6 โรคร้ายที่สาวโสดควรระวัง

ดิฉันเป็นสาวโสดวัย 38 ปี อยากทราบว่าสาวโสดมีความเสี่ยงเป็นโรคภัยใดมากกว่าสาวที่มีคู่ไหมคะ เพราะเพื่อนๆ ที่มีคู่มักบอกให้ดิฉันระวังเป็นมะเร็งเต้านม ช็อกโกเลตซีสต์ และโรคอื่นๆ สารพัด เมื่อฟังบ่อยเข้าดิฉันเริ่มกังวล รบกวนคุณหมอให้ความรู้เรื่องโรคที่สาวโสดมีความเสี่ยงด้วยค่ะ

ตอนเด็กๆ เคยอ่านนวนิยายเรื่องเพชรพระอุมา ของ “พนมเทียน” ฝรั่งสาวที่ร่วมเดินทางผจญภัยได้ตั้งท้อง มีความเชื่อของตัวละครในนิยายว่า แม่ที่ตั้งท้อง ทารกในครรภ์จะป้องกันอันตรายให้ ไม่ว่าจะเป็นแมลง สัตว์มีพิษกัดต่อย หรือยาพิษ ความเชื่อนี้ยังมีมาถึงปัจจุบัน ทั้งที่ไม่เป็นจริง คือหากโดนพิษจากสัตว์หรือสารพิษขณะท้อง ทารกในครรภ์ไม่สามารถป้องกันอันตรายให้ทั้งแม่และตนเองได้ แต่ส่วนหนึ่งที่เป็นจริง คือคนที่เคยมีลูก การตั้งครรภ์และให้นมลูกสามารถป้องกันโรคร้ายได้หลายอย่างในภายหลัง เช่น โรคเนื้องอกมดลูก โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เนื้องอกรังไข่ มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ขณะที่สาวโสดหรือแต่งงานแล้วไม่มีลูก มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเหล่านี้มากกว่า

 

อย่างไรก็ตาม คนที่แต่งงานแล้วหรือมีลูกมาก มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นสาเหตุการตายสูงเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งเต้านมมากกว่าสาวโสดค่ะ

 

มาคุยกันเรื่องหกโรคร้ายที่สาวโสดควรระวังกันค่ะ

หมั่นตรวจสุขภาพประจำปีอันเป็นการเฝ้าระวังโรคอีกทางหนึ่ง

1. โรคเนื้องอกมดลูก (myoma uteri)

พบมากในสาวโสด การมีลูกทำให้กล้ามเนื้อมดลูกยืดขยาย หดตัว และระดับฮอร์โมนเพศหญิงที่ลดลงช่วงหลังคลอด ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกมดลูก โรคนี้พบได้ร้อยละ 20-25 ของผู้หญิงทุกวัย ยิ่งอายุมากยิ่งพบมาก อายุ 35 ปีขึ้นไปพบร้อยละ 40-50 อายุ 50 ปีขึ้นไปพบร้อยละ 70-80 แต่ส่วนใหญ่ร้อยละ 75 เนื้องอกมีขนาดเล็กหรือไม่มีอาการ อาการที่สำคัญสามประการ คือ มีประจำเดือนมาก ปวดประจำเดือน และคลำเจอก้อนที่ท้องน้อยจากการเพิ่มขนาดของมดลูก จนทำให้ปวดท้องมากและซีด การรักษา หากไม่มีอาการอะไร อาจติดตามเฝ้าดู หากมีอาการหรือมีขนาดโตขึ้น อาจต้องรักษาด้วยยาหรือผ่าตัด


2. โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (endometriosis)

เป็นความผิดปกติของเยื่อบุโพรงมดลูกที่ปกติบุอยู่ในโพรงมดลูกแต่มาเจริญผิดที่ พบบ่อยคืออยู่ในอุ้งเชิงกราน รังไข่ ท่อนำไข่ หลังมดลูก ปากมดลูก เยื่อกั้นระหว่างทวารหนักกับช่องคลอด กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ ที่พบไม่บ่อย ได้แก่ ผิวหนัง สมอง กระดูกสันหลัง ปอด พบได้ในผู้หญิงที่ยังมีประจำเดือน ร้อยละ 7-20 ในวัยทำงาน (25-29 ปี) พบได้ร้อยละ 20 จนบางครั้งเรียกว่าเป็นโรคของสาวออฟฟิศ พบมากขึ้นในสาวโสดหรือมีบุตรยาก อาการเด่นคือปวดประจำเดือนแบบก้าวหน้า ปวดมากขึ้นเรื่อยๆ และมีลูกยาก หากมีทั้งสองอาการนี้จำนวนเกินครึ่งเกิดจากโรคนี้ การรักษามีทั้งใช้ยา และการผ่าตัด


3. กลุ่มอาการถุงน้ำหลายใบในรังไข่ (polycystic ovarian syndrome: PCOS)

