“จิตแพทย์ทั้งประเทศตอนนี้มีประมาณ 900 คน ต้องดูแลประชากร 70 ล้านคน”
นายแพทย์ธรณินทร์ กองสุข ผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์ สมเด็จเจ้าพระยา เอ่ยถึงจำนวนจิตแพทย์ในไทยซึ่งมีน้อยกว่าที่คิด รวมทั้งการผลิตบุคลากรจิตแพทย์จากสถาบันสมเด็จเจ้าพระยาได้เพียงแปดคนต่อปี ในยุคที่สังคมตระหนักถึงโรคทางจิต และปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น แต่จำนวนแพทย์เฉพาะทางกลับไม่เพียงพอ ซ้ำร้ายยังถูกความเชื่อผิดๆ ด้านจิตเวชครอบงำอีกมากมาย ความไม่รู้ย่อมไม่ผิด แต่เราควรแก้ไขเสียใหม่ ในวันนี้ฮักจะพาทุกคนมาทำความเข้าใจสภาพที่เป็นจริงซึ่งไม่ใช่แค่มายาคติอีกต่อไป
หลังรั้วโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยามีอะไร?
“เนื่องจากพระนครสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีผู้ป่วยจิตเวชเดินเร่ร่อนอยู่เยอะ และประชาชนเข้าใจแล้วว่าการป่วยทางจิตนั้นเป็นโรคอย่างหนึ่งมิใช่ถูกคุณไสย ญาติจึงพยายามพาผู้ป่วยจิตเวชไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลทันสมัย ซึ่งสมัยนั้นมีแห่งเดียวคือ โรงพยาบาลศิริราช แต่ภาพลักษณ์ผู้ป่วยจิตเวชในสายตาคนทั่วไปยังดูน่าหวาดหวั่น น่ารังเกียจ จึงลำบากที่จะรับไว้รักษาร่วมกับโรคอื่น รัชกาลที่ 5 จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2432 ให้ตั้งโรงพยาบาลคนเสียจริต สำหรับดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวช ครั้งแรกตั้งอยู่ที่บริเวณปากคลองสาน ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ติดกับโรงพยาบาลตากสินปัจจุบัน แต่เมื่อเปิดถึงปีที่ 21 จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่าพันคน เกิดความแออัดและทรุดโทรมอย่างมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายโรงพยาบาลไปยังสถานที่ใหม่ห่างจากที่เดิม 600 เมตร ข้ามไปอีกฝั่งของคลองสาน แล้วจัดให้มีบริการตามแบบโรงพยาบาลจิตเวชต่างประเทศ ซื้อที่ดินและบ้านของทายาทเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) เพื่อขยับขยายพื้นที่สำหรับสร้างเรือนพักผู้ป่วย เมื่อก่อนเป็นอาคารเรือนไม้ มุงหลังคาด้วยกระเบื้องสีแดง คนเลยเรียกว่า ‘โรงพยาบาลหลังคาแดง’ และมีหมอฝรั่งเป็นผู้อำนวยการรุ่นแรกๆ ต่อมาได้พัฒนาและปรับเปลี่ยน ยกระดับเป็นสถาบันเพราะเป็นแหล่งฝึกอบรมเหล่าจิตแพทย์และพยาบาลจิตเวชของไทย ซึ่งในปัจจุบันคือสถาบันจิตเวชศาสตร์ของสมเด็จเจ้าพระยา
