HOT ISSUE14 JUL 2020 เรื่องทีมฮัก

ด้วยรัก ระยะห่าง และความชัดเจน

ประเด็นหนึ่งของปัญหาความรักที่ใครหลายคนต้องการคำตอบคือ ความชัดเจนและการมีระยะห่างที่พอเหมาะ

ตั้งแต่เริ่มสานสัมพันธ์ เมื่อคุณชอบอีกฝ่ายย่อมอยากรู้ว่าเขาหรือเธอมีใจตรงกันไหม อีกทั้งช่วงเวลานั้นทั้งคู่ยังคงมีระยะห่างทางความสัมพันธ์ที่ห่างเหิน เรียกง่ายๆ ว่า ยังไม่สนิทกัน

เมื่อเกิดความชอบพอจึงเริ่มเรียนรู้ดูใจกัน ระยะของความรู้สึกจึงใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น จากนั้นก็ต้องการรู้ว่า “ตกลงเราเป็นอะไรกัน”

หลังจากคบกันเป็นแฟนกระทั่งรู้จักรู้ใจที่อาจเรียกได้ว่าอยู่ในระยะประชิด ก็อยากรู้ว่า “เรามองอนาคตร่วมกันหรือไม่”

เริ่มรักตัวเองอย่างชัดเจน

หัวข้อนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่เราทุกคนต่างรู้แต่ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง และเชื่อแน่ว่าพื้นฐานของความรักที่ดีคือ การรู้ความต้องการที่แท้จริงของตนเองก่อนมีรัก เพราะความชัดเจนต่อความรู้สึกนึกคิดของตนเองถือเป็นเข็มทิศนำทางชีวิตสู่เป้าหมายที่วางไว้

ความตอนหนึ่งจากหนังสือความลับ 5 ข้อที่คุณต้องค้นให้พบก่อนตาย โดย ดร.จอห์น ไอโซ สะท้อนเรื่องใกล้ตัวที่บางคนหลงลืมจนบั่นทอนความรักในตัวเองลงทุกวันแบบไม่รู้ตัว

“วิธีสำคัญที่สุดข้อหนึ่งคือ เราเลือกที่จะรักตนเองได้ด้วยการใส่ใจสิ่งที่เราป้อนให้ตนเอง ว่ากันว่าเรากินอะไรเข้าไปก็จะเป็นแบบนั้น แต่ทัศนะทางจิตวิญญาณกล่าวว่า ชีวิตเราจะเป็นไปตามสิ่งที่เราคิด มนุษย์เกิดความคิด 45,000-55,000 ความคิดต่อวัน เป็นการสนทนาในจิตใจที่ไม่รู้จักหยุด เราพูดกับตัวเองทั้งวัน ความคิดของเราส่วนมากเป็นไปในทางที่ดี แต่หลายต่อหลายความคิดจะส่งผลอย่างยิ่งต่อวิธีที่เรามองตนเอง ตัวอย่างเช่น ทุกครั้งที่เราบอกกับตนเองทำนองว่า ‘ฉันเป็นคนขี้แพ้’ ‘ฉันไม่น่ารัก’ ‘ฉันไม่มีเสน่ห์’ ‘ฉันต้องพิสูจน์ตัวเองให้คนอื่นเห็น’ ‘ฉันอ้วน’ ‘ฉันเป็นพ่อแม่ที่ไม่ดี’ ‘ฉันไม่ใช่คนดี’ นั่นคือเรากำลังบ่อนทำลายความรักตนเองลง”

อย่างน้อยคุณต้องรู้ว่า เรื่องไหนที่บั่นทอนใจให้คุณรักตัวเองน้อยลง เพราะคนที่เราควรรู้จักรู้ใจก่อนใครคือ “ตัวเราเอง” อาจเริ่มเอ่ยถามตัวเองในใจว่า “ความสุขของเราคืออะไร”

ตัวห่างไกลแต่ใจไม่ห่างกัน

บททดสอบของชีวิตล้วนเกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว ระยะนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องการเว้นระยะห่างทางกาย อันเนื่องมาจากวิกฤติโรคโควิด-19 ความรักความสัมพันธ์ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ไม่ต่างกับปัญหาการเงินและปากท้อง เพราะความรักนับเป็นกำลังใจสำคัญที่จะช่วยพยุงเราให้ผ่านพ้นอุปสรรคนี้ไปด้วยกัน

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีรายงานข่าวว่า อัตราการหย่าร้างของคู่รักในจีนเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้เป็นผลจากการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค อาจกล่าวได้ว่าความโดดเดี่ยว การเว้นระยะห่างทางสังคม และความกังวลเรื่องปัญหาปากท้อง สร้างแรงกดดันแก่คู่รักและคนในครอบครัว ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือ เราอาจสัมผัสกายกันน้อยลง แต่เรื่องของจิตใจนั้นต้องดูแลกันให้มากยิ่งขึ้น และอาจเริ่มด้วยวิธีเหล่านี้

