กัญชากับความถี่เรื่องเซ็กซ์

Q.

        สวัสดีค่ะ คุณหมอชัญวลี ดิฉันอ่านข่าวเจอเรื่อง “กัญชาช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศ” ซึ่งนักวิจัยศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างกัญชากับความต้องการทางเพศพบว่า ชายและหญิงที่ใช้กัญชาทุกวันมีเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 ในช่วงสี่สัปดาห์ของการทดลอง จึงอยากขอความรู้จากคุณหมอ ขอบคุณมากค่ะ

A.

         ร้อยละ 2.5 ของประชากรโลกใช้กัญชาโดยเฉพาะในวัยรุ่น กัญชาจึงเป็นสารเสพติดที่ใช้กันมากที่สุด แต่ความคิดเห็นต่างๆ นานาของการใช้กัญชา มักมีทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน (pro and con) เสมอ

         งานวิจัยที่กล่าวถึงตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ.2017 ชื่อเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างการใช้กัญชากับความถี่ของการมีเซ็กซ์ในประเทศสหรัฐอเมริกา (Association Between Marijuana Use and Sexual Frequency in the United States: A Population-Based Study) ผลวิจัยพบว่า จากการสอบถามผู้หญิงจำนวน 28,176 คน (อายุเฉลี่ย 29.9 ปี) ผู้ชายจำนวน 22,943 คน (อายุเฉลี่ย 29.5 ปี) ในสี่สัปดาห์ก่อนเก็บข้อมูลเพื่อวิจัย คนที่ใช้กัญชาเพิ่มความถี่ของการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีปัญหาต่อเพศสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญ แต่ผลวิจัยนี้ ผู้วิจัยได้แจ้งข้อจำกัดที่อาจทำให้เชื่อถือไม่ได้ 3 ข้อคือ

  1. เป็นการวิจัยโดยใช้แบบสอบถาม ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ตอบ
  2. ผู้ที่ไม่ตอบคำถามเกี่ยวกับการใช้หรือไม่ใช้กัญชาและความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์ ถูกตัดออก
  3. ผู้วิจัยถามถึงความถี่ของเซ็กซ์เฉพาะช่วง 4 สัปดาห์ ก่อนตอบแบบสอบถาม ไม่ได้ถามถึงความถี่ของเซ็กซ์ในระยะยาว

ดังนั้น ผู้วิจัยแนะนำว่า ควรมีการศึกษาที่เชื่อถือได้เพื่อยืนยันผลวิจัยนี้ต่อไป

         ส่วนการคัดค้านการใช้กัญชาในการเพิ่มความถี่ของเซ็กซ์ มีเหตุผลว่าหลายประเทศหรือบางรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่อนุญาตให้ใช้กัญชาในด้านนันทนาการ แต่ให้ใช้กัญชาในด้านการแพทย์เพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยและการศึกษาวิจัย เช่นเดียวกับประเทศไทย (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 18 กุมภาพันธ์ 2562) สารสำคัญในกัญชา ได้แก่ THC และ CBD เมื่อเสพเข้าสู่ร่างกายจะไปทำงานร่วมกับระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับสื่อประสาท ทำให้อารมณ์ดี ลดความเจ็บปวดและการอักเสบ จึงมีฤทธิ์เป็นสารอโฟรดีเซีย (aphrodisiac) มีฤทธิ์กระตุ้นความต้องการทางเพศ

        อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยมากมายที่พบผลข้างเคียงของการเสพกัญชาเป็นประจำ และเกี่ยวข้องกับเซ็กซ์ เช่น ทำให้อวัยวะเพศชายไม่แข็งตัว ถึงจุดสุดยอดยากขึ้น

ประโยชน์ของสารสกัดกัญชา แบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้

  1. ได้ประโยชน์ในการรักษาและสนับสนุนทางด้านวิชาการชัดเจน ได้แก่ การเจ็บปวดเรื้อรังในผู้ใหญ่ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัด อาการกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (MS) โรคลมชักที่รักษายากในเด็ก และโรคลมชักที่ดื้อยา ภาวะปวดประสาทที่รักษาด้วยวิธีอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล
  2. น่าจะได้ประโยชน์ในการรักษาและควบคุมอาการ ซึ่งควรมีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุนหรือวิจัยเพิ่มเติมในประเด็นความปลอดภัยและประสิทธิผลเพื่อสนับสนุนการนำมาใช้ เช่น ทำให้การนอนหลับดีขึ้นในคนไข้ที่หยุดหายใจเนื่องจากการอุดกั้น (OSAS: obstructive sleep apnea syndrome) ปวดพังผืดและกล้ามเนื้อ (fibromyalgia) โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรควิตกกังวลทั่วไป ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่ต้องดูแลแบบประคับประคอง เพิ่มการอยากอาหารเพื่อลดการสูญเสียน้ำหนักในผู้ป่วยเอชไอวี/เอดส์ ลดอาการตื่นเต้นด้วยวิธีทดสอบให้พูดในที่สาธารณะสำหรับผู้เป็นโรคกังวลต่อการเข้าสังคม (social anxiety disorder) ลดอาการภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (PTSD: posttraumatic stress disorder)
  3. อาจมีประโยชน์ในการรักษา แต่ยังขาดข้อมูลสนับสนุนจากงานวิจัยที่ชัดเจนเพียงพอในประเด็นความปลอดภัยและประสิทธิผล เพราะต้องศึกษาวิจัยในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองก่อนนำมาศึกษาวิจัยในมนุษย์ เช่น สมองเสื่อม (dementia) และการรักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ

