เพราะเราต่างวัยหรือใจเราต่างกัน : ประสาน อิงค์นันท์

 

“สิ่งที่ผมพยายามทำคือการทำให้คนเปิดใจกันมากกว่า เปิดใจและรับฟังกัน เพจมนุษย์ต่างวัยเหมือนเพจคนแก่ แต่ที่จริงเพื่อสร้างทัศนคติที่ดีต่อกัน เราจึงมีคำขวัญว่า ‘แค่ต่างวัยแต่ไม่ได้ต่างดาว’ เพราะคุณแค่อายุต่างกัน แต่ไม่จำเป็นต้องมองต่างกัน” ประสาน อิงคนันท์ เจ้าของเพจมนุษย์ต่างวัย จากบริษัทบุญมีฤทธิ์มีเดีย จำกัด ได้นิยามถึงสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ ว่าแท้จริงแล้ว คำว่า ‘ต่างวัย’ อาจไม่ใช่แค่อายุ แต่เป็นจิตใจต่างหากที่ทำให้เราต่างกัน

 

ก้าวแรกของมนุษย์ต่างวัย

“ผมเปิดบริษัทบุญมีฤทธิ์มีเดียมาเจ็ดปีแล้ว ในสองปีแรกตั้งโจทย์เรื่องสังคมสูงวัยร่วมกับไทยพีบีเอส สมัยก่อนผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่รู้จักคำว่า ‘สังคมสูงวัย’ เท่าไร ตอนนั้นคำว่า age gap หรือความต่างระหว่างวัยยังไม่มี จึงมองว่าเป็นเรื่องของคนแก่เท่านั้น พอค้นข้อมูลให้ลึก ได้รู้ว่าสังคมสูงวัยมีทั้งระบบเศรษฐกิจถดถอย คนทำงานน้อยลง และสิ่งที่เป็นกันทั่วโลกคือทัศนคติของคนสูงวัย ซึ่งที่เคยมีหน้าที่การงาน มีความรับผิดชอบ รู้สึกว่าตัวเองด้อยค่าลง ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เกิดทัศนคติเชิงลบต่อตัวเอง มันมีหลายสิ่งมากนะ รวมทั้งยังมีมายาคติว่าคนแก่ต้องไปรำไท้เก๊ก รดน้ำต้นไม้ เลี้ยงหลานอยู่บ้าน เข้าวัดปฏิบัติธรรม เหมือนเราตัดพวกเขาออกจากสังคม

“ตอนนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว คนแก่ยุคนี้ไม่เหมือนยุคก่อน การรักษาพัฒนามากขึ้น ร่างกายแข็งแรงขึ้น เสพสื่อมากขึ้น วิธีคิดจึงเปลี่ยนไป คนแก่รุ่นใหม่ๆ อยากออกไปเล่นกีฬา ทำกิจกรรม อายุหกสิบจึงไม่ใช่จุดสิ้นสุด หลายคนพูดว่าเกษียณคือจุดเริ่มต้นของการทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาทั้งชีวิต เพราะที่ผ่านมาอยู่กับภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบหาเงินดูแลครอบครัว บางคนพอหกสิบเหมือนมีอิสระ ได้กำหนดชีวิตของตัวเอง ดังนั้นเมื่อพูดเรื่องสังคมสูงวัย จึงไม่ควรพูดแค่เรื่องป่วยไข้ หรือการเตรียมรับเข้าวัยชราอีกต่อไป ที่จริงสังคมสูงวัยเป็นเรื่องของคนทุกวัย เพราะวันหนึ่งเราทุกคนต้องแก่ตัวลง”

 