  • อย่า “เดาเอาเอง” ว่าอีกฝ่ายรู้สึกอย่างไร อย่าทึกทักว่าอีกฝ่ายต้องรู้สึกแบบนั้นแบบนี้กับสิ่งต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น เพราะบ่อยครั้งที่เรามักคาดเดาว่าคนอื่นรู้สึกนึกคิดเช่นเดียวกับเรา ซึ่งไม่น่ารักเลย
  • สื่อสารกันอยู่เสมอ พยายามแสดงความชัดเจนกับอีกฝ่ายให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ลองพูดถึงความรู้สึกของตนเอง เช่น “ฉันรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ” ดีกว่าพูดว่า “คุณทำให้ฉันรู้สึกไม่สบายใจ” เพราะคำพูดเช่นนั้นอาจนำไปสู่การกล่าวโทษกันได้
  • ยอมรับว่าสถานการณ์เหล่านี้คือบททดสอบของชีวิต เราจำเป็นต้องให้เวลาตัวเองและคนรักได้ผ่อนคลายบ้าง เพราะนี่คือช่วงเวลาที่ไม่ปกติสำหรับทุกคน
  • พยายามไม่โต้เถียงรุนแรง ในสถานการณ์เช่นนี้ทุกคนล้วนเกิดความเครียดได้ แต่ไม่ควรฉวยโอกาสนี้เพื่อระบายอารมณ์กับคนที่คุณรักและรักคุณ
  • จงแน่ใจว่าเราไม่ได้ทำงานตลอดเวลา หากต้องทำงานที่บ้าน ก็จำเป็นต้องจัดการทั้งเรื่องงานและเรื่องที่บ้าน ควรจัดสรรเวลาให้เหมาะสม

อยู่ห่างๆ อย่างชัดเจน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในความสัมพันธ์เราต่างต้องการความชัดเจนในระยะห่างที่พอเหมาะ ไม่รักมากไปจนอีกฝ่ายรู้สึกอึดอัด ไม่ห่างเหินเกินไปจนอีกฝ่ายสัมผัสได้ถึงความเฉยชา จำไว้เสมอว่าเมื่อ “พอดี” ถึงจะ “ลงตัว”

ผู้ใช้นามปากกา “คิดมาก” เขียนไว้ในหนังสือ ยากกว่าการได้มาคือการรักษาไว้ ตอนหนึ่งว่า

“ความไม่ชัดเจนคือสิ่งที่ทำให้เราเจ็บปวด จริงอยู่ที่บางครั้งความชัดเจนอาจทำให้เราเจ็บปวดได้เหมือนกัน แต่เชื่อเถอะว่าความชัดเจนจะทำให้เราเจ็บปวดระยะสั้นๆ แต่ความไม่ชัดเจนต่างหากที่ทำให้ความเจ็บปวดไม่หายไปสักที”

บ่อยครั้งที่หลายคนเฝ้าถามอีกฝ่ายว่า “ตกลงเราเป็นอะไรกัน” เพราะต้องการความชัดเจน ทั้งที่การกระทำของเขาเป็นคำตอบที่ชัดเจนของทุกคำถามแล้ว มีเพียงเราที่พยายามบ่ายเบี่ยงความชัดเจนของเขามาโดยตลอด นี่เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น เพราะความรักต้องค้นหาและเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต

แม้ในวันนี้เราจำเป็นต้องเว้นระยะห่างทางกาย แต่ใช่ว่าจะห่างเหินทางใจ ในช่วงเวลาเช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต่างฝ่ายต่างต้องใส่ใจความรู้สึกของกันและกันให้มาก แง่คิดต่อไปนี้อาจช่วยประคับประคองความสัมพันธ์ให้ยั่งยืนได้ทั้งในยามปกติและทุกข์ยาก

