สูญเสียแต่ไม่เสียสูญ

ในช่วงเวลาที่โควิด-19 ระบาดหนักจนเกิดความสูญเสียอย่างมากมาย ทั้งกับตัวเองและคนรอบข้าง ข่าวสารต่างๆ ส่งผลกระทบต่อผู้คนให้รู้สึกเศร้าสลดหดหู่อึมครึม หลายคนเลยตั้งคำถามว่าเมื่อไรสิ่งเหล่านี้จะจบสักที ควรทำเช่นไรต่อไป และถ้าฉันมีความสุขจะผิดไหม

“ความรู้สึกในสภาวะสูญเสียเป็นอารมณ์ที่เข้มข้นมากๆ ความรู้สึกเศร้า ความอยากได้สิ่งที่สูญเสียไปกลับคืนมา ความกังวลว่าจะต้องทำอย่างไร ความโกรธต่อสิ่งที่เกิดขึ้น โกรธการบริหารจัดการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โกรธคนที่นำเชื้อมาติดคนที่เรารัก หรือโกรธคนที่เป็นสาเหตุของการสูญเสียหน้าที่การงาน หรือไม่รู้จะโกรธใครก็โกรธสถานการณ์นี้ กระทั่งโกรธตัวเองที่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้สูญเสีย เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นได้”

นั่นคือคำอธิบายจาก คุณกวีไกร ม่วงศิริ นักจิตวิทยาการปรึกษาประจำศูนย์บริการปรึกษา Knowing Mind Center และบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาไมตรี ถึงหนึ่งในสาเหตุที่ข้างในหัวใจใครหลายคนมืดมนหม่นหมองหนักอึ้งนัก

 

ความสูญเสียหลากหลายรูปแบบ

“ถ้าพูดถึงการสูญเสียมักจะนึกถึงชีวิต แต่ในช่วงโควิดก็มีหลายอย่าง บางคนสูญเสียสิ่งที่ไม่ใช่บุคคล เป็นหน้าที่การงาน โอกาสต่างๆ ความรู้สึกปลอดภัย ความมั่นใจในชีวิต หรือกระทั่งสูญเสียการดำเนินชีวิตอย่างปรกติ ที่เราเรียกว่า normal แล้วก็มีการยกคำว่า new normal ขึ้นมาแทน ถือได้ว่าสูญเสียในทุกพื้นที่

“คงไม่มีสูตรสำเร็จว่าการรับมือแบบไหนดีที่สุด หรือใช้ได้ผลกับทุกคน ผมก็อึดอัดเหมือนกันที่จะพูดคำนี้ แต่ข้อแรกคือการยอมรับให้ได้ครับ ให้มองว่าสิ่งไหนอยู่ในอำนาจที่เราจัดการได้บ้าง และแน่นอนว่าต้องมีสิ่งที่อยู่นอกขอบเขตด้วยเช่นกัน ส่วนที่จัดการไม่ได้จริงๆ เราจำต้องยอมรับมัน ซึ่งไม่ได้น่าพึงพอใจหรอกนะ และเมื่อยอมรับสถานการณ์แล้ว ก็ต้องยอมรับในความรู้สึกของเราด้วย”

 

การหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดด้วยการโกรธ?

“ความโกรธเป็นระยะหนึ่งของกระบวนการปรับตัวกับการสูญเสีย ทีแรก เราจะปฏิเสธก่อนว่าไม่อยากให้ความสูญเสียนี้เกิดจริง แต่พอเกิดขึ้นแล้ว เราก็จะรู้สึกโกรธทุกสิ่งที่เกี่ยวข้อง ก็ถึงขั้นต่อรองว่าเป็นไปได้ไหมที่จะไม่ให้เกิดขึ้นจริง เช่นสวดมนต์ขอ พอต่อรองไม่ได้ ก็เข้าสู่ความเศร้า อาการเศร้าจะคงอยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน ค่อยไปสู่การเยียวยา บางคนอาจเป็นการเลี่ยงเผชิญกับความเจ็บปวด หรืออาจเป็นกระบวนการทางร่างกายที่ระบายความรู้สึกออกมา ขอให้มองว่าความโกรธเหล่านี้เป็นวิธีการหนึ่งของการรับมือและเผชิญการสูญเสีย

“สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้เป็นสถานการณ์ที่น่าเห็นใจมาก เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในไม่กี่วัน ถ้าเป็นมะเร็งยังมีเวลาอีกหลายเดือน หลายปี ให้ปรับตัวยอมรับการจากลา มีช่วงเวลาทำสิ่งดีแก่กัน แต่สำหรับโควิด-19 คนในครอบครัวอยู่ตรงหน้า แต่เข้าไปอุ้มสัมผัสไม่ได้ เยี่ยมไม่ได้ แถมจากไปแล้วขั้นตอนพิธีกรรมต่างๆ ยังสั้นอีก ต้องเผาอย่างเดียว เราไม่สามารถจัดการอะไรได้เลย ที่พอทำได้คือความเชื่อตามศาสนา แต่ละศาสนามีพิธีกรรมในแบบเฉพาะ คนไทยก็ทำบุญ คนจีนก็เผากระดาษเงินทองไปให้ คาดหวังว่าผู้ที่อยู่ในภพภูมิจะได้รับสิ่งที่เราส่งไปให้ ก็คลายใจเราส่วนหนึ่งเหมือนกัน

วิธีที่ต้องผ่านไปให้ได้

“ความยากคือเส้นทางที่ไปสู่การยอมรับ แบบเร็วๆ คงมีสามรูปแบบ หนึ่ง การเลี่ยงเผชิญหน้า เพราะการเผชิญความเศร้าที่เข้มข้น มันยากนะ หลายคนใช้วิธีหาบางสิ่งทำ เพื่อดึงดูดความสนใจนี้ออกไป เศร้ามากก็ทำงานเยอะขึ้น ไปเล่นเกม ดูซีรี่ส์ หรือเลือกไม่ทำอะไรเลย สอง การหาแหล่งซัพพอร์ตทางใจ โทร.หาเพื่อน ญาติ หรือแม้แต่จิตแพทย์ เพราะสิ่งที่เขาต้องจัดการคืออารมณ์ความรู้สึกของเขาเอง และสาม อยากอยู่กับตัวเอง ไม่สุงสิงกับใคร อยู่กับความรู้สึกตรงนี้ให้เต็มที่ ซึ่งทั้งสามอย่างนี้ไม่มีวิธีไหนเรียกว่าผิดหรือถูก คนคนหนึ่งทำแล้วรู้สึกเศร้าเบาลง แต่อีกคนเลี่ยงเผชิญครั้งแล้วครั้งเล่า แต่นึกถึงทีไรก็ยังรู้สึกเศร้าเท่าเดิม บางคนหาแหล่งซัพพอร์ตแล้วไม่หาย แถมยังรู้สึกผิดอีกที่เอาปัญหาไปให้เพื่อนซึ่งอาจจะเหนื่อยล้ากับปัญหาที่คล้ายกัน บางคนอยู่กับตัวเองจนจมดิ่งยิ่งกว่าเดิม

“คนมักพูดกันว่าให้ยอมรับสิ จะทำได้ทันทีไม่ได้หรอก หรือผ่านมาหลายปีแล้วยังยอมรับไม่ได้ซักที ต้องทำยังไง คือต้องตระหนักถึงความทุกข์ใจของเราก่อน ว่ากำลังเศร้าเสียใจ โกรธขุ่นเคือง เครียดในเรื่องนี้ แสดงว่ากำลังเผชิญปัญหาบางอย่างอยู่ บางปัญหาก็ใช้วิธีอื่นจัดการได้ อย่างที่เรียกว่าขับเคลื่อนด้วยการด่า (หัวเราะ) บางอย่างเราไม่ต้องยอมรับเสมอไป แต่ต้องตระหนักว่าเรื่องนี้อยู่นอกขอบเขตการจัดการของเราจริงๆ

