เทรนด์การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ คนที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อนต่างก็สรรหาวิธีต่างๆ เพื่อผลักดันตนเองให้หมั่นออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าคอร์สออกกำลังกาย การเข้าร่วมรายการแข่งขัน การตั้งเป้าหมายให้สูงและมุ่งข้ามขีดจำกัดของตนเอง ในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องดีที่เราสามารถออกกำลังได้มากขึ้น แต่ในทางกลับกันก็ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ คือเกิดความเสียหายของกล้ามเนื้อ

กล้ามเนื้อลายสลายตัวเป็นอาการที่กล้ามเนื้อเกิดความบาดเจ็บเสียหาย ซึ่งหากถึงขั้นรุนแรงหรือปล่อยให้เป็นนานเกินไป ก็จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายจนถึงแก่ชีวิตหรือต้องพักฟื้นเป็นเวลานาน แต่หากตระหนักและระวังภาวะนี้เอาไว้ก่อน เมื่อเกิดขึ้นก็จะสามารถลดความรุนแรงในภายหลังได้

กล้ามเนื้อลายสลายตัวอันตรายอย่างไร

เมื่อพูดถึงกล้ามเนื้อสลายตัว ฟังดูก็ไม่น่าจะมีอะไรมากนอกจากอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อ แต่ที่จริงแล้วมันอันตรายกว่านั้นครับ เมื่อกล้ามเนื้อเกิดความเสียหายไม่ว่าด้วยสาเหตุใด เซลล์กล้ามเนื้อที่เสียหายจะแตกตัวออก สารต่างๆ ที่อยู่ภายในเซลล์นั้นจึงถูกปล่อยออกมา เช่น โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส และมัยโอโกลบิน ในกรณีที่กล้ามเนื้อเสียหายไม่มาก ร่างกายก็มีกลไกเพื่อขับสารเหล่านี้ออกจากร่างกายอยู่แล้ว แต่ถ้ากล้ามเนื้อเสียหายมากๆ จนร่างกาย ไม่อาจเยียวยาปัญหาก็จะเกิดขึ้น

มัยโอโกลบินเป็นสารซึ่งร่างกายใช้จับออกซิเจนให้แก่กล้ามเนื้อ หากมีปริมาณมากเกินไปเราก็จะเริ่มเห็นสีปัสสาวะเป็นสีแดง จากนั้นจะเกิดการตกตะกอนภายในท่อไต และเกิดไตวายได้

โพแทสเซียมและฟอสฟอรัสที่สูงขึ้น หากเกิดร่วมกับการทำงานของไตที่ลดลงก็อาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้


สาเหตุ

สาเหตุของกล้ามเนื้อลายสลายตัวมีหลายอย่าง
1. การบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อโดยตรง เช่น เกิดอุบัติเหตุแล้วกล้ามเนื้อถูกกระแทกแรงๆ เช่น ตกจากที่สูง ถูกรถชน ถูกทุบตี หรือกล้ามเนื้อถูกกดทับเป็นเวลานานๆ เช่น หมดสติแล้วแขนขาอยู่ในท่าที่ถูกกดทับ
2. เส้นเลือดที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อเสียหาย เช่น การบาดเจ็บที่เส้นเลือดโดยตรง การเกิดลิ่มเลือดอุดตัน หรือหมดสติแล้วเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อถูกกดทับ
3. กล้ามเนื้อถูกใช้งานอย่างรุนแรงหนักหน่วง เช่น ออกกำลังกายหักโหมด้วยการวิ่งระยะไกลเป็นเวลานานๆ ยกน้ำหนักที่หนักอึ้ง ปั่นจักรยานที่ใช้แรงต้านมากๆ ปั่นเร็วๆ การชักเกร็งเป็นเวลานาน การถูกไฟฟ้าช็อต การเกร็งจากโรคบาดทะยัก
4. อุณหภูมิร่างกายผิดปกติ เช่น ในภาวะลมแดดหรือความหนาวเย็นรุนแรงจนกล้ามเนื้อมีอาการบาดเจ็บ
5. ถูกพิษจากงู แมลง เห็ด และพืชหลายชนิดทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลายตัวได้
6. ภาวะเกลือแร่และกรดด่างของร่างกายผิดปกติ ในภาวะที่เกลือแร่ต่ำ น้ำตาลสูง หรือเลือดมีความเป็นกรดสูง กระบวนการแลกเปลี่ยนน้ำและเกลือแร่ของเซลล์ที่ผิดปกติไปทำให้กล้ามเนื้อเกิดการบาดเจ็บและสลายตัวได้
7. ยาและสารเคมี เช่น ยาบ้า เฮโรอีน ยาลดไขมันในเส้นเลือด และยาจิตเวชบางชนิด ยาที่ใช้ในการดมยาสลบ
8. การติดเชื้อ การติดเชื้อทั้งแบคทีเรียและไวรัสที่เห็นว่ามีปวดๆ กล้ามเนื้อนั้น ในบางกรณีที่เป็นรุนแรงก็อาจถึงขั้นภาวะกล้ามเนื้อสลายตัวได้


อาการ

สำหรับอาการหลักของกล้ามเนื้อลายสลายตัวนั้น ผู้ป่วยจะมีอาการปวดและอ่อนล้ากล้ามเนื้อในตำแหน่งที่ผิดปกติ เราอาจสังเกตได้จากปัสสาวะสีแดงเข้มหรือสีน้ำตาลอันเกิดจากมัยโอโกลบินที่หลุดออกมาในปัสสาวะ

