ทำไมจากเมียถึงกลายเป็นแม่

___________________________________________________________________________________________________________________________________________________________

 

“โอ้ย! เราก็อยู่ของเรา ทำไมมีเมียอยู่ดีๆ ถึงกลายเป็นแม่ได้(วะ)!”

 

เหตุที่สงสัยก็เพราะแต่เดิมนั้นภรรยาสาวช่างเอาอกเอาใจปรนนิบัติ มาบัดนี้กลับกลายเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการบ่นนู่นสั่งนี่ ราวกับแม่แท้ๆ ของเราก็มิปาน ผู้ชายอย่างเราเลยออกอาการมึนงงสับสนแยกไม่ถูกเป็นบางครั้ง แต่ที่จริงคำถามข้างต้นก็สามารถอธิบายได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์นะครับ 

เมื่อหลายล้านปีก่อน มนุษย์ก็เป็นลิงสายพันธุ์หนึ่งซึ่งมีนิสัยชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงทั้งตัวผู้ตัวเมียคล้ายกับชิมแปนซี เมื่อใดตัวเมียติดสัด เมื่อนั้นตัวผู้ทั้งฝูงก็แย่งกันปั่มปั๊มตัวเมีย หลังจากประมาณ 8 เดือน ชิมแปนซีสาวก็คลอดลูก และต้องเลี้ยงลูกตามลำพัง ส่วนพ่อนั้นนอกจากไม่สนใจแล้ว ยังไม่รู้ว่าเป็นใครอีกด้วย

แต่บรรพบุรุษของเรามีความฉลาดกว่าสายพันธุ์อื่นๆ เราเลยมีสมองที่ใหญ่กว่าลิงด้วยกัน มีหัวที่ใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดร่างกาย ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องคลอดลูกก่อนกำหนด เพื่อให้หัวมีขนาดที่จะผ่านช่องคลอดของแม่ได้ ลูกทารกของมนุษย์เลยค่อนข้างอ่อนแอเมื่อเทียบกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ใช้เวลาเป็นปีกว่าจะเดินได้และดูแลตัวเองเป็น แม่จึงเลี้ยงลูกคนเดียวแบบเดิมไม่ได้แล้ว พ่อจึงต้องช่วยเลี้ยงลูกอ่อนด้วย ไม่อย่างนั้นลูกอาจไม่รอด

 

 

นี่แหละครับ เป็นช่วงที่ความรักฟรุ้งฟริ้งมุ้งมิ้งหรือรักแบบเมียเกิดขึ้น ร่างกายใช้สารเคมีหลายตัวในการทำให้พ่อกับแม่รักกัน อยู่ด้วยกัน เพื่อให้พ่อช่วยหาอาหารมาเลี้ยงลูกและดูแลแม่ สารเคมีหลักๆ ได้แก่ dopamine (โดพามีน) nor-adrenaline (นอร์อดรีนาลีน) สารทั้งสองนี้ก่อให้เกิดความสุขแก่เราอย่างยิ่งยวด และพวกยาเสพติดทั้งหลายก็ทำให้สารดังกล่าวหลั่งมากกว่าปกติ

จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมช่วงแรกๆ ที่มีความรัก เราจึงเกิดอาการติดแฟนหรือติดเมียเกิดขึ้น (นักวิทยาศาสตร์เอาสมองคนที่เพิ่งมีความรักใหม่ๆ ไปสแกน ก็พบว่าแทบไม่ต่างจากคนติดยาเลย)

ช่วงเวลาดังกล่าวกินเวลาประมาณ 6 เดือน-2 ปี เป็นช่วงที่แม่และเด็กต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เมื่อพ้นช่วงนี้ฤทธิ์ของโดพามีนก็จะลดลง เนื่องจากสภาวะตกหลุมรักเป็นเวลานานๆ ไม่ส่งผลดีต่อการดำรงชีวิตเท่าไหร่ เพราะพ่อต้องใช้พลังงานอย่างมากในการตกหลุมรักและหาอาหารมาเลี้ยงดู

แต่ฮอร์โมน oxytocin (ออกซิโทซิน) ก็จะเข้ามามีบทบาทแทน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมามากที่สุดในช่วงที่แม่คลอดลูก ทำให้แม่มีความผูกพันกับลูก น้ำนมไหล จริงๆ แล้วฮอร์โมนตัวนี้มีผลให้สมองแม่เปลี่ยนไปเลยด้วยซ้ำ เพื่อให้รักลูกมากกกกกกกก (ไม่รู้จะใช้ ก ไก่ กี่ตัวดี) และฮอร์โมนตัวนี้มีอยู่ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ เช่นกันครับ หน้าที่ของมันคือทำให้แม่รักลูก ดูแลลูก

 

 

สำหรับคนนั้น การดูแลลูกแค่ 1-2 ปียังไม่พอ เพราะใครๆ ก็รู้ว่าเด็กสองปียังดูแลตัวเองไม่ได้ ธรรมชาติจึงต้องหาวิธีที่จะทำให้พ่ออยู่กับแม่นานขึ้น

เนื่องจากในกระบวนวิวัฒนาการนั้น ธรรมชาติถนัดการเอาของที่มีอยู่แล้วกลับมารีไซเคิลใช้ใหม่ มากกว่าสร้างอะไรสักอย่างขึ้นมาจากศูนย์ ธรรมชาติจึงได้นำเอาระบบความผูกพันที่มีอยู่แล้วของเรา ซึ่งก็คือระบบออกซิโทซินนี่แหละ มารีไซเคิลใช้อีกครั้งกับความรัก

 

‘ดังนั้นความรักในช่วงครึ่งหลังของเราจึงไม่หวือหวาซู่ซ่า แต่เป็นความอุ่นใจลึกๆ และให้ความรู้สึกของความเป็น “แม่-ลูก” มากกว่าความรักช่วงแรก’

และนี่ละครับ คือสาเหตุของปราฏการณ์ ทำไม “เมียถึงกลายเป็นแม่” ได้ในที่สุด

 

 

อ้างอิง

http://psycnet.apa.org/record/2009-12487-007

 

คอลัมน์ “จักรวาลแห่งความรัก ดาวเคราะห์แห่งความเหงา”
โดย นพ.ปีย์ เชษฐ์โชติศักดิ์
Hug magazine ปีที่ 11 ฉบับที่ 11