“ในไทยยังมีสถานฝึกอบรมจิตแพทย์อีกหลายแห่ง เช่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราช จุฬาฯ รามาฯ ขอนแก่น สงขลา และเชียงใหม่ ฯลฯ การผลิตจิตแพทย์ไม่เหมือนกับหมอด้านอื่น จิตแพทย์ต้องมีอาจารย์ผู้อาวุโสด้านจิตแพทย์ ซึ่งถูกฝึกฝนให้พร้อมที่จะสอนจิตแพทย์รุ่นต่อไปได้ อาจารย์สองคนต่อแพทย์จิตเวชหนึ่งคน สาเหตุที่สอนกลุ่มใหญ่เพื่อผลิตจิตแพทย์จำนวนมากในแต่ละปีได้ เนื่องจากต้องวิเคราะห์และพัฒนาจิตใจของแพทย์ที่เรียนด้วย คอยสังเกตแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจิตแพทย์ที่จบไป มีคุณภาพจริง สามารถเป็นจิตแพทย์ได้ ไม่เป็นผู้ป่วยเสียเอง ทางเรามีอาจารย์ประมาณยี่สิบคน จึงฝึกได้แค่แปดคน ส่วนทางคณะแพทยศาสตร์รามาฯ ก็ผลิตได้ปีละเจ็ดคน ศิริราชก็ได้ประมาณเจ็ดถึงแปดคน แต่ยังดีที่มีพยาบาลจิตเวชจบไปอยู่ในจังหวัดต่างๆ เยอะ
“นอกจากนั้นเรายังเป็นพี่เลี้ยงทางด้านสุขภาพจิตให้แก่โรงพยาบาลศูนย์ฯ โรงพยาบาลทั่วไป ที่อยู่ในกทม. และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อให้พวกเขาสามารถจัดบริการสุขภาพจิตแก่คนในจังหวัดของเขาได้ รวมทั้งศึกษาวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของคนไทย ในต่างประเทศการพบจิตแพทย์เป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับประเทศไทยประชาชนยังมีอคติต่อเรื่องนี้ ดังนั้นหากประชาชนอยากรู้เรื่องสุขภาพจิตสามารถเข้าไปอ่านในเว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต หรือเว็บของโรงพยาบาลต่างๆ ว่าตรงกับอาการตัวเองหรือไม่ หรือโทร.ขอคำปรึกษาได้ที่ 1323 สายด่วนกรมสุขภาพจิต”
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนใกล้ตัวป่วย?
“ในเบื้องต้นให้สังเกตอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม หนึ่ง เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ สอง แตกต่างจากคนทั่วไปหรือไม่ ถ้ามีอย่างใดอย่างหนึ่งให้นึกสงสัยไว้ คนที่ป่วยโรคจิตมักไม่รู้ตัวว่าพฤติกรรมตนเองเปลี่ยนไป ครอบครัวจะต้องสังเกต อย่างเช่น พฤติกรรมดูแลสุขอนามัยของตนเอง เมื่อก่อนสะอาด ตอนนี้ไม่อาบน้ำ เนื้อตัวสกปรก สะสมข้าวของกองสุม เมื่อเปลี่ยนไปแล้ว จะเริ่มคิดแตกต่างจากคนอื่น คนทั่วไปไม่พูดคนเดียว แต่นี่พูดคนเดียว หูแว่วได้ยินคนมาพูดคุยด้วย เรียกว่าแตกต่างทั้งพฤติกรรมและความคิด ถ้ามีอาการแบบนี้ควรพาไปปรึกษาจิตแพทย์ได้เลย การรักษาโรคจิตเวชในปัจจุบันก้าวหน้ามาก ยาหลายตัวมีประสิทธิภาพดี แต่ยารักษาโรคจิตเวชส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณหนึ่งถึงสองอาทิตย์จึงจะเห็นผล เพราะสาเหตุของโรคจิตนั้นเกี่ยวกับความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ต้องรอให้ยาออกฤทธิ์กับสารสื่อประสาทด้วย แล้วถ้ากินยาอย่างต่อเนื่อง อาการไม่กำเริบในสองปี ก็สามารถหยุดยาได้ แต่ถ้ากำเริบอีกครั้งหนึ่งต้องกินยาต่อไปอีกห้าปี ถ้ามากกว่าสองครั้งขึ้นไปต้องกินยาตลอดชีวิต อาจลดปริมาณยาลงตามที่แพทย์เห็นสมควร”
ถ้ามีคนป่วยอาละวาดในชุมชน เราควรรับมืออย่างไร?
