ปลดล็อกความเชื่อผิดๆ ของผู้หญิง : พญ.พันธนันท์ มัตตะธนาพันธ์
“ผู้หญิงไทยมักถูกสอนให้รักนวลสงวนตัว ห้ามเปิด ห้ามให้เห็น เกิดความอายกันเยอะ เลยไม่กล้าให้ตรวจ ซึ่งการตรวจภายในไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวหรือน่าอาย และก็ไม่ได้เจ็บอย่างที่โดนปลูกฝังกันมาตลอด มันคือการตรวจปกติ เข้าใจว่าอายหมอ ตัวหมอต้องทำงานตรงนี้ทุกวัน ดูแล้วคิดว่ามันคือร่างกายมนุษย์ทั่วไป ไม่รู้สึกอย่างอย่างอื่น จะสนใจแค่เรื่องของความผิดปกติที่เกิดขึ้นมากกว่าค่ะ”
พญ.พันธนันท์ มัตตะธนาพันธ์ สูตินารีแพทย์ประจำโรงพยาบาลศิครินทร์ เล่าถึงหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่พบเจอแทบทุกเมื่อเชื่อวัน ถึงโลกจะเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ต ข้อมูลมีมากมาย แต่ผู้คนก็ยังมีความเชื่อผิดๆ ฝังหัว วันนี้เราจะมาเปลี่ยนความเชื่อผิดๆ ให้เข้าใจถูกกัน
หน้าที่ของสูตินรีเวช
“สูตินรีเวชดูแลโรคเฉพาะผู้หญิงทั้งหมด แต่เกี่ยวกับอวัยวะสืบพันธุ์โดยเฉพาะ เช่น มดลูก รังไข่ ปีกมดลูก ช่องคลอด หรือแม้แต่ฮอร์โมนที่มาจากรังไข่เอง รวมทั้งการตั้งท้องด้วยค่ะ จะดูแลตั้งแต่การฝากท้องตลอดเก้าเดือน พอเด็กคลอดออกมา ก็อยู่ในการดูแลของหมอเด็ก ส่วนหมอสูติฯดูแลคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์กับหลังคลอดเท่านั้น แต่ถ้าเกี่ยวมะเร็งเต้านมจะเป็นหน้าที่ของหมอศัลยกรรม บางคนเข้าใจผิด คิดว่าเป็นอะไรเกี่ยวกับเต้านมก็มาหาหมอสูติฯ ส่วนของผู้ชายจะเป็นหมอศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ ดูแลเรื่องอวัยวะเพศชายโดยตรง”
ตีต้นก่อนไข้
“ประการแรกคือความกลัวการตรวจภายใน คิดว่าตรวจแล้วเจ็บ เลยไม่ตรวจจนกว่าจะเป็นโรค ประการที่สองคิดว่าเมื่อไม่มีเพศสัมพันธ์ ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจภายใน ส่วนประการที่สาม เมื่อเกิดอาการผิดปกติ ก็ไม่กล้ามาตรวจเพราะกลัวการตรวจ แล้วตัวเองยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ด้วย ที่จริงมีวิธีการตรวจอย่างอื่นที่ช่วยวินิจฉัยโรคได้ เช่น ตรวจอัลตร้าซาวนด์ ตรวจด้วยการคลำหน้าท้อง ถ้าหากว่าไม่ตรวจเลย ปล่อยให้อาการกำเริบก็จะรักษายากขึ้น บางครั้งพบอีกทีขั้นรุนแรงแล้ว
