คู่ชีวิตที่อยู่ด้วยกันได้ยั่งยืน ต้องใช้สิ่งใดเป็นหลักยึด ความรักแสนหวานเมื่อครั้งยังหนุ่มสาว อาจจืดจางไปตามวัยและเวลาที่ผ่านเลย แล้วสิ่งใดเล่าที่ทำให้คุณหลุยส์ ชวนชื่น (รณกร ตรงแสง) กับคุณเอ (เพ็ญศิริ ทรงแสง) ร่วมชีวิตกันมานานถึง 32 ปี เราเชื่อว่าสิ่งสำคัญที่มีค่านั้น อยู่ในบ้านหลังนี้
จดหมายฝากรัก
คุณหลุยส์เท้าความถึงตอนที่ยังเล่นตลกให้แก่คุณพ่อดม ชวนชื่น (อุดม ทรงแสง) และได้ไปเช่าบ้านของคุณพ่อคุณเอเพื่ออยู่อาศัยกับกลุ่มเพื่อนตลก ในตอนนั้นคุณเอกำลังศึกษาอยู่มหา’ลัยปีสอง
“ผมเห็นเขาแล้วชอบ เลยเขียนจดหมายเอาไปเสียบที่หน้าประตูไว้ เริ่มจากเสียบหน้าบ้านบ้าง เสียบตามกระถางต้นไม้บ้าง เขามาเห็นก็เขียนตอบแล้วเสียบกลับไว้ แต่ผมเขียนไม่เป็นนะ ให้น้องๆ เขียนให้ ก็เริ่มมีแซวกันละ เขียนอยู่สี่ปีถึงจะได้ไปเที่ยวด้วยกัน”
จากจุดตั้งต้นนั้นเองก็เริ่มเกิดความผูกพัน แต่ต้องพิสูจน์ตนเองครั้งใหญ่ เพราะครอบครัวคุณเอเป็นข้าราชการ มีตำแหน่งฐานะ พี่น้องในบ้านก็ล้วนเป็นเด็กเรียน คุณหลุยส์เล่าถึงวิธีชนะใจผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง คือความจริงใจและการเข้าหาอย่างไม่หลบลี้หนีหน้า แม้ใช้เวลาถึงแปดปีจึงจะได้เข้าพิธีวิวาห์
“ผมแสดงให้ที่บ้านเอเห็นว่าผมดูแลเขาได้นะ ที่บ้านเอได้เห็นตัวตนจริงๆ ของผมมาตลอด แล้วผมก็รู้ดีว่าเราตัดสินใจเลือกเขาแล้ว ตอนแต่งงานผมอายุประมาณสามสิบ เออ่อนกว่าผมสามปี เราไม่ได้เริ่มคบหากันตอนวัยรุ่น ทุกอย่างอยู่ในสายตาของพ่อแม่เขาตลอด เพราะผมเช่าบ้านอยู่ติดกัน คุณพ่อเขาเจอผมแทบทุกวัน ได้เห็นว่าเราเป็นคนทำมาหากินนะ ผมเรียนรู้จากเอเยอะมาก ก่อนนั้นผมได้เงินมาก็ซื้อความสุขให้ตัวเองและพี่น้อง เมื่อคบกับเอ เลยรู้ว่าเราต้องไม่หยุดอยู่แค่นี้ เริ่มซื้อบ้าน พาพ่อแม่ไปสู่ขอ พ่อแม่เขากังวลแค่กลัวไม่มีอนาคต ดังนั้นอยู่ที่ทำยังไงให้เขาเชื่อมั่นในตัวเรา”
