Knowing Mind “รู้เรา” เข้าใจโลกภายใน

“ปัญหามีไว้แก้ไข ไม่ได้มีไว้สะสม” เพราะเมื่อสะสมมากเข้าปัญหาทางใจจะส่งผลต่อร่างกาย ฮักมีโอกาสเข้ารับฟังเรื่องการเรียนรู้เพื่อการเข้าใจตัวเอง รวมถึงการรับมือกับปัญหาทางใจ จาก คุณสมภพ แจ่มจันทร์ นักจิตวิทยาการปรึกษา หนึ่งในสามของผู้ก่อตั้ง Knowing Mind ศูนย์บริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและส่งเสริมสุขภาวะ

เมื่อประจันหน้ากับปัญหา

ปัญหาทางสุขภาพจิตของคนเรามีหลายระดับ ตั้งแต่ความเครียดและความวิตกกังวลทั่วไปในชีวิตประจำวัน จนถึงอาการผิดปกติทางร่างกายและพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต แต่ไม่ว่าคุณจะมีปัญหาสุขภาพจิตในระดับใด หากคุณรู้สึกว่าตนเองไม่อาจรับมือกับปัญหาที่กำลังเผชิญ และคนรอบข้างไม่สามารถช่วยเหลือคุณได้ การตัดสินใจเข้ารับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต อาจเป็นตัวเลือกที่ดีที่จะช่วยให้สามารถรับมือกับปัญหาได้อย่างเหมาะสม

 

หากปัญหานั้นส่งผลให้ปวดหัว ไม่มีสมาธิ กังวลจนนอนไม่หลับ ไม่อยากอาหาร มีอาการที่เด่นชัดจนรบกวนชีวิต การไปพบจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการเป็นจุดตั้งต้นที่ดี แต่หากรู้สึกว่ามีอาการแต่ไม่รุนแรงมาก และพอตระหนักได้ว่ากำลังเผชิญปัญหาบางอย่างที่มีประเด็นชัดเจน การมาพบและพูดคุยกับนักจิตวิทยาจะเหมาะสมกว่า บางคนไม่รู้ว่าอาการไหนเด่นกว่ากัน หากเป็นเช่นนั้นเริ่มพบใครก่อนก็ได้ เพราะบางคนที่มาคุย เมื่อผมเห็นว่าอาการทางกายของเขาเยอะมาก คุยไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเขาไม่มีสมาธิหรือไม่สามารถทำความเข้าใจประเด็นที่เราพูดคุยกันได้ การไปพบจิตแพทย์เพื่อรับยาก่อนอาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมกว่า

 


 

จิตวิทยาแนวพุทธ

จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับจิตใจของคนเราว่าเป็นอย่างไร ส่งผลต่อชีวิตอย่างไร ส่วนจิตวิทยาแนวพุทธในมุมมองของพุทธศาสนานั้นเป็นเรื่องของจิตใจ สำหรับผมจิตวิทยาแนวพุทธนั้นกว้างมาก หลักง่ายๆ คือทุกคำสอนของศาสนาพุทธมีมิติด้านจิตใจทั้งหมด แก่นของคำสอนอันเป็นหัวใจหลักคือ “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” เพราะต่อให้เราอยากยึดไว้ก็ไม่ได้ ทุกสิ่งมีการเปลี่ยนแปลง ไม่แน่นอน จับต้องไม่ได้ ในหลายๆ ส่วนที่อยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุมของเรา

 

