ใครๆ ก็รู้จักความเครียด แต่วิธีขจัดมันนั้น มีน้อยคนที่จะรู้ ยิ่งในสถานการณ์ที่ความเครียดทางสังคมสูงขึ้นจนน่าหวั่นใจว่าคนไทยจะสู้ไหวไหม เราจึงได้นัดสนทนากับ รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวินิจทรา นวลละออ จิตแพทย์ทางด้านจิตเวชผู้ใหญ่ เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการรับมือโรคนี้ อย่าเพิ่งยอมแพ้กันละ

 

การรับมือความเครียดที่ไม่อาจเลี่ยง

“ความเครียดมีสองแบบค่ะ จากตัวกระตุ้นหรือตัวเรา บางคนอ่อนไหวกับสิ่งกระตุ้น ขอย้อนไปถึงเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความเสียใจของคนไข้อย่างมาก คือการสวรรคตของรัชกาลที่ 9 มีผู้ป่วยหลายคนเข้ามารับการรักษา ว่าจิตใจห่อเหี่ยว เศร้ามาก แล้วข่าวออกทุกวัน มีพระราชกรณียกิจเก่าๆ มาให้เห็น ความเศร้าเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ถ้าเสพมากไปก็ยิ่งเศร้าหนักขึ้น ต้องรู้ตัว และเสพให้น้อยลง เปลี่ยนไปดูข่าวที่สดชื่นบ้าง ผู้รายงานข่าวก็ควรนำเสนอข่าวด้านบวก ส่วนความเครียดจากตัวเรา ต้องรู้ตัวว่ามีความเครียดมากน้อยแค่ไหน สื่อแบบเดียวกัน บางคนไม่รู้สึกอะไร แต่บางคนอ่อนไหวมาก จึงต้องสังเกตตัวเอง ถ้าดูแล้วใจคอห่อเหี่ยว อึดอัด วิธีง่ายสุดคือปิดช่องทางเสพ และกำหนดลมหายใจเข้าออก เข้าลึกๆ ผ่อนออกช้าๆ หลับตาแล้วจินตนาการถึงภาพที่สวยงามจะทำให้ร่างกายสงบลงได้

“บางครั้งคนที่เครียดมากมักกันตัวเองอยู่คนเดียว จัดการด้วยตัวคนเดียว ซึ่งไม่ดีนัก เพราะจะจมอยู่กับความเศร้าหรือความเครียด ควรสื่อหรือเชื่อมสัมพันธ์กับสิ่งที่ทำให้มีความสุข เช่น โทร.หาคนในครอบครัวหรือคนที่รัก พูดคุยทั่วไปก็ได้ ให้รู้สึกว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก ถ้าไม่รู้จะโทร.หาใครอาจไปทำงานอดิเรกที่ชอบก็ได้ค่ะ การเบี่ยงเบนความสนใจจากสิ่งที่เครียดไปสู่สิ่งที่สนใจ ทำให้จิตใจดีขึ้น

“การพยายามหลีกเลี่ยงด้วยการปิดหูปิดตาไม่รับข่าวสาร เป็นวิธีที่ไม่เหมาะกับโลกความเป็นจริง ต้องรู้ข่าวสารบ้าง เพราะงั้นเลือกเสพอย่างมีสติจึงดีที่สุด”

 

สังคมเครียดขึ้น หรือเพราะสื่อมีให้เสพมากขึ้น

“คนยุคใหม่เครียดขึ้นจริงๆ สมัยก่อนสื่อน้อย คนจึงเครียดจากการไม่รู้อะไรเลย ปัจจุบันรู้ทุกเรื่องก็เครียดเพราะข้อมูลมากเกินไป โฆษณาสมัยก่อนให้ความสำคัญแก่คนทำงานหนัก ภาคภูมิใจในการดูแลครอบครัว แต่โฆษณายุคนี้จะให้ออกไปใช้ชีวิตให้คุ้มค่า ต้องทำงานที่รักจนเหมือนไม่ได้ทำงาน สิ่งที่อยากทำเท่านั้นจึงจะทำ ค่านิยมเปลี่ยน ทำให้เครียดมากขึ้น คนรุ่นเก่าใช้ชีวิตปลงได้ อยู่ได้แม้ไม่ชอบงาน เพราะคุณค่าชีวิตคือการได้ดูแลครอบครัว ต่างจากวัยรุ่นที่ถูกสื่อนำเสนอ เมื่อก่อนดูดาราแต่ในทีวี เดี๋ยวนี้เห็นทางสื่อโซเชียล เห็นวิถีชีวิตดาราที่ดูมีความสุข เข้าใจว่านั่นคือความสุขเลยแสวงหาตาม พอทำไม่ได้เลยเครียด

“คนรุ่นใหม่เข้าใจว่าความหมายของชีวิตคือมีเงินเดือนสูงๆ ได้เที่ยวที่ที่อยากไป แต่เงินเดือนสูงจริงก็ไม่เห็นสุขเลย หรือเที่ยวสนุกตอนไป พอกลับมารู้สึกว่างเปล่า มีความสุขที่ได้กิน ได้เที่ยว แล้วจบแค่นั้น เพราะหาความหมายของชีวิตไม่เจอ เห็นคนอื่นทำแล้วมีความสุข ทั้งที่จริงแล้วไม่ได้อยากกินของแบบนั้น หรือไม่ได้อยากมีกระเป๋าแบบที่ดาราโชว์ แค่อยากมีความสุขเท่านั้นเลยทำตาม ค่านิยมแบบนี้มีมานานแล้ว เพียงแต่สมัยก่อนไม่มีสื่อโซเชียลให้คนมาอวดกันว่าฉันมีความสุขจากอะไร เรื่องคุณค่าชีวิตต้องใช้เวลาค้นหาด้วยตัวเอง แต่ไม่ควรจะหานานนัก”

