เรื่อง: หมอแมว

I N T R O

/ ในบรรดาข้อต่อทั้งหมดของร่างกาย ข้อไหล่คือส่วนที่เคลื่อนไหวในทิศทางต่างๆ ได้มากที่สุด มนุษย์จึงสามารถขยับแขนและมือในการหยิบจับสิ่งต่างๆ ได้เพียงการขยับแขน ไม่ต้องขยับทั้งลำตัว

 

/ การเคลื่อนไหวได้รอบทิศทางนี้เกิดจากการทำงานของเบ้าข้อกระดูกเส้นเอ็น กล้ามเนื้อและถุงน้ำข้อต่อบริเวณหัวไหล่ที่ทำงานสอดประสานกันอย่างลงตัว

 

/ การที่ข้อไหล่เคลื่อนไหวได้หลากหลายทิศทางและถูกใช้งานบ่อยนี้เองจึงทำให้ความแข็งแรงมั่นคงของข้อไหล่นั้นน้อยกว่าข้อส่วนอื่น ก่อให้เกิดความผิดปกติหรือบาดเจ็บได้ง่าย

 

/ เมื่อเกิดอาการเจ็บไหล่จนเคลื่อนไหวไม่สะดวกจึงกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

 

/ จึงขออธิบายถึงภาวะต่างๆ ที่ทำให้ไหล่เจ็บ เพื่อการดูแลรักษา หรือพบแพทย์ต่อไปได้

 


 

ภาวะที่ทำให้เจ็บไหล่

ภาวะที่ทำให้ไหล่เกิดอาการเจ็บได้นั้นมีมากมาย ขอยกเพียงภาวะที่พบบ่อยหรือมีความสำคัญ

1. เอ็นข้อไหล่อักเสบ แขนและลำตัวมีจุดเชื่อมต่อคือบริเวณไหล่ มีกล้ามเนื้อหลายมัดทำหน้าที่ยึดโยงไว้ โดยกล้ามเนื้อนี้ต้องรับน้ำหนักแขนไว้ตลอด ทั้งยังทำหน้าที่เคลื่อนไหวแขนในทิศทางที่ต่างกัน หากใช้งานแขนไม่ถูกวิธี เช่น ทำกิจกรรมบางอย่างซ้ำไปมา หรือใช้กล้ามเนื้อไหล่ท่าเดียวติดต่อกันเป็นเวลานาน ส่งผลให้เอ็นของกล้ามเนื้อข้อไหล่อักเสบ โดยมักมีอาการเจ็บกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่จุดใดจุดหนึ่งและมีอาการเจ็บในบางท่าทาง จัดเป็นภาวะปวดเจ็บไหล่ที่พบได้มากที่สุดภาวะหนึ่ง

 

2. ข้อไหล่ติด เป็นภาวะที่เอ็นยึดข้อไหล่อักเสบและหนาตัวขึ้น เมื่อพยายามขยับแขน ข้อไหล่จะเกิดอาการฝืดตึงเจ็บปวดจนไม่อยากขยับเพิ่ม หลังจากนั้นอาการจะค่อยๆ เจ็บมากขึ้นจนขยับแขนได้น้อยลง สุดท้ายอาการเจ็บจะค่อยๆ ลดลงไปแต่ข้อไหล่จะฝืดติด ขยับได้น้อย ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ถอดเสื้อหรือเกาหลังได้ลำบาก พบในผู้หญิงอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไปมากกว่าผู้ชาย พบบ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน หรือภายหลังการบาดเจ็บ การผ่าตัดแขนและไหล่

 

3. ข้อเสื่อม มักพบในผู้สูงอายุหรือผู้มีการบาดเจ็บ อักเสบของข้อไหล่เรื้อรัง จนทำให้กระดูกอ่อนของข้อไหล่เสื่อม เมื่อเกิดการเคลื่อนไหวจึงเกิดการเสียดสี จนเจ็บปวดหรือข้อบวมได้

 

4. ข้อไหล่หลุด มักเกิดภายหลังจากเกิดการกระแทกรุนแรง จนหัวกระดูกแขนหลุดจากตำแหน่งเบ้าข้อไหล่ เกิดอาการเจ็บปวดจากข้อไหล่ลงมาที่แขน ข้อที่หลุดจะไม่สามารถเคลื่อนไหวแขนและไหล่ได้ตามปกติ ในกรณีที่การหลุดเกิดอย่างรุนแรงหรือถูกเส้นประสาท อาจเกิดอาการชาร่วมด้วย

 

5. ถุงน้ำข้อไหล่อักเสบ บริเวณข้อไหล่มีถุงน้ำซึ่งทำหน้าที่เสมือนเบาะรองรับ ลดการเสียดสีระหว่างกระดูกและกล้ามเนื้อขณะขยับเคลื่อนไหว เมื่อมีอาการอักเสบของถุงน้ำจะทำให้เกิดอาการบวม ร้อน และเจ็บปวด โดยเฉพาะเมื่อเคลื่อนไหวไหล่