“คำแนะนำคือ อนุญาตให้ตัวเองมีความรู้สึกเหล่านี้ได้ ในช่วงโควิด-19 นี้ เราต้องแบกรับและเผชิญอะไรมาหลายอย่างตั้งแต่ยังไม่สูญเสียแล้วครับ เช่นเรื่องงาน เรื่องเงิน หรือจะได้ฉีดวัคซีนไหม จะติดไหม มีความเครียดกังวลเกิดขึ้น จึงไม่แปลกที่ความรู้สึกจะดิ่งลงมากๆ อยากให้ทุกคนทราบว่าแม้ตอนนี้คุณจะรับมือมันไม่ได้ แต่เราทุกคนกำลังอยู่ในกระบวนการของการรับมือและปรับตัว สภาวะนี้ไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป มันแค่ชั่วคราว แต่สั้นยาวของแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน บางทีการอนุญาตให้ตัวเองได้รู้สึกถึงความเศร้าบ้าง สัมผัสมันบ้าง ก็จะได้ปลดเปลื้องมันออกไปจากใจ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าอยากจะเลิกเศร้าหรือลืมมันเสียหน่อย เศร้าต่อไปแต่ดูแลคนอื่นได้ด้วย หรือทำงานต่อไปได้ด้วย การจมอยู่กับความเศร้าไม่ใช่เรื่องผิดครับ

“เช่นสูญเสียคุณพ่อไป ไม่อยากให้เกิดขึ้นเลยเศร้า รู้สึกผิดที่ยังทำบางอย่างให้พ่อไม่ได้ และเสียดายในฐานะคนเป็นลูก สิ่งเหล่านี้ยังอยู่ แต่ถ้าเริ่มไม่โอเคเลยที่ยังเศร้าอยู่ แสดงว่ามีอย่างอื่นไม่เกี่ยวกับเรื่องพ่อเข้ามาแล้วนะ อาจเป็นเรื่องงาน เรื่องแม่ พี่น้องคนในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากความเศร้าของเราด้วย เมื่อเห็นประเด็นนี้ ให้กลับมาดูว่าเรายังทำอะไรได้บ้าง เพราะคุณไม่สามารถให้คุณพ่อกลับมามีชีวิตได้ แต่ครอบครัวที่อยากดูแล หน้าที่การงานที่อยากก้าวหน้า คือสิ่งที่เรายังลงมือทำได้ครับ”

เมื่อคนเริ่มด้านชาต่อความสูญเสียที่มากขึ้น

“การพยายามทำใจให้ด้านชาเพราะไม่อยากเศร้าไปกว่านี้ ก็อาจเป็นการรับมือในอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ถ้าเราทำใจให้ด้านชา แล้วสามารถดำเนินชีวิตประจำวันต่อไปได้ แต่ต้องคอยสังเกตว่าเรากำลังกดทับความรู้สึกของตัวเองอยู่ไหม การกดทับความรู้สึกถ้าเป็นระยะสั้นๆ ก็คงได้ แต่ถ้านานไปก็อาจส่งผลด้วยเช่นกัน เราอาจไม่เผชิญความเศร้า แต่หดหู่แทนในแต่ละวัน ไม่อยากทำอะไร เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ แล้วใครทำอะไรนิดหน่อยก็ไม่พอใจ แสดงว่าส่งผลกระทบแหละ คงไม่ใช่วิธีที่ดีแล้ว”

 

เมื่อความเศร้าหนักหน่วงจนสิ้นหวัง

“กว่าคนคนหนึ่งจะถึงจุดที่รู้สึกว่าสิ้นหวัง ให้อภัยตัวเองไม่ได้จนอยากฆ่าตัวตาย คงมีความซับซ้อนรายละเอียดในปัญหานั้น สิ่งหนึ่งที่ผมพอจะชวนทำได้ คือขอให้ลองมองเรื่องราวโดยเปรียบเทียบว่าถ้าเพื่อนสนิท หรือคนที่เราห่วงใย ตกอยู่ในสถานการณ์นี้ เราอยากจะบอกกับเขาว่าอะไร

“เพื่อนนักจิตวิทยาท่านหนึ่งเคยบอกผมไว้ และผมก็ชอบคำนี้ของเขานะ ว่าบางทีเราใจดีได้กับคนทั้งโลก แต่เราไม่อาจอ่อนโยนกับตัวเองได้ ถ้าคิดว่าฉันสิ้นหวังแล้ว ทุกคนเสียชีวิตแล้วทำไมฉันรอดอยู่คนเดียว คิดว่าการตายคือทางออก สมมติถ้าคนที่กำลังรู้สึกอยู่นี้คือเพื่อนสนิทที่เราแคร์และห่วงใย ก็จะเริ่มรับรู้ในมุมที่ต่างออกไป จะอ่อนโยนกับตัวเองได้ แต่สำหรับบางคนที่จมกับความรู้สึกนี้มากๆ การเข้าถึงแหล่งช่วยเหลือที่เป็นนักวิชาชีพถือเป็นทางออกที่สำคัญครับ”

 

เมื่อสูญเสียแต่อ่อนแอไม่ได้?