แค่ไม่กี่ปีก็ต่างกัน

“บนโลกออนไลน์พอพูดต่างปุ๊บ จะโยงเข้าไปสู่เจนเนอเรชันหรือรุ่นวัยกันหมดเลย คิดแบบมนุษย์ป้า มนุษย์ลุง เบบี้บูม เด็กสมัยนี้ กลายเป็นโจมตีที่วัยแทนไม่ใช่เนื้อหาละ อยากให้มองว่าแต่ละวัยเติบโตมาในสภาพสังคมแตกต่างกัน มีกรอบความเชื่อไม่เหมือนกัน อยากให้ทุกคนได้เห็นและเข้าใจว่าคนแต่ละวัยเป็นอย่างไร ปัญหานี้แม้แต่เด็กที่จบก่อนหน้าสองปี เจอเด็กที่เพิ่งจบมาทำงานด้วย ก็บอกว่าเด็กรุ่นนี้คุยกันไม่รู้เรื่อง แค่สองปีเองนะ (หัวเราะ) ทั้งที่ผมรู้สึกว่าพวกเขาเป็นคนรุ่นเดียวกัน มนุษย์ต่างวัยจึงทำหน้าที่ในการจูนทัศนคติของคนต่างวัย ต่างความคิด ให้มีความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น แล้วยอมรับว่าพวกเราไม่เหมือนกัน แต่อยู่ร่วมกันได้”

หันหูรับฟังกัน

“มีแผนการที่กำลังทำคือ ‘หันหูเข้าหากัน’ เช่นเอาคนเจนวายมาคุยกับคนเจนเบบี้บูม เอามาหลายๆ คู่ ตั้งประเด็นถามหลากหลายมาก เช่น คุณควรมีเซ็กซ์กับแฟนก่อนแต่งไหม มองยังไง? แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่ารุ่นเขาทำยังไง รุ่นหลานทำยังไง หรือเลือกงานที่รักหรืองานที่ได้เงิน มาตั้งประเด็นถาม แน่นอนว่าคำตอบแต่ละเจนไม่เหมือนกัน อย่างเรื่องงาน คนเจนเก่าบอกว่าเลือกงานที่รักก่อนสิถึงจะได้เงิน คนเจนใหม่แย้งว่าแล้วเมื่อไรจะได้เงิน ต้องทำงานให้ได้เงินก่อนสิจึงจะไปทำงานที่รักต่อได้ เราหันหน้าคุยกันมากแล้ว ลองหันหูมาฟังกันบ้าง มันไม่มีข้อสรุปหรอกว่าอะไรผิดถูก แค่ให้เข้าใจว่าทำไมคนรุ่นนั้นคิดแบบนี้ เราพยายามเชื่อมโยงสู่ทุกวัยมากที่สุด

“ถ้าไม่สัมภาษณ์คนวัยนั้น อาจไม่รู้ปัญหาเลยก็ได้ อย่างเคสหมอกระต่าย มนุษย์ต่างวัยทำประเด็นเรื่องการใช้สะพานลอยกับทางม้าลาย คนแก่บางคนก็บอกว่าอยากข้ามทางม้าลายแต่แถวบ้านไม่มี แล้วเวลาคนแก่ข้ามทางม้าลาย เขาจะก้าวได้ช้า ใจไปถึงที่หมายแล้ว แต่ขาค่อยๆ ข้าม พอจะใช้สะพานลอย ก็ดูสิว่ามันเหมาะสำหรับเขาไหม กว่าจะขึ้นบันไดแต่ละขั้นต้องเหนี่ยวราวขึ้นไป บางคนผ่าตัดลิ้นหัวใจหรือผ่าข้อเข่ามา แล้วบางแห่งมีสายไฟพาด ขั้นบันไดที่สร้างก็แคบและชันอีก มีคนตั้งคำถามว่าแล้วคนแก่ออกมานอกบ้านทำไม เขาไม่ได้ออกมาเที่ยว แต่เขาต้องไปโรงพยาบาลทุกเดือน ทำไมไม่สร้างสะพานเพื่อรองรับคนทุกกลุ่มแต่แรกละ ดังนั้นคุณต้องรู้เรื่องของเขา เพื่อที่จะคิดเผื่อต่อไปได้”

 