“เข้าใจว่าอายหมอ แต่หมอไม่ใส่ใจเรื่องสวย ไม่สวย ดูดี ดูไม่ดีเลย เคยถามเพื่อนผู้ชายที่เป็นหมอสูติฯ ว่าคิดอย่างไร เขาก็ตอบว่าไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะเราเรียนมาว่ามันคืออวัยวะอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่เราต้องรักษา หมอจึงไม่อาจมีอารมณ์ทางเพศมาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะของผู้หญิงหรือของผู้ชายก็ตาม”
ทำอย่างไรให้หายกลัว
“ต้องรณรงค์ว่าผู้หญิงอายุเกินยี่สิบห้าปีต้องตรวจภายใน ซึ่งไม่ได้น่ากลัว เหมือนการตรวจร่างกายอย่างหนึ่ง คนที่เคยมีเพศสัมพันธ์จะไม่เจ็บเลย ส่วนคนที่ยังไม่เคยก็จะมีวิธีการตรวจที่ทำให้ไม่เจ็บ มีอุปกรณ์ตัวเล็กใช้ตรวจ หรือในกรณีที่เด็กเล็ก เด็กอนุบาล ที่มีอาการป่วยจำเป็นต้องตรวจจริงๆ เราก็มีอุปกรณ์พิเศษสำหรับตรวจได้ บางคนกลัวมาตรวจแล้วเจอ หรือไม่เห็นเป็นอะไรก็เลยไม่มาตรวจ มาอีกทีคือเป็นเยอะแล้ว การตรวจแล้วเจอดีกว่าปล่อยให้อาการกำเริบจึงค่อยรักษาค่ะ”
ป่วยแบบไหนจึงไปพบแพทย์
“ทุกอาการที่เรารู้สึกว่ารบกวนชีวิตประจำวันควรมาหาหมอค่ะ อย่างผู้หญิงมีประจำเดือน การปวดประจำเดือนจะมีระดับขั้นของการปวด ปวดเบาๆ กินยาแล้วหาย แต่วันหนึ่งกินยาไม่หาย ไปทำงานไม่ได้ ต้องกินเพิ่มขึ้น บางคนตกขาว ปกติครั้งเดียวหาย ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นทุกเดือน อย่างนี้รบกวนชีวิตประจำวันละ ก็ต้องหาสาเหตุให้ได้ ไม่ต้องทนค่ะ ต้องพบแพทย์ละ เพราะน่าจะมีความผิดปกติบางอย่าง
“มีหลายโรคที่เกิดในคนไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ เช่น ถุงน้ำรังไข่ เด็กก็เป็นได้ ถ้าเราตรวจสุขภาพทั่วไป แล้วคลำเจอก้อน สงสัยว่าใช่โรคที่เกี่ยวกับสูตินรีเวชไหม ก็ควรจะอัลตร้าซาวนด์ ซึ่งเป็นการตรวจสูติฯ แบบหนึ่ง ถ้ายังกลัว ปัจจุบันหมอผู้หญิงเยอะ ก็สามารถแจ้งได้ว่าขอหมอผู้หญิง หรือแจ้งหมอว่าอยากตรวจ แต่ไม่กล้าตรวจภายในเพราะมีปัญหา หมอก็จะแนะนำวิธีการตรวจที่เหมาะสมให้ได้ค่ะ”
ควรตรวจก่อนหรือหลังมีประจำเดือน
“ถ้าเป็นการตรวจมะเร็งปากมดลูก ควรตรวจหลังจากมีประจำเดือนสักหนึ่งสัปดาห์ แต่ถ้าเกิดความผิดปกติตอนที่ประจำเดือนมาจริงๆ ก็สามารถตรวจภายในได้ค่ะ เพราะบางโรคจะแสดงอาการตอนมีประจำเดือน คนเรามักกังวลว่าสกปรกหรือเปล่า เลอะเทอะไหม อายหมอจัง ทั้งที่เป็นการตรวจภายในธรรมดา ตรวจได้ตลอด ไม่ว่าจะก่อนหรือหลัง หรือระหว่างมีประจำเดือนก็ตาม”
ช่วงอายุที่ควรตรวจ