“พี่ไม่ได้มองคนที่อาชีพ มองที่ใจ เชื่อแบบคนโบราณที่ว่าการคบหาหรือใช้ชีวิตคู่ต้องศึกษากัน สิ่งที่พี่หลุยส์มีคือความขยัน ซึ่งเราประทับใจ คิดว่าฝากชีวิตไว้กับเขาได้แน่ ข้อที่สองพี่หลุยส์ใจดี ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อ เพราะนอกจากรักเราแล้ว เขาก็รักพ่อแม่ครอบครัวเราด้วย ถ้ารักเราแต่ไม่เกื้อกูลครอบครัวเรา ชีวิตคู่อาจไปด้วยกันยาก”
ตลกกับความเจ้าชู้ และการเทคแคร์ดูแลกัน
“ผู้หญิงมีความต้องการสามอย่าง คือการดูแลเอาใจใส่ จริงใจ และเขาต้องเป็นหนึ่ง เราต้องสนใจเขา กลับบ้านซื้อน้ำปั่นมาสักแก้ว ซื้อก๋วยเตี๋ยวมาสักถุง เขาก็ชื่นใจแล้ว หรือขับรถอยู่นึกได้ว่าร้านนี้เขาชอบกินนะ ซื้อติดมือกลับมา พยายามจำคำพูดของคนที่เราอยู่ด้วย ต้องมีเอาใจกันบ้าง อาจไม่ได้จำวันครบรอบทุกปี หรือฉลองวันเกิดทุกครั้ง เลยวันไปบ้างไม่เป็นไร บางทีทำงานกว่าจะได้กลับบ้านก็เลยวันเกิดเขาแล้ว ก็อวยพรทางโทรศัพท์แทน”
ด้วยอาชีพตลกที่คร่ำหวอดกับแสงสี มีคนเข้าหามากมาย เคยนอกลู่นอกทางก็ต้องปรับปรุงตัว คุณหลุยส์ย้ำว่าเมื่อเลือกเขาเป็นคู่ชีวิตแล้ว คุณต้องตัดเรื่องคนอื่นไป เป็นครอบครัวต้องนึกถึงอนาคตและความรับผิดชอบ
“สิ่งเดียวที่อย่าทำคือนอกใจแล้วอย่าให้เขาจับได้ (หัวเราะ) เขาจับได้ต้องเลิก ต้องให้ภรรยาเชื่อในตัวเรา แต่เมื่อทำไปครั้งหนึ่งแล้ว เขาไม่เชื่อเราหรอก (หัวเราะ) การมีครอบครัวนั้นง่าย แต่ทำยังไงให้ไปด้วยกันได้มันยากกว่า คนเรามีทิฐิอยู่แล้ว ต้องลดทิฐิถ้าอยากให้เป็นครอบครัวอยู่ เวลาทะเลาะกัน ผมจะเป็นฝ่ายเงียบ ผมคิดว่าถ้าเราเงียบซะ ก็จะไม่มีผลกระทบกันแน่นอน และต้องไม่มีคำว่า ‘มึง กู’ ถ้าพูดว่า ‘เธอ ฉัน’ ต่อให้ทะเลาะกันแรงยังไงก็ไม่ตีกันแน่ สมมติพูดใส่ว่า มึงเป็นอะไรของมึง แล้วมึงทำไม อีนี่ไอ้นั่น ก็เริ่มตีกันในเรื่องที่ไม่ได้จะทะเลาะกันละ ด่าว่าหยาบคายใส่”
“บางเรื่องที่เป็นข้อเสีย เราก็เอามาชั่งใจเทียบกับข้อดี ถ้าข้อดีมากกว่าก็ต้องมองข้ามและให้อภัย ไม่มีใครดีไปหมดแม้กระทั่งตัวเราเอง มันจึงใช้ชีวิตคู่กันได้นาน ที่จริงพี่หลุยส์ก็เยอะนะ ไม่ใช่น้อยๆ (หัวเราะทั้งคู่) แต่ถ้าเทียบกับข้อดีก็ มองข้ามไปได้ แล้วต้องไม่จู้จี้กันทุกเรื่อง”
คุณเอยังบอกถึงหลักสำคัญข้อหนึ่งคือไม่ฉีกหน้าสามี ไม่ทำให้เขาต้องอับอาย