ภาวะนี้มักเป็นกับสาวโสด หรือไม่มีลูก ไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง ร้อยละ 40-85 เป็นคนอ้วน การวินิจฉัยใช้ข้อกำหนด 2 ใน 3 ข้อต่อไปนี้คือ 1. ประจำเดือนไม่ค่อยมาหรือขาดหายไป 2. มีฮอร์โมนเพศชายสูง ทำให้มีอาการผมร่วง ผมบาง หน้ามันเป็นสิว มีขนดกแบบเพศชาย เช่น มีหนวด เครา มีขนหน้าอก มีขนหน้าท้อง 3. การตรวจทางอัลตราซาวด์พบถุงน้ำเล็กๆ ในรังไข่ จำนวนมากกว่า 25 ถุงน้ำ ภาวะนี้ทำให้มีฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนและฮอร์โมนเพศชายสูง เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ หลอดเลือดอุดตัน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มีลูกยาก ดังนั้นสาวโสดหรือไม่มีลูก เมื่อประจำเดือนไม่ค่อยมา หรือมาไม่สม่ำเสมอ จึงไม่ควรละเลย ควรพบแพทย์ การรักษามักใช้ยา และปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ลดน้ำหนัก เพื่อให้ฮอร์โมนกลับมาปกติ


4. มะเร็งเต้านม

สาวโสดหรือไม่มีลูกเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งของมะเร็งเต้านม ปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ พันธุกรรม มีญาติพี่น้องเป็นโรคนี้ หรือมีฮอร์โมนเพศหญิงสูง มีประจำเดือนเร็ว หมดประจำเดือนช้า ดังนั้นผู้หญิงไม่ควรเสริมฮอร์โมนหรือกินสมุนไพรที่มีฮอร์โมนเพศหญิง อาการที่พบบ่อยคือ คลำพบก้อน โดยคนไข้มะเร็งเต้านมร้อยละ 80 คลำพบก้อนได้ด้วยตนเอง อาการอื่นๆ ได้แก่ มีต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้บวมโตขึ้น เต้านมหรือหัวนมเปลี่ยนรูปร่าง โตขึ้น แฟบลง บิดเบี้ยว ระดับสองข้างที่เคยเท่ากันกลับไม่เท่ากัน ผิวหนังเต้านมบวมร้อนแดง ผิวหนังของเต้านมหนา บุ๋มเหมือนผิวส้ม หัวนมหด มีอาการเจ็บคัน มีผื่นสะเก็ดน้ำเหลือง มีแผล เป็นต้น เมื่อคลำก้อนพบ หรือมีอาการผิดปกติที่เต้านมและหัวนม ควรพบแพทย์ โรคนี้มักเป็นในหญิงอายุ 50-70 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันอายุน้อยกว่า 30 ปีก็พบได้ รักษาโดยการผ่าตัด หากลุกลามมักรักษาควบคู่ไปกับรังสีรักษา เคมี หรือฮอร์โมนบำบัด


5. มะเร็งรังไข่

สาวโสดหรือคนไม่มีลูกมีโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่มากกว่าคนที่มีลูกถึงสองเท่า การมีลูก ให้นมลูก คุมกำเนิดด้วยยาคุมกำเนิด ลดการเกิดมะเร็งรังไข่ได้ร้อยละ 30-40 ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่อื่นๆ ได้แก่ พันธุกรรม มียีนส์กลายพันธุ์ มีประจำเดือนเร็วก่อนอายุ 11 ปี หมดประจำเดือนช้ากว่า 55 ปี มีลูกยาก หรือมีลูกคนแรกอายุเกิน 30 ปี สูบบุหรี่ อ้วน ใช้แป้งที่มีสารทัลค์ (talc) ทากันชื้นที่อวัยวะเพศ เป็นกลุ่มอาการถุงน้ำหลายใบในรังไข่ มะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งร้าย มักตรวจไม่พบในระยะเริ่มแรก เมื่อมีอาการ เช่น ปวดท้อง ท้องอืด ท้องโตขึ้น คลำก้อนได้มักลุกลามเป็นมากแล้ว เป็นมะเร็งที่มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่ามะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์สตรีอื่นๆ รักษาโดยการผ่าตัด หากลุกลามมักรักษาด้วยเคมีบำบัดและใช้รังสีรักษาร่วม


6. มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

มักเกิดในคนอายุ 50-70 ปี สาวโสด ผู้ไม่มีลูกมีความเสี่ยงมากเป็นสองเท่าของคนมีลูก ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ มีประจำเดือนเร็ว หมดประจำเดือนช้า ได้รับฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน กินยาต้านฮอร์โมนเพศหญิง (tamoxifen) เพื่อรักษามะเร็งเต้านม อ้วน เป็นโรคเบาหวาน เป็นกลุ่มอาการถุงน้ำหลายใบในรังไข่ มีประวัติทางพันธุกรรม อาการที่สำคัญที่เกิดร้อยทั้งร้อย คือมีเลือดออกผิดปกติ เช่น มากะปริบกะปรอย หรือมีเลือดออกหลังหมดประจำเดือน เมื่อมีอาการดังกล่าวอย่านิ่งนอนใจ ควรพบแพทย์ การวินิจฉัยโรคนี้อาศัยการขูดมดลูก เพื่อส่งเยื่อบุโพรงมดลูกตรวจยืนยันผลทางพยาธิวิทยา หากพบว่าเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก รักษาโดยการผ่าตัดเป็นหลัก หากลุกลามมักผ่าตัดรักษา ร่วมกับการให้เคมีบำบัดและรังสีรักษา

"การตั้งครรภ์และให้นมลูกสามารถป้องกันโรคร้ายได้หลายอย่างในภายหลัง ขณะที่สาวโสดหรือแต่งงานแล้วไม่มีลูก มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเหล่านี้มากกว่า"

— พญ.ชัญวลี ศรีสุโข
คอลัมน์สุขภาพสุขเพศ
Hug magazine ปี 10 ฉบับ 6