“แจ้งตำรวจให้พาไปโรงพยาบาลได้เลยครับ เพราะมีพรบ.สุขภาพจิตเพื่อคุ้มครองผู้ป่วยและสังคม ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข สามารถควบคุมผู้ป่วยที่ไม่รู้ตัวเอง หรือเป็นอันตรายแก่ชุมชน เข้ารับการบำบัดรักษาที่โรงพยาบาลได้ทันที พรบ.นี้ เจตนาคือการปกป้องผู้ป่วย ครอบครัวและชุมชน เคยมีมูลนิธิปอเต็กตึ๊งพาผู้ป่วยมาส่ง ไม่ได้ไปจับนะ แค่ชวนเขาขึ้นรถมา (ยิ้ม) แต่ตำรวจสามารถควบคุมได้เลย โดยมีญาติมาด้วย ถ้าเหตุเกิดในชนบทและเรียกตำรวจไม่ได้ ก็ให้ผู้ชายแข็งแรงช่วยกันพามา
“เมื่อถึงโรงพยาบาลจะมีจิตแพทย์มาดูแลสุขภาพจิต สอบถามประวัติจากญาติ คุยกับผู้ป่วยเท่าที่คุยได้ ประเมินในเบื้องต้นว่าเป็นโรคอะไร ถ้ารักษาแล้วสงบ ก็ให้กลับบ้านพร้อมยาไปกินต่อ แต่ถ้าไม่สงบ จำเป็นต้องควบคุมอาการ ก็ต้องนอนโรงพยาบาล มีพยาบาลจิตเวชพูดคุยด้วย แต่ถ้ายังมีอาการมาก ก็จะส่งไปโรงพยาบาลจิตเวชซึ่งสังกัดกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ”
ครอบครัวและชุมชนควรทำอย่างไรต่อจากนั้น?
“เมื่อคนป่วยกลับบ้านได้แล้ว ถ้ายังไม่หายสนิท ต้องร่วมมือกันครับ ทั้งครอบครัวและชุมชน ช่วยสังเกตอาการ ชาวบ้านเห็น ก็ต้องบอกครอบครัวเขาว่าอาการเขายังไม่ดีนะ ครอบครัวก็ต้องมาบอกแพทย์ว่าพอกลับไปบ้านแล้วเขามีพฤติกรรมแบบไหน ให้รู้ว่ายังมีอาการอยู่ แพทย์จะได้ปรับเปลี่ยนการรักษาหรือปรับตัวยา ส่วนใหญ่หลายครอบครัวมักมองว่าคนไข้เป็นแบบนี้คือปกติ เพราะเป็นมาหลายปีแล้ว เลยไม่ได้บอกแพทย์ แพทย์ก็เข้าใจว่ากลับไปบ้านเขาอยู่เหมือนคนปกติ เพราะแพทย์เจอผู้ป่วยแค่ 5-10 นาที ดูไม่หมดหรอก จึงเป็นหน้าที่ของญาติที่ต้องแจงรายละเอียดว่ามีอะไรที่แตกต่างจากคนทั่วไป เห็นแล้วต้องช่วยแก้ไข”
สังคมมองว่าให้อยู่ยาวในโรงพยาบาลจะดีกว่า จริงหรือไม่?
