“ปัญหาของโครงสร้างชายเป็นใหญ่คือ แม้แต่ผู้ชายที่อยู่ในลำดับชั้นต่ำกว่าก็กลายเป็นเหยื่อด้วย”
ถ้อยคำสั้น กระชับ แต่ตรงจุด ในสิ่งที่ คุณชานันท์ ยอดหงษ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ เฟมินิสต์และเควียร์ สื่อถึงปัญหาสังคมในตอนนี้ ที่หลายคนอาจยังมองแค่ด้านเดียว เมื่อได้พลิกอีกมุม จึงทำให้เราหวนกลับมาคิดว่า ตกลงแล้วปิตาธิปไตย ใครได้ประโยชน์ ใครถูกเอาเปรียบ และเราต้องการเป็นใครกันแน่
ปิตาธิปไตยในสังคมโลก?
“คำว่า ‘ชายเป็นใหญ่’ คืออะไร หมายถึงการให้คุณค่าแก่ความเป็นชายมากกว่าความเป็นหญิง ผู้ชายมีบทบาทและคุณค่ามากกว่าผู้หญิง ที่จริงชายกับหญิงแตกต่างกันด้วยสรีระอยู่แล้วแต่แรก เมื่อสังคมไปกำหนดสิ่งนี้จึงเกิดการหล่อหลอมสภาพแวดล้อมตั้งแต่เกิด เช่น ของเล่นเด็กผู้หญิงกับเด็กผู้ชายจะแตกต่างกัน เด็กผู้ชายเป็นหุ่นยนต์ เฮลิคอปเตอร์ รถ เด็กผู้หญิงเป็นตุ๊กตาบาร์บี้ เครื่องครัว ของเล่นเด็กผู้ชายมีกลไกซับซ้อนแสดงถึงวิวัฒนาการของเทคโนโลยี ส่วนของเล่นเด็กผู้หญิงไม่ซับซ้อนและถูกเตรียมพร้อมให้โตมาเป็นแม่และเมีย ตุ๊กตาเป็นสิ่งหนึ่งที่ปลูกฝังให้ผู้หญิงอยากจะเลี้ยงเด็กทารก แล้วเทคโนโลยีทันสมัยมากๆ ของบาร์บี้คือการเปลี่ยนสีผม สีผิว แต่งหน้า ไม่ได้ซับซ้อนเหมือนของผู้ชาย ที่ว่าผู้หญิงไม่มีความรู้ในเรื่องกลไกเท่าผู้ชาย จึงกลายเป็นมายาคติ และถูกปลูกฝังมานาน
“ในนิทานตัวละครเด็กผู้หญิงมักยอมจำนน อดทนอดกลั้น และมีสภาวะแม่บ้านมากกว่าเด็กผู้ชายที่ไปผจญภัย ต่อสู้ มีความคิดว่าผู้หญิงที่ดีต้องยอมอดทน แล้วจะได้ผลดี อย่างเช่นซินเดอเรลล่า ปลาบู่ทอง คือการให้ผู้หญิงเป็นเสียงเงียบ ห้ามแข็งขืน ถึงจะได้ดี และในวรรณกรรมไทยมักสอนให้ผู้หญิงไม่กล้าตัดสินใจ ต้องให้ผู้ชายเป็นคนเลือก ถ้าผู้หญิงอยากมีปากเสียงต่อรองบ้างจะนำไปสู่ปัญหา แล้วผู้หญิงจะกลายเป็นคนชั่ว หรือมักนำหายนะมาสู่ในตอนจบเสมอ อย่างเช่นวันทอง”
ปิตาธิปไตยกับรากลึกในสังคมไทย?