“สิ่งที่ผู้ชายรับไม่ได้คือการประจานฉีกหน้า ทำให้เขาอับอาย ไม่ให้เกียรติกัน ผู้หญิงต้องไม่ทำ คุณไปทะเลาะหลังบ้านได้ แต่ต้องไม่ทำต่อหน้าคนอื่นๆ ส่วนตัวพี่ไม่ชอบออกสังคม อยู่ในเซฟโซน พี่หลุยส์จะไปไหนก็ไป แค่บอกให้รู้ว่าไปที่ไหน กลับประมาณเวลาไหน อาจติดต่อไม่ได้บ้าง แต่เรารู้ว่าเขาอยู่ไหน แล้วทำงานอะไรอยู่ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องโทร.จิกกัน เขากำลังอัดรายการอยู่ ติดต่อไม่ได้หรอก ถ้าว่างก็จะโทร.กลับเอง ต้องเข้าใจและยอมรับ”
ถึงจะดูเป็นคนใจดี แต่คุณหลุยส์ก็ไม่สบอารมณ์คนที่ชอบยุยงให้เขาทะเลาะกัน
“ผมไม่โกรธคนที่ว่าผม แต่จะโกรธคนที่มาบอก มาบอกเพื่ออะไร ต้องการอะไร ให้ผมไปทะเลาะ ผมต้องไปสนใจไหม ต่างคนต่างไม่คุยกันก็จบ ไม่ชอบก็ไม่มีปัญหา ผมไม่สนเรื่องคนนอกบ้าน ยกเว้นถ้าข่าวสังคมนั้นเป็นเรื่องทางโลกที่เราต้องติดตาม”
ยอดนักวางแผน
คุณหลุยส์มีนิสัยชอบวางแผนตั้งแต่ก่อนแต่งงาน เพื่อมิให้เกิดปัญหากันในภายหลัง สิ่งนี้ถือเป็นเคล็ดวิธีอย่างหนึ่งของความยั่งยืนในชีวิตคู่ได้
“ผมวางแผนก่อนแต่งงานด้วยการคุยกันให้ชัดเจน เช่นจะไม่ยุ่งเรื่องงานของอีกฝ่าย ถ้าผมทำงาน คุณไม่ต้องโทร.หานะ ถ้าผมว่างเมื่อไร ผมจะโทร.ไป หรือมีอะไรให้ฝากข้อความไว้ ถ้าด่วนจริงๆ ให้คนมาตาม เพราะไม่รู้ว่าระหว่างถ่ายรายการผมจะออกมารับโทรศัพท์ได้ตอนไหน เราต้องตกลงกันก่อนว่าอะไรได้ไม่ได้ ไม่งั้นมันจะทะเลาะเถียงกันทั้งวัน”
คุณหลุยส์ย้ำว่าต้องเปิดความจริงตั้งแต่ต้น ไม่มาเผยทีหลังเพราะอีกฝ่ายจะรับไม่ได้ สิ่งไหนที่ไม่ชอบก็รอมชอมปรับตัว บ้านนี้ก็เช่นกันที่ตกลงพูดคุยอย่างเปิดอก มีปัญหาอะไรก็สามารถพูดคุยกันได้เสมอ สิ่งนี้นับว่าเป็นข้อดี รวมทั้งเป็นแรงใจให้ผ่านบททดสอบครั้งแล้วครั้งเล่า
น้องภูมิที่รัก
ในวันสัมภาษณ์เราได้พบ น้องภูมิ (ภูมิสิทธิ์ ทรงแสง) ซึ่งเป็นเด็กหนุ่มที่เติบโตแข็งแรงสดใส ร่าเริงน่ารัก มีมารยาทชวนเอ็นดู เราไม่แปลกใจที่เด็กหนุ่มคนนี้คือผลแห่งการทุ่มเททั้งกายใจจากคุณพ่อคุณแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณเอ ซึ่งตัดสินใจลาออกจากงาน เพื่ออยู่ดูแลลูกเองอย่างเต็มกำลัง คุณหลุยส์เล่าถึงเรื่องราวในครั้งนั้นให้ฟัง