อีกเรื่องที่นำมาประยุกต์ใช้คือ “ปัญหาของมนุษย์เกิดจากความคาดหวัง” ว่าจะต้องเป็นดั่งใจเราให้ได้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ หรือเป็นไปได้บางส่วนที่อยู่ในอำนาจการควบคุมของเราเท่านั้น ถ้าบอกว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบอะไร จะทำหรือไม่ทำอะไร แน่นอนว่าขึ้นอยู่กับคุณ คือจัดการตรงนี้ด้วยตัวเองได้ แต่ถ้าเราบอกว่าอยากให้เขามาชอบเรา ชื่นชมเรา นี่เริ่มไกลจากสิ่งที่คุณควบคุมได้ เมื่อยึดติดว่าต้องเป็นอย่างนั้นให้ได้ ฉันจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ถ้าคนรอบข้างไม่รักฉัน ทำให้รู้สึกไม่มีคุณค่าในตัวเอง เพราะคุณยึดติดและสร้างเงื่อนไขให้แก่ตัวเอง ทั้งนี้ในกระบวนการไม่ได้บอกว่าแบบนี้ถูกหรือผิด แต่จะทำให้ค่อยๆ เห็นผ่านเรื่องราวชีวิต อุปสรรค และความรู้สึกบางอย่าง ให้ได้ค้นพบเองว่าที่เป็นปัญหาอยู่เพราะยึดติดกับเรื่องอะไร สร้างเงื่อนไขใดขึ้นมา ดังนั้นถ้าเราจะแก้ปัญหานี้ได้ อันดับแรกคือต้องปล่อยวางความคาดหวังบางอย่างที่มีก่อน แล้วมาดูว่าทำอะไรได้บ้างกับปัญหาที่เรากำลังเผชิญ

 


 

ปัญหาเกิดจากภายใน

ผมเชื่อว่าปัญหาของทุกคนเกิดขึ้นจาก “ความไม่เข้าใจ” ในบางอย่าง ต่อให้เข้ามาปรึกษาปัญหาเรื่องครอบครัว ความสัมพันธ์ การเรียน การทำงาน แม้เรื่องราวจะหลากหลาย แต่บนรากฐานของปัญหานั้นมีความไม่เข้าใจบางอย่างที่ไม่เฉพาะเจาะจง จุดมุ่งหมายจริงๆ คือการ “ทำความเข้าใจตัวเอง” ให้จัดการปัญหาได้ด้วยตัวเอง ไม่ได้หมายความว่าเมื่อมาคุยกับนักจิตวิทยาแล้วจะได้รับคำแนะนำให้ไปทำตาม เพราะเราไม่มีคำตอบสำเร็จรูป แต่มาคุยกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ตระหนักรู้ว่าสิ่งที่ต้องการคืออะไรกันแน่ แล้วให้ความต้องการนั้นเป็นแกนนำขับเคลื่อนว่าจะเอาอย่างไรกับชีวิตต่อไป ดังนั้นการมาปรึกษาจึงเป็นกระบวนการทำความเข้าใจตัวเองเพื่อให้เห็นว่าเราต้องการอะไรและจะทำอย่างไรต่อไป

 

ถ้าเรารู้ความต้องการที่แท้จริงก็จะพบทางออก แต่บ่อยครั้งที่เราไม่รู้ความต้องการภายใน เพราะสิ่งที่เข้ามารุมเร้าทำให้ไม่รู้จะตั้งต้นตรงไหน ฉะนั้นจุดตั้งต้นที่ดีมากๆ คือ “อารมณ์ความรู้สึก” หากลองมองอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ อย่างความโกรธ ความเศร้า เสียใจ ความรู้สึกผิด ความรู้สึกต่างๆ นั้นเป็นเพียงสัญญาณที่บ่งบอกว่าลึกๆ แล้วเรากำลังต้องการอะไร สมมติเราเสียใจนั่นหมายความว่าเราต้องการอะไรบางอย่างแต่ไม่ได้สิ่งนั้นมา

 

โดยทั่วไปเรามักยึดติดกับตัวสัญญาณคืออารมณ์ความรู้สึก เมื่อเสียใจเราจัดการกับความเสียใจ เมื่อโกรธก็จัดการกับความโกรธ โดยไปนั่งสมาธิหรือออกกำลังกาย เราจัดการที่พื้นฐานของอารมณ์โดยไม่ทันมองว่านั่นเป็นภาพสะท้อนของบางสิ่งภายใน จึงไม่เห็นว่าที่จริงแล้วเรานั้นมีความต้องการ และไม่กล้าเผชิญกับความต้องการ หรือเผชิญแล้วแต่ไม่จัดการ ซึ่งสุดท้ายแล้วไม่ได้ช่วยอะไร หมายความว่าถ้าคุณไม่เข้าใจจริงๆ ว่าไม่สามารถจัดการได้แล้วจึงปล่อยวางนั้นย่อมได้ แต่ถ้ามีสิ่งที่ต้องจัดการแล้วคุณไม่จัดการแต่เลือกปล่อยวาง นั่นต่างหากที่เป็นปัญหา เพราะแสดงว่าคุณยังมีความต้องการอยู่

 


 

