ภัยคุกคามทางเพศเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศวัย ทุกสถานที่ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการลวนลามทางสายตา วาจา แตะเนื้อต้องตัว ฯลฯ แต่คนส่วนใหญ่ในสังคมกลับมองว่าเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย ที่สร้างความน่ารำคาญและอึดอัดใจเท่านั้น เหนือสิ่งอื่นใดหากมองอีกมุมหนึ่งจะเข้าใจว่าภัยเหล่านี้แสนใกล้ตัว และอาจเป็นจุดเชื่อมโยงไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศและข่มขืนก็เป็นได้.

 

ฮัก จึงชวนหาทางลดปัญหาในประเด็นนี้กับหนึ่งในคณะทำงานเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ สมาคมเพศวิถีศึกษา

 

เมืองปลอดภัยไร้ภัยคุกคาม

          เครือข่ายรณรงค์เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง นำโดยองค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ร่วมกับแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และเครือข่ายสลัมสี่ภาค จัดตั้งขึ้นเพื่อสื่อสารและรณรงค์ยุติการคุกคามทางเพศในที่สาธารณะ เป็นส่วนหนึ่งของ Safe Cities for Women Campaign ทั่วโลก ที่เน้นการทำงานในเมืองใหญ่ เริ่มจากกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองที่มีความเสี่ยงต่อภัยคุกคามทางเพศสูงที่สุดในประเทศไทย เครือข่ายฯ มองว่า เมืองเป็นที่อยู่ของทุกๆ คน เราทุกคนมีสิทธิ์อยู่อาศัยในเมืองที่ปลอดภัย (Rights to the City) เดินทางและใช้ชีวิตโดยปราศจากความหวาดกลัว หรือความรุนแรงบนท้องถนนหรือขนส่งสาธารณะ และสามารถออกแบบเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทางสังคมเมืองให้ตอบสนองต่อความต้องการของตนเอง ที่ผ่านมาได้จัดตั้งแคมเปญ “ถึงเวลาเผือก” และ “How to เผือก” เพื่อให้สังคมตระหนักถึงปัญหาการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นบนระบบขนส่งสาธารณะ เชิญชวนให้สังคมไม่นิ่งเฉย พร้อมเข้าไปช่วยเหลือเมื่อเห็นผู้โดยสารคนอื่นกำลังถูกคุกคาม และช่วยกันแชร์วิธีเพื่อหยุดภัยคุกคามนี้ อีกทั้งยังคงเดินหน้ารณรงค์ช่วยลดปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อเมืองที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

          “ตั้งแต่เริ่มทำงานนี้เราบอกเสมอว่า ผู้ถูกคุกคามต้องส่งเสียง อย่ายอม การจะให้ผู้ถูกกระทำลุกขึ้นมาส่งเสียงฝ่ายเดียวไม่เพียงพอ คนรอบข้างมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือ ทีมงานสำรวจผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล กว่า 1,600 คนจาก 13 ประเภทขนส่ง ว่าเคยเจอเหตุการณ์คุกคามทางเพศไหม หากนับทั้งเพศหญิง ชาย คนข้ามเพศ ประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ เคยเจอเหตุการณ์ ซึ่งเท่ากับว่ามากกว่าหนึ่งในสามของผู้โดยสารทั้งหมด แต่หากนับเฉพาะผู้หญิง ผลที่ได้คือถูกคุกคามมากกว่าเพศอื่นๆ 45 เปอร์เซ็นต์เคยถูกคุกคามหรือลวนลาม ในผู้หญิงจำนวน 100 คนถูกคุกคาม 45 คน จึงถามต่อว่าเป็นเหตุการณ์วัยเด็ก หรือเพิ่งเกิดเหตุการณ์ขึ้น ผล 52 เปอร์เซ็นต์บอกว่าเคยเจอเหตุการณ์ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา 

