อายุ 18 ปี เด็กวัยรุ่นในระบบการศึกษาเกือบทั้งหมด มีวาระสำคัญในชีวิตอยู่ประการหนึ่งคือ การมีที่เรียนในระดับอุดมศึกษาตามที่ตัวเองหรือพ่อแม่ต้องการ
เมื่อมาตรวัดคุณค่าของอะไรบางอย่างมีเพียงมาตรฐานเดียว แน่นอนว่าต้องมีคนสมหวังและผิดหวัง
บาร์เทิลบี เกนส์ หนึ่งในกลุ่มเด็กที่ผิดหวัง ไม่ว่าจะพยายามสักเท่าไหร่ ไม่มีที่ไหนรับเข้าเรียน โดนกดดันจากครอบครัว พบเจอการอวดเบ่งเกทับ เจอแต่คำถามซ้ำๆ ว่ามีที่เรียนรึยัง ได้เรียนที่ไหน (คุ้นๆ มั้ยคะ เรามั่นใจมากว่าหลายคนเคยอยู่ในสถานการณ์แบบนี้) สิ่งเดียวที่บาร์เทิลบีต้องการคือ ใบตอบรับจากมหา’ลัยไหนสักแห่ง และเมื่อไม่มีที่ไหนส่งมา เขาจึงตัดสินใจทำมันขึ้นมาซะเอง
จากจุดตั้งต้นแค่ปลอมใบตอบรับจากวิทยาลัยอุปโลกน์ชื่อ South Harmon Institute of Technology (มีชื่อย่อว่า S.H.I.T. ที่แปลว่าห่วยแตก ไร้สาระ นั่นแล) ต่อจากนั้นก็ขอให้เพื่อนทำเว็บไซต์ของวิทยาลัยเพื่อหลอกพ่อแม่ ลุกลามไปสู่การหาสถานที่ หาอธิการบดีปลอมๆ และเมื่อเว็บไซต์ใช้งานได้จริง แบบที่ใครคลิกสมัครเข้ามาก็มีใบตอบรับอัตโนมัติ เลยมีเด็กๆ ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นชายขอบของระบบการศึกษา บรรดาคนสิ้นหวังทั้งหลายแห่มารวมกันเต็มไปหมด มาจริง จ่ายเงินจริงซะด้วย
และเมื่อวิทยาลัยปลอมๆ นี้เหมือนเป็นความหวังเดียวของทุกคน บาร์เทิลบีก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากด้นสดกันไป หลังจากไปแอบดูมหาวิทยาลัย Harmon ของจริงอันยิ่งใหญ่เกรียงไกรมาแล้ว เขาค้นพบว่ามันแห้งแล้ง กดดัน น่าเบื่อ นักศึกษาไม่ได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองอยากเรียนอย่างแท้จริง เลยกลับมาตั้งต้นที่ ไหนใครอยากเรียนอะไรบ้าง เรามาเริ่มเรียนวิชาตามสิ่งที่อยากรู้กันดีกว่า
มันออกมาเลอะเทอะ ไม่เป็นระบบระเบียบ แต่กลับใช้การได้ดีกับเด็กกลุ่มนี้ พวกเขาได้เรียนรู้ และที่สำคัญคือได้เรียนเรื่องราวเหล่านั้นอย่างมีความสุข
ณ ปัจจุบัน ปี 2020 หลายต่อหลายคนคงผ่านหูผ่านตาเกี่ยวกับการศึกษาแบบมีผู้เรียนเป็นจุดศูนย์กลาง หรือการเรียนแบบโฮมสคูลกันมาบ้างแล้ว แต่เมื่อ 14 ปีที่แล้ว ตอนที่หนัง Accepted ออกฉายการเรียนที่ไม่พึ่งพาระบบการศึกษากระแสหลักนั้นยังเป็นเรื่องใหม่
แม้เหตุการณ์และสถานการณ์หลายๆ อย่างในเรื่องอาจดูไม่สมเหตุสมผล ทิศทาง และโทนของเรื่องพาไปในทางตลกขบขัน ออกแนวแถๆ เป็นหลัก แต่หนังเกาะแก่นการตั้งคำถามถึงวิถีในระบบการศึกษาได้ดี
ท้ายสุด นอกจากเด็กๆ ที่ “ไม่ได้รับการตอบรับ” จะต้องอยู่อย่างสิ้นหวังไร้คุณค่าแล้ว ในระบบนี้ เด็กๆ ที่ได้เข้าไปอยู่ในมหาวิทยาลัยก็ทุกข์ทนไม่แพ้กัน หนังฉายภาพความรุนแรง การใช้อำนาจ การโดนบูลลี่ ความเหนื่อยหน่ายกับการเรียนที่ไร้สุขไร้จุดหมาย ในแบบที่เราต่างรู้ดีว่ามันยังคงมีอยู่มาจนถึงบัดนี้ และมันต้องเปลี่ยนแปลง
ในระหว่างที่ดูหนังเรื่องนี้ เรานึกถึงเหตุการณ์จริงที่เคยผ่านหูผ่านตา มีเด็กวัยรุ่นหลายคนทั้งในไทยและในต่างประเทศเคยโกหกว่าสอบเข้ามหาวิทยาลัยดังได้ โกหกพ่อแม่ โกหกคนรอบตัว แน่นอนว่าเมื่อคุณทำแบบนี้ในชีวิตจริง ตอนจบมันไม่สวยงามสนุกสนานสดใสเหมือนในหนังคอมเมดี้ คุณจะโดนประณาม คุณจะกลายเป็นอะไรสักอย่างที่แย่เสียยิ่งกว่าพวกขี้แพ้ บางคนจบลงที่การก่ออาชญากรรม
เราได้แต่หวังว่าโลกนี้จะมีมหาวิทยาลัยแบบ S.H.I.T เกิดขึ้นมาอีกเยอะๆ และหวังว่าคนขี้แพ้ในโลกนี้จะหมดไป จะไม่มีใครโดนตราหน้าว่าแพ้ เราแค่แตกต่างและเก่งคนละอย่างคนละแบบเท่านั้น.
Hug magazine ปีที่ 12 ฉบับที่ 4
คอลัมน์: สวมแว่นสีชมพูดูหนัง