สวัสดีค่ะ คุณหมอชัญวลี

ดิฉันอายุ 39 ปี มีแฟนอายุ 45 ปี คบกันมา 3 ปี ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์เขามักหยุดกลางคัน
และขอโทษที่เขาเป็นแบบนี้ เราทำได้แค่ปลอบใจและนอนกอดกัน แต่แล้วประมาณตี 4-5
เขากลับมีเพศสัมพันธ์กับดิฉัน แต่ใช้เวลาไม่นานเขาก็เสร็จกิจ ไม่ทราบว่าดิฉันควรเปิดใจพูดคุย
พาแฟนไปหาหมอ หรือเขามีแนวโน้มป่วยทางกายหรือใจอย่างไรไหมคะ
รบกวนคุณหมอให้คำแนะนำด้วยค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

 


 

ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศของชาย (male sexual dysfunction) พบได้บ่อย ขึ้นอยู่กับ

อายุ โดยเฉลี่ยผู้ชายอายุ 40 ปี มักมีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรือ

รวมกันหลายรูปแบบ ถึงร้อยละ 40

การหย่อนสมรรถภาพทางเพศในชายนั้นเป็นผลจากความผิดปกติของระบบหลายอย่างใน

ร่างกาย ได้แก่ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ประสาทสมอง ฮอร์โมน และจิตใจ มีหลายรูปแบบด้วยกัน

เช่น อวัยวะเพศไม่แข็งตัวหรืออีดี (ED-erectile dysfunction) ความต้องการทางเพศลดลง

(diminished libido) การหลั่งผิดปกติ เช่น หลั่งเร็ว หลั่งช้า ไม่หลั่ง (abnormal ejaculation) แต่

ภาวะอีดีนั้นพบมากที่สุด ในกรณีที่ถามมา แฟนของคุณน่าจะมีภาวะอีดี มาฟังวิธีรับมือกับอาการ

ดังกล่าวกันค่ะ

 

สาเหตุการเกิดอีดี

การแข็งตัวของอวัยวะเพศชายนั้นเกิดจากการกระตุ้นระบบประสาทสมองส่วนกลาง
และส่วนปลาย
(central and peripheral nervous system) จากสัมผัสต่างๆ เช่น
ได้ยิน เห็น คิด สัมผัสผ่านผิวหนัง หรือ
เป็นการกระตุ้นของฮอร์โมนช่วงนอนหลับ
เลือดจึงไหลมาคั่งที่อวัยวะเพศจนอวัยวะเพศแข็งตัว

 

อีดีพบได้บ่อยในชายสูงวัย ชายอายุต่ำกว่า 30 ปี พบอีดีไม่เกินร้อยละ 10 ส่วนอายุเกิน
70 ปี
พบอีดีมากถึงหนึ่งในสาม

 

ปัจจัยเสี่ยงสูงสำหรับอีดี ได้แก่ เป็นชายวัยกลางคนอายุเฉลี่ย 46 ปี อ้วน สูบบุหรี่
ชอบนั่งอยู่กับที่
เป็นเวลานาน เครียด นอนกรน มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคหัวใจ
เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
ไขมันในเลือดสูง โรคจิตโรคประสาท ฯลฯ กำลังกินยา
รักษาโรคเรื้อรังเหล่านี้อยู่

 

9 วิธีรับมือกับอีดี

1. ป้องกันการเกิดอีดี ก็คือป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุ เช่น ไม่อ้วน ไม่ผอม พักผ่อนเพียงพอ

มีวิธีลดความเครียด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ได้แก่ ผัก ผลไม้

ธัญพืช ลดอาหารไขมันสูง รักษาโรคเรื้อรังให้อยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงปกติ คนที่มีไลฟ์สไตล์ด้านสุขภาพ

จะมีโอกาสเกิดอีดีน้อยกว่า

 

2. มีเพศสัมพันธ์อย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ในคนที่ยังไม่เป็นอีดี งานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร

ทางการแพทย์ The American Journal of Medicine 2008:121:592. พบว่าคนที่มีเพศสัมพันธ์

น้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง มีโอกาสเกิดอีดีมากกว่าคนที่มีเพศสัมพันธ์สัปดาห์ละครั้งถึง 2 เท่า แม้ปรับ

ความเสี่ยงสูงต่างๆ ในการเกิดอีดีแล้ว

 

3. ทำใจว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา เนื่องจากเป็นกระบวนการเสื่อมตามธรรมชาติในผู้สูงวัย

งานวิจัยพบว่า แม้ไม่มีโรคอะไร เมื่ออายุมาก ก็พบอีดีเพิ่มขึ้น หากเป็นน้อย นานๆ เป็นครั้ง ไม่มีปัญหา