“เมื่อก่อนคนคิดว่ารักษาตัวในโรงพยาบาลระยะยาวจะดี แต่ในปัจจุบันเราพยายามให้คนไข้อยู่ในโรงพยาบาลสั้นที่สุด เพราะพบว่าการอยู่ยาวมีผลเสียมากกว่าครับ เนื่องจากสิ่งแวดล้อมและการดำเนินชีวิตในโรงพยาบาลไม่ใช่วิถีชีวิตปกติของคนทั่วไป การอยู่นานอาจทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการปรับตัวหลังออกจากโรงพยาบาลได้ บางรายเกิดความแปลกแยกกับครอบครัวและสังคม ดังนั้นการรักษาจึงมุ่งเน้นลดอาการรุนแรงฉุกเฉินให้ทุเลาลง แล้วค่อยนัดมาติดตามการรักษาแบบผู้ป่วยนอกแทน หรือคอยติดตามเยี่ยมรักษาที่บ้านและชุมชน โดยมีทีมสุขภาพจิตชุมชนออกไปดูแล
“อย่างเคสที่ต่างจังหวัด มีคนไข้โรคจิตเรื้อรัง เข้าออกโรงพยาบาลอยู่หลายปีด้วยอาการหูแว่ว ประสาทหลอน ก็รักษาอาการเบื้องต้น จนออกจากโรงพยาบาล ผ่านไปสี่หรือห้าเดือนก็กลับมีอาการใหม่ทั้งที่กินยาอยู่ พอสอบถามจึงพบว่า ผู้ป่วยไปดื่มเหล้าและใช้ยาเสพติด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกัญชา เป็นตัวกระตุ้นอาการประสาทหลอน แล้วพอป่วยนาน ญาติก็เบื่อ ทิ้งไป ทางทีมมองว่าให้ยาอย่างเดียวคงไม่พอ เลยไปเยี่ยมที่บ้าน และเจรจาอธิบายกับกำนันผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงคนในชุมชนว่า เป็นไปได้ไหมที่จะไม่ขายเหล้าให้ผู้ป่วยรายนี้ รวมทั้งทำความเข้าใจกับญาติว่าโรคนี้เกิดจากอะไร ถ้าป้องกันไม่ให้สารเสพติดมากระตุ้น และได้ยาสม่ำเสมอ จะควบคุมสารเคมีในสมองให้ทำงานอย่างปกติ
“เมื่อญาติเกิดความเข้าใจ คนไข้ก็ดีขึ้นในระดับหนึ่ง ทางทีมมองต่อว่าเขามีศักยภาพอะไรบ้าง เพราะพอไม่ได้ทำงานก็เครียด เครียดก็กินเหล้า อาการก็กลับกำเริบ พบว่าเคยมีอาชีพก่อสร้าง ก็ให้ไปฝึกฝนจนกลายเป็นช่างปูนฝีมือดี เมื่อมีอาชีพ มีเงินมีทอง ความรู้สึกทุกข์ใจก็ลดลง แล้วเข้าได้กับชุมชนอีกด้วย อาการก็ดีขึ้นตามลำดับ การดูแลผู้ป่วยจึงไม่ได้แค่กินยาหรือฉีดยาอย่างเดียว ต้องให้ครอบครัวหรือชุมชนมาช่วยด้วย ดังนั้นการอยู่โรงพยาบาลนานๆ จึงไม่ใช่คำตอบครับ”
เมื่อบ้านไม่ได้เซฟโซน การส่งเสริมป้องกันไม่เพียงพอ ทางแก้จึงต้องมี?
“บางปัญหาเมื่อแก้ด้วยครอบครัวไม่ได้ ก็ต้องเป็นชุมชนเข้ามาช่วย ร่วมด้วยช่วยกัน เช่น ปัญหาสุขภาพจิตในเด็ก สร้างสถานที่สำหรับเด็ก มีสนามเด็กเล่น มีการคัดกรองที่ปลอดภัยให้เด็กมาอยู่ตรงนี้ มี Wi-Fi ให้เด็กสามารถค้นหาความรู้หรือเรียนออนไลน์ได้ ขอบริจาคคอมพิวเตอร์มาแบ่งปันกันใช้ ในต่างจังหวัดนั้นเรื่องชุมชนช่วยเหลือกันไม่ค่อยเป็นปัญหา เพราะชุมชนเข้มแข็ง แต่สังคมเมืองต่างกัน ยิ่งเป็นชุมชนแออัดด้วยแล้ว จะมีปัญหาหลายอย่าง เช่น ปัญหาทางเพศ ยาเสพติด หรือปัญหาอื่นๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ภาครัฐจะต้องเข้าไปช่วยเหลืออย่างจริงจัง”
โรคจิตเวชเกิดจากอะไร?