          “ส่วนใหญ่ผู้ประสบเหตุจะช็อคจนทำอะไรไม่ถูก ไม่กล้าส่งเสียงโวยวาย เพราะฉะนั้นคนรอบข้างจึงมีบทบาทมาก นำมาสู่แคมเปญ ‘ถึงเวลาเผือก’ ชวนให้ผู้เห็นเหตุการณ์เข้าช่วยเหลือเหยื่อได้ เพราะผู้ที่ถูกคุกคามก็ต้องการความช่วยเหลือ ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ‘เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง’ เป็นช่องทางการสื่อสารหลักที่ให้ความรู้ว่าหากคุณเจอเหตุการณ์ เช่น การถูกเนื้อต้องตัวที่ชัดเจน หลายคนอาจไม่ค่อยสงสัยว่าคือการคุกคามหรือไม่ แต่หากเป็นรูปแบบของการใช้สายตา คำพูดลวนลาม หรือใช้กล้องแอบถ่ายโดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอม นั่นคือการคุกคามทางเพศอีกรูปแบบหนึ่ง และเมื่อเห็นคนถูกคุกคามจะช่วยเหลืออย่างไร”

 

สิ่งที่ต้องทำเมื่อถูกคุกคาม

          “สิ่งแรกคือต้องแสดงออกให้ผู้ก่อเหตุรู้ว่าเรารู้ตัวและไม่พอใจ ต้องใช้ศิลปะในการสื่อสาร ใช้สีหน้า ท่าทาง แววตา หากเป็นไปได้ให้ขยับตัวออกห่าง แต่ถ้าเบียดเสียดมากจนไม่แน่ใจ เราต้องสังเกต เพราะย่อมมีสัญญาณบางอย่างที่ทำให้รู้ว่านี่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ หากแน่ใจว่านี่คือการคุกคามก็ให้พูดกับผู้กระทำ เช่น ‘คุณขยับออกไปหน่อยได้ไหมคะ’ หรือบางรายที่ถูกจับสะโพก ก็ต้องพูดทันทีว่า ‘เอามือออกไปเดี๋ยวนี้’ ต้องพูดด้วยเสียงดัง ฟังชัด ให้คนรอบข้างรับรู้และเป็นแนวร่วม ส่วนใหญ่ผู้กระทำผิดบนขนส่งสาธารณะมีแรงจูงใจสำคัญ คือทำแล้วไม่มีใครโวยวาย คนรอบข้างอาจไม่รู้ว่าเกิดเหตุขึ้น หรือสงสัยแต่ไม่กล้ายุ่ง ผู้ก่อเหตุจึงได้ใจแล้วทำซ้ำๆ แต่เมื่อไหร่ที่มีคนกล้าโวย ส่วนใหญ่ผลที่เกิดขึ้นคือสามารถหยุดยั้งเหตุการณ์ได้ จากการสอบถามพนักงานเก็บค่าโดยสารทราบว่า ถ้ามีใครคนหนึ่งโวยขึ้นมา ผู้ก่อเหตุจะรีบลงจากรถทันที แต่ถ้ายังไม่สามารถหยุดเหตุการณ์นั้นได้ ก็ต้องขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างหรือพนักงานประจำรถ คือส่งสัญญาณให้คนอื่นรู้ว่ากำลังมีเหตุบางอย่างเกิดขึ้นกับเรา

          “ส่วนคนรอบข้างสามารถช่วยเหลือผู้ถูกคุกคามได้หลายแบบ ข้อแรกให้เราทำทีเข้าไปด้วยความแนบเนียน ให้มุ่งสื่อสารกับตัวผู้ถูกคุกคาม เช่น ถามผู้ถูกคุกคามว่าตอนนี้กี่โมงแล้ว หรืออีกกี่ป้ายจะถึงสยาม พยายามชวนคุยเรื่องอื่น แล้วค่อยถามเขาว่า ‘คุณโอเคไหม’ ‘ขยับมาทางนี้อีกหน่อยไหม’ เป็นคำถามที่ส่งสัญญาณว่าเรารับรู้ว่าเขากำลังเจอกับการถูกคุกคามโดยที่ยังไม่ต้องพูดกันตรงๆ คนที่ถูกคุกคามก็จะรู้ว่ามีคนพร้อมเข้ามาช่วย เขาจะมั่นใจในการแก้ไขสถานการณ์ตอนนั้น ขณะเดียวกัน ผู้ก่อเหตุก็ได้ยินและรับรู้ว่ามีคนเห็นหรือพยายามเข้ามาช่วยเหยื่อ ถือเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยหยุดเหตุการณ์ได้ในระดับหนึ่ง