 

6. ข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นโรคข้ออักเสบอันเกิดจากการทำงานผิดปกติของภูมิคุ้มกันในร่างกาย จนเกิดการอักเสบของข้อต่างๆ ส่วนใหญ่มักพบการอักเสบที่ข้อนิ้ว ข้อมือ มากกว่าตำแหน่งอื่น แต่ข้อไหล่ก็พบได้เช่นกัน มักเกิดอาการอักเสบพร้อมกันทั้งสองข้าง มีอาการผิวหนังบวมแดง อุ่น อาการปวดเจ็บมักเป็นมากช่วงเช้าตอนตื่นนอน

 

7. กระดูกอ่อนข้อไหล่ฉีกขาด บริเวณข้อไหล่มีกระดูกอ่อนเป็นเบ้าของข้อ หากส่วนนี้บาดเจ็บจะทำให้เจ็บปวดไหล่ได้ การฉีกขาดของกระดูกอ่อนชิ้นนี้มักเกิดจากการบาดเจ็บ เช่น ล้มในท่าเหยียดแขน การบาดเจ็บที่เกิดข้อไหล่หลุด หรือการเหวี่ยงแขนแรงๆ เป็นเวลานาน (เช่น ในนักกีฬาที่ต้องใช้แขนขว้างลูกบอล)

 

8. กระดูกทับเส้นเอ็น เกิดจากการพื้นที่ว่างสำหรับเอ็นกล้ามเนื้อไหล่ด้านหน้าตีบแคบลง เมื่อขยับแขนกล้ามเนื้อและเอ็นที่อยู่ในบริเวณนั้นจึงถูกกดและเสียดสีจนเกิดความเจ็บปวด ในกรณีที่เป็นมากอาจเกิดอาการขึ้นได้เพียงนอนตะแคงหรือใช้แขนเอื้อมไปแตะหลัง

 

9. ไหล่ปกติแต่เจ็บร้าวจากส่วนอื่น บางครั้งเมื่อมีอาการเจ็บปวดจากอวัยวะภายในสมองตีความอาการเจ็บไปในอีกตำแหน่ง ทำให้เราเกิดอาการเจ็บที่ไหล่ได้ ทั้งๆ ที่ต้นเหตุมาจากที่อื่น เช่น ในรายที่ปวดต้นคอบางครั้งมีอาการปวดร้าวไปที่ไหล่ ในผู้ป่วยที่มีการอักเสบของถุงน้ำดีและตับซึ่งอาจมีอาการปวดท้องร่วมกับปวดไหล่ขวา หรือในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่บางรายจะมีอาการปวดเมื่อย ปวดร้าวที่ไหล่ซ้ายร่วมกับอาการเหนื่อยหรือแน่นหน้าอก

 

การรักษาอาการเจ็บปวดไหล่เบื้องต้น

บางครั้งเมื่อมีอาการเจ็บปวดไหล่แต่รู้สึกว่าอาการเป็นไม่มาก บางคนก็อาจจะอยากลองดูอาการหรือรักษาด้วยตนเองก่อน

1. หยุดใช้ไหล่หรือทำกิจกรรมที่อาจเป็นสาเหตุเพื่อไม่ให้ไหล่เสียหายมากกว่าเดิม
2. ประคบเย็น โดยเฉพาะกรณีที่เกิดหลังการกระแทกหรือการใช้งานจนบาดเจ็บ
3. พักแขน เลี่ยงการทำกิจกรรมที่ไหล่ต้องรับน้ำหนัก เช่น การทำงานนั่งโต๊ะที่แขนยื่นไปข้างหน้าโดยไม่มีการรองข้อศอก การยกแขนขึ้นสูงเหนือศีรษะนานๆ
4. บริหารไหล่และใช้งานเบาๆ หาจุดสมดุลระหว่างพักการใช้งานและการบริหารไหล่เบาๆ เนื่องจากหากหยุดการใช้งานโดยสิ้นเชิง

 

เมื่อใดต้องไปพบแพทย์

1. มีอาการปวดไหล่ร่วมกับไม่สามารถเคลื่อนไหวไหล่ได้รอบทิศเหมือนปกติ
2. อาการเจ็บไหล่ที่มีการบวมมาก หรือไหล่มีลักษณะผิดรูป โดยเฉพาะเมื่อเกิดตามหลังอุบัติเหตุหรือการกระทบกระแทกแรงๆ
3. อาการปวดที่เป็นนานกว่า 1-2 สัปดาห์ทั้งที่ได้พักการใช้งานแล้ว
4. เจ็บไหล่พร้อมกับอาการแน่นหน้าอกหรืออาการเหนื่อย ซึ่งบ่งบอกว่าอาจจะไม่ใช่อาการเจ็บไหล่หากแต่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

 


Hug magazine ปีที่ 12 ฉบับที่ 5
คอลัมน์: รักษ์สุขภาพ