แสดงจุดร่วม สงวนจุดต่าง

“ปีนี้ผมอายุ 50 ส่วนอายุเฉลี่ยพนักงานในบริษัทอยู่ที่ประมาณ 26 ผมใช้หลักการเดียวกันคือมองหาจุดดีจุดด้อยของกันและกัน ตัวผมจุดดีคือประสบการณ์ จับประเด็นได้ดี เข้าใจเรื่องราว มีทักษะสื่อสารพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการทำงาน เช่น การเขียนต้องไม่สะกดผิด ส่วนจุดด้อยของผม ตอนนี้โลกเปลี่ยนไป ผงเล่นโซเชียลมีเดียก็จริง แต่ให้ตามโลกว่าที่ไหนพูดอะไร มีกระแสอะไร บางทีตามไม่ทัน ดังนั้นงานที่คิดออกมา เมื่อสิบปีก่อนยังใช้ได้ดี แต่ตอนนี้อาจเชยแล้ว การชวนน้องๆ มาทำงานก็ได้เห็นข้อดีของเขาว่า พวกเขาอยู่ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกตลอดเวลา แต่จุดอ่อนคือไม่มีประสบการณ์ ไม่สามารถมองประเด็นต่างๆ ได้คมชัด ก็เอาจุดแข็งของผมไปเสริม แล้วให้เขามาอุดจุดอ่อนของผม เรื่องแบบนี้ตบมือข้างเดียวไม่ได้ ต้องเปิดใจให้กว้าง ถ้าใครสักคนปิดรับก็ไม่สำเร็จ ทั้งสองฝ่ายต้องมาเจอกัน

“เราจะประชุมแบ่งปันความคิดเห็นกันตลอด ผมถามพวกเขาตรงๆ ว่า ถ้าคิดแบบนี้คนรุ่นนี้จะดูไหม มันอ่อนไหวกับคนรุ่นนี้ไหม บางชื่อฟังแล้วเชยไหม คนรุ่นนี้ดูอะไรกัน ส่งมาให้ดูหน่อยสิ อาจมีข้อขัดแย้งหรือเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ต้องยอมฟังกัน แล้วใช้เวลาดูว่าผลเป็นอย่างไร ชื่อ ‘มนุษย์ต่างวัย’ ก็มาจากการประกวดหาชื่อร่วมโหวตกัน เพราะถ้าใช้ชื่อที่ผมคิดเองคงเชย (หัวเราะ) สิ่งสำคัญคือการเปิดใจอย่างจริงจังและยอมรับว่าโลกมันเปลี่ยนเรื่อยๆ เราต้องตั้งเป้าให้ตัวเองด้วยว่าคุณอยากเป็นคนแบบไหน อยากเป็นหัวหน้างานที่ยึดติดความรู้เดิมๆ ไม่เปลี่ยนแปลง หรือหัวหน้างานที่พร้อมจะเรียนรู้และเติบโตไปด้วยกัน ทั้งหมดนี้เป็นหลักการที่ใช้ในการทำเพจมนุษย์ต่างวัยครับ (ยิ้ม)”

 

วัยไหนที่คุยยากสุด

“ผมว่าไม่ใช่เรื่องของวัยนะ เป็นเรื่องบุคคลมากกว่า อย่างคนรุ่นใหม่ก็มีคนที่ปิดตัวเอง แต่คนแก่ที่คิดว่าจะปิดตัว กลับเปิดกว้าง อยากเรียนรู้สิ่งใหม่ก็เยอะ วัยเป็นสิ่งที่กำหนดว่าใครเด็กใครแก่ ข้างในจิตใจต่างหากที่บอกว่าคุณเป็นคนแบบไหน ผมเจอคนแก่หลายคนที่บอกว่าอายุ 60 เป็นวัยเริ่มต้น หัดไปเล่น Tiktok เรียนรู้เทคโนโลยีกันมากขึ้น แต่เด็กบางคนให้หัดทำอะไรใหม่ๆ กลับไม่กล้าลอง กลัวหรืออาย ไม่มีความมั่นใจ ส่วนคนแก่ที่ทัศนคติดี จะคิดว่ายิ่งแก่ ยิ่งไม่มีฟอร์ม เพราะมีมาทั้งชีวิตแล้ว (หัวเราะ) จะล้มก็ไม่เป็นไร ไม่ใช่เรื่องน่าอาย อยากลองอะไรทำเลย เคยมีคนถามผมว่า ผมอยากเป็นคนแก่แบบไหน แน่นอนว่าผมอยากเป็นคนแก่ที่แข็งแรง สิ่งสำคัญคือไม่เป็นภาระคนอื่น และยังเปิดใจยอมรับฟังความคิดเก็นใหม่ๆ จากคนอื่นๆ ได้ ไม่ว่าความคิดเห็นนั้นเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม แต่ยังพยายามทำความเข้าใจอยู่เสมอ เมื่อโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว สุดท้ายปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่วัย แต่อยู่ที่ใจล้วนๆ ครับ”

