“สวัสดีค่ะ คุณหมอชัญวลี พอดีหนูเพิ่งดูซีรีส์เกาหลีเรื่อง Record of Youth มีฉากหนึ่งที่เพื่อนผู้ชายชวนพระเอกไปฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เพื่อความปลอดภัยก่อนมีเพศสัมพันธ์กับแฟน หนูเลยอยากให้คุณหมอช่วยไขข้อสงสัย เพราะตัวหนูเองก็เพิ่งทราบว่าผู้ชายสามารถฉีดวัคซีนนี้ได้ ขอบคุณมากค่ะ”

 

โรคทางเพศที่น่ากลัวของยุค 2020 นอกจากเอดส์แล้ว คือ “ไวรัสเอชพีวี” (HPV virus)

     ศ.นพ.เฮรัลด์ ซัวร์ เฮาเซ่น (Herald Zur Hausen) ค้นพบเมื่อ พ.ศ.2523 ว่า ไวรัสเอชพีวีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งปากมดลูกในสตรี ต่อจากนั้นก็มีงานวิจัยทั่วโลกช่วยขยายความรู้เกี่ยวกับไวรัสเอชพีวีอย่างกว้างขวาง ถือว่าการติดเชื้อเอชพีวีเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อีกโรคหนึ่ง

     ทันทีที่โลกรู้จักไวรัสเอชพีวี โรคหนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส แผลริมอ่อน เริม เอชไอวีหรือเอดส์ ก็ชิดซ้ายเลยค่ะ เพราะการติดเชื้อเอชพีวีมาแรงแซงโค้ง เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบมากที่สุด และพบการติดเชื้อเอชพีวีในคนวัยเจริญพันธุ์ อายุ 20-30 ปี ตั้งแต่ร้อยละ 25-75 ทีเดียวค่ะ

ไวรัสเอชคือดีเอ็นเอไวรัส (DNA) ที่ติดเชื้อเฉพาะในมนุษย์ ไม่ติดเชื้อในสัตว์ ดังนั้นความเชื่อที่ว่า ติดเชื้อไวรัสเอชพีวีมาจากลิงจึงไม่เป็นความจริง

ไวรัสเอชพีวีก่อให้เกิดโรคหูดที่อวัยวะเพศ ทวารหนัก ช่องปาก และคอหอย การติดเชื้อแบบแนบแน่น (persistent viral infection) ในไวรัสเสี่ยงสูง ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก กล่าวได้ว่าร้อยละ 99.7 ของมะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี

ไวรัสเอชพีวีมีกี่สายพันธุ์ มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ทั่วโลก แต่ละสายพันธุ์เกี่ยวข้องกับหูดและมะเร็ง เช่น

สายพันธุ์ที่ 1, 2, 4: หูดนิ้วมือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า (common warts, plantar warts)

สายพันธุ์ที่ 3, 10: หูดแบนราบ บริเวณใบหน้า แขนขา (flat warts)

สายพันธุ์ที่ 6, 11: หูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศและทวารหนัก (condyloma acuminata) หูดที่กล่องเสียง (recurrent respiratory papillomatosis) ทารกซึ่งมารดามีหูดหงอนไก่ที่ช่องคลอด และในผู้ใหญ่ที่ทำออรัลให้คนที่มีหูดหงอนไก่

สายพันธุ์ที่ 16, 18, 31, 33, 35, 39, 45, 51, 52, 56, 58, 59, 68, 73, 82: ทั้ง 15 สายพันธุ์ติดเชื้อที่ปากมดลูก ก่อมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งทวารหนัก เชื้อที่แรงสุดในการก่อมะเร็ง คือสายพันธุ์ที่ 16 และ 18 เป็นสาเหตุร้อยละ 70 ของมะเร็งปากมดลูก หากเพิ่มสายพันธุ์ที่ 31, 33, 45, 52, และ 58 รวม 7 สายพันธุ์เป็นสาเหตุร้อยละ 90 ของมะเร็งปากมดลูกทั่วโลก

วิธีการแพร่เชื้อเอชพีวี แพร่โดยการสัมผัสจากผิวหนังสู่ผิวหนัง อวัยวะเพศสู่อวัยวะเพศ โดยการร่วมเพศ ไม่ว่าจะเป็นทางออรัล ช่องคลอด ทวารหนัก มีส่วนน้อยที่ทารกติดเชื้อจากการคลอดทางช่องคลอด

 

หากคุณทำเช่นนี้อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อเอชพีวี

  1. มีคู่นอนข้ามคืน (one night stand) เป็นปัจจัยเสี่ยงสูงสุด หากไม่ใช้ถุงยางอนามัยป้องกัน
  2. มีคู่นอนจำนวนมาก งานวิจัยในมหาวิทยาลัยพบว่า คู่นอนจำนวน 1, 4 และ 5 คน มีโอกาสติดเชื้อเอชพีวี ร้อยละ 29, 64 และ 87 ตามลำดับ
  3. มีเพศสัมพันธ์สอดใส่ช่องคลอดหรือทวารหนัก หากไม่สอดใส่มีโอกาสติดเชื้อน้อยกว่า 5 เท่า
  4. สวนล้างช่องคลอด งานวิจัยพบว่าการติดเชื้อเอชพีวีร้อยละ 8 เกิดจากการสวนล้างช่องคลอด
  5. นิ้วปนเปื้อนเชื้อในสาวโสด ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ร้อยละ 4 ติดเชื้อเอชพีวีจากการสัมผัสโดยนิ้ว
  6. ฝ่ายชายไม่ขริบหนังหุ้มปลาย หากขริบแล้ว ลดการติดเชื้อเอชพีวีในผู้หญิงลงร้อยละ 50
  7. มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย การใช้ถุงยางอนามัยลดโอกาสติดเชื้อลงมากกว่าร้อยละ 90