“ในกลไกภาครัฐ สถาบันต่างๆ ของไทย การเมือง ศาสนา สื่อสารมวลชน กระทั่งธุรกิจ ผู้ชายมักครอบครองหรือเข้าถึงได้มากกว่าผู้หญิง ทันทีที่พูดถึงวิศวกร ทนายความ นักการเมือง ตำรวจ ทหาร เรามักนึกถึงเพศชายก่อน แล้วถ้าเป็นหญิงก็จะระบุเพศ เช่น ตำรวจหญิง แต่ผู้ชายนั้นไม่มี เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นอาชีพสำหรับผู้ชาย เช่นเดียวกับคำว่าแม่บ้าน ผู้หญิงถูกผลักให้ประกอบอาชีพแม่บ้าน ซึ่งรายได้น้อยกว่า หรือไม่มีรายได้ โดยเชื่อว่ามันเป็นธรรมชาติของผู้หญิง เป็นลูกสาว เป็นเมีย รับใช้ครอบครัวจนตาย เมื่อผู้ชายออกไปทำงานนอกบ้านตามค่านิยม ผู้หญิงทำงานในบ้าน แต่การทำงานนอกบ้านได้เงินมากกว่า ผู้หญิงจึงมีคุณค่าด้อยกว่าเพราะไม่ได้หาเลี้ยงครอบครัว
“เราอยู่ในสังคมปิตาธิปไตยจริง มันยากที่จะสลัดชุดความคิดนี้ได้หมด เพราะถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เกิด แม้แต่แม่ก็ยังบอกว่ารถคันหน้าขับแบบนี้ผู้หญิงขับแน่เลย ตอนนี้ผู้หญิงมีสิทธิมากขึ้นแต่ก็ยังอยู่ในพื้นที่บ้านตัวเอง แตกต่างจากผู้ชายที่มีอำนาจในรัฐ ในการเมือง รูปแบบของสังคมและวัฒนธรรมไม่ได้เอื้ออำนวยให้ผู้หญิงมีบทบาทของรัฐได้ อย่างในปัจจุบันมีคำว่าหญิงต่อท้าย นักการเมืองหญิง ข้าราชการหญิง แพทย์หญิง ก็เพราะถูกความเชื่อหล่อหลอม ทำให้ในส่วนสำคัญของรัฐ เช่นคนออกกฎหมายก็ยังเป็นผู้ชายอยู่ จึงกลายเป็นปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ”
สิทธิสตรีเกิดขึ้นตอนไหน?
“สถาบันการศึกษาถูกเพศชายผูกขาดมาตั้งแต่โบราณ ผู้หญิงเรียนรู้ผ่านการเป็นแม่บ้านแม่เรือน ผ่านแม่ตัวเอง ไม่ต้องเข้าเรียน หรือประกอบอาชีพที่บ้านมีอยู่แล้ว แต่เมื่อมีชาวต่างชาติเข้ามามากขึ้น ตั้งโรงเรียนเพื่อให้ผู้หญิงได้รับการศึกษา ก็ยังเป็นโรงเรียนสตรีที่สอนให้ผู้หญิงเป็นแม่บ้าน เพื่อดูแลบ้านให้สามี จึงยิ่งตอกย้ำว่าผู้หญิงต้องอยู่ในบ้าน อย่างน้อยยังมีข้อดีว่าการมีโรงเรียนทำให้ผู้หญิงอ่านออกเขียนได้ เลยกลายเป็นขยายสายอาชีพจากแค่แม่บ้าน เป็นครู เป็นนางพยาบาล เพราะเชื่อว่าผู้หญิงมีความเมตตา มีความละเอียดอ่อนกว่า พอได้ทำงานนอกบ้าน หาเงินเองได้ เริ่มมีความเชื่อมั่น มีอำนาจในการตัดสินใจเอง จนเกิดการพูดถึงสิทธิสตรีกันขึ้นมา เป็นแรงกระเพื่อมในปี 2475 กลุ่มแรกๆ ก่อนที่จะมีเฟมินิสต์ในไทย และในปี 2476 จึงเริ่มยกระดับสิทธิสตรีมากขึ้น”
ตัวตนผู้ชายในปิตาธิปไตยที่แท้จริง?