ความเข้าใจผิดที่พบบ่อย

“คนแก่ที่คิดว่าอายุเท่านี้ไม่น่าทำอะไรได้ก็มีนะ ในทางกลับกันก็มีคนแก่ที่คิดว่ารุ่นนี้ควรใช้เวลาไปทำสิ่งที่ยังไม่เคยลองทำ ไม่ต้องสุดโต่งถึงกับซื้อมอเตอร์ไซค์ขับไปรอบโลก (หัวเราะ) แต่แค่สามารถมองหาแรงบันดาลใจในการมีชีวิตต่อได้ การเรียนรู้สิ่งใหม่ที่เข้ากับรูปแบบชีวิตที่ไม่ยากเกินไป เช่นปั้นเซรามิก หรือออกกำลังกาย โดยตั้งเป้าหมายให้ตัวเอง

“เราทำโปรเจกต์กับสสส. เปิดอบรมอาชีพให้คนแก่ พวกเขาเข้ามาสมัครกันเยอะมาก มาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยากเป็นบาริสต้า influencer นักแสดง มองด้วยใจเป็นกลาง ความอยากของเขาไม่ต่างจากความอยากของคนหนุ่มสาว ที่อยากพาตัวเองไปต่างประเทศ อยากเข้าวงการ คนวัยหกสิบไม่ต้องหยุดฝัน โลกเขามีเป้าหมายของเขา มันเป็นจุดร่วมกันของคนที่อยู่คนละวัย คนที่อยากฝัน อยากรู้สิ่งใหม่ๆ อยากชนะอุปสรรค สังคมสูงวัยมันมาถึงแล้ว เราจะทำยังไงให้อยู่ด้วยกันได้ เอื้อเฟื้อกันได้

“ในยุคปัจจุบันที่คุณอายุยืนขึ้น จะทำอะไรกับชีวิตที่เหลือ มีคนแก่อายุ 102 ปี ออกไปวิ่งแข่งแล้วได้รางวัลตลอด เพราะคนวัยเดียวกันตายหมดแล้ว (หัวเราะ) หลายคนมีเป้าหมายเล็กๆ คือสุขภาพดี ไม่เป็นภาระลูกหลาน ยังวิ่งได้ก็ภูมิใจแล้ว คนเราไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะตายเมื่อไหร่ คุณจะให้ตัวเองรู้สึกภูมิใจยังไงในเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ถ้าตื่นมาเอาแต่คิดว่าโลกนี้ไม่น่าอยู่ ทุกอย่างดูขวางหูขวางตาแล้ว เราจะอยู่กับโลกนี้ได้อย่างไร”

 

 

ตรงกลางที่ต้องการ

“หลักที่ทำให้คนสองวัยร่วมกันได้คือ ‘ฟังและทำความเข้าใจกัน’ แน่นอนว่าอาจยอมรับได้บางเรื่อง บางเรื่องรับไม่ได้ แต่ถ้าเข้าใจกัน คุณจะอยู่กันได้ และค่อยๆ เริ่มยอมรับซึ่งกันและกัน เป็นเรื่องสำคัญนะ เพราะสิ่งที่ไม่ตรงใจเรา เรามักตัดสินกันไปก่อนแล้ว แต่ถ้าตั้งใจฟังจริงจัง ว่าทำไมเขาเชื่อแบบนี้ ทำไมเขามองแบบนี้ ทำไมเขาทำแบบนี้ ก็จะเข้าใจกันมากขึ้น ในโลกยุคโซเชียลมีเดีย ความเชื่อถูกทำให้แคบลง ยิ่งเราเสพสิ่งใดมากๆ มันยิ่งส่งสิ่งนั้นให้เราเสพมากขึ้น เราเลยคิดว่าเราถูก กลายเป็นการตีกรอบความเชื่อของเราถูกต้องแล้ว พอไปเห็นความเชื่อคนอื่น จึงคิดว่าไม่ถูกต้อง เราจึงต้องเปิดใจและยอมรับฟังกัน