นอกจากนี้ยังอาจเกิดอาการไม่จำเพาะอื่นๆ ด้วย เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน มึนงงสับสน หัวใจเต้นเร็ว ปัสสาวะออกน้อยกว่าปกติ ความดันผิดปกติ หากมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาให้แน่ชัด


แล้วจะตรวจวินิจฉัยอย่างไร

หากมีประวัติ อาการ สภาพร่างกาย และปัจจัยเสี่ยงที่น่าสงสัยว่าเป็นโรคนี้ ก็จะมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจค่าของสารครีตีนไคเนส (อันเป็นสารที่พบในกล้ามเนื้อที่เสียหาย คนซึ่งกล้ามเนื้อลายสลายตัวนั้นพบค่านี้สูงกว่าคนปกติถึง 10 เท่า) การตรวจค่าการทำงานของไต ตรวจปัสสาวะ

ในรายที่มีอาการรุนแรงหรือความเสี่ยงสูง ก็จะมีการตรวจค่าที่เกี่ยวข้องกับภาวะแทรกซ้อนจากภาวะกล้ามเนื้อสลายตัว เช่น โพแทสเซียม แคลเซียม ฟอสเฟต ค่าความเป็นกรดด่างของเลือด การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ


การรักษา

เนื่องจากภาวะกล้ามเนื้อสลายตัวชนิดรุนแรงมีโอกาสเกิดไตวายหรือเสียชีวิตได้ การรักษาตั้งแต่แรกที่ยังเป็นไม่มากจึงมีส่วนช่วยให้อัตราการตายลดลงและร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

1. กำจัดสาเหตุ หากหาสาเหตุได้ การจัดการกับสาเหตุจะช่วยยับยั้งกล้ามเนื้อที่เหลือไม่ให้สลายตัวมาซ้ำเติมร่างกายที่กำลังป่วยได้

2. ให้สารน้ำอย่างเพียงพอ เพื่อช่วยขับของเสียออกทางปัสสาวะและป้องกันไตวาย

3. รักษาระดับของของเสียและเกลือแร่ในเลือด มักมีการเจาะตรวจเลือดเป็นระยะตามความรุนแรงของโรค เพื่อป้องกันภาวะเกลือแร่ผิดปกติรุนแรงอันจะส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ

4. การฟอกเลือดล้างไต ในรายที่มีไตวายหรือเกลือแร่ผิดปกติรุนแรงซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีอื่น อาจจะมีการฟอกเลือดล้างไตเพื่อจัดการกับของเสียหรือเกลือแร่ผิดปกตินั้น

อ่านดูแล้วอาจจะน่ากลัว ทั้งนี้ในกรณีที่อาการไม่ชัดเจนหรือเป็นไม่มาก อาจจะไม่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่เป็นการกลับไปพักที่บ้าน ดื่มน้ำให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงสาเหตุที่สงสัยแล้วนัดกลับมาตรวจเป็นระยะๆ ภายหลัง


การป้องกันและเฝ้าระวัง

ผู้ป่วยกล้ามเนื้อลายสลายตัวส่วนใหญ่มักมีอาการรุนแรงจนต้องไปโรงพยาบาลตั้งแต่แรก จึงขอพูดถึงการป้องกันระวัง การออกกำลังกายและการใช้ยา อันเป็นสาเหตุที่หลายคนอาจจะไม่ทันระวังตัวครับ

1. การออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายให้เหมาะสม ไม่หักโหมจนเกินไป ค่อยๆ ปรับระดับความเข้มข้นในการออกกำลังกาย มีการสลับสับเปลี่ยนกล้ามเนื้อส่วนที่ใช้ออกกำลัง เพื่อให้กล้ามเนื้อได้พักและซ่อมแซมตนเอง

2.ดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในสภาพอากาศร้อนจัด อุณหภูมิที่สูงเกินไปของร่างกายย่อมเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อบาดเจ็บ อีกทั้งการขาดน้ำจะทำให้เลือดไปเลี้ยงไตน้อยลง อาการของภาวะนี้จึงรุนแรงขึ้น การได้น้ำที่เพียงพอจะช่วยลดความรุนแรงได้

3.หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดต้านการอักเสบหลังออกกำลังกายหรือในผู้ที่เสี่ยงต่อภาวะกล้ามเนื้อสลายตัว บางคนเมื่อมีอาการปวดกล้ามเนื้อมากๆ ก็ใช้ยาต้านการอักเสบเพื่อบรรเทาปวด แต่นอกจากจะบดบังอาการแล้ว ยาต้านการอักเสบหลายชนิดยังลดเลือดที่ไปเลี้ยงไต ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดไตวายเฉียบพลันได้มากกว่าปกติ

4.ในผู้ที่ใช้ยาหรือสารที่มีความเสี่ยงต่อภาวะนี้ หากมีอาการปวดกล้ามเนื้อรุนแรง ล้า หรือปัสสาวะสีเข้ม ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วการดูแลรักษาตั้งแต่ต้นจะช่วยให้ความรุนแรงของโรคลดลงและมีโอกาสฟื้นตัวเป็นปกติได้ง่ายขึ้นครับ

ขอบคุณบทความจาก : หมอแมว
คอลัมน์รักษ์สุขภาพ
Hug Magazine