“ควรเริ่มตรวจมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่อายุยี่สิบห้าปีขึ้นไป แต่ถ้ามีเพศสัมพันธ์ตอนอายุน้อย ก็ควรเริ่มตรวจเลย ถ้าตรวจต่อเนื่องทุกปีจนถึงอายุเจ็ดสิบปี แล้วไม่มีอาการผิดปกติ เราก็ตรวจปีเว้นปี หรือสามปีครั้งได้ เพราะบางทีในตัวอาจมีก้อนอยู่แต่แรก แล้วค่อยกลายมาเป็นสิ่งผิดปกติตอนอายุเยอะก็มีค่ะ”
มายาคติเรื่องทำหมัน
“ความเชื่อผิดๆ ที่หมอได้ยินมาบ่อยๆ คือ ทำหมันแล้วทำงานหนักไม่ได้ ทำหมันแล้วเซ็กซ์จัดกว่าเดิม ซึ่งไม่จริง เพราะการทำหมัน ถ้าในผู้หญิง คือการผูกท่อรังไข่ ซึ่งถ้าทำคลอดด้วยการผ่าตัด จะยิ่งทำง่าย เพราะหมอเห็นตำแหน่งในการผูกชัดเจน แค่ผูก ตัดออก ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนแต่อย่างใด การผูกท่อรังไข่ไม่ต่างกับการผ่าตัดไส้ติ่ง ส่วนการทำหมันชาย ผู้ชายจะกลัวว่าทำแล้วเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ก็ไม่จริงค่ะ วิธีทำไม่ต่างกันกับผู้หญิง คือผูกท่ออสุจิเท่านั้น ไม่ได้ทำให้ฮอร์โมนเปลี่ยน ทุกอย่างยังเหมือนเดิม แล้วทำง่ายกว่าผู้หญิงด้วย ส่วนผู้หญิงถ้าทำหลังคลอดเลยจะง่ายกว่า ดังนั้นสามีภรรยาควรคุยกันว่าใครอยากทำ การแก้หมันทำได้ค่ะ แต่อาจได้ผลไม่เต็มที่ ขึ้นกับวิธีผูกหมัน ถ้าผูกง่ายก็แก้ง่าย แต่ก็เสี่ยงหลุดง่ายเช่นกัน เพราะฉะนั้นถ้าอายุยังน้อยหมอจะไม่แนะให้ทำหมัน เปลี่ยนเป็นการฝังยาคุมแทน จนแน่ใจจริงว่าจะไม่มีลูกแล้วนะ ค่อยทำหมัน”
กันไว้ดีกว่าแก้
“ต้องยอมรับว่าโลกเปลี่ยนไปจากเดิมมาก เด็กมีเพศสัมพันธ์กันเร็วขึ้น คุณพ่อคุณแม่ต้องเปิดใจก่อนว่าเด็กเดี๋ยวนี้ตัดสินใจเร็วกว่ายุคพ่อแม่เยอะ ฉะนั้นต้องให้ความรู้ในด้านเพศศึกษาแก่ลูกเพิ่มขึ้น ว่าการมีเพศสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องคิดก่อนว่าถ้าหากเราพลาดไม่ป้องกันจะเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่ช่วยให้ไม่พลาดคือการคุมกำเนิด จะฝังหรือฉีดก็ได้ทั้งนั้น รัฐบาลแนะนำการฝังยาคุมให้คุณแม่วัยรุ่น เช่นอายุ 17-18 ตั้งท้อง ด้วยอายุควรอยู่ในวัยเรียนมากกว่า ในโรงพยาบาลรัฐ หลังคลอดแล้วจะฝังยาคุมให้เลย การฝังครั้งหนึ่งจะมีอายุใช้งาน 3-5 ปี ถึงตอนนั้นเขาก็เรียนจบแล้ว และมีความรับผิดชอบที่จะทำงานหรือเลี้ยงลูกเองได้