กับคู่ครอง หรือบางคนไม่มีคู่ครอง อาจไม่ต้องรักษา

 

4. แก้ปัญหานอกเตียง ปัญหาในเตียงมักมาจากนอกเตียง ปัญหาอีดีในชายบางคนเป็นกับ

หญิงบางคน คู่ครองควรมีปิยวาจา พูดจาให้กำลังใจ ปลอบใจ ไม่ซ้ำเติม เป็นเพื่อนดูแลสุขภาพ

ออกกำลังกาย เลือกอาหารสุขภาพ เลือกเวลาที่มีเพศสัมพันธ์ตามการแข็งตัวของอวัยวะเพศซึ่งมักเป็น

ตอนเช้ามืด พาไปพบแพทย์ตรวจร่างกายประจำปี หรือยามเจ็บป่วย

 

5. ตรวจหาสาเหตุ นอกจากโรคเรื้อรังทำให้เกิดอีดี อีดีเองก็ยังเป็นสัญญาณของโรคเรื้อรังที่

แฝงอยู่ในร่างกาย งานวิจัยตีพิมพ์ใน วารสารทางการแพทย์ JAMA (The Journal of the American

Medical Association) 2005: 294:2996. ติดตามคนที่มีอาการอีดีโดยไม่มีโรคอะไรอยู่นาน 5 ปี

พบว่าคนที่เป็นอีดีร้อยละ 57 เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ดังนั้นหากมีอาการอีดี ควรพบแพทย์เพื่อตรวจ

หาโรคเรื้อรังที่แฝงอยู่ที่อาจเป็นสาเหตุ ส่วนคนที่มีโรคเรื้อรังอยู่แล้ว ควรพบแพทย์เพื่อดูแลรักษา

ควบคุมโรคให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

 

6. เปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ วิธีรับมือเมื่อฝ่ายชายมีอาการอีดี ก่อนอื่นต้องเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์

เช่น ลดน้ำหนัก ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ เลือกรับประทานผักผลไม้ลดอาหารไขมันสูง พักผ่อนเพียงพอ

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งานวิจัยพบว่า การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ทุกอย่าง โดยเฉพาะการ

ลดน้ำหนักและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สามารถเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ทำให้อวัยวะเพศ

แข็งตัวดีขึ้น

 

7. งดออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยานทางไกล แม้จะไม่เป็นที่ยอมรับกันทั้งหมด งานวิจัย

European Urology 2002: 41:139 พบว่าการขี่จักรยานทางไกล กดเส้นประสาทฝีเย็บ (perineal

nerve) กับอานจักรยาน ลดแรงดันออกซิเจนในหลอดเลือดแดง (pudenda artery) ที่มาเลี้ยง

อวัยวะเพศ ทำให้เกิดเหน็บชา (penile numbness) และอีดีในที่สุด

 

8. พิจารณาหยุดยา ซึ่งอาจทำให้เกิดอีดี เช่น ยาต้านซึมเศร้า (antidepressants) ยาขับปัสสาวะ

(thiazide, spironolactone) ยารักษาเชื้อรา (ketoconazole) ยาลดกรด (cimetidine) ฯลฯ

 

9. พบแพทย์ หากดูแลตนเอง ปรับไลฟ์สไตล์ต่างๆ แล้วไม่ดีขึ้น แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย

ตรวจเลือด ตรวจพิเศษต่างๆ เพื่อหาสาเหตุ และรักษาตามสาเหตุ เช่น ใช้ฮอร์โมนเพศชาย ในรายที่

เกิดจากระดับฮอร์โมนเพศชายต่ำ รักษาด้วยยา PDE5 inhibitors เช่น ซิลเดนนาฟิล (ไวอะกร้า)

วาเดนนาฟิล ทาดาลาฟิล (sildenafil, varldenafil tadalafil) หรือใช้ยาฉีดกระตุ้นอวัยวะเพศให้แข็งตัว

เป็นครั้งๆ เมื่อจะมีเพศสัมพันธ์ หรือใช้เครื่องปั๊ม หรือผ่าตัดฝังแกนอวัยวะเพศเทียม ฯลฯ นอกจากนั้น

แพทย์สามารถช่วยลดความเครียด และแนะนำการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องได้

 

จาก เรื่อง “9 วิธีรับมือภาวะหย่อนสมรรถภาพ”
คอลัมน์ “สุขภาพสุขเพศ”
โดย พญ.ชัญวลี ศรีสุโข
Hug magazine ปีที่ 11 ฉบับที่ 5
(15 เม.ย.-14 พ.ค. 2562)