เราไปภูฏานกันดีไหม
มีอยู่ช่วงหนึ่งคนไทยจำนวนไม่น้อยอยากไปภูฏาน จุดขายที่กระตุ้นความสนใจคือเรื่องของ “ความสุข” สิ่งจริงแท้ด้านความต้องการของมนุษย์นั้นมีหลายอย่าง
เอาเข้าจริงแล้วการอยู่ในเพศสภาวะไหน ผู้หญิง ผู้ชาย เกย์ เลสเบี้ยน ฯลฯ ต่างก็มีความเหนื่อยยากในแบบฉบับของเพศตัวเอง แต่ที่อินเดียดูเหมือนความเหนื่อยยากของผู้หญิงจะมีให้เห็นเป็นภาพที่เด่นชัดกว่าอย่างอื่น
อิลาเป็นแม่บ้านชนชั้นกลางผู้กำลังรู้สึกถึงความเฉยชา จืดจาง ในชีวิตคู่ตามประสาสถานะ “เมีย” ของผู้หญิงอินเดีย (หรืออาจรวมถึงผู้หญิงเอเชียส่วนใหญ่ในหลายภูมิภาค) แต่เธอก็ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าพยายามทำตัวให้สวย พยายามทำกับข้าวให้อร่อยเอาใจสามี คุณป้าห้องข้างบนส่งเครื่องปรุงสูตรพิเศษใส่ตะกร้าห้อยลงมาให้ ป้าบอกว่า “ใส่นี่ลงไป แล้วเค้าจะสร้างทัชมาฮาลให้เธอเลยละ” อิลาตะโกนตอบไปขำๆ ว่า “แต่ทัชมาฮาลเป็นสุสานนะป้า” นั่นสินะ สุสานใหญ่โตสวยงามกับความสุขเล็กๆ จะมีสักกี่คนที่เลือกสุสาน
กล่องข้าวกลางวันใส่เครื่องปรุงสูตรสร้างสุสานของอิลาไม่เคยส่งถึงมือสามีนับตั้งแต่วันนั้น ต่อให้คนส่งกล่องข้าวมีระบบซึ่งเป็นที่ยอมรับในความแม่นยำจากฮาร์วาร์ดก็ยังส่งผิด กล่องข้าวเดินทางไปหามิสเตอร์เฟอร์นันเดซ พ่อหม้ายเมียตายวัยใกล้เกษียณผู้เคร่งขรึม ใช้ชีวิตสงบนิ่งราวกับทุกโควต้าความตื่นเต้นหมดไปนานแล้ว
อิลากับมิสเตอร์เฟอร์นันเดซเริ่มเขียนจดหมายพูดคุยกันผ่านปิ่นโตอาหารกลางวัน
ความโรแมนติกที่แท้จริงของโลกอยู่ตรงนี้ ต่อให้ไม่ใช่ที่ปารีสหรือฤดูใบไม้ผลิที่นิวยอร์ค แต่เป็นบรรยากาศแออัดยัดทะนาน ร้อนระอุ ของอินเดียก็โรแมนติกได้ ต่อให้ไม่ใช่เรื่องราวของตัวเอก หนุ่มสาวโสดวัยพร้อมแสวงหารักชั่วนิรันดร์ แต่เป็นชายพ่อหม้ายวัยกลางคน กับแม่บ้านลูกหนึ่งผู้กำลังพยายามจัดการปัญหาเรื่องครอบครัวของตัวเองอยู่ ก็โรแมนติกได้
สิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้โรแมนติกยิ่งกว่าหลายๆ เรื่องรวมกันก็คือ มันบอกเราว่าเรื่องเหล่านี้แทรกอยู่ในชีวิตประจำวันควบคู่กับสถานการณ์ยากเย็นอื่นๆ ซึ่งคุณต้องเผชิญจริงๆ ไม่ใช่ในภาพโรแมนติกฟุ้งลอย ที่ตั้งใจสร้างขึ้นมาเพียงเพื่อให้คนเสพย์มันในฐานะสื่อบันเทิง เพื่อหนีความจริง
นอกจากเรื่องราวผ่านปิ่นโตอาหารกลางวันของมิสเตอร์เฟอร์นันเดซกับอิลา ผู้คนรอบข้างของทั้งคู่ต่างก็มีชีวิต ซึ่งชวนให้ตั้งคำถามถึงความรักที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันและเราต้องรับมือกับมันจริงๆ
ดูหนังจบ เรายังพร้อมจะยืนยันว่า ความโรแมนติกเป็นสิ่งที่เชื่อได้และมีอยู่จริงในชีวิต ต่อให้ภาพไม่ได้ออกมาสวยงามง่ายดาย ในแบบที่เห็นในหนังส่วนใหญ่ก็ตาม
แล้วความสุขมีอยู่ที่ภูฏานจริงรึเปล่า แล้วเราจะไปภูฏานด้วยกันไหม.
HUG Magazine
คอลัมน์ ‘สวมแว่นสีชมพูดูหนัง’
เรื่อง: รอมคอมแอดมิน
พักพิงอิงกายในสวนทูนอิน “Turn on, Tune in, Drop out”
‘สวนทูนอิน’ คือบ้านในจังหวัดเชียงใหม่ที่ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์’…