“ที่เจอมา ท้องในวัยเรียน คุณพ่อคุณแม่อยากให้ยุติการตั้งครรภ์ แต่ตัวเด็กเองบอกว่ารับผิดชอบได้ เขาอยากเก็บไว้ เราไม่รู้หรอกว่าน้องสามารถดูแลลูกตัวเองได้จริงไหม แต่ความเป็นพ่อแม่ มองว่าน้องยังเรียนอยู่ เขาก็อยากให้ยุติเพื่อที่เด็กจะมีอนาคตต่อไป ในกรณีนี้ ถ้าหากว่าคุณพ่อคุณแม่เปิดอกแนะนำการป้องกันก่อน ให้ความรู้เขาว่ามีเพศสัมพันธ์แบบไหนแล้วปลอดภัยทำให้ไม่เกิดโรค ไม่เกิดการตั้งครรภ์ในวัยเรียน เรื่องแบบนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะเราไม่สามารถทำอย่างเดิมได้ จึงต้องหาสิ่งที่ปลอดภัยที่สุด เหมาะสมและไม่ขัดขวางสังคมของเขามากนัก เพราะยิ่งขวาง เด็กก็จะยิ่งหาทางไปมากขึ้น แล้วถ้าในหมู่เพื่อนทำแบบนี้กันหมด ตัวเขาไม่ทำ ก็จะเกิดความแตกต่างจนเขาไม่อาจอยู่ในสังคมเพื่อนได้”
เปิด ปรับ เพื่อรับฟัง
“มีคุณพ่อพาลูกสาวมาให้รักษาเหมือนกันค่ะ อย่างประจำเดือนผิดปกติ หรือเป็นสิวเยอะ ก็ให้หมอช่วยดูหน่อยว่าต้องกินยาคุมไหม สิวถึงจะหาย (หัวเราะ) หลักการเลี้ยงดูคือ การคุยกัน การเปิดใจ ยุคนี้เปิดคอมฯ ค้นหาได้ทุกอย่าง แต่คุณพ่อต้องคัดกรองว่าสิ่งไหนจริง สิ่งไหนเหมาะสมสำหรับลูกสาว ต้องเปิดใจให้ลูกคุยกับเราได้ทุกเรื่อง พอมีอะไรผิดปกติ เขาจะนึกถึงเราก่อน กล้ามาพูดกับพ่อ แต่ถ้าพ่อเข้ากับลูกไม่ได้ คุยกันไม่เข้าใจ เขาก็ไปเข้าหากลุ่มเพื่อนแทน และด้วยความไม่รู้ของเด็กๆ พลอยทำให้ทุกสิ่งผิดไป สมมติลูกมาเล่าเรื่องให้ฟังว่า ‘พ่อ เพื่อนหนูมีแฟนแล้ว’ ถ้าพ่อบอกลูกว่า ‘อย่าไปคบเพื่อนคนนี้นะ เขาไม่ดี’ อาจทำให้ลูกต่อต้านเรา เปลี่ยนเป็นถามว่า ‘เหรอ เพื่อนมีแฟนแล้วหนูคิดยังไงละ’ ลองคุยจนให้เราล่วงรู้ความคิดของลูก จะได้วางแผนถูกต้อง เป็นความสัมพันธ์ในแบบที่ลูกอยากพูดคุยด้วย”
เปลี่ยนไปอย่าตกใจ
“สีไม่ได้เป็นคำตอบค่ะ เลือดเป็นสีแดงอยู่แล้ว แต่จะเปลี่ยนเป็นดำขึ้น หรือเป็นก้อนเลือด ขึ้นกับระยะเวลาที่เลือดค้างอยู่ในช่องคลอด เวลาเลือดโดนอากาศจะมีสีเข้มขึ้น ถ้าประจำเดือนมาแล้วไหลออกมาเลย ก็จะเห็นเป็นสีแดงสด แต่บางคนมาแล้วยังไม่ออก รวมกันเป็นก้อน ก็เป็นสีแดงเข้ม หรือมาน้อย พอมาน้อยแล้วค้างในช่องคลอดนาน เลยออกมาสีคล้ำเหมือนสีน้ำตาลอมดำ ก็ตกใจละ ที่ต้องดูคือเรื่องปริมาณและกลิ่นมากกว่าค่ะ ปริมาณปกติของประจำเดือนในหนึ่งรอบคือ 80 มิลลิลิตร บางคนอาจมีสามวัน ถ้าได้แปดสิบ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ถ้าเยอะขึ้น เช่นเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกหนึ่งชั่วโมง ต้องใส่ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ อันนี้คือสิ่งผิดปกติละ ถ้าเป็นแบบนี้ทุกเดือน อาจเป็นเนื้องอกในมดลูก ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่ทำให้เลือดออกเยอะก็ได้ ถ้ามาเยอะในวันสองวันแรกถือว่าไม่ผิดปกติ แต่ถ้าเป็นตลอดช่วงมีประจำเดือน เช่น มาเจ็ดวันก็เยอะทุกเจ็ดวันเลย แล้วมีอาการอื่นร่วม อ่อนเพลีย หน้ามืด ก็ควรต้องพบแพทย์ และประจำเดือนเกี่ยวกับระบบฮอร์โมนในร่างกาย ดังนั้นคนที่อายุน้อยจะมีปริมาณประจำเดือนเยอะกว่าคนที่อายุมาก อายุ 25 มาเจ็ดวัน อายุ 40 มาสามวัน ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติค่ะ”
น้องสาวสีคล้ำบอกโรคไหม
“หมอว่าเป็นเรื่องความสวยงามมากกว่า ถ้าเราไม่ได้มีโรคทางผิวหนังอย่างด่างขาวหรือเม็ดสีผิดปกตินะ การที่สีคล้ำเกิดจากฮอร์โมน จากสีผิวเดิมของตัวเอง เราจะไม่เคยเห็นนิโกรที่มีสีตรงนั้นขาว มันอยู่ที่เม็ดสีของเขา สาเหตุอีกอย่างคืออาจจะชอบใส่กางเกงรัดๆ เกิดการเสียดสีเยอะๆ หรือบางคนทำกิจกรรมขี่ม้า ขี่จักรยาน เสียดสีกับกางเกงที่ใส่ ก็คล้ำกว่าตรงอื่น ไม่เกี่ยวกับโรคอะไรทั้งสิ้น”
เป็นมะเร็งเพราะชะล่าใจ
“ปัจจุบันคนมีน้ำหนักตัวเยอะขึ้น ผู้หญิงที่น้ำหนัก BMI 25 ขึ้นไป จะมีปัญหาประจำเดือนมาผิดปกติ ทั้งไม่มา หรือ 5-6 เดือนมาที บางคนหนึ่งปีมาครั้ง ที่เคยเจอคือน้ำหนักเยอะ อายุแค่ยี่สิบหก ประจำเดือนไม่มาหนึ่งปี อยู่ดีๆ ก็มาเยอะมาก เลือดออกไม่หยุด ต้องขูดมดลูกไปตรวจ ผลปรากฎว่าเป็นมะเร็ง ซึ่งมะเร็งพวกนี้เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกผิดปกติ แล้วที่ผิดปกติก็เนื่องจากประจำเดือนไม่มานานๆ จนเยื่อบุหนาตัวขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ต้องรักษาด้วยการตัดมดลูก รังไข่ ไม่สามารถมีบุตรได้แล้ว คนอ้วนมักมีอาการแบบนี้ และจะคิดว่าสบายดีที่ประจำเดือนไม่มา เลยไม่หาหมอ แต่เขาคิดผิด ตรวจอีกทีอาจเป็นเยอะแล้วก็ได้ ส่วนคนผอมที่มีอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ ก็ควรตรวจ เพราะส่วนใหญ่ฮอร์โมนจะไม่ปกติ”
โรคที่เจอเยอะขึ้น
“มะเร็งค่ะ อาจเป็นเพราะเกิดเพศสัมพันธ์ในอายุที่น้อยลง หรือการมีคู่นอนหลายคน เสี่ยงต่อการติดเชื้อ การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ จนภูมิร่างกายต่ำลงก็ติดง่ายขึ้น เลยติดเชื้อ HPV ที่ทำให้เป็นมะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่ทำให้ผู้หญิงเสียชีวิตเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งเต้านม