ปัญหาที่ต้องเผชิญ

ไม่ว่าจะเป็นอดีตเมื่อ 40-50 ปี ก่อนหรือปัจจุบันที่เทคโนโลยีเปลี่ยนไป ปัญหาของคนส่วนใหญ่มีอยู่ไม่กี่เรื่อง รายละเอียดของปัญหาอาจต่างกัน แต่แก่นกลางของปัญหายังเหมือนเดิม คือมีความคาดหวังบางอย่าง ในวัยเด็กมีความคาดหวังจากพ่อแม่ ลูกก็แบกรับไว้ พยายามฝืนตัวเอง พ่อแม่ก็รู้สึกว่าสิ่งที่คาดหวังเป็นเรื่องดีสำหรับลูก จึงพยายามส่งเสริมเต็มที่โดยไม่ได้มองว่าลูกมีศักยภาพเพียงใด สนใจหรือต้องการอะไร และที่บอกว่าดีนั้นดีกับใคร

 

เมื่อเริ่มเติบโตขึ้นสิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือความคาดหวังเรื่องอนาคต เริ่มมีไอเดียบางอย่างเกี่ยวกับชีวิตว่าควรจะเป็นอย่างไร แล้วค่อยๆ มีความคิดที่ยึดติดมากขึ้น ก็จะบีบบังคับชีวิตตัวเองให้เป็นแบบนั้น ทั้งที่คุณเลือกได้ตั้งแต่ต้นว่าจะลดความคาดหวังบางอย่างที่ดูขัดแย้งกับความเป็นจริงเกินไป แล้วกลับมาต้อนรับสิ่งที่คุณได้เจอจริงๆ เช่น คุณอาจจะมีสเป็คในใจ คนที่คุณคบอยู่นั้นดีทุกอย่าง มีแค่ข้อเดียวที่ไม่ตรงใจแล้วคุณก็ติดกับเรื่องนั้นมากๆ ทำให้รู้สึกว่าเขาไม่ดีเพียงเพราะเขาไม่ตรงใจคุณ แต่หากลองมองให้ดีเขาก็ตรงตามสเป็ค มีเพียงบางข้อเท่านั้นที่ไม่ตรงตามอุดมคติหรือความคาดหวังของคุณ จะเห็นได้ว่าไม่ว่าวัยไหนล้วนวนเวียนอยู่กับความคาดหวัง และเรามักสร้างความคาดหวังที่ไม่สามารถเป็นจริงได้ให้แก่ชีวิต

 


 

การปรึกษาทางจิตวิทยา

ปัจจุบันคนที่เข้ารับคำปรึกษาจำนวนสองในสามไม่เคยพบจิตแพทย์มาก่อน เพียงแค่รู้สึกว่ามีปัญหา ไม่ได้รู้สึกผิดปกติแต่ยินดีที่จะมาคุยเพราะอยากแก้ปัญหาภายในใจ แต่อีกหนึ่งในสามเคยพบจิตแพทย์ กินยาแล้วไม่ดีขึ้น หรือกินยาแล้วแต่อยากพูดคุยด้วย ซึ่งส่วนนี้คือผู้ที่มีปัญหาและได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคอะไร ผมมองว่าสังคมในปัจจุบันเปิดกว้างให้มีการเข้ามาพูดคุยกันมากขึ้น แต่มีข้อจำกัดที่เขาไม่รู้ว่าจะไปที่ไหนมากกว่า เพราะบริการเหล่านี้มีจำกัด ส่วนใหญ่คนมักนึกถึงโรงพยาบาล ทำให้ไม่อยากไป เพราะต้องเจอหมอ เจอกระบวนการทางการแพทย์

 

สำหรับผมเพียงเขามีปัญหาแล้วแก้ไม่ได้ ไม่รู้จะตั้งต้นยังไง ผมจะเป็นคนตั้งต้นให้ ไม่ว่าคุณจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า ไบโพล่าร์ หรืออะไรก็ตาม คุณก็เป็นแค่คนคนหนึ่งที่มีปัญหา

 