“เรามีลูกยาก ไม่มีลูกมาเกือบสิบปี ไปทำทุกโรงพยาบาลจนครั้งสุดท้ายก็ทำที่ศิริราช ระหว่างท้อง เอเป็นไส้ติ่งแตกพอดี ติดเชื้อ เลยต้องผ่าไส้ติ่งตอนท้องที่โรงพยาบาล พอลูกคลอด ถึงรู้ว่าเป็นออทิสติก ผมมองว่าเด็กขวบสองขวบน่ารักเป็นปกติ จนเริ่มเห็นพฤติกรรมเขาแปลก สองขวบยังไม่พูด เลยพาไปตรวจ หมอบอกไม่เป็นอะไร แล้วมีช่วงที่ลูกไม่สบาย เลยพาไปโรงพยาบาลเด็กโดยตรง หมอก็บอกว่าน้องเป็นออทิสติกนะ แต่แปลกที่ไม่มีอาการรุนแรงเลย ไม่โวยวาย ไม่กรีดร้อง มีสิทธิ์เป็นไปได้ว่าเป็นผลจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ เอดูแลลูกดีมาก ลูกเป็นเด็กที่อารมณ์ดี (ยิ้ม)”
คุณเอเข้าใจหัวอกพ่อแม่ทุกคนดีว่าเมื่อรู้ต้องผิดหวังเสียใจ ตัวคุณเอเองก็เช่นกัน แต่สิ่งสำคัญคือการรีบตั้งสติและยอมรับว่าลูกเราเป็นแบบนี้ เพื่อจะได้รักษาอย่างทันท่วงที
“บางสิ่งบางอย่างอาจไม่ต้องใช้เงินมาก แต่ต้องมีความใส่ใจเป็นเรื่องสำคัญ มีเวลาให้เขาเต็มที่ บางทีต้องไปเล่นร่วมกับลูก พี่อยากให้ทุกคนที่รู้ว่าลูกเราเป็นเด็กพิเศษ หรือเด็กพิการ ต้องใส่ใจดูแลให้ความรักค่ะ เด็กกลุ่มนี้ถ้าส่งเสริมหรือกระตุ้นอย่างถูกจุด บางคนอาจเป็นอัจฉริยะได้ แต่ถึงไม่ใช่ เราก็มีความสุขเล็กๆ ว่าลูกเราเป็นคนไม่คิดร้ายกับใคร มีจิตที่บริสุทธิ์ ทำอะไรแล้วมุ่งมั่น สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ต้องไม่ท้อ ไม่ทอดทิ้งเขาเด็ดขาด”
“ลูกผมปั่นจักรยานในหมู่บ้านทุกวัน คนในหมู่บ้านรักเขา กลับบ้านมีขนมมาตลอด เขาทักทายทุกคน อารมณ์ดี จำคนแม่น พ่อแม่ทุกคนที่มีลูกแบบนี้ อย่ามัวแต่ทำใจครับ ไม่งั้นจะท้อและถดถอย เลี้ยงเขาเหมือนเด็กปกติ เรารักเขาอยู่แล้ว ก็รักให้มาก อย่าไปตีเลย ตีไปสิบทีเขาแค่ตกใจ ไม่รู้ว่าทำอะไรผิด เขาจะช็อก ประมวลผลไม่ได้ ตีให้ตายก็ไม่รู้เรื่อง ให้ความรักเยอะๆ แทน เขาจะเชื่อใจเรา ฟังเรา ค่อยๆ สอน ที่บ้านคอยสอนตลอด ถึงเวลาเขาจะทำตามสิ่งที่สอนไว้ เช่นปิดไฟ เปิดแอร์ ฝนตกปิดประตู เราฝึกได้แค่ช้าหน่อย ผมรู้ว่ามีหลายคนที่รับไม่ได้ แต่ถ้าคุณรักลูก ต้องไม่อาย ลูกเราไม่ได้ไปฆ่าใคร ชีวิตครอบครัวเราไม่ต้องไปสนใจคนอื่นที่ไม่รู้จัก จะไปสนคนที่มาว่าทำไม”