           “กรณีที่เราเคยได้ยิน มีผู้ก่อเหตุสำเร็จความใคร่กับเนื้อตัวร่างกายของผู้อื่น ซึ่งบางครั้งผู้ถูกกระทำไม่รู้ตัวและคิดว่าคือการเบียดเสียดปกติ หรือสงสัยแต่ไม่กล้า ผู้เห็นเหตุการณ์อาจเข้าไปพูดกับผู้กระทำโดยตรง แต่ต้องผ่านการประเมินสถานการณ์ว่าเราจัดการได้ โดยไม่เป็นอันตรายกับตัวเองและคนรอบข้าง เช่น พูดว่า ‘คุณทำอะไร’ หรือ ‘ขยับห่างจากน้องเขาหน่อย อย่าไปเบียดเขา’ พูดเสียงดังฟังชัดให้คนอื่นๆ ได้ยินว่าเกิดเหตุอะไรขึ้น เป็นวิธีสร้างความอับอายให้แก่ผู้กระทำผิด ขอเน้นว่าต้องพูดถึงพฤติกรรมให้ชัดเจน อย่าพูดแบบเหมารวม เช่น พูดว่า ‘ไอ้โรคจิต’ เพราะคนรอบข้างจะไม่รู้ว่าเกิดเหตุอะไรขึ้น”

 

ข้อกฎหมายที่ต้องรู้

          นอกจากการระมัดระวังตัวขณะเดินทาง การรู้ข้อกฎหมายนับเป็นอาวุธอีกอย่างหนึ่งในกรณีที่คุณหรือคนรอบข้างประสบเหตุภัยคุกคามทางเพศ 

          “เมื่อก่อนผู้ถูกคุกคามทางเพศไม่ค่อยกล้าพูดถึงประเด็นนี้ ปัจจุบันมีคนกล้าพูดถึงมากขึ้น เพราะมีช่องทางโซเชียลมีเดียด้วย มีลูกเพจเข้ามาแชร์ประสบการณ์ แสดงให้เห็นว่าสามารถพูดถึงปัญหานี้ได้ ผู้ถูกคุกคามไม่ต้องอาย เพราะเมื่อเทียบกับเรื่องมิจฉาชีพอื่นๆ เราจะไปแจ้งความและบอกคนรอบข้างทันที แต่เรื่องคุกคามทางเพศกลับมีคนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอับอาย หากมีพื้นที่ในการพูดคุยผ่านสื่อหลายแขนง หรือรับรู้ว่ามีกลุ่มคนที่กำลังพยายามทำงานเพื่อหยุดยั้งปัญหาเหล่านี้ อย่างน้อยก็ให้เห็นว่าจากเดิมที่ไม่เคยมีพื้นที่ในการพูดถึง ก็พูดได้ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญคือเราอยากส่งเสียงถึงผู้ก่อเหตุว่าที่ผ่านมาคุณเคยทำได้และไม่มีใครโวยวาย ต่อไปนี้มีคนจ้องจับผิดมากขึ้นแล้ว

          “ประเด็นหนึ่งที่คนในสังคมยังไม่ทราบมากนัก ประเทศไทยมีกฎหมายสำหรับเอาผิดเรื่องการคุกคามทางเพศ เดิมทีมีมาตรา 397 ของประมวลกฎหมายอาญา ความว่า หากใครทำให้เราเดือดร้อนรำคาญ หรือเราถูกข่มเหง คุกคาม จะมีโทษปรับ แต่ต่อมามีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรานี้ว่า หากกระทำการนั้นในที่ธารกำนัลหรือมีลักษณะส่อว่าจะเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ เพิ่มโทษทั้งจำทั้งปรับ จึงเป็นช่องทางหนึ่งเมื่อเราหรือคนรู้จักเจอเหตุการณ์และเก็บหลักฐานไปแจ้งความ สามารถอ้างตามมาตรา 397 ประมวลกฎหมายอาญา เอาผิดเรื่องการคุกคามทางเพศได้

          “ในฐานะทีมเผือก ถ้ามีคนเข้าไปแทรกแซงการก่อเหตุคุกคามหลังจากนั้น สิ่งที่ทำได้คือถ่ายคลิปวิดีโอไว้ และพูดระบุวันที่ สถานที่เกิดเหตุ เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปให้มอบคลิปแก่ผู้เสียหายในกรณีที่เขาต้องการแจ้งความ แต่แนะนำว่าอย่านำไปเผยแพร่เองเพราะอาจจะผิดพรบ.คอมพิวเตอร์ ให้ผู้เสียหายตัดสินใจเองว่าจะแจ้งความหรือไม่”