“ปิตาธิปไตยให้คุณค่าแก่เพศชายมากกว่าเพศหญิงจริง แต่ในขณะเดียวกัน ความเป็นชายก็มีลดหลั่นกันลงไปอีก ถ้าคนไหนมีความเป็นหญิงมาก ก็จะถูกลดคุณค่าความเป็นชาย มีการจัดระดับชนชั้นของเพศชายด้วยกันเองอยู่สี่ระดับ ได้แก่
- กลุ่มแรก เป็นเจ้าโลก เป็นทหารชั้นนายพล ดาราที่หล่อมาก หรือนักกีฬา NBA ผู้ชายที่ทรงอิทธิพลทางสังคม คนกลุ่มนี้มีจำนวนไม่เยอะ แต่มีอิทธิพลต่อผู้ชายมาก ผู้ชายอยากเป็นอย่างคนกลุ่มนี้
- กลุ่มรอง จะไม่หล่อ ฐานะจนลงมาหน่อย ร่างกายอ่อนแอ เพราะสังคมมองว่าผู้ชายต้องแข็งแรง แล้วกลุ่มที่ผอมแห้ง หรือพวกเด็กเนิร์ด จะถูกลดคุณค่าให้ต่ำกว่าผู้ชายกลุ่มแรก อย่างในค่ายทหาร นายพลคือระดับใหญ่สุด ถัดมาคือทหารชั้นรองๆ ที่จะถูกกดขี่ตามลำดับ ในครอบครัวก็เห็นชัด น้องชายมีคุณค่าต่ำกว่าพี่ชาย ลูกชายมีคุณค่าต่ำกว่าพ่อ หรือต่ำกว่าปู่
- กลุ่มสาม ความเป็นชายแบบผู้สมรู้ร่วมคิด คืออยากเป็นแบบเจ้าโลก แต่ไม่สามารถเป็นได้ อาจขี้โรค อ้วน ไม่หล่อ เลยสนับสนุนผู้ชายกลุ่มเจ้าโลกให้มีอำนาจต่อไป ไม่ว่าจะทำอะไรก็ยินดีด้วย และจะพยายามต่อต้านเฟมินิสต์ เพราะเฟมินิสต์จะสั่นคลอนความเป็นชายในอุดมคติ เขาคล้ายคนเชียร์บอล คอยเชียร์นักบอลที่อุดมคติสูงสุด ฉันไม่สามารถเป็นได้ ได้แค่สนับสนุน
- กลุ่มสี่ อยู่ต่ำสุดของผู้ชายคือ ผู้ชายที่ชอบเพศเดียวกัน ผู้ชายที่ออกสาว เขามองว่าถ้ามีลักษณะความเป็นหญิง คุณก็ต่ำกว่าในโลกที่ความเป็นชายดีกว่าความเป็นหญิง คนเป็นเกย์จึงมักโดนเหยียด หรือจัดลำดับ รวมทั้งเสี่ยงต่อความรุนแรงด้วย ผู้ชายที่อ่อนแอก็เช่นกัน จะโดนผู้ชายที่เข้มแข็งกว่ารังแก เพราะคิดว่าเขาต่ำกว่า เลยสามารถใช้อำนาจจัดการคนพวกนี้ได้
แต่ผู้ชายดูไม่อยากเกณฑ์ทหารกัน ตกลงผู้ชายมีความสุขกับปิตาธิปไตยจริงไหม?
“การเกณฑ์ทหารคือข้อเสียของสังคมชายเป็นใหญ่ รูปแบบการเกณฑ์ทหารในสมัยก่อนไม่ต่างจากการเกณฑ์ไพร่ เพียงแต่ไพร่ถูกยกเลิกจึงมาเป็นทหารแทน ทหารเป็นอาชีพที่จำเป็นในช่วงเวลาหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วไม่ควรอยู่ในระบบการเกณฑ์ ควรเปิดรับสมัครเอง และใครก็ตามสามารถเข้าไปเป็นทหารได้ เพราะเป็นทหารต้องผ่านการฝึกฝน ฝึกให้คุณไปทำหน้าที่จนเกิดความเชี่ยวชาญ ไม่ใช่เกิดจากการเชื่อว่าคุณมี ‘จู๋’ แล้วจึงต้องเป็นทหาร เพราะเป็นทหารไม่ได้ใช้ ‘จู๋’”
ถ้าปิตาธิปไตยมีปัญหา ทำไมผู้ชายไม่ออกมาโวยวาย?
“นี่คือปัญหาของผู้ชายที่รู้ว่าตัวเองอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกกดทับน้อยกว่าผู้หญิง และคนที่ไม่เคยมองว่าตัวเองถูกกดทับ ก็จะไม่เข้าใจเช่นกัน เช่น ผู้หญิงออกมาเคลื่อนไหวเพราะรู้ว่ามีปัญหาอะไร เรียกร้องสิทธิอะไร แต่ผู้ชายจะไม่ออกมา เพราะหลายครั้งผู้ชายได้รับอภิสิทธิ์จากการมี ‘จู๋’ อยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น โต๊ะเรียนแบบพับในมหา’ลัย เหมาะสำหรับคนถนัดขวา คนที่ถนัดซ้ายจะเขียนไม่ได้เลย แต่คนที่ไม่ได้รับผลกระทบ จะไม่รู้เลยว่าคนโดนลำบากขนาดไหน ในการเข้าไม่ถึงทรัพยากรตรงนี้ ทั้งที่จ่ายค่าเรียนเท่ากัน หรือในสังคมเราเสียภาษีเท่ากัน
“มีผู้ชายพูดว่า ‘เคลื่อนไหวสิทธิสตรีเหรอ ทำไมไม่เคลื่อนไหวสิทธิบุรุษบ้าง’ หรือ ‘เรียกร้องแต่เพศตัวเอง ทำไมไม่เรียกร้องเพศคนอื่น’ คือผู้หญิงเห็นความไม่เท่าเทียม และตระหนักถึงการกดทับ เลยออกมาเคลื่อนไหว แล้วผู้หญิงเคลื่อนไหวหลายเรื่องนะ แม้แต่เรื่องที่ผู้ชายถูกกดทับเช่นกัน เช่นเรื่องเกณฑ์ทหาร แล้วทำไมผู้ชายถึงต้องผลักภาระเรื่องตัวเองให้ผู้หญิงพูดแทนด้วย ทั้งที่เป็นเรื่องตัวเองแท้ๆ ทำไมผู้ชายต้องคอยสั่งให้ผู้หญิงไปทำนั่นทำนี่ เหมือนสั่งให้ทำกับข้าว ล้างจาน ทำงานบ้าน ไม่ต่างกับการใช้อำนาจปิตาธิปไตย ทำไมคุณไม่เคลื่อนไหวเอง แต่กลับบอกให้ผู้หญิงเคลื่อนไหวแทน”
หรือเป็นกรอบที่ผู้ชายไม่รู้ตัว?
“ผู้ชายอาจยังไม่ตระหนัก เพราะเขายังได้รับอภิสิทธิ์จากการมี ‘จู๋’ ของเขาอยู่ เขารู้นะว่าตัวเองถูกกดทับ แต่ไม่ออกมาเคลื่อนไหว เช่น บอกว่ามีวันสตรีสากลแล้วทำไมไม่มีวันบุรุษสากลบ้าง วันสตรีสากลเกิดจากการเคลื่อนไหวที่ของผู้หญิงถูกกดทับ จึงกำหนดวันนี้เพื่อระลึกถึงการเคลื่อนไหวดังกล่าว แล้ววันบุรุษสากลมีนะ แต่ไม่ได้เกิดจากการกดขี่ทางเพศอย่างที่ผู้หญิงโดน
“ผู้หญิงเอง ถึงแม้เป็นเฟมินิสต์ก็ใช่ว่าต้องคิดเหมือนกัน หรือถูกกดทับในจุดเดียวกัน แล้วบุคคลหนึ่งไม่ใช่ตัวแทนของคนกลุ่มหนึ่งเสมอไป การเคลื่อนไหวเพื่อการเท่าเทียมทางเพศไม่ได้หมายความว่าฉันมีแล้วเธอต้องมี นั่นเป็นคนละเรื่อง แต่จะทำยังไงให้เท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรต่างหาก การได้รับคุณค่าของการเป็นมนุษย์เท่ากันด้วย สิ่งนี้คือหัวใจหลัก”
ควรต่อสู้กับปิตาธิปไตยยังไง?