 

     

  1. ผลข้างเคียงระยะสั้นต่อระบบประสาท ได้แก่ รื่นเริงเกินไป เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ปากแห้ง ท้องผูก ง่วงนอน ลดสมาธิและการใส่ใจ ลดความจำ ง่วงนอน หูแว่ว เห็นภาพหลอน เคลื่อนไหวผิดปกติ กล้ามเนื้อกระตุก กล้ามเนื้อล้า เพลียง่าย เพิ่มอุบัติเหตุทางยวดยาน
  2. ผลข้างเคียงระยะยาวต่อระบบประสาท อาจมีผลต่อความจำระยะยาว ความสามารถในการวางแผน การตัดสินใจ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง
  3. ในเด็ก สำหรับเยาวชนอายุต่ำกว่า 25 ปี ที่ไม่มีข้อบ่งชี้ในการใช้กัญชาด้านการแพทย์ อาจทำให้ไอคิวลดลง ลดความจำ ขาดสมาธิ และการใส่ใจ เสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า
  4. ในคนตั้งครรภ์ ห้ามใช้เพราะอาจมีผลกระทบต่อสมองและพัฒนาการที่ล่าช้าของลูก
  5. ในคนไข้สูงอายุ อาจเกิดการทรงตัวไม่ดี พลัดตก หกล้ม ลดความจำ เสี่ยงต่อหัวใจเต้นผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจตาย อาการทางจิต ฆ่าตัวตาย โรคหัวใจและหลอดเลือดอาจกำเริบ
  6. มีปฏิกิริยาต่อยาอื่น เช่นยากันการแข็งตัวของเลือดหรือละลายลิ่มเลือด เพิ่มระดับยาทำให้เลือดออกผิดปกติ ยากันชักระดับสูงจนมีผลต่อตับ ยาต้านซึมเศร้ามีผลต่ออารมณ์ ยาเบาหวานทำให้น้ำตาลต่ำ ไวอะกร้าเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ
  7. คนไข้โรคจิต หรือมีประวัติครอบครัวเป็นโรคจิต การใช้กัญชาอาจส่งผลให้อาการทางจิตกำเริบขึ้นได้

 

วิธีลดความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงของการใช้กัญชา

  1. ต้องไม่ใช้กัญชาเพื่อเป็นนันทนาการหรือเพื่อเซ็กซ์ แต่ใช้เพื่อการรักษาวิจัยด้านการแพทย์เท่านั้น
  2. ต้องใช้สารสกัดกัญชาที่เชื่อถือได้ ทราบส่วนผสม เป็นยาตำรับแผนไทย ผ่านการรับรองจากอย.
  3. ใช้ในจำนวนน้อยที่สุดตามคำแนะนำ ไม่ควรเพิ่มจำนวนโดยพลการ
  4. ปรึกษาผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ เกี่ยวกับการรักษาด้วยกัญชา และมีการตรวจติดตาม
  5. มีอาการผิดปกติหลังใช้กัญชา เช่น ใจเต้น ใจสั่น หน้ามืดเป็นลม คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะรุนแรง มีความผิดปกติทางจิต สับสน ประสาทหลอน หมดสติ ไม่รู้ตัว ฯลฯ ควรพบแพทย์ทันที

 

References

Andrew J. Sun and Michae L. Eisenberg, “Association between marijuana use and sexual frequency in the United States: A population-based study, The Journey of Sexual Medicine, 2017; 14:1342–1347.

Renata Androvicova et al., Endocannabinoid system in sexual motivational processes: is it a novel therapeutic horizon?. Pharmacological Research. 2017; 115: 200-208.

E.L. Abel, “Marihuana and sex: a critical survey”, Drug Alcohol Dependence, 1981; 8: 1-22.

W.C. Koff, “Marijuana and sexual activity”, The Journey of Sex Research. 1974; 10: 194-204.

M.J. Noble et. el., “Acute cannabis toxicity”, Clinical Toxicology, 2019; 57:735.

Wayne Hall and Nadia Solowij, Adverse Effects of Cannabis. Lancet 1998; 352:1611.

"จะเห็นว่าไม่มีข้อบ่งใช้กัญชาในเรื่องเซ็กซ์เลย เพราะผลที่ได้อาจไม่คุ้มเสียจากผลข้างเคียงของกัญชา "

— พญ.ชัญวลี ศรีสุโข
คอลัมน์สุขภาพสุขเพศ
Hug magazine ปี 13 ฉบับ 4