ปัตตานี เมืองงามสามวัฒนธรรม

“บ้านเราเราก็รัก บ้านเราเราก็ห่วง” ปัตตานีไม่ได้มีเพียงแค่สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อีกหนึ่งความโดดเด่นของเมืองปัตตานี คือความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมซึ่งผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างงดงาม เราจึงตั้งใจไปเยี่ยมชมสถานที่สำคัญของแต่ละวัฒนธรรมในเมืองปัตตานี


เริ่มกันที่ศูนย์รวมจิตใจพุทธศาสนิกชนในภาคใต้ “วัดราษฎร์บูรณะ” หรือที่รู้จักกันว่า “วัดช้างให้” วัดเก่าแก่กว่า 300 ปี ตามตำนานเล่าว่าเจ้าเมืองไทรบุรีได้ทำพิธีเสี่ยงทายปล่อยช้างให้ออกเดินทางไปในป่า เพื่อหาสถานที่สำหรับการสร้างเมืองแห่งใหม่ให้แก่น้องสาว ช้างเชือกนั้นเดินมาหยุดอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง แล้วร้องดังขึ้นสามครั้งอันถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เจ้าเมืองไทรบุรีจึงสร้างเมืองขึ้นในบริเวณนี้ แต่ไม่เป็นที่พอใจแก่น้องสาว เจ้าเมืองไทรบุรีจึงได้สร้างวัดไว้แทนให้ชื่อว่า “วัดช้างให้” และนิมนต์ “สมเด็จพะโคะ” หรือ “หลวงปู่ทวดเหยียบทะเลน้ำจืด” มาเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ต่อมาเมื่อท่านมรณภาพลงและมีการฌาปนกิจแล้วบรรจุอัฐิไว้ที่วัดแห่งนี้ พุทธศาสนิกชนที่ศรัทธาหลวงปู่ทวดจึงหลั่งไหลกันมาสักการะหลวงปู่ที่วัดช้างให้กันไม่ขาดสาย

หลวงปู่ทวด

จากนั้นเราเดินทางไปยัง “มัสยิดกรือเซะ” หรือ “มัสยิดสุลต่านมูซัฟฟาร์ชาห์” สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หน้าต่างก่ออิฐเป็นซุ้มโค้ง ทางเข้าออกเป็นซุ้มโค้งปลายแหลม มีเสากลมก่ออิฐรองรับ โดมหลังคาอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ ได้รับการซ่อมแซมให้สามารถประกอบศาสนกิจได้ คาดว่าเป็นมัสยิดในศิลปะแบบเปอร์เซีย สวยงามดูมีมนต์ขลังมาก

มัสยิดกรือเซะในบริเวณเดียวกันกับมัสยิดเป็นที่ตั้งของ “สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” เป็นที่รู้จักกันดีของพี่น้องชาวจีนในประเทศไทยและมาเลเซีย ตามตำนานเล่าว่า “ลิ้มกอเหนี่ยว” สาวชาวจีนฮกเกี้ยนลงเรือสำเภาไปยัง “เมืองตานี” เพื่อตามหา “ลิ้มโต๊ะเคี่ยม” ผู้เป็นพี่ชาย และขอให้เดินทางกลับเมืองจีนตามความประสงค์ของมารดา แต่นางพบว่าพี่ชายได้แต่งงานกับลูกสาวของพระยาตานี และเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม จึงไม่สามารถเดินทางกลับไปเมืองจีน ลิ้มกอเหนี่ยวได้ให้คำสัตย์ไว้กับมารดา หากไม่สามารถตามพี่ชายกลับไปได้จะไม่ขอมีชีวิตอยู่ นางจึงผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้ฝังศพนางไว้ที่หมู่บ้านกรือเซะ บริเวณนอกเมืองตานี ชาวบ้านเชื่อว่าดวงวิญญาณของลิ้มกอเหนี่ยวยังคงวนเวียนอยู่ คอยให้โชคลาภแก่ผู้ที่ไปบนบานศาลกล่าว การค้าขายที