“การต้องฝืนเพราะเป็นเสาหลักของครอบครัว คิดว่าเป็นผู้เดียวที่ต้องแบกภาระหน้าที่รับผิดชอบทุกอย่างเอาไว้เอง อาจถึงเวลาต้องตระหนักแล้วว่าเราฝืนไปต่อไม่ไหวแล้วนะ มันอาจส่งสัญญาณมาทางความรู้สึก หรือร่างกาย ตื่นมาไม่อยากทำอะไรเลย เหนื่อยล้า คิดอะไรไม่ออก ต้องมาประเมินกันใหม่ ตกลงอยากฝืนเพื่อให้เป็นเสาหลักได้ แต่ฝืนแล้วกลายเป็นเสาที่กำลังล้มลงหรือเปล่า คิดว่าตัวเองเป็นหัวหน้าครอบครัว ต้องแบกความรู้สึกตัวเองฝ่ายเดียว ผมพบว่าหลายๆ คนพอได้เปิดเผยความรู้สึกกับคนในครอบครัว พบว่าครอบครัวเข้าใจ หรือพร้อมและยินดีแบกภาระร่วมกัน ถ้าบางคนไม่สามารถทำแบบนั้นได้จริง ก็มองหาแหล่งช่วยเหลืออื่นๆ เช่นเพื่อนที่วางใจ สายด่วนที่สาธารณสุขมีให้ หรือบริการทางจิตวิทยา นักจิต หรือจิตแพทย์ เพราะต้องกลับมาที่เป้าหมายว่า อยากเป็นเสาหลัก แล้วสิ่งที่ทำอยู่ทำให้เราสามารถยืนหยัดเป็นเสาหลักได้จริงไหม

“ในสังคมไทย ผู้ชายถูกโยงเข้ากับความเข้มแข็ง สิ่งที่อยู่ขั้วตรงข้ามคือความอ่อนแอ สำหรับคนที่เชื่อในแนวคิดนี้ ผมคงไม่สามารถพูดว่าผู้ชายก็อ่อนแอได้นะ ไม่ต้องเข้มแข็งเสมอไป เพราะจะไปขัดกับสิ่งที่เขาเชื่อถือ ทัศนคตินี้คงไม่ใช่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายเช่นกัน

“ถ้าให้เปรียบเทียบ สมมติเพศชายเป็นนักรบ ต้องเจอศึกที่ไม่มีจุดจบ บางคนเจอปัญหาเศรษฐกิจ บางคนกังวลว่าได้ฉีดวัคซีนหรือยัง แล้วที่ฉีดมีประสิทธิภาพพอไหม จนถึงปัญหารอบตัวที่ขึ้นลงเป็นรายวัน เป็นนักรบที่ต่อสู้จนสะบักสะบอม บาดเจ็บ เสบียงพอบ้างไม่พอบ้าง ศัตรูก็ไม่หมดซักที ระยะทางอีกไกลจนไม่รู้ว่าสงครามนี้จะจบลงตรงไหน ถ้าผมบอกว่านักรบคนนี้จะต้องไม่รู้สึกอ่อนล้าเลย มันเป็นไปได้จริงหรือ มันยุติธรรมกับนักรบคนนั้นหรือครับ

“เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าต้องเข้มแข็งตลอดเวลา หรือห้ามอ่อนแอ และที่เกิดความคิดนี้ แสดงว่าเรากำลังอยู่ในภาวะที่อ่อนแอแล้วละ เพราะถ้าไม่อยู่ในสภาวะนั้นเราเองคงไม่คิดอย่างนี้ ถ้าอยากเป็นนักรบที่เข้มแข็งเราต้องการอะไร ต้องการได้พัก น้ำ เสบียง เปรียบเหมือนการมีแหล่งซัพพอร์ตจิตใจ เพื่อที่จะได้กลับมาเข้มแข็ง ถึงเราจะอยู่ในภาวะที่อ่อนแอ แต่ก็ยังเพียรพยายามสู้และไปต่อ พอไม่ไหวแล้วก็ต้องพัก อิงแอบเพื่อนสนิท คนในครอบครัว หรือคู่รัก เพื่อเติมพลังใจให้เดินต่อได้ รู้ว่าใจเราอยากสู้นะ อยากพาครอบครัวผ่านพ้นวิกฤตินี้ เป็นการสัมผัสความเข้มแข็งของใจตัวเองเหมือนกัน”

 

ความช่วยเหลือสำหรับผู้สูญเสีย

“ไม่มีกฎตายตัวว่าคำไหนห้ามใช้ หรือคำไหนได้ผลดีอย่างแน่นอน เพราะที่ผมเคยเจอมา ไม่ใช่ทุกคนจะรู้สึกแย่กับคำว่าสู้ๆ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะรู้สึกดีกับคำนี้เช่นกัน ต้องสังเกตว่าคนที่เราสื่อสารด้วยมีท่าทียังไงบ้าง ตระหนักถึงขอบเขตบทบาทของเราว่า เรามีความเข้าใจมากพอที่จะช่วยเหลือให้เขาดีขึ้นได้จริงหรือเปล่า อย่างผมทำงานจิตวิทยาศึกษา ต้องตระหนักเสมอว่าคนที่มาคุยกับผม ไม่ใช่ดีได้ด้วยผมเพียงปัจจัยเดียว ขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย การพูดคุยอาจทำให้ดีขึ้นเพราะได้ระบาย พอระบายก็เลยเห็นว่าเขายังมีแหล่งช่วยเหลืออยู่นะ หรือระหว่างที่คุยกัน เขาอาจได้ไปเจอแหล่งช่วยเหลืออื่นๆ ที่จะเข้ามาแก้ปัญหา

“สิ่งหนึ่งที่ช่วยได้ดีสุดคือต้องไม่หวังผลว่าจะทำให้เพื่อนดีขึ้น ให้คำนึงผลลัพธ์ว่าจะทำอย่างไรให้มีความรู้สึกที่ดีต่อกัน พอเราอยากให้เขาดีขึ้น ก็จะสรรหาวิธีต่างๆ ได้เอง เราไม่สามารถควบคุมให้ใครเลิกเศร้าได้ ถ้าอยากช่วยเหลือจริงๆ เริ่มด้วยการสื่อสารความห่วงใยง่ายๆ เช่นแสดงความเสียใจเป็นห่วง ถ้ามีอะไรให้ช่วยเหลือ สามารถบอกเราได้นะ ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็พร้อมยินดีช่วยเหลือ ผมว่าสิ่งนี้ปลอดภัยนะ เพราะไม่ต้องบังคับให้ใครคิดหรือเชื่อตามอะไร แล้วสื่อได้ด้วยว่าเราเป็นอีกคนหนึ่งในชีวิตเขา ที่ยังห่วงใยเขาอยู่ครับ”

 

แสงสว่างกลางความมืด

“ในสถานการณ์โควิด-19 ตอนนี้ ถ้าจะมองหาแสงสว่าง คงไม่เจอ แต่ไม่ได้แปลว่าโลกใบนี้จะไม่มีจุดที่พอเป็นแสงสว่างให้เราได้เลย เหมือนอยู่ชิดกำแพง ข้างหน้ามีแต่ข่าวการติดเชื้อโควิด-19 รายวัน ดูหดหู่ ถ้าถอยออกมาหน่อยจะเริ่มเห็นภาพรวมสถานการณ์นี้มากขึ้น อาจได้เห็นผู้คนที่มาร่วมด้วยช่วยกัน เห็นความพยายามทุ่มเทของบางหน่วยงาน การช่วยเหลือเด็ก ผู้สูงอายุ คนที่ยังหาเตียงไม่ได้ ช่วยได้ทัน ก็รู้สึกปีติปลื้มใจยินดี ถอยออกมาอีก ก็อาจได้เห็นสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับโควิด-19 อย่างเหตุการณ์ Popcat ซึ่งคนไทยร่วมกันกดจนได้ที่1 ในแง่หนึ่งอาจดูไร้สาระ แต่นั่นก็เป็นหนึ่งหรือสองนาทีที่ทำให้เรารู้สึกว่าวันนี้มันยิ้มได้เหมือนกันนะ อาจไม่ได้แก้ปัญหา แต่เป็นการดูแลสภาพจิตใจของเราด้วย”