 

วิธีรักษา หากติดเชื้อเอชพีวีแล้ว ไม่มีวิธีรักษาค่ะ ถ้าเป็นคนที่ร่างกายแข็งแรง ร้อยละ 90 เชื้อหายไปได้ภายใน 2 ปี

 

 

วิธีป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี

  1. รักเดียวใจเดียว ไม่มีเพศสัมพันธ์แบบข้ามคืน ไม่สำส่อน เป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด
  2. ใช้ถุงยางอนามัย สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีได้มากกว่าร้อยละ 90
  3. ไม่มีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อยกว่า 18 ปี
  4. ฝ่ายชายควรขริบหนังหุ้มปลาย
  5. ไม่สวนล้างช่องคลอด
  6. ระวังการใช้ห้องน้ำสาธารณะ ควรล้างมือให้สะอาดหลังออกจากห้องน้ำเป็นประจำ
  7. ระวังการติดเชื้อเอชพีวีจากการใช้นิ้วมือและใช้อุปกรณ์ช่วยตนเอง
  8. รักษาสุขภาพ ร่างกายแข็งแรงช่วยกำจัดเชื้อเอชพีวีได้เองภายใน 4 ปี เหลือร้อยละ 8 ที่ติดเชื้อแนบแน่น
  9. ตรวจหามะเร็งปากมดลูกเมื่ออายุ 21 ปี หาไวรัสเอชพีวีเมื่ออายุ 30 ปี ตรวจทุก 3-5 ปี

ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) รับรองวัคซีน 3 ชนิดดังนี้

  1. เซอวาริกซ์ (Cervarix) ป้องกันไวรัสเอชพีวี 2 สายพันธุ์ (16, 18) ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ร้อยละ 70
  2. การ์ดาซิล (Gardasil) ป้องกันไวรัสเอชพีวี 4 สายพันธุ์ (6, 11, 16, 18) ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ร้อยละ 70 หูดหงอนไก่ร้อยละ 90
  3. การ์ดาซิล 9 (Gardasil 9) ป้องกันไวรัสเอชพีวี 9 สายพันธุ์ (6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58) ป้องกันมะเร็งปากมดลูกและหูดหงอนไก่ร้อยละ 90 มะเร็งทวารหนักร้อยละ 80 ปัจจุบันยังไม่วางจำหน่ายในประเทศไทย คาดว่าจะมีขายในปี 2565

 

วิธีฉีด ในหญิงชายอายุ 9-26 ฉีดจำนวน 3 เข็ม หากอายุต่ำกว่า 15 ปี ฉีด 2 เข็ม ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขอนุมัติเอชพีวีวัคซีนฉีดในเด็กหญิงชั้นประถมปีที่ 5 หรืออายุ 12 ปีทุกคน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ผลข้างเคียงของวัคซีน มีน้อยมาก FDA รับรองความปลอดภัยจากการติดตามรายที่รับวัคซีน ซึ่งมีมากกว่า 300 ล้านครั้ง สรุปว่าวัคซีนปลอดภัย มีผลข้างเคียงน้อยมาก คือเจ็บปวดตรงที่ฉีด และหายเองใน 10 นาที

สำหรับวัคซีนเอชพีวีในชาย เป็นวัคซีนตัวเดียวกันกับที่ฉีดในหญิง พบว่าได้ประโยชน์ทางตรงคือป้องกันมะเร็งที่เกิดจากการติดเชื้อเอชพีวีแบบแนบแน่น ได้แก่ มะเร็งทวารหนัก ปาก ลำคอ อวัยวะเพศชายหูดหงอนไก่ในชายรักชาย ป้องกันได้ผลถึงร้อยละ 90 นอกจากนั้นยังได้ประโยชน์ทางอ้อม คือป้องกันมะเร็งปากมดลูกในหญิง

 

 

FDA แนะนำว่า การฉีดวัคซีนป้องกันเอชพีวีในชายนั้นมีประโยชน์ แม้ว่าอาจจะได้ประโยชน์น้อยกว่าในหญิงเล็กน้อย ข้อบ่งใช้ วิธีฉีด ความปลอดภัยอื่นๆ ไม่ต่างจากฝ่ายหญิง การฉีดวัคซีนเอชพีวีทั้งในหญิงและในชายจะเกิดภูมิต้านทานหมู่ ช่วยลดมะเร็งปากมดลูกทั่วโลก รวมถึงมะเร็งอื่นๆ ที่เกิดจากการติดเชื้อเอชพีวี คุ้มค่าเป็นอย่างยิ่งต่อเงินค่าใช้จ่ายสำหรับวัคซีนที่เสียไป (cost-benefit)

 

HUG MAGAZINE

สุขภาพ สุขเพศ