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
  • ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำในที่สาธารณสถานหรือต่อหน้าธารกำนัลหรือเป็นการกระทำอันมีลักษณะส่อไปในทางที่จะล่วงเกินทางเพศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสอง เป็นการกระทำโดยอาศัยเหตุที่ผู้กระทำมีอำนาจเหนือผู้ถูกกระทำอันเนื่องจากความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา นายจ้าง หรือผู้มีอำนาจเหนือประการอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

                      

อนาคตการลดภัยบนขนส่งสาธารณะ

          “ยังคงต้องทำเรื่องภัยคุกคามทางเพศบนขนส่งสาธารณะต่อ เพราะเรื่องนี้ครอบคลุมกว้างมาก ในแง่ของประเภทขนส่ง ผู้ใช้บริการ หน่วยงานที่รับผิดชอบ เราประสานกับหลายหน่วยงาน หนึ่งในหน่วยงานที่ตอบรับคือ บริษัทขนส่ง จำกัด หรือ บขส. ซึ่งดูแลรถทัวร์ 400 กว่าคัน ยินดีให้ทีมงานเราเข้าไปอบรมพนักงานขับรถ พนักงานต้อนรับ ผลิตสื่อรณรงค์เพื่อสื่อสารกับผู้โดยสาร นอกจากนี้ บขส. ยังดูแลรถร่วมเอกชนอีกหลายพันคัน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่น่าจะขยายการทำงานไปให้ทั่วถึง อีกส่วนหนึ่งคือตอนนี้มีการหารือกับกรมเจ้าท่า เรื่องเรือด่วนเจ้าพระยากับเรือคลองแสนแสบที่พนักงานเคยรายงานว่ามีการคุกคามขณะโดยสารทางเรือ จึงอยากให้มีการจัดอบรมให้แก่พนักงานประจำเรือด้วย

          “ในระยะต่อไปเราจะพยายามสร้างกลุ่มคนที่เป็นเจ้าของปัญหาให้มาช่วยกันสอดส่องป้องกันและแก้ปัญหา ที่ผ่านมาเราเปิดเพจเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง และรับสมัคร ‘ทีมเผือก’ โดยเข้าร่วมเป็นสมาชิกเฟซบุ๊กกรุ๊ปภายใต้ชื่อ #ทีมเผือก คือถ้าคุณสนใจกิจกรรมของการรณรงค์นี้ก็สมัครเป็นทีมเผือกด้วยกัน ตอนนี้มีสมาชิกราว 800 คน เรามองว่าคนเหล่านี้เขาปวารณาตัวแล้วว่าสนใจที่จะช่วยกันหยุดปัญหาการคุกคามทางเพศ ปีหน้าเราจะสร้างพื้นที่ให้สมาชิกเหล่านี้มีบทบาทมากยิ่งขึ้น มากกว่าเป็นแค่ผู้รับสารหรือคนที่มาร่วมกิจกรรมที่เราจัดเท่านั้น”

            

          “เรื่องของการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นได้ทุกพื้นที่ ทั้งพื้นที่สาธารณะ หรือแม้กระทั่งที่บ้าน โรงเรียน หากกล่าวถึงพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะระบบขนส่งสาธารณะ สิ่งแรกคือต้องดูแลตัวเอง ต้องรู้จักระแวดระวัง เพราะปัจจุบันเมื่อขึ้นรถ สิ่งแรกที่หลายคนทำคือหยิบโทรศัพท์ขึ้นมา จนเกิดความละเลยไม่สนใจทั้งตนเองและคนรอบข้าง และหากเกิดเหตุไม่ว่าจะคุกคามทางสายตา วาจา การสัมผัส ถูไถ ให้ระลึกเสมอว่าเราไม่ยอม ต้องไม่นิ่งเงียบ เพราะผู้ที่ต้องอับอายคือผู้ก่อเหตุ

“อยากให้ช่วยกันพูดเรื่องนี้กันเยอะๆ คนที่ถูกคุกคามจะรู้ว่าเขาไม่ได้โดนอยู่คนเดียว และสามารถแจ้งความได้ หวังว่าเสียงของพวกเราจะส่งถึงคนที่มีแนวโน้มจะคุกคามผู้อื่น ให้รับรู้ว่าสังคมไม่ยินยอมอีกต่อไปแล้ว นอกจากนี้หน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้จะได้เข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นมาตรการด้านความปลอดภัยของหน่วยงานที่ต้องดูแลให้ทั่วถึงเพื่อสังคมที่ปลอดภัยของทุกคน”