“โรคจิตเวชไม่ได้เกิดขึ้นง่าย มีปัจจัยหลายอย่างรวมกัน เขาถึงป่วยครับ บางโรคเกิดจากกรรมพันธุ์ แต่การป่วยโรคจิตเวชส่วนใหญ่เกิดจากสามปัจจัยหลัก ได้แก่ ปัจจัยด้านชีววิทยา เช่น พันธุกรรมหรือสารเสพติด ปัจจัยด้านจิตวิทยา เช่น มีความเครียดรุนแรงหรือเรื้อรัง และสุดท้ายปัจจัยการบีบคั้นจากสังคม สามสิ่งนี้ต้องประจวบกัน ถึงจะเกิดการป่วยโรคจิตเวชขึ้น
“โรคจิตเวชเป็นโรคอย่างหนึ่ง หากเปรียบเทียบกับโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคเรื้อรังต้องกินยาควบคุมตลอด และต้องปรับพฤติกรรม ควบคุมอาหาร ผู้ป่วยจิตเวชก็เช่นเดียวกัน เพียงแค่ไม่ได้แสดงอาการอย่างน้ำตาลต่ำ หรือความดันโลหิตสูง แต่มีอาการทางสมอง แสดงความผิดปกติออกมาทางความคิด และพฤติกรรมแทน ยาที่กินสำหรับโรคจิตเวชบางโรค เช่น โรคซึมเศร้า ก็กินแค่วันละเม็ด หรือบางโรคก็ไม่จำเป็นต้องกินยา สามารถรักษาด้วยการบำบัดทางจิตใจ ยาทางจิตเวชจะช่วยปรับสารเคมีในสมอง แต่บุคลิกนิสัยที่มีปัญหายาช่วยไม่ได้ ต้องใช้จิตบำบัด”
รักษาด้วยไฟฟ้าอันตรายจริงไหม?
“การรักษาด้วยไฟฟ้ามีมานานแล้วครับ มีความปลอดภัยอย่างมาก ปัจจุบันจะดมยาสลบก่อนรักษาด้วยไฟฟ้า และใช้กระแสไฟฟ้าไม่เยอะ ให้ไฟฟ้ากระแสต่ำเข้าไปในสมอง เพื่อปรับสารสื่อประสาทโดยตรง หลักสำคัญต้องทำให้เกิดอาการชักจึงจะได้ผล ทำเฉพาะรายที่มีอาการรุนแรงมาก และเฉพาะกรณีจำเป็น เช่นไม่ทานยา หรือมีอาการดื้อยา การรักษาด้วยไฟฟ้าจะได้ผลเร็ว เพราะถ้าปล่อยไว้นานจะยิ่งส่งผลเสียต่อชีวิตเขา จะกระตุ้นประมาณ 6 ครั้งถึง 12 ครั้งแล้วแต่โรค แล้วก็ให้ยากิน ยาฉีดต่อไป”
มายาคติที่ผิดพลาดของสังคมไทย?
“คนทั่วไปติดภาพว่าคนไข้จิตเวชชอบทำร้ายคนอื่น ผมรักษาคนไข้โรคจิตเวชมามาก จึงได้ทำความเข้าใจว่าทำไมผู้ป่วยทำร้ายคน ส่วนใหญ่เกิดจากความหลงผิดหวาดระแวงซึ่งเป็นอาการโรคจิตที่เขาเป็น บางรายระแวงว่าจะมีคนทำร้าย เลยชิงทำร้ายก่อน แต่ความหลงผิดนี้เมื่อได้ยารักษาอาการก็จะหายไป ถ้าเขากินยาสม่ำเสมอ ความรุนแรงดังกล่าวก็ไม่เกิดขึ้น
“ที่จริงผู้ป่วยโรคจิตกลุ่มที่อาการหนักมีอยู่ประมาณหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของประชากรทั่วไป คนร้อยคนมีอยู่หนึ่งคนที่จะเป็นโรคจิต ในอดีตยายังไม่ดีพอและมีไม่กี่ตัว ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง แต่ปัจจุบันยามีหลากหลายมากขึ้น บางชนิดฉีดเข็มหนึ่งอยู่ได้เป็นเดือน และรักษาด้วยไฟฟ้าหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าก็มี การรักษาจึงได้ผลมากขึ้น คนไข้ออกไปก็ทำงานอยู่ในสังคมได้
“ในปัจจุบันคนไข้จิตเวชกลุ่มอื่นๆ เริ่มมีมากขึ้น เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคเครียดจากปัญหาต่างๆ และมากกว่านั้นคือโรคจิตเวชอันเกิดจากยาเสพติด ที่จริงสถิติความรุนแรงอันเกิดจากผู้ป่วยจิตเวชที่ได้รับการรักษากับคนทั่วไปแทบไม่ต่างกัน แต่เมื่อไหร่ที่คนไข้จิตเวชทำร้ายคนอื่นก็จะเป็นข่าวมากกว่า”
เมื่อผู้ใหญ่เป็นโรคทางจิต แต่ไม่อยากยอมรับ?