“มันขึ้นอยู่กับบริบทด้วย ถ้ายกตัวอย่างในม็อบ มีคนทำสถิติว่าผู้หญิง 60 ผู้ชาย 40 และมีกลุ่มเรียกร้องของผู้หญิงร่วมด้วย ไม่ใช่เคลื่อนไหวเชิงต่อสู้อำนาจรัฐเพียงอย่างเดียว แต่ต่อสู้กับโครงสร้างทางสังคมที่มีอยู่ดั้งเดิม ตอนแรกสตรีนิยมมักเกิดขึ้นในกลุ่มผู้หญิงชนชั้นกลางมีการศึกษา และมักเกิดขึ้นในรั้วมหา’ลัย หรือคนดัง ยกตัวอย่างในอเมริกา ยุโรป ที่คนเคลื่อนไหวมักเป็นนักเขียน กวี คอลัมนิสต์ หรืออาจารย์ ต่อมาผู้หญิงเริ่มตระหนักว่าฉันไม่ได้อยากมีสิทธิเท่าเทียมผู้ชาย เพราะนั่นหมายถึงว่าฉันมีผู้ชายเป็นตัวอย่าง เลยอยากเป็นตำรวจ ทหาร นักการเมืองหรือเปล่า เพราะพอประกอบอาชีพเหล่านั้น คุณก็วางตัวให้เหมือนผู้ชาย ทำเข้มแข็ง บึกบึน เท่ากับคุณตัดเพศตัวเองไปนะ ผู้หญิงเลยนิยามว่า ฉันจะเป็นในแบบที่ฉันควรเป็น ตำแหน่งเท่าเทียมกันทุกเพศ อันนี้คือการต่อสู้กับปิตาธิปไตยจริงๆ”
ปิตาธิปไตยกับ LGBT+
“โครงสร้างชายเป็นใหญ่ก็อยู่ในโลก LGBT ด้วยเหมือนกัน เช่น การเคลื่อนไหวสิทธิของเกย์ดังมากกว่าเลสเบี้ยน สังคมกำหนดว่าคุณเป็นผู้หญิงจึงไม่มีเสรีภาพมาก ไม่มีปากเสียงมาก กลุ่มเคลื่อนไหวหญิงรักหญิงจึงไม่ดังเท่า เพราะสังคมเปิดกว้างให้อำนาจและพื้นที่ผู้ชายมากกว่า ขณะเดียวกันในกลุ่มเกย์เอง ถ้าคุณมีความเป็นชายมากกว่าเกย์อีกคนที่สาวกว่า คนที่มีความเป็นชายมากกว่าก็ถูกมองว่ามีคุณค่ามากกว่าด้วย ต้องกลับไปที่ต้นตอโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่เช่นกัน”
กรอบของเพศควรมีต่อไหม?
“เมื่อถามว่ากรอบของเพศยังต้องดำรงอยู่ไหม มี อย่างเช่นเวลาไปม็อบจะมีการตรวจร่างกาย ตรวจอาวุธ ถ้าให้ผู้ชายตรวจร่างกายผู้หญิงคงไม่สะดวกใจกัน หากเพศอื่นมาจับ ก็เข้าข่ายการลวนลามได้ เด็กผู้หญิงก็ไปเป็นการ์ดแถวหน้าได้เช่นกัน มีหลายครั้งที่น้องวิ่งมาหน้าตาแดงขอน้ำล้างเพราะโดนแก๊สน้ำตาแล้ววิ่งกลับไปใหม่ กรอบจึงยังต้องมีอยู่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง สังคมเติบโตได้ต้องเรียนรู้และปรับตัวกัน ไม่ชอบ ไม่ชินก็ต้องปรับ ไม่งั้นจะก้าวต่อไปไม่ได้
“คนรุ่นใหม่ที่เกิดมามีมุมมองความคิดก้าวหน้าไปไกลกว่าคนยุคเก่า เขาอยู่ในโลกการสื่อสารที่ต่างมีสิทธิ์พูด เดิมทีผู้น้อยคอยเชื่อฟังผู้ใหญ่ที่มีอำนาจชี้นิ้วสอน ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว ผู้ใหญ่เองคือประชากรคนหนึ่งที่เท่ากัน และไม่ว่าชายหรือหญิงก็เช่นกัน มีการเปลี่ยนแปลงเยอะมากขึ้น ความเชื่อต่างๆ เริ่มคลี่คลาย เมื่อก่อนจะถือว่าของผู้หญิงอยู่ต่ำกว่า มีกฎข้อห้าม แม้แต่คำว่าสุภาพบุรุษก็มาจากการมองว่าคุณเป็นผู้ชาย แข็งแกร่งกว่า ต้องคอยดูแลเทคแคร์ผู้หญิง ซึ่งมันคือกรอบอีกแบบ”
ปิตาธิปไตยยังจำเป็นในประเทศไทยอยู่ไหม
“มันเป็นลักษณะหนึ่งของความไม่เท่าเทียม ความไม่เท่าเทียมจึงไม่ใช่สิ่งจำเป็นอยู่แล้ว ในตอนนี้การแบ่งหน้าที่บางอย่างระหว่างเพศ เช่นการทำงานนอกบ้าน ทำงานในบ้าน ก็ไม่ต้องเป็นที่เพศใดเพศหนึ่งอีกแล้ว การมีปิตาธิปไตยสำหรับเราจึงไม่เป็น ถ้าตราบใดยังมีอยู่ ตราบนั้นก็ยังต้องมีเฟมินิสต์”
ผู้ชายบอกว่าเฟมินิสต์รุนแรง?