  • ช่วงเวลาที่มีคุณภาพ (quality time) นับเป็นสิ่งสำคัญและมีความหมายต่อชีวิตคู่มาก บางทีอาจมีความหมายมากกว่าการให้เงินทองหรือสิ่งของด้วยซ้ำ เพราะคือสัญลักษณ์แสดงถึงความใกล้ชิด ผูกพัน เติมเต็มความรัก และลดความเหงาให้กันได้
  • ระยะห่างที่พอเหมาะ ความเชื่อเกี่ยวกับชีวิตคู่ที่มักเข้าใจกันผิดคือ การใช้ชีวิตแบบชิดใกล้ ไปไหนมาไหนด้วยกันเสมอ ไม่แยกจากกัน แต่ในความเป็นจริงนั้นชีวิตคู่จำเป็นต้องมีระยะห่างที่เหมาะสม ดังนั้นการหาจุดสมดุลระหว่างความใกล้ชิดกับระยะห่างจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
  • ความใกล้ชิดและอิสระ เมื่อคนสองคนตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกัน ย่อมต้องมีทั้งความใกล้ชิดและอิสระอันเป็นพลังที่ตรงกันข้าม ความใกล้ชิดคือการดึงดูดเข้าหากัน อยู่ด้วยกัน แชร์ความคิด ความรู้สึกร่วมกัน อิสระคือความต้องการอยู่ห่างจากกัน ทำสิ่งที่อยากทำ เป็นตัวของตัวเอง หากในชีวิตคู่มีพลังสองด้านนี้อย่างสมดุลย่อมไม่เกิดปัญหา
  • จงอย่าอยู่ใกล้กันเกินไป เนื่องจากชีวิตคู่เป็นชีวิตที่อยู่ด้วยกันอย่างใกล้ชิด จึงเกิดปัญหาเรื่องขอบเขต (boundary) ได้ง่าย หลายคนจินตนาการว่า ชีวิตคู่คือคนสองคนที่รวมกันเป็นหนึ่ง เสมือนเป็นคนเดียวกัน ซึ่งค่อนข้างเป็นเรื่องในอุดมคติ (ideal) เพราะทุกคนต่างมี “ตัวตน” และความเป็นตัวของตัวเอง มีความชอบ และความต้องการที่แท้จริงของตนเอง จนหลายครั้งหลงลืมไปว่าเขาหรือเธอนั้นเป็นอีกคนหนึ่งที่มีความรู้สึกนึกคิดและความต้องการต่างจากเรา

ชัดเจนทางความรู้สึก

อาจกล่าวได้ว่า สิ่งสำคัญของความรักความสัมพันธ์ไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตามนั้น “ควรเว้นระยะห่างอย่างพอดีและชัดเจน” ดั่งถ้อยคำแห่งปราชญ์ คาลิล ยิบราน “จงยืนอยู่ด้วยกันแต่ว่าอย่าใกล้กันนัก เพราะว่าเสาของวิหารนั้นก็ยืนอยู่ห่างกัน และต้นโพธิ์ต้นไทรก็ไม่อาจเติบโตใต้ร่มเงาของกันได้”

ครั้งหนึ่งทีมฮักมีโอกาสสัมภาษณ์ รศ. ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ตอบปัญหาเรื่องหัวใจผ่านแฮชแท็ก #ทวิตรัก ในประเด็นการรักษาความสัมพันธ์ของชีวิตคู่ให้ยืนยาวไว้ว่า

“คู่ที่ใช้ชีวิตร่วมกันมาเป็นเวลานานมีวิธีจัดการดูแลความสัมพันธ์ที่ต่างกันออกไป เราต้องเข้าใจก่อนว่าความรู้สึกเฉยกับคู่รักที่อยู่ด้วยกันมานานนั้นเป็นความธรรมดา บางคู่ก็แทนที่ความรักด้วยความรู้สึกแบบอื่น เช่น ความเป็นเพื่อน สิ่งที่พยายามบอกมาตลอดคือ ถ้าเจอใครสักคนแล้วพัฒนาความสัมพันธ์แล้วคนคนนั้นเป็นทั้งแฟนและเพื่อนนั่นถือว่าโชคดีมาก เพราะเขาแทนที่หรือเพิ่มมิติอื่นๆ เข้าไปในความสัมพันธ์ทำให้ตอบสนองคู่ของเราได้หลายอย่าง แน่นอนว่าการแต่งงานไม่ใช่คำตอบทุกอย่างของชีวิต เพียงแต่ตอบอะไรในชีวิตได้มากขึ้น”

ความรักเปรียบเสมือนสูตรการทำขนม ที่ผสมแป้งแห่งการเอาใจใส่ ไข่ไก่จากฟาร์มของความเข้าใจ น้ำตาลเติมคำหวานเพิ่มรอยยิ้ม และส่วนผสมอื่นๆ ที่ไม่มีสูตรตายตัว ผสมให้เข้ากันแล้วนำเข้าเตาอบ ถ้าไหม้เกรียมก็แก้ตัวใหม่ ถ้าอร่อยลงตัวอาจเพราะใส่ส่วนผสมพอดี จงหมั่นทำสูตรนั้นให้คงที่และแบ่งปันขนมแก่กันเรื่อยไป … นี่แหละขนมที่ชื่อว่า “ความรัก” ตามแบบฉบับของแต่ละคู่

แหล่งข้อมูล

จอห์น ไอโซ. ความลับ 5 ข้อที่คุณต้องค้นให้พบก่อนตาย. สมุทรปราการ: สำนักพิมพ์โอ้มายก้อด, 2562

ธรรมนาถ เจริญบุญ. ช่วงเวลาคุณภาพและระยะห่างที่พอดี. สืบค้นเมื่อ 20 เมษายน 2563, จาก https://www.healthtodaythailand.in.th

Workpoint News. รักษาความรักอย่างไรให้อยู่รอดในช่วงต่อสู้โควิด-19. สืบค้นเมื่อ 20 เมษายน 2563, จาก https://workpointnews.com/2020/03/23/covid19-relationship/