ไม่กี่วันก่อนเขียนบทความชิ้นนี้ ระหว่างที่ผมกับภรรยากำลังลงมาทำอาหารในห้องครัวของโรงแรม เพื่อนหญิงชาวอินเดียก็ถามผมว่า “การแต่งงานของเรานี่เป็นแบบคลุมถุงชนรึเปล่า (Is your marriage arranged?)”  ซึ่งในเมืองไทยคงไม่มีใครถามแบบนี้ 

จากเหตุการณ์นั้นผมจึงกลับไปหาข้อมูลเพิ่มเติม พบว่าในประเทศแถบเอเชียใต้ (อินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ปากีสถาน)

การแต่งงานแบบ arranged marriage ไม่ได้แปลว่าคลุมถุงชนซะทีเดียว แต่เป็นการตกลงระหว่างฝ่ายชายหญิงกับครอบครัวของทั้งสองฝ่าย ขณะที่การแต่งงานแบบ love marriage ตามประเพณีอินเดียเป็นการตกลงกันระหว่างฝ่ายชายหญิงเท่านั้น

ส่วนการแต่งงานแบบคลุมถุงชนเขาเรียกว่า forced marriaged หรือบังคับแต่งงานโดยไม่ได้นำพาความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย

 

 

หลายคนที่ไม่ตระหนักถึงบริบทของการแต่งงานแบบ arranged marriage อาจเข้าใจว่าเป็นการกดขี่ผู้หญิงไม่ให้มีอิสรภาพในการเลือกคู่ของตนเอง (เช่น ผมไปเข้าใจว่า arranged marriage เท่ากับ forced marriage) แต่หากมองในมุมกลับว่า ความสำเร็จของการแต่งงานวัดกันที่การอยู่ด้วยกันโดยไม่หย่าร้างแล้วละก็ คุณจะพบว่า arranged marriage ชนะ love marriage อย่างขาดลอย เพราะประเทศอินเดียซึ่งมีการแต่งงานแบบ arranged marriage มากที่สุดในโลกนั้นมีอัตราการหย่าร้างต่ำที่สุดในโลกคือร้อยละ 1.1 แต่ประเทศเสรีนิยมอย่างอเมริกากลับมีอัตราการหย่าร้างสูงถึงร้อยละ 50

สาเหตุที่ทำให้ arrange marriage มีอัตราการหย่าร้างต่ำก็มีได้หลายปัจจัย เช่น ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวของทั้งสองฝ่าย (สามีภรรยาทะเลาะกัน ภรรยาหนีกลับบ้านไปหาแม่ แม่อาจช่วยเคลียร์ใจให้ทั้งสองฝ่าย) แต่หากมองในอีกแง่ก็อาจเป็นได้ว่าทั้งสองฝ่ายถูกกดดันให้ทนอยู่ด้วยกัน แม้จะระหองระแหงกันแค่ไหนก็ตาม

งานวิจัยหนึ่งบอกว่า ที่จริงแล้วในสังคม arrange marriage อย่างอินเดียผู้หญิงไม่ได้ตกเป็นฝ่ายถูกเลือกเสมอไปนะ หลายๆ ครั้งพวกเธอเป็นคนเลือกเสียด้วยซ้ำ ในงานวิจัยของคุณรักษาแห่งมหาวิทยาลัย Durham ที่ไปสัมภาษณ์ผู้หญิงชาวเอเชียใต้ 44 คนแล้วพบว่า พวกเธอไม่เพียงตระหนักถึงบทบาทของครอบครัวทั้งสองฝ่ายว่ามีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตคู่เท่านั้น แต่พวกเธอยังใช้กลอุบายเพื่อให้ได้มาซึ่งชายในฝันที่เธอต้องการจาก arranged marriage ด้วย

 

 

สาวคนหนึ่งใช้วิธีกระซิบบอกป้าของเธอเกี่ยวกับหนุ่มที่เธออยากได้มาเป็นพ่อของลูก และให้ป้าไปโน้มน้าวพ่อแม่ของเธออีกที สุดท้ายเธอก็ได้แต่งงานกับหนุ่มที่หมายปอง

ส่วนสาวอีกคนหนึ่งบอกว่า เพราะเธอเกิดมาในครอบครัวที่ไม่มีพ่อจึงต้องการหาคนที่จะมาช่วยดูแลแม่ของเธอตอนแก่ และเป็นเหมือนพ่อของน้องสาวเธอด้วย ในที่สุดเธอก็พบผู้ชายในฝันคนนั้น

 

 

จะเห็นว่าที่จริงแล้วไม่ได้มีแต่มุมมองของการกดขี่ผู้หญิงในการแต่งงานตามวัฒนธรรมเอเชียใต้เท่านั้น แต่พวกเธอมีวิธีเลือกคู่ของตนเอง และการเลือกก็ให้ความสำคัญแก่ครอบครัวของพวกเธอด้วย ในทางจิตวิทยาวิวัฒนาการเมื่อผู้หญิงเลือกคู่มักพิจารณาไตร่ตรองถี่ถ้วนกว่าผู้ชายอยู่แล้ว เนื่องจากหากเลือกผิดเธออาจต้องเจอผู้ชายซึ่งไม่สามารถดูแลลูกที่จะสืบ DNA ของผู้หญิงต่อไปได้ ส่วนผู้ชายไม่ค่อยมีปัญหานี้ เพราะพวกเขาสามารถมีลูกได้มากหากเขามีกิ๊กหลายคน จึงพบว่าผู้หญิงมักไม่ได้แต่งงานกับผู้ชายเพราะความหล่ออย่างเดียว ยังพิจารณาถึงความสามารถในการเลี้ยงดู เช่น ฐานะทางการเงิน หน้าที่การงาน การเอาอกเอาใจ ความซื่อสัตย์รักเดียวใจเดียว สำหรับสาวชาวเอเชียใต้เองครอบครัวก็เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งช่วยให้ชีวิตคู่ของพวกเธอยั่งยืนขึ้น พวกเธอจึงให้ความสำคัญแก่เรื่องนี้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรื่องอื่นๆ เท่านั้นเอง

 

ต้องขอบคุณ culture shock ครั้งนี้ที่ทำให้ผมเข้าใจอีกวัฒนธรรมหนึ่งมากขึ้น แล้วก็ได้มาเปิดมุมมองใหม่ๆ แก่ทุกท่านด้วยครับ

 

อ้างอิง

https://www.tandfonline.com/doi/full/10.1080/0966369X.2013.855630?scroll=top&needAccess=true&role=tab

คอลัมน์ “จักรวาลแห่งความรัก ดาวเคราะห์แห่งความเหงา”โดย นพ.ปีย์ เชษฐ์โชติศักดิ์

Nothing found.