให้กัน เชื่อเลยว่ากว่าจะถึงวาระสุดท้ายทั้งสองท่านก็ยังคงโต้เถียงกันแบบนี้ เป็นชีวิตคู่ที่รื่นรมย์ในบันทึกที่น่าจดจำ
ใต้ความร่มรื่นของบ้านพิพิธภัณฑ์ มีเรื่องราวมากมายที่ถูกร้อยเรียงเก็บไว้เป็นความทรงจำ ผ่านครอบครัวหนึ่งที่ริเริ่มสร้างสรรค์ทุกสิ่งขึ้นมาอย่างเชื่องช้าแต่มั่นคง จากสองแรงแข็งขันจนกลายเป็นสามสี่แรงและอีกนับไม่ถ้วน ทำให้ผู้มาเยี่ยมเยือนเหมือนได้เดินผ่านเรื่องราวที่มีถ้อยคำของพวกเขา ได้ซึมทราบความทุกข์และความสุขของพวกเขา จนอดมิได้ที่จะเกิดความรู้สึกร่วม อยากกลายเป็นส่วนหนึ่งของบ้านหลังนี้.
ขอขอบคุณสถานที่
บ้านพิพิธภัณฑ์
www.facebook.com/bkkhouseofmuseums/
รักไม่รู้จบ
เนื้อเรื่อง: มาศวดี ถนอมพงษ์พันธ์
ภาพ: อนุชา ศรีกรการ
การแต่งงานของเราเป็นแบบคลุมถุงชนรึเปล่า? : สำรวจวัฒนธรรมคลุมถุงชนอย่างเข้าใจง่าย
การแต่งงานของเราเป็นแบบคลุมถุงชนรึเปล่า (Is your marriage…