“ถ้ารู้สึกถึงความเหนื่อย อ่อนแอ หดหู่ นั่นคือสัญญาณที่บอกว่ามีสิ่งที่กำลังท่วมท้นเกินไปข้างในใจ ต้องทำอะไรสักอย่างแล้วละ เหมือนเทน้ำออกจากแก้ว เพื่อให้ปลอดโปร่งมากขึ้น แล้วสามารถไปต่อได้ เพราะสถานการณ์โควิด-19 นั้นเป็นศึกระยะยาวครับ”

ถึงทุกคนที่ร่วมเดินทางไปด้วยกัน

“การเผชิญกับสิ่งที่ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดตรงไหนเป็นเรื่องที่ยากจริงๆ เหมือนกับที่ผมเปรียบเทียบไว้ว่าเป็นศึกระยะยาว สิ่งจำเป็นสำหรับศึกระยะยาวคือเสบียงเพื่อให้มีเรี่ยวแรงยืนหยัด ในกรณีนี้อาจแจกแจงได้เป็นเสบียงสำหรับกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ เสบียงทางกายคือการดูแลร่างกายให้สมบูรณ์พร้อมเท่าที่พอจะเป็นไปได้ การกิน นอน ออกกำลัง เสบียงทางใจคือการดูแลอารมณ์ความรู้สึกด้วยวิธีต่างๆ เช่น มีช่วงพักความคิดจากงาน พักผ่อนหย่อนใจด้วยกิจกรรมที่ชอบหรือสนใจ พักจากข่าวสารที่กระทบความรู้สึก เสบียงทางสังคมคือการติดต่อคนที่วางใจ โทร.ไปพูดคุย วิดีโอคอลล์ หรือทักทายส่งข้อความหากัน มีโอกาสได้เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เหมือนมีเพื่อนร่วมทาง เพื่อไม่รู้สึกโดดเดี่ยวในยามมีปัญหาหนัก ยังนึกออกว่าพอจะพึ่งพาใครได้ เสบียงทางจิตวิญญาณคือการตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งที่เรากำลังพยายามทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลตนเองหรือครอบครัว

“คุณค่าไม่ได้เกี่ยวเนื่องเฉพาะเรื่องที่ดูยิ่งใหญ่หรือสำคัญเท่านั้น เรื่องพื้นฐานอย่างสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างเท่าที่ทำได้ ก็เพื่อปกป้องทั้งตนเองและคนรอบข้าง อีกทั้งเป็นการรับผิดชอบต่อสังคม เราต่างสามารถรู้สึกอิ่มเอมใจกับสิ่งเหล่านี้ได้ สัมผัสถึงความปรารถนาดีที่มีต่อตนเองและคนรอบข้างได้ ใครที่พอจะแบ่งปันได้ก็แบ่งปัน หากไม่ได้อยู่ในสถานะที่พร้อมแบ่งปัน ก็รับรู้ความปรารถนาดีจากผู้อื่นได้เช่นกัน ไม่ว่าเราจะเป็นผู้รับเอง หรือเป็นผู้สังเกตเห็นความเป็นไปที่เกิดขึ้น

“สุดท้ายนี้ขอเป็นกำลังใจให้แก่ทุกคน เส้นทางแต่ละคนอาจยากง่ายไม่เท่ากัน หวังว่าแนวทางการเติมเสบียงให้แก่ตนเองนี้จะพอเป็นประโยชน์ในการใช้ดูแลตัวเองเพื่อรับมือสถานการณ์นี้ครับ”

HUG Magazine

คอลัมน์: แขกรับเชิญ 

เรื่อง: มาศวดี ถนอมพงษ์พันธ์