แล้วถ้าไม่ได้ตรวจร่างกายเลย เชื้อพวกนี้วันดีคืนดีก็ก่อมะเร็ง เดี๋ยวนี้อายุ 25 ก็เป็นมะเร็งแล้ว สืบพบสาเหตุว่าคุณมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อยๆ ก็จะแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันค่ะ ฉีดแล้วจะป้องกันได้เนิ่นๆ และลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็ง ปัจจุบันวัคซีนชนิดใหม่ครอบคลุมได้ถึงเก้าสายพันธุ์ เขาแนะนำให้ฉีดตั้งแต่อายุน้อยกว่ายี่สิบหกปี ถ้ายังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ จะมีประสิทธิภาพได้ถึง 99% ค่ะ
“ปัจจุบันสนับสนุนให้ผู้ชายฉีดด้วยเช่นกัน เพราะผู้ชายจะเป็นคนพาเชื้อ HPV มาให้ ตัวผู้ชายอาจไม่ได้ติดโรคแต่เป็นพาหะให้ผู้หญิง แล้วเราต้องนึกถึงกลุ่ม LGBTQ+ ด้วย ว่าเขาสามารถแพร่เชื้อ HPV ให้กันได้ ถึงจะไม่เป็นมะเร็งปากมดลูกแต่เป็นมะเร็งทวารหนักแทน ดังนั้นจึงแนะให้ฉีดในผู้ชาย ลดการติดเชื้อได้ด้วย”
คำฝากจากหมอ
“ย้ำอีกครั้งว่าตรวจภายในไม่น่ากลัวค่ะ ถ้าไม่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้วอยากตรวจ หมอก็สามารถเลือกอุปกรณ์ตัวเล็กให้ได้ หรือตรวจอัลตร้าซาวนด์แทน การตรวจหาเชื้อ HPV สามารถตรวจเบื้องต้นได้ ในกรณีที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรตรวจทุกปี และความเชื่อว่าไม่มีอาการไม่ตรวจ นั้นไม่จริงค่ะ บางอย่างเป็นแล้วแต่ไม่แสดงอาการก็มี ถ้าตรวจทุกปีก็ช่วยลดเรื่องโรคต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ หมออยากบอกว่าความเชื่อหลายอย่างนั้นไม่ถูกต้อง ยิ่งในโลกโซเชี่ยลด้วยแล้ว ไม่มีอะไรยืนยันว่าข้อมูลที่อ้างมาจากดร.คนนั้นคนนี้ ดร.คนที่ว่ามีตัวตนจริงไหม เขาเขียนจริงหรือเปล่า ถ้าเป็นวิธีการดูแลสุขภาพทั่วไป อิงตามหลักที่เราเรียนมาตั้งแต่เด็ก กินห้าหมู่ กินวิตามินให้ครบ การพักผ่อนที่เพียงพอ การขับถ่ายที่ดี ถ้าปฏิบัติตามเกณฑ์นี้แล้วก็ไม่ต้องหาอย่างอื่นมาช่วย เช่น มะนาวโซดา กินไปจะช่วยอะไรได้ ที่แน่ๆ คือโซดากัดกระเพาะ ทำให้เกิดแก๊สเพิ่มขึ้น มะนาวทำให้เกิดกรดอีก และอาจเกิดกรดไหลย้อนได้”
HUG Magazineคอลัมน์: แขกรับเชิญ เรื่อง: มาศวดี ถนอมพงษ์พันธ์ภาพ: อนุชา ศรีกรการ
การแต่งงานของเราเป็นแบบคลุมถุงชนรึเปล่า? : สำรวจวัฒนธรรมคลุมถุงชนอย่างเข้าใจง่าย
การแต่งงานของเราเป็นแบบคลุมถุงชนรึเปล่า (Is your marriage…