“ในยุคปัจจุบันรูปแบบการเข้าถึงความรู้ไม่ได้กระจุกอยู่แค่จุดเดียว เราใช้ชีวิตในโลกโซเชียลมีเดียมากกว่า สามารถอ่านในโลกออนไลน์ ไม่ว่าใครก็ตามสามารถพูดถึงเรื่องนี้ และเมื่อพูดถึงเรื่องการถูกกดทับ ไม่แปลกที่ผู้หญิงจะโกรธ เกรี้ยวกราด เพราะพวกเธอต่อสู้กับสิ่งที่กดทับมายาวนาน มันอัดอั้นตันใจ สารที่สื่อออกมาจึงทำให้เฟมมินิสต์ดูเกรี้ยวกราดโมโหร้าย เลยเกิดกระแสต่อต้านขึ้น และการพูดในทวิตเตอร์ก็มีการจำกัดคำ ลงไม่ได้หมด ไม่เหมือนการเขียนบทความ เมื่อพูดถึงการเท่าเทียมทางเพศจึงดูสั้น ห้วน เรียกว่ายุคปัจจุบันนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย”
ผู้ชายไทยยังติดอยู่ในกรอบ?
“ผู้ชายไทยอาจไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ใต้ปิตาธิปไตยจนกว่าตัวเองจะรู้สึกว่าถูกผู้ชายที่เหนือกว่าหรือมีสถานะของความเป็นชายมากกว่ากดทับ ถึงจะตระหนักได้ แต่เขาก็ไม่มีประสบการณ์ของการถูกกดขี่มาก จนต้องออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเพศของเขาเอง เหมือนอย่างที่ผู้หญิงมีมาเป็นศตวรรษ เขาเลยไม่รู้วิธีว่าจะรวมตัวกันอย่างไร ตรงนี้จึงเป็นข้อด้อยของผู้ชาย และการที่ผู้ชายถูกปลูกฝังให้อดทนอดกลั้น พวกเขาจึงไม่แสดงออกในเรื่องนี้ว่าตกเป็นเหยื่อ เช่นถูกทำร้าย หรือถูกข่มขืน จะเป็นเสียงเงียบมากกว่าผู้หญิง เพราะคิดว่าการถูกทำเช่นนั้นคือการลดทอนศักดิ์ศรีของผู้ชาย จึงเป็นเหตุผลที่ผู้ชายไม่ค่อยกล้าออกมาเรียกร้อง และมองว่าคนเรียกร้องคือน่ารำคาญ”
ฝากข้อคิดถึงผู้ชาย ในฐานะที่เกิดเป็นผู้ชายมาก่อน แล้วรู้ข้างในผู้ชายดี?
“ไม่ค่อยชอบพูดแทนใคร (หัวเราะ) ในสังคมยังมีชุดความคิดหลากหลายที่สามารถนำมาใช้ได้อยู่นะ การอ่านหนังสือจึงยังจำเป็นอยู่ เพราะชุดความคิดเหล่านี้โตมาจากนักวิชาการ นักคิด นักเขียนในรั้วมหาลัย เมื่อขยายออกมาในโลกออนไลน์ จึงเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ให้ลองทำความเข้าใจโลกผ่านการอ่านสิ่งเหล่านี้ดู มันคือการเรียนรู้ การอ่านยังเป็นสิ่งที่สำคัญอยู่”
หลังจากจบการคุยกัน คำว่า “ปิตาธิปไตย” ในมุมมองของเราก็แตกต่างไปจากดั้งเดิมที่เข้าใจมาโดยตลอด มันอาจไม่ใช่แค่คำจำกัดความสำหรับเพศใดเพศหนึ่ง แต่คือตัวแทนที่สื่อถึงการถูกกรอบกำหนดและกดทับโดยผู้มีอำนาจที่อยากควบคุมผู้อ่อนแอกว่าเท่านั้น.
HUG MAGAZINE
แขกรับเชิญ
เรื่อง : มาศวดี ถนอมพงษ์พันธ์
ภาพ : อนุชา ศรีกรการ
เมื่อเพลงอกหัก บ่งบอกขั้นของความผิดหวัง : จิตวิทยาของเพลงอกหัก
เพลงใดจัดอยู่ในจิตวิทยาความผิดหวังขั้นไหนนั้น…