ทั้งสองยืนยันว่า เด็กกลุ่มนี้รับรู้ถึงความรักที่พ่อแม่คนรอบข้างมีให้ และจะตอบแทนรักนั้นด้วยความบริสุทธิ์ใจอย่างมาก
พลังบวกของบ้านทรงแสง
เมื่อเราถามว่าสิ่งสำคัญของชีวิตคู่คืออะไร คุณเอก็ตอบว่าการเข้าใจและพูดคุยกันได้ทุกเรื่อง ยิ่งเรื่องลูก ความกังวลต่างๆ ถาโถม แต่การที่สามีเป็นคนมองโลกแง่ดี ก็ช่วยปรับเปลี่ยนมุมมองของคุณเอให้กว้างขึ้น
“พี่เป็นคนจริงจัง แต่ก่อนตั้งเป้าหมายในเรื่องลูกไว้มาก ตั้งแต่ตอนเตรียมมีลูก วางแผนว่าต้องเรียนที่ไหนอย่างไรจนถึงมหา’ลัย แล้วถ้าลูกเป็นเด็กหลังห้อง ฉันคงรับไม่ได้ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าถอยไปเยอะ เป็นเด็กนอกห้องโน่น”
ทั้งคู่พากันหัวเราะแล้วกอดลูกชายที่รักเอาไว้แน่น เป็นเสียงหัวเราะที่สดใสมีพลัง
“ถ้าไม่ใช่พี่หลุยส์ พี่อาจมาไม่ถึงจุดนี้ เพราะท้อใจ ผิดหวังมาก แต่พี่หลุยส์กระตุ้นให้มีกำลังใจ บอกว่าดูสิ เด็กบางคนที่อ่อนแรง พ่อแม่ต้องแบกมาหาหมอ หรือมาจากต่างจังหวัด ต้องเตรียมตัวล่วงหน้าหนึ่งวันเพื่อฝึกกิจกรรมบำบัดหนึ่งชั่วโมง พี่หลุยส์บอกว่าลูกเราวิ่งด้วยตัวเองได้ พูดได้ บอกรักเราได้ หูได้ยินว่าเราบอกรักเขา ไม่ได้อยู่ในรถเข็นตลอดเวลา แค่นี้ก็ดีมากแล้ว เพราะพี่หลุยส์เป็นคนแบบนี้ เราก็มีกำลังใจขึ้น (ยิ้ม) ได้ไปเข้ากลุ่มเพื่อศึกษา การเข้ากลุ่มสำคัญนะคะ อย่างผู้ปกครองที่เจอก็มีลูกที่ป่วยแต่อาการอาจต่างกัน เราก็คุยกันว่าจะช่วยแก้ยังไง แลกเปลี่ยนความรู้ เป็นแนวทางให้เราได้มาฝึกลูกด้วย”
“ปัญหามีทุกคู่ครับ ไม่ว่ารวยหรือจนต้องเจอเรื่องท้อใจ ผมถึงบอกว่าต้องเข้าใจกันให้มาก ยิ่งท้อเท่าไร ยิ่งต้องเข้าหาคนที่เราสามารถคุยกับเขาได้ว่าเราท้อ แล้วช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ผมเป็นกำลังใจให้พ่อแม่ทุกคนที่มีลูกแบบเราครับ”