“ผมอยากให้คนไทยทุกเพศทุกวัยคิดว่ากายกับจิตมันไปด้วยกัน เมื่อกายป่วยได้ จิตก็ป่วยได้เหมือนกัน ไม่อยากเจอหน้าหมอ ก็โทร.1323 หรือสายด่วนสุขภาพจิตต่างๆ ถ้าโทร.แล้วยังไม่ดีขึ้น หรือเขาแนะนำว่าจำเป็นต้องมาพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ อย่าลังเลที่จะมาพบจิตแพทย์ ช่องทางพบจิตแพทย์มีเยอะมาก ถ้าเข้าโรงพยาบาลจิตเวชแล้วรู้สึกว่าเป็นตราบาป รับไม่ได้ ก็ไปคลีนิกก่อนหรือในมหาวิทยาลัยแผนกจิตเวชก็ได้ อย่าลังเลครับ”
กรมสุขภาพจิตกับสังคมไทยในปัจจุบัน?
“ที่ผ่านมากรมสุขภาพจิตจะคอยสอดส่องติดตามสังคมสม่ำเสมอ และคาดคะเนว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต เช่น ช่วงโควิด-19 เราคิดว่าโรคซึมเศร้าจะเยอะขึ้นแน่ เพราะการพบปะลดลง รู้สึกโดดเดี่ยว ยิ่งเหงา และเชื้อไวรัสทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย ซึ่งสามารถไปกระตุ้นสารสื่อประสาทจนเกิดซึมเศร้าได้ด้วย ยกตัวอย่างตอนเป็นไข้หวัดใหญ่ เราจะรู้สึกซึมเศร้าเหงาหงอย ไม่อยากทำอะไร อันนี้ก็คล้ายกันครับ ยังมองได้อีกว่า การสูญเสียหน้าที่การงาน ปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้เกิดซึมเศร้ามากขึ้น อาจมีการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นได้ เราจึงเตรียมทีมช่วยเหลือเอาไว้
“ด้านการดูแลผู้ป่วยก็พัฒนาขึ้น มีการบำบัดในชุมชน ดูแลที่บ้าน ยิ่งในตอนนี้ เรานำเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่เข้ามาช่วย มี telemedicine ดูแลรักษาผ่าน video conference เมื่อคนไข้รักษาตัวอยู่บ้าน เราก็จัดส่งยาทางไปรษณีย์ให้ ในส่วนรักษาด้านจิตบำบัด สามารถทำผ่าน video conference ได้โดยมีทั้งจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ณ ตอนนี้โรงพยาบาลจิตเวชทุกแห่งในประเทศจะเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ทันสมัย จัดคิวออนไลน์ บำบัดทางไอที ตรวจรักษาผ่าน telemedicine มีการใช้อินเทอร์เน็ตเข้ามาช่วยมากขึ้น อย่างสถาบันสมเด็จเจ้าพระยา เนื่องจากอยู่ในเขตเมืองพื้นที่น้อย เลยกำลังสร้างตึกสูงแทน วางแผนใส่ความทันสมัย เพื่อให้คนไข้ไม่ต้องนั่งรอหน้าห้องตรวจ สามารถรอที่สวนหย่อม มีหน้าจอแจ้งว่าถึงหมายเลขที่เท่าไร ตรวจที่ห้องไหน เตรียมปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น โรงพยาบาลจิตเวชทุกแห่งในประเทศไทยที่สังกัดกรมสุขภาพจิต ก็กำลังปรับเปลี่ยนตั้งแต่ประตูรั้ว จนถึงตัวอาคาร เพื่อความสบายใจของทุกคนที่เข้ามา (ยิ้ม)”
เราจะผ่านวิกฤติความทุกข์ตอนนี้ได้อย่างไร?