“การเปิดใจนั้นรวมถึงตัวเราเองด้วย ถ้าผิดต้องขอโทษบ้าง เห็นสังคมพูดถึงการบูลลี่เมื่อใช้คำถามว่าทำไมอ้วนขึ้น ดำขึ้น ถ้าพ่อแม่ทักแบบนี้ คนยุคนี้คงตัดสินว่าเขาบูลลี่ แต่ในยุคที่เขาเติบโตมา ก็ต้องยอมรับว่าเจตนาของยุคนั้นไม่ใช่การบูลลี่ แต่เป็นความห่วงใย ทักเรื่องสุขภาพมากกว่า เขาจึงเห็นว่าเรื่องแบบนี้ไม่ได้เสียมารยาท แต่แล้ววันหนึ่งกลับถูกคนรุ่นหลังตำหนิบอกว่าสิ่งที่เชื่อมาตลอดนั้นผิด มันก็เข้าใจกันยาก ดังนั้นคุณไม่อาจเอามาตรฐานในยุคใหม่ไปตีกรอบว่าอีกฝ่ายผิดไร้มารยาท เพราะเขาไม่ได้เติบโตมาในสังคมยุคเดียวกับคุณ และในทางกลับกัน ผู้ใหญ่เองก็ต้องยอมรับว่าความเชื่อในยุคสมัยนี้ต่างจากความเชื่อแบบเดิมเช่นกัน คนรุ่นเก่าต้องปรับตัวและทำความเข้าใจโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง เพราะคุณต้องใช้ชีวิตในโลกนี้ต่อ”

จุดร่วมของครอบครัว

“ผมไม่ได้โลกสวยถึงกับว่าเมื่อทำเพจนี้แล้ว คนสองวัยจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสวยงาม (หัวเราะ) แต่พยายามทำให้เห็นว่าโลกมีความหลากหลาย อะไรทำให้เขาคิดต่างจากเรา การยอมฟัง ยอมเข้าใจความแตกต่าง จึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ต้องเข้าใจกันทั้งหมดก็ได้ แค่หาจุดร่วมของกันและกัน เพจมนุษย์ต่างวัยก็ต้องเคลื่อนไปตามความรวดเร็วของสังคมให้ทัน เช่นช่วงหนึ่งที่สถานการณ์การเมืองรุนแรง มีการฉีดน้ำไล่เด็ก มีการ call out ตอนนั้นก็คิดว่าเราควรพูดอะไร ในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง ซึ่งอาจไม่เข้าหูอีกฝ่าย ผู้ใหญ่อาจไม่เข้าใจ เด็กอาจคิดว่าเขาทำผิดอะไร ที่สุดแล้วทำเป็นแคมเปญว่า #เราไม่สามารถ delete ใครออกไปจากสังคม แล้วไปคุยกับทุกฝ่ายที่เห็นต่างกัน ทั้งพ่อแม่เห็นต่างจากลูก ครูเห็นต่างจากนักเรียน เจ้านายเห็นต่างจากลูกน้อง เพื่อความเข้าใจกัน เพราะถึงเราไม่ชอบใครก็ไม่สามารถกดลบเขาไปจากชีวิตได้จริงๆ ไม่เหมือนกดลบจากหน้าจอสี่เหลี่ยม มันอาจได้แค่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่สุดท้ายเราก็ต้องเจอกัน ต้องอยู่ร่วมกันอยู่ดี”

 

 