“อยากให้ลองมองในแง่บวกค่ะ เมื่อมีลูกแบบนี้ เขาก็ไม่ฝักใฝ่สิ่งไม่ดีแน่ๆ ไม่หันหายาเสพติด ไม่ออกไปแข่งรถ หรือหนีเที่ยว ติดเพื่อน เพราะลูกจะขลุกอยู่กับบ้านกับครูที่โรงเรียน พ่อแม่สบายใจได้ แต่สิ่งที่ห่วงก็มี เราไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นยังไง ถ้าวันข้างหน้าเราไม่อยู่แล้วละ ดีที่ญาติพี่น้องของพี่หลุยส์เยอะ เราพาลูกไปหาตลอด ก็ฝากฝังไว้”
“ผมบอกไปว่าถ้าวันหนึ่งพวกเราไม่อยู่ ก็ฝากหลานด้วย ยกสมบัติให้หมด ขอแค่ดูแลภูมิก็พอ เคยพูดเล่นๆ ว่าใครมายอมเป็นเมียภูมิจะยกสมบัติให้หมด จะไปมีสามีใหม่ก็ได้ แต่ขอให้เลี้ยงเขาต่อ (หัวเราะทั้งคู่)”
ละลายกำแพงเพียงแค่พูดคุย
“พี่หลุยส์เป็นคนคุยได้บอกได้ทุกเรื่อง ถ้าคุยกันได้อย่างนี้ ชีวิตคู่ก็จะไปต่อได้”
“ถ้าอยากมีชีวิตคู่ที่ดี ต้องไม่ยุ่งเรื่องครอบครัวใคร ยุ่งเรื่องครอบครัวเราพอ แม้กระทั่งเพื่อนมาปรึกษา ผมบอกว่ากลับไปคุยกันเอง อย่าไปตัดสินชีวิตคนอื่น เพราะเราไม่ได้นอนกับเขา เพื่อนมาเล่าอาจไม่ดีก็ได้ พวกเขาเลือกอยู่กันเองแต่แรกแล้ว มันเป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา ประคองชีวิตเราให้ดีก็พอ บางทีที่เขาไม่ทำนั้นมีเหตุผล การใช้ชีวิตคู่ไม่ยากหรอก แต่ละคนมีมุมมองของตัวเอง คนเราต่างความคิดกันอยู่แล้ว แต่ทำยังไงให้อยู่ด้วยกันได้”
ในยุคที่สื่อสารกันง่ายกว่าการเขียนจดหมายเสียบกระถางต้นไม้รออีกฝ่ายมาตอบ บางครั้งความสะดวกเกินไป อาจทำให้เราขาดความอดทนจนลืมนึกถึง “ใจเขาใจเรา” ก็เป็นได้
32 ปีที่ผ่านมาและอีกหลายสิบปีต่อจากนี้ไป
ต่อคำถามสุดท้ายที่เราขอให้ทั้งสองคนได้เปิดใจ คุณหลุยส์ยิ้มกว้างตอบเสียงดังฟังชัดว่า
“ถ้าผมแต่งกับผู้หญิงคนอื่น ชีวิตผมอาจไม่ประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ เพราะผมไม่เก่งเรื่องหนังสือ ระบบต่างๆ ต้องติดต่อประสานงานยังไง เขาช่วยเราให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้ ดูแลเรื่องเงิน เรื่องครอบครัว บริหารจัดการได้ ช่วยกันสร้างอนาคต บางทีสิ่งของบางอย่างผมอยากได้เองนะ เช่น ซื้อรถให้เขา เขาไม่รู้เรื่องเลย ผมก็ให้เขาด่าไป (ยิ้ม) คือเอต้องดูแลลูก ส่งลูก ต้องคอยนั่งแท็กซี่ไป เวลาฝนตกก็ลำบาก แล้วยุคหนึ่งมีข่าวเด็กเสียชีวิตในรถโรงเรียน ก็กลัวสิ แล้วลูกเราไม่ปกติ เกิดเรื่องขึ้นมาจะแจ้งยังไง เลยซื้อรถให้ ทั้งที่เขาขับไม่เป็นนะ ก็หัดขับในหมู่บ้านเนี่ยแหละ”