ชื่อโรคเหล่านั้นเป็นชื่อทางการแพทย์เพื่อให้คุณเข้าสู่ระบบเท่านั้น แต่ถามว่าคุณกินยาแก้โรคซึมเศร้าแล้วหายไหม ผมเชื่อว่ากินยาแล้วดีขึ้นเพราะยาช่วยปรับสมดุลของสารสื่อประสาท ยาช่วยทำให้รู้สึกดีขึ้น ช่วยให้นอนหลับ แต่คุณจะไม่หายขาดถ้าคุณไม่ได้แก้ปัญหา เพราะก่อนจะมีอาการทางกายต้องมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นในชีวิตมาแล้ว และทุกวันนี้เรื่องเหล่านั้นยังมากดดันอยู่ มันมีอะไรหลายๆ อย่างในชีวิตอันเป็นที่มาของอาการ เวลามีปัญหาที่ไม่ได้แก้ไขช่วงแรกคุณอาจอยู่กับมันได้ เพราะรู้สึกว่าไม่ได้หนักหนาแค่ค้างคาใจ แต่ถ้าปัญหาถูกสั่งสมไว้ก็จะค่อยๆ หนักขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งก็แสดงอาการทางกาย ปัญหาแปลงรูปมาเตือนให้รู้ว่าที่จริงแล้วใจคุณไม่ได้รู้สึกดีกับสภาวะที่เป็นอยู่ แต่คุณปฏิเสธมัน นี่คือสิ่งที่เรียกว่าอาการของปัญหาแต่ไม่ใช่ปัญหา

 


 

“รู้เรา” เข้าใจตนเอง

ผมเชื่อว่าไม่มีทางที่เราจะไม่เจ็บปวดถ้าเราคิดจะแก้ปัญหา เพราะการเผชิญหน้ากับปัญหานั้นเจ็บปวดเสมอ แต่การเลือกหลีกหนี เบี่ยงเบนออกจากปัญหานั้นทำได้ง่ายกว่า ถ้ารู้สึกเจ็บปวดจากการแก้ปัญหาแสดงว่าคุณมาถูกทางแล้ว เพราะไม่มีการแก้ปัญหาใดที่ไม่เจ็บปวด เมื่อคุณแก้ปัญหาจะได้เข้าใจเสียทีว่าจุดที่ต้องไปต่อคืออะไร แต่คุณบอกกับตัวเองว่าไม่เป็นไรและทำใจ ปรับตัวให้ไม่ใส่ใจ ซึ่งก็ทำได้แค่การหลอกตัวเอง เบี่ยงเบนปัญหาไปวันๆ เรารู้สึกดีแต่ลึกๆ จะรู้ว่ามันไม่ดีเลย บางคนฝืนใจทำตามที่พ่อแม่ต้องการ ไม่กล้ายืนยันความต้องการของตัวเองเพราะกลัวพ่อแม่ไม่รัก ก็ทนๆ ไป แต่หากยืนยันเขาจะเสี่ยงมากต่อการได้รับปฏิกิริยาไม่ดีตอบกลับมา การเผชิญหน้าหรือแก้ปัญหานั้นเจ็บปวดเสมอ แต่มันเป็นทางที่เราเลี่ยงไม่ได้ ถ้าจะแก้ต้องเผชิญหน้า และผมเชื่อว่าเราทุกคนมีศักยภาพเพียงพอ แต่บางครั้งอาจสับสน ไม่มีเรี่ยวแรงหรือกำลังมากพอ ดังนั้นการคว้ามือคนรอบข้างมาช่วยในช่วงเวลาที่เราไม่ไหวนั้นสามารถทำได้ แต่ลงท้ายเราต้องกลับไปแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง มือที่อยู่ข้างๆ ประคับประคองให้เราลุกขึ้น แต่การเดินหน้าต่อนั้นเป็นขาของเราที่จะก้าวไปจัดการกับปัญหาด้วยตัวเอง

 

ถ้าเราไม่หนีเสียอย่างทุกปัญหาย่อมมีทางออกเสมอ การเบี่ยงเบน หลีกหนีปัญหา หรือมองแง่บวกนั้นไม่ได้ช่วยให้เราแก้ปัญหาในระยะยาวได้

Hug magazine

" ถ้ารู้สึกเจ็บปวดจากการแก้ปัญหาแสดงว่าคุณมาถูกทางแล้ว เพราะไม่มีการแก้ปัญหาใดที่ไม่เจ็บปวด "

สมภพ แจ่มจันทร์ นักจิตวิทยาการปรึกษา

Knowing Mind ศูนย์บริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและส่งเสริมสุขภาวะ —