สวัสดีวันจันทร์

“มนุษย์ต่างวัยเคยทำประเด็นที่คนแก่ชอบส่งไลน์มาทักสวัสดีวันจันทร์ ส่งมาทั้งวัน พอถามคนรุ่นใหม่ เขาบอกมันน่าเบื่อ สร้างความรำคาญ แต่พอถามคนแก่ เขามองว่าเป็นการทักทายแสดงความห่วงใย เพราะคนแก่ไม่ได้เจอกันบ่อย ไม่ได้ออกจากบ้านไปมีสังคมเหมือนวัยรุ่นที่เจอได้ทุกอาทิตย์ทุกเดือน บางทีพวกเขาเจอกันปีละสองหน เพราะเดินทางไม่ถนัด ถ้าลูกหลานไม่พาไปก็ไม่ได้เจอกัน และการส่งไลน์ก็เพื่อบอกว่าฉันยังอยู่นะ บางคนเคยส่งให้เพื่อนทุกวัน หายไปสามวัน โทร.ไปเช็กปรากฏว่าเพื่อนตายไปแล้ว การตอบไลน์จึงบอกว่าฉันยังมีชีวิตอยู่

“ดังนั้นความหมายของคนสองวัยจึงไม่เหมือนกัน ทั้งที่เป็นของสิ่งเดียวกันแท้ๆ มันจึงไม่แฟร์ถ้าเราจะไปตัดสินว่าอันนี้ถูกอันนี้ผิด ยิ่งในประเด็นครอบครัวเราจะไม่นำเสนอด้านเดียว จะเสนอทั้งสองมุมมอง แม้บางครั้งอาจมีเรื่องเจ็บปวด เพราะคุณไม่สามารถยึดมุมมองของตัวเองได้ตลอดไป ถ้าทั้งสองฝ่ายยอมรับกันได้ จะมีความทุกข์น้อยลง แต่ถ้ายอมรับไม่ได้ จะมีความขัดแย้งตลอดเวลา มนุษย์ต่างวัยจึงพยายามทำสิ่งนี้เสมอมา”

 

 

เชื่อมต่อความแตกแยก

“ถ้าเราไม่ทำเรื่องพวกนี้ลงในพื้นที่สื่อเลย โลกคงล้วนพูดแต่ในมุมมองของตัวเองเท่านั้น ไม่ใช่แค่ในไทย แต่ต่างประเทศก็เป็นประเด็น เพราะโลกมีคนหลากหลายวัยมากขึ้น ถ้าเอาแต่สร้างพื้นที่เฉพาะกลุ่ม เช่น แบ่งเป็นเกาะฉัน เกาะเธอ อาจมีความสุขที่ได้อยู่กับคนกลุ่มที่คิดเหมือนกัน แต่โลกจะไม่ขับเคลื่อนไปไหน แต่ถ้าสร้างสะพานไม้เล็กๆ ระหว่างเกาะ ยังสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ ถ้าคุณจิตใจคับแคบ ยึดมั่นตัวเองเป็นหลัก พอคิดไม่เหมือนกันก็ผลักไปอีกฝ่าย วนเวียนแต่การด่าทอโจมตีกัน มันคงยากแน่ๆ ผมเชื่อนะ ว่าไม่มีคนอยากสร้างเกาะส่วนตัวกันหมดหรอก ยังต้องมีคนอยากเชื่อมโยงหากันอยู่ เพราะที่สุดแล้วโลกต้องมีความแตกต่างที่หลากหลาย ไม่งั้นก็อยู่กันไม่ได้ จะไม่ใช่ระบบนิเวศที่ดี (หัวเราะ)”

ถึงคนทุกรุ่นวัย

“ให้ลองตั้งใจว่า อะไรที่ทำให้เขาคิดแตกต่างกับเรา มองให้เห็นถึงความเป็นคนของเขา อาจช่วยบรรเทาความไม่ชอบลงไปได้บ้าง แน่นอนว่าความขัดแย้งบางอย่างไม่สามารถแก้ไขได้ภายในพริบตา อาจต้องใช้เวลาเป็นปี แต่ไม่มีใครอยากอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งแน่นอน เพราะที่สุดแล้วก็ทุกข์ใจเปล่าๆ”

HUG Magazine

คอลัมน์: แขกรับเชิญ 

เรื่อง: มาศวดี ถนอมพงษ์พันธ์