“จู่ๆ ขับมาจอดไว้แล้วบอกว่าเธอต้องขับนะ ถ้าเธอไม่ขับก็ทิ้งไว้เนี่ยแหละ ต้องฝึกนะ แต่ฉันขับรถไม่เป็น (หัวเราะทั้งคู่)”
ส่วนสิ่งที่คุณเออยากพูดถึง คือความใจดีของสามีซึ่งเป็นทั้งข้อดีที่รักและข้อด้อยที่ห่วง
“พี่หลุยส์ให้ใจเต็มที่เวลาทำงาน ใครขอความช่วยเหลือก็ช่วยสุดตัว เลยห่วงว่ามันอาจไม่ชอบมาพากล กังวลว่าจะถูกหลอกหรือเปล่า กลัวโดนเอาเปรียบ กลัวไม่รอบคอบ”
คุณหลุยส์ขอเสริมถึงความดีของภรรยาคู่ยากที่เขาอยากเล่าให้ใครต่อใครได้ฟัง
“ตลอดเวลาที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ เอยอมรับการตัดสินใจของผมเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี บางครั้งผมทำอะไรก็มัดมือชกเขาเลย อย่างเปิดร้านอาหาร ‘อุดมชวนชื่น’ ก็ไม่บอกเขาก่อนนะ (หัวเราะ) เพราะผมรู้ว่าเขาไม่หักหน้าผมต่อหน้าใคร”
“ไม่คิดว่าจะมีเงินไปเปิด (หัวเราะ) แล้วเขาก็เฉยมาก จนมารู้เนี่ยแหละ แถมบอกว่าเปิดต่อไม่ได้ถ้าเราไม่ช่วยมาดูแล คือพี่หลุยส์ไม่ถนัดเรื่องระบบการเงิน ส่วนพี่เป็นคนไม่เข้าสังคม ร้านอาหารเป็นสถานบริการที่ต้องเทคแคร์ลูกค้า พี่ทำไม่ได้ และไม่รู้เลยว่าระบบบัญชีต้องทำยังไง แต่เขาอยากให้ลองทำดู ที่ผ่านมาพี่หลุยส์เปลี่ยนพี่หลายอย่าง เราสองคนยากตั้งแต่เริ่มต้น พ่อแม่พี่เหมือนทดสอบเขาด้วย แล้วพี่ก็แคร์ความรู้สึกพ่อแม่ด้วย เลยยากตั้งแต่คบจนถึงแต่งงาน เรื่องลูกก็ยากอีก พี่หลุยส์มีผลกับการเปลี่ยนชีวิตพี่มาก พี่เป็นคนเซฟโซน ไม่ปาร์ตี้ ไม่สังคม บางคู่ต้องคนสไตล์คล้ายกันถึงจะเข้าใจกัน แต่เรากลับคนละขั้ว ต้องใช้ความเข้าใจและการพูดคุยกัน มีการให้อภัย ดังนั้นความใจดีของพี่หลุยส์จึงถ่ายเทมาถึงพี่ด้วย”
“เอางี้ บ้านนี้ไม่เคยรับแขก ผมเล่นตลกมาสามสิบกว่าปีบางคนยังไม่รู้จักบ้านผมเลย แล้วผมไม่ได้บอกเขาก่อนด้วยนะว่าจะมีสัมภาษณ์ มัดมือชกเลย”
คุณหลุยส์หัวเราะเสียงสดใส เป็นการปิดท้ายสัมภาษณ์ที่ทำเอาพวกเราคาดไม่ถึงจริงๆ.
