Q.
“ตอนนี้ดิฉันเป็นแม่สามีมือใหม่ค่ะ ลูกชายอายุ 25 ปี พาสะใภ้อายุ 17 ปี มาใช้ชีวิตร่วมกัน ดิฉันก็ไม่ได้ยุ่งอะไรกับเขา เเต่ปัญหาอยู่ที่ว่า เมื่อก่อนนี้ดิฉันดูแลห้องนอน เสื้อผ้าของลูกชาย พอมีเมีย เมียควรดูแลใช่ไหมคะ เเต่เมียไม่ทำเลยค่ะ ให้เมียดูแลเเค่ห้องนอนและเสื้อผ้าของตัวเองเท่านั้น เดือนแรกที่มาอยู่ เขาทำงาน ดิฉันก็เข้าไปเก็บกวาดเช็ดถูให้ พอเดือนที่ 2 เขาไม่ได้ทำงานแล้ว แต่ก็ไม่ทำเลย ตอนนี้ห้องรกมาก เสื้อผ้ารอซักล้นตะกร้า เขาก็ไม่ทำ ดิฉันจะทำยังไงดี พูดและสอนดีๆ ก็รับปากว่าจะทำ แต่ดิฉันแอบดูมาหลายวันแล้วก็ยังไม่จัดการเลยค่ะ มีวิธีไหนแนะนำบ้างมั้ยคะ พรุ่งนี้ลูกชายมีกางเกงใส่แค่ตัวเดียวแล้ว”
A.
ด้วยความเคารพค่ะ คุณแม่ ดีใจที่ไว้วางใจ ส่งคำถามเข้ามาคุยกันนะคะ คุณแม่ต้องปรับใจก่อน ลูกชายเป็นลูกของเราวันยังค่ำ ไม่ว่าอายุมากขนาดไหน ก็ยังเป็นเด็กในสายตาคุณแม่เสมอ นี่ขนาดตัวเองจัดรายการวิทยุมาเกือบ 30 ปี วันนี้จัดรายการเสร็จกลับบ้าน แม่ยังโทร.ถามเลยว่า “ถึงไหนแล้วลูก” คำถามซ้ำๆ เดิมๆ ที่เพิ่มเติมคือ ทำให้รู้ว่าเรายังมีแม่อยู่ใกล้ๆ วันนี้ลูกชายของคุณแม่เลือกคนที่เป็นคู่ชีวิตแล้ว บางเรื่องคุณแม่ต้องทำใจว่า เลือกแบบไหนได้แบบนั้นนะลูก ครอบครัวที่สร้างเขา ได้เห็นครอบครัวที่เขาสร้างแล้ว พ่อแม่สอนให้ลูกพูดคำว่า “รัก” จนมาบอกรักคนอื่นได้แล้ว ตั้งแต่นี้คุณแม่คงต้องมองอยู่ไกลๆ เพราะความห่วงใยอาจกลายเป็นแรงกดดันโดยที่คุณแม่ไม่ได้ตั้งใจ
วันนี้ลูกโตพอที่จะดูแลตัวเองได้แล้ว เรียนจบ ทำงาน และสามารถเป็นพ่อคนได้ด้วยซ้ำ ถ้าคุณแม่ยังทำทุกอย่างให้ เหมือนเขาเป็นเด็ก เขาจะกลายเป็นลูกเล็กของคุณแม่ไปเรื่อยๆ ปล่อยเลยค่ะ จะเหลือกางเกงในตัวเดียว ถ้าไม่ซัก ไม่ทำ หรือต้องรอให้ภรรยาจัดการให้ เขาก็ต้องไปสื่อสารกันเอง ไม่ใช่เรา รู้ว่าตอนนี้การนิ่งอาจจะเป็นเรื่องยากเย็นสำหรับคุณแม่ แต่คงเป็นเรื่องที่ควรทำที่สุด ถ้าเหลือบ่ากว่าแรงจริงๆ ลองพูดสิ่งที่อึดอัด โดยการคุยกับลูกชายของเราดีๆ
“เป็นยังไงบ้างลูก เป็นลูกของแม่อยู่ดีๆ กับการเป็นสามีใครซักคน เหนื่อยต่างกันไหม”
“ภรรยาลูกเป็นยังไงบ้าง”
“มีอะไรคุยกับแม่ได้เหมือนเดิมนะ ยังรักและห่วงเสมอ แค่บางทีแม่ไม่รู้ว่าจะยังเตือนอะไรเหมือนเดิมได้หรือเปล่า”
พูดในเชิงโยนหินถามทางค่ะ ถ้าลูกบอกว่า “โถ แม่ครับ เหมือนเดิมแหละ ผมก็เป็นลูกแม่เหมือนเดิม” คราวนี้คุณแม่ก็ค่อยๆ บอกถึงสิ่งที่คุณแม่คิด “ช่วงนี้โควิดน่ากลัวนะลูก ทำห้องหับให้สะอาดเข้าไว้ แม่ไม่เข้าไปยุ่งไปจัด ถ้าเมียอยู่ ให้เขาช่วยดูก็ได้นะ แม่ก็ห่วงสุขภาพลูกและลูกสะใภ้นั่นแหละ” ค่อยๆ หยอดทีละนิด ไม่ต้องคิดหวังผลไกล แค่ไม่ทำให้เขารู้สึกว่า แม่เข้ามาวุ่นวายในชีวิตคู่ของเขามากเกินไป ก็ถือว่าได้ผลแล้วครึ่งหนึ่ง