 

เมื่อปัญหาเศรษฐกิจเริ่มบีบคั้นสังคมครอบครัวมากขึ้น ผู้ใหญ่ควรพูดอย่างไรกับเด็กๆ

“หมอเชื่อว่าพ่อแม่ไม่อยากผลักภาระนี้ให้ลูก ไม่อยากให้ลูกลำบาก แต่ตอนนี้กิจการปิดไปหลายอย่าง พ่อแม่ต้องออกจากงาน บางคนขาดรายได้ ก็ควรบอกลูกอย่างตรงไปตรงมา มีทั้งแบบเหตุผลและแบบอารมณ์ แบบอารมณ์นั้นไม่ควรทำ เช่น พ่อแม่ก็ลำบาก ทำไมหนูเป็นแบบนี้ ซึ่งไม่ควรพูด เพราะเด็กไม่เข้าใจว่าเขาทำอะไรให้พ่อแม่ลำบาก เขาใช้ชีวิตตามปกติอย่างที่ผ่านมา ควรบอกด้วยเหตุผล เช่น ตอนนี้พ่อต้องหยุดงาน ขาดรายได้ เพราะงั้นอะไรไม่จำเป็นเราช่วยกันประหยัดนะ พอกลับไปมีเงินเท่าเดิม เราก็จะกลับสู่ชีวิตปกติ ไม่ต้องกังวล”

 

วิธีประคองครอบครัวให้รอดในสังคมอุดมความเครียดนี้

“ต้องให้อภัยกันค่ะ เวลาเครียดทุกคนจะมีปฏิกริยาโดยอัตโนมัติ คือเริ่มโทษว่าเป็นความผิดของใคร เราจะโกรธ โทษคนนั้นคนนี้ บางทีโทษใครไม่ได้ก็โทษครอบครัว ว่าเป็นเพราะเธอไม่เข้าใจฉัน ไม่รับฟังฉัน ฉันเลยเครียด เป็นเพราะลูกไม่ทำตัวให้ดี พ่อเลยเครียด ต้องให้อภัยกันก่อน ความเครียดไม่ได้เป็นความผิดของใคร มันเกิดตามธรรมชาติ เดี๋ยวก็ดีขึ้นเอง อย่าเพิ่งทะเลาะกันจนบ้านแตก บางครอบครัวที่เข้าใจกันจะไม่มีความเครียด แต่ถ้าไม่เข้าใจ กล่าวโทษกัน ก็ไปต่อไม่ได้”

สังคมไทยกำลังขาดอะไร

“ใกล้ตัวที่สุดในตอนนี้คือสติค่ะ ทุกคนดูตกใจมากเลย ข่าวมาทางไหนรับทุกด้าน ไม่กลั่นกรองก่อน อยากให้ติดตามข่าวอย่างมีสติ อยู่กับปัจจุบัน ดูว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร ตามข่าววันละครั้งพอ ไม่ต้องดูทุกชั่วโมง เปิดทุกช่องทาง เอาแค่ทางเดียวที่น่าเชื่อถือ”

 

จะขจัดความเครียดได้อย่างไร

“ความเครียดทำให้นอนไม่หลับ หลับๆตื่นๆ กลายเป็นวงจร เครียด นอนไม่หลับ วันรุ่งขึ้นอารมณ์ไม่ดี จะเครียด แล้วนอนไม่หลับอีก ก่อนนอนให้เจริญสติ นั่งสมาธิ กำหนดลมหายใจ สาเหตุที่นอนไม่หลับเกิดจากความฟุ้งซ่าน เรายังหมกมุ่นอยู่กับความคิดตอนกลางวัน และให้หลีกจากจอที่มีแสงทุกอย่าง ไม่ว่าจะคอมฯ หรือโทรศัพท์มือถือ เลิกเล่นประมาณ1 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพราะแสงจะหลอกสมองว่ายังกลางวันอยู่ อ่านหนังสือ ผ่อนคลาย เล่นโยคะยืดเหยียดสบายๆ ดนตรีบำบัดคลายเครียดก็มีค่ะ มีหลายวิธีที่ดูแลตัวเองเบื้องต้น

“ถ้าไม่ได้จริงๆ ต้องขอความช่วยเหลือ ไม่ใช่ว่าเราไม่เก่ง คนเรามักมีวิธีจัดการปัญหาแบบเดียว และคิดว่าใช้กับทุกปัญหาได้หมด แต่พอไม่ได้ผล ก็คิดว่ายังพยายามไม่มากพอ แล้วใช้วิธีเดิมไปเรื่อยๆ ดังนั้นแก้ด้วยตัวเองไม่ได้ ให้คุยกับคนอื่น เขาจะมีวิธีการแก้อีกแบบหนึ่ง ลองรับฟังวิธีการของเขาบ้าง”

 

     เมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้ ลองทำตามดูสักนิด ลดละเลิกวางความเครียด เพื่อให้โลกของเรายังคงสดใสได้ต่อไป อย่าให้โรคร้ายมาทำร้ายโลกของเรา.

 

HUG Magazine ปีที่ 12 ฉบับที่ 5

คอลัมน์ ‘แขกรับเชิญ’

"เวลาเครียดทุกคนจะมีปฏิกริยาโดยอัตโนมัติ คือเริ่มโทษว่าเป็นความผิดของใคร บางทีโทษใครไม่ได้ก็โทษครอบครัว ความเครียดไม่ได้เป็นความผิดของใคร มันเกิดตามธรรมชาติ เดี๋ยวก็ดีขึ้นเอง"

 -พญ.วินิทรา นวลละออง-