ฝากความเข้าใจถึงคุณพ่อคุณแม่ทุกคน
“ต้องรีบรู้ตัวให้เร็ว เด็กกลุ่มนี้มีระยะเวลาการฝึก ยิ่งอายุน้อยยิ่งพัฒนาไว ถ้าไม่กระตุ้นโตไปจะเฉื่อย ให้คุณหมอดูว่าน้องอยู่กลุ่มไหน เพราะมีออทิสติก มีดาวน์ซินโดรม แล้วออทิสติกยังมีแยกไปอีกหลายกลุ่ม คุณหมอจะได้ให้ข้อมูลในการฝึกกระตุ้นที่ถูกต้อง จะดูได้ว่าลูกเราอ่อนทางด้านไหน กระตุ้นให้ตรงจุด ก่อนเข้าเรียนควรฝึกทักษะการใช้ชีวิต เพราะถ้าลูกยังไม่มีสมาธิก็เริ่มเรียนไม่ได้ และต้องดูว่าลูกไปได้แค่ไหน ถ้าเรียนกับเด็กปกติได้ เราเรียกว่าเรียนร่วม บางเคสอาจมีครูไปประกบ ถ้าไม่ได้เรียกว่าเรียนคู่ขนาน โรงเรียนจะมีแต่กลุ่มเด็กพิเศษ หลักสูตรจะเขียนขึ้นมาเฉพาะเด็กแต่ละคน ในห้องมีสิบคน มีหลักสูตรไม่เหมือนกัน แล้วแต่นักเรียน
สำหรับโรงเรียนของเด็กด้านนี้ ครูจะรู้ว่าต้องกระตุ้นอะไรบ้าง อารมณ์ สังคม ร่างกาย จิตใจ ฝึกการใช้ชีวิตประจำวัน เด็กบางคนที่อาการหนัก ครูต้องจั๊กจี้เอวถามว่าชอบใจไหม หัวเราะสิคะ เขาไม่รู้ว่าอารมณ์ข้างในตัวคืออะไร น้องภูมิก็เป็น ตอนคุณพ่อไปรับดีใจ แต่นอนร้องไห้ ไม่รู้จะแสดงออกยังไง เราต้องฝึกใหม่ พอพ่อมาก็บอกเขาว่าไม่ร้องไห้นะ แล้วจับมือปรบมือแทน บอกพ่อมาแล้ว ให้รู้ว่านี่คือดีใจ เด็กบางคนไม่รู้แม้กระทั่งรสชาติ ครูก็ฝึกให้รู้จัก เอาเกลือ กาแฟ สอนว่านี่คือเค็ม นี่คือขม น้ำตาลคือหวานนะ แล้วปัญหาส่วนใหญ่คือพูดช้าหรือไม่พูด ต้องฝึกให้พูด และต้องดูด้วยว่าหูได้ยินหรือเปล่าถึงไม่พูด หรือบางคนเกินกว่าปกติ อย่างที่เห็นเด็กนั่งปิดหู เพราะได้ยินมากกว่าเรา เลยมีความเครียด ที่เขาแสดงออกรุนแรงเพราะเขาบอกเราไม่ได้ ถ้าเขาบอกได้ จะผ่อนคลายลง
โรงเรียนเป็นสิ่งสำคัญ แต่โรงเรียนสำหรับเด็กกลุ่มนี้ยังมีน้อยอยู่ จึงต้องปรึกษาและช่วยเหลือพร้อมกันสามด้าน โรงเรียน คุณหมอ และผู้ปกครอง ขาดไม่ได้เลยค่ะ”
HUG MAGAZINE
รักไม่รู้จบ
เรื่อง : มาศวดี ถนอมพงษ์พันธ์
ภาพ : อนุชา ศรีกรการ
รักไม่ต้องการเวลา : แนท-ณัฐชา & เป๊ก-รัฐภูมิ
อาจเป็นเพราะความเข้ากันได้ดี และความรู้สึกดีๆ ที่มีให้กัน…