คุณแม่ยังคงเป็นคุณแม่ที่น่ารักนะคะ บางคนฟาดไปแล้ว แรงใส่ลูกสะใภ้จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ของลูกชาย ในเมื่อครอบครัวที่สร้างเรา กลับไม่ชอบครอบครัวที่เราสร้าง คนกลางมักทรมานที่สุด มีเหมือนกันที่สร้างเงื่อนไข ตกลงจะเลือกใคร เมียหรือแม่ โถ ใครจะเลือกได้ล่ะคะ คนหนึ่งสร้างชีวิต คนหนึ่งเป็นหัวใจ ก็ต้องค่อยๆ ประนีประนอมกันไป คนหนึ่งเป็นสุดที่รัก อีกคนก็รักที่สุด ต่างมีความสำคัญในแต่ละจุดของชีวิต ปัญหาที่คนส่วนใหญ่เจอ หรือในละครก็มีให้เห็นเยอะแยะ คือปัญหาแม่ผัวลูกสะใภ้ไงคะ มีให้เห็นกว่าปัญหาพ่อตากับลูกเขย หรือเพราะผู้หญิงมีมุมละเอียดอ่อนเยอะกว่า แสดงความเป็นเจ้าของมากกว่าก็ไม่รู้
สำหรับลูกชายและลูกสะใภ้ของคุณแม่ ต้องยอมรับว่า เขาแต่งงานกันเร็วนะคะ ผู้ชายวัย 25 ยังมีโอกาสอีกมากมายที่จะใช้เวลาในการดูใจ เพื่อเลือกใครซักคนมาเป็นคู่ชีวิต ส่วนลูกสะใภ้อายุ 17 ปี ยังเรียนไม่จบด้วยซ้ำ ยังไม่ทันได้ปิดตำราก็กินตำแหน่งภรรยาซะแล้ว เรื่องวัยสำคัญนะคะ ไม่ทันได้เรียนรู้โลกกว้างใหญ่ ต้องมาเจอความรับผิดชอบมากมายในชีวิต ยังเป็นลูกสาวได้ไม่เท่าไหร่ต้องกลายมาเป็นลูกสะใภ้ ดูแลตัวเองยังไม่ไหวแต่ต้องดูแลสามีตัวเองเพิ่มด้วย คุณแม่เลยยังต้องช่วยอยู่แบบนี้ ดูกันไปทีละวันค่ะ
ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ระยะยาวจะรอดไหม แต่ในเมื่อเขาเลือกกันแล้ว คุณแม่ลองตั้งสติ แล้วนิ่งดูซักตั้ง มีอะไรอยากเตือนกันก็ต้องใช้น้ำเสียงที่เปี่ยมด้วยความรักและหวังดี ไม่ใช่ตำหนิติเตียน เด็กยุคใหม่กระทบกระเทือนใจง่าย ต้องค่อยเป็นค่อยไป แต่อย่าเพิ่งคาดหวังว่าจะฝากชีวิตลูกชายกับสะใภ้วัย 17 เลยค่ะ ค่อยๆ ฝึกให้ลูกชายมีวินัยกับตัวเองวันละนิด อย่างน้อยก็ดูแลชีวิตตัวเองได้ก่อน
หัวอกพ่อแม่ล้วนหวังจะฝากชีวิตลูกสาวไว้กับผู้ชายดีๆ แต่ในเมื่อทั้งสองคนต่างเลือกและคาดหวังซึ่งกันและกัน ก็ต้องรับผิดชอบกันเองในสิ่งที่เขาเลือก พ่อแม่ในวันนี้บางทีไม่หวังให้เขยหรือสะใภ้มาดูแลด้วยซ้ำ แค่ไปดูแลซึ่งกันและกันให้ดีก็มีความสุขที่สุดแล้ว ไม่เหมือนครอบครัวจีนสมัยก่อน เมื่อสะใภ้เข้ามาต้องดูแลทั้งครอบครัวของสามี รวมถึงพี่น้อง วันนี้ยุคเปลี่ยน โลกเปลี่ยน แค่เขารักกัน ไม่ทำให้ครอบครัวมีปัญหาก็ดีหนักหนาแล้ว
เป็นกำลังใจให้คุณแม่นะคะ รู้ว่าเป็นห่วงแค่ไหน แต่บางเรื่องลูกต้องเรียนรู้จากชีวิตจริง เพราะสิ่งที่จริงแท้แน่นอนคือแม่ไม่ได้อยู่ดูแลลูกตลอดชีวิตแน่ๆ ลูกจะเดินยังไง ล้มแบบไหน แล้วลุกขึ้นมาสู้ยังไง ต้องทำให้ได้ ถ้าเมื่อไหร่ที่มีปัญหา แล้วแม่ต้องคอยแก้ปัญหาให้ทุกครั้ง ลูกจะมองว่า โลกใบนี้มันสวยเกินไป ผู้หญิงที่ลูกจะเลือกมาอยู่เคียงข้างทั้งชีวิตถึงต้องคิดให้ดี คนที่จะแบ่งปันความสุข เฉลี่ยความทุกข์ สุขก็เล่า เศร้าก็ฟ้อง แม่ถึงต้องมองอยู่ห่างๆ ถ้ายังต้องวิ่งเข้าไปประคองทุกครั้ง ลูกอาจอ่อนแอเกินกว่าที่จะเดินหน้าต่อไปบนโลกใบนี้ค่ะ.
HUG MAGAZINE
หัวใจไม่จนมุม
พี่อ้อย นภาพร
การแต่งงานของเราเป็นแบบคลุมถุงชนรึเปล่า? : สำรวจวัฒนธรรมคลุมถุงชนอย่างเข้าใจง่าย
การแต่งงานของเราเป็นแบบคลุมถุงชนรึเปล่า (Is your marriage…