“การที่จะรู้สึกดีขึ้นได้ในภาวะวิกฤติแบบนี้ อย่างแรกคือต้องยอมรับว่ามันเป็นทุกข์ทั้งแผ่นดินที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จากนั้นให้มองว่าทุกวิกฤติย่อมมีข้อดีอยู่ ลองหาดูว่ามีอะไรบ้าง และต่อมาคือยอมรับด้านลบที่เกิดขึ้นว่ามีผลกระทบเช่นไร แล้วหาทางแก้ไขให้เต็มที่ สุดท้ายคืออย่าอยู่เฉยๆ ครับ หาช่องทางทำมาหากิน อยู่ให้รอด เมื่อรู้แล้วก็ค่อยทำไป มันจะผ่านไปได้”
ความเข้าใจผิดมากมาย รวมทั้งภาพจากสื่อต่างๆ ในสังคมไทยที่ครอบงำกันมานาน ไม่ว่าจากในหนัง ละคร ฯลฯ ในวันนี้ได้ถูกคลายความสงสัยไปมาก เราจึงหวังว่าจะทำลายมายาคตินี้ลงได้ และให้คนไทยสามารถอยู่ร่วมกันได้ เมื่อโรคจิตเวชนี้ไม่ใช่โรคอันตรายถ้าเพียงคุณเข้าใจพวกเขาอย่างแท้จริง
HUG MAGAZINE
มาศวดี ถนอมพงษ์พันธ์
อนุชา ศรีกรการ
สถานที่รับการรักษาจิตเวชในประเทศไทย
ในต่างจังหวัด รพ.ประจำจังหวัดทุกแห่ง มีแผนกจิตเวช มีจิตแพทย์ มีพยาบาลจิตเวช และนักจิตวิทยาคลินิก เข้าไปดูรายละเอียดในเว็บไซต์ของแต่ละรพ. หรือโทร.สอบถามที่แผนกประชาสัมพันธ์ของรพ. อีกทางเลือกหนึ่ง สามารถเข้ารับการตรวจรักษาที่แผนกจิตเวช คณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคนั้น เช่น ภาคเหนือมี ม.เชียงใหม่ ม.พะเยา ม.นเรศวร พิษณุโลก ภาคอีสานมี ม.ขอนแก่น ภาคใต้มี ม.สงขลา ใน กทม. และปริมณฑล สามารถเข้ารับการตรวจรักษาได้ที่แผนกจิตเวชของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ และอีกทางเลือกหนึ่งคือ แผนกจิตเวชของรพ.สังกัดกรุงเทพฯ เช่น รพ.วชิระ รพ.เจริญกรุง รพ.มเหสักข์ รพ.กลาง รพ.จิตเวชที่สังกัดกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข มีสถานบริการสำหรับผู้ใหญ่ 14 แห่ง และสำหรับเด็กและวัยรุ่น 6 แห่ง คลินิกจิตเวชในรพ.เอกชน และคลินิกจิตเวชของจิตแพทย์ที่เปิดส่วนตัว ทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด รพ.จิตเวชเอกชน ณ ตอนนี้มีแห่งเดียวในประเทศไทย คือ รพ.มนารมย์
การแต่งงานของเราเป็นแบบคลุมถุงชนรึเปล่า? : สำรวจวัฒนธรรมคลุมถุงชนอย่างเข้าใจง่าย
การแต่งงานของเราเป็นแบบคลุมถุงชนรึเปล่า (Is your marriage…