สิ่งที่คนเป็นพ่อแม่มักกลัวนักหนาคือ การที่ลูกมีความรักในวัยเรียน กลัวว่าลูกจะเสียการเรียน เพราะเอาเวลาไปหมกมุ่นกับคู่รักของตัวเอง แต่ที่น่ากลัวยิ่งกว่านั้นคือ การที่ลูกอกหักจนเสียผู้เสียคน กลายเป็นโรคเครียด ซึมเศร้า หรือกระทั่งฆ่าตัวตาย ดังนั้นพ่อแม่ส่วนใหญ่จึงอยากให้ลูกพร้อมในด้านวัยวุฒิและคุณวุฒิก่อนแล้วค่อยมีความรัก เพราะคิดว่าหากพวกเขามีวุฒิภาวะมากพอ ย่อมสามารถควบคุมสติอารมณ์ของตัวเองได้ดี

แต่ที่จริงแล้วเราควรมีความรักในวัยเรียนไหม

 

 

อาจไม่มีงานวิจัยที่ชี้ชัดว่า การมีความรักในวัยเรียนนั้นดีกว่า แต่ก็มีงานวิจัยที่ระบุว่า สิ่งที่พ่อแม่มักเชื่อกันนั้นอาจไม่ถูกต้องทีเดียว

ความสูญเสีย ความผิดหวัง อาจทำให้เราสติแตก เครียด ซึมเศร้า เสียผู้เสียคน แต่ในทางกลับกันก็ทำให้เราเติบโตและเข้มแข็งยิ่งกว่าเดิม

ปี 2010 คุณซีรี่ (M.D. Seery) และคณะ ได้ตีพิมพ์งานวิจัยเรื่อง “whatever does not kill us: cumulative lifetime adversity, vulnerability, and resilience” ระบุว่า การที่เราเจอเหตุการณ์ร้ายๆ อาจสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้เราสติแตก ซึมเศร้า หรือฆ่าตัวตายได้ เขาวิจัยจากคนในสหรัฐอเมริกาจำนวน 2,000 ราย ด้วยคำถามที่ว่า “คุณเคยเจอเหตุการณ์ร้ายๆ มามากน้อยเพียงใด” เช่น ถังแตก หย่าร้าง คนรักหรือคนในครอบครัวตาย ประสบอุบัติภัยทางธรรมชาติ ถูกทำร้ายร่างกายหรือคุกคามทางเพศ คนส่วนใหญ่บอกว่าประสบเหตุการณ์เหล่านี้ประมาณ 8 ครั้ง มีเพียงร้อยละ 8 ที่บอกว่าไม่เคยผ่านประสบการณ์เหล่านั้น และประสบเหตุร้ายมากถึง 71 ครั้ง!

 

อีกสี่ปี ปรากฏว่าคนที่สุขภาพจิตดีกว่าใครๆ กลับไม่ใช่คนที่เจอเหตุการณ์ร้ายๆ น้อยที่สุด แต่กราฟความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณเรื่องร้ายที่เจอกับภาวะสุขภาพจิต ออกมาเป็นรูปตัว U คือ คนที่ประสบเหตุการณ์ร้ายน้อยครั้งกลับมีสุขภาพจิตแย่กว่า เสี่ยงต่ออาการซึมเศร้า ปัญหาสุขภาพก็มากกว่า

ส่วนคนที่เจอเหตุการณ์เลวร้ายปานกลางกลับมีสุขภาพจิตและความสุขในเกณฑ์ดีเยี่ยม แต่คนที่เจอเหตุการณ์ร้ายๆ มาเยอะ ตัวเลขกลับแย่ลง

อาจสรุปว่า “เรื่องร้ายๆ ไม่เพียงทำให้เราเกิดความเครียด แต่กลับช่วยให้เราเข้มแข็งขึ้นได้ด้วย!”

 

 

แวดวงแพทย์มีศัพท์โรคเครียดอันเกิดจากเหตุการณ์ร้ายๆ ว่า PTSD (post traumatic stress disorder) ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ‘เหตุการณ์สึนามิ’ ซึ่งมีคนมากมายเกิดอาการหวาดกลัวทะเล ทั้งที่ตัวเองอยู่กับทะเลมาทั้งชีวิต โรคนี้หลายคนอาจคุ้นเคย และนำไปเชื่อมโยงว่าทุกครั้งที่เกิดเรื่องร้ายๆ คนก็จะจิตตกทุกข์ระทมเสมอ แต่ในทางจิตวิทยาเรายังมีสิ่งที่เรียกว่า PTG (post traumatic growth) หรือการเติบโตทางจิตใจหลังเจอเหตุการณ์ร้ายๆ

PTSD กลับเกิดขึ้นน้อยกว่า PTG ค่อนข้างมากด้วยซ้ำ งานวิจัยระบุว่า คนเกือบร้อยละ 80 พบว่าตัวเองเข้มแข็งขึ้นหลังเจอความสูญเสีย เช่น ผลสำรวจคนอิสราเอลที่เผชิญการก่อการร้าย จนต้องสูญเสียพ่อแม่พี่น้องผองเพื่อนอยู่เป็นประจำ กว่าร้อยละ 74 พบว่าตัวเองเข้มแข็งขึ้นเมื่อเจออุปสรรคต่างๆ ในชีวิต โดยนำประสบการณ์เลวร้ายนั้นเปรียบเทียบ 

 

 

 

เพราะฉะนั้นเมื่อเทียบกันแล้ว การเปิดใจให้เด็กๆ ได้เจอประสบการณ์ความรัก ผิดหวัง อกหัก อาจช่วยให้เขารับมือเรื่องเหล่านี้ได้ดีขึ้นเมื่อเติบใหญ่ แน่นอนครับว่า ตอนเขาอกหักนั้นเป็นภาพความเศร้าเสียใจที่ไม่น่าดูเท่าไหร่สำหรับคนเป็นพ่อแม่ แต่บทเรียนอกหักจะทำให้เขารักใครเป็นในวันหน้านะครับ

What doesn’t kill you makes you stronger.

 

อ้างอิง

คอลัมน์ “จักรวาลแห่งความรัก ดาวเคราะห์แห่งความเหงา”โดย นพ.ปีย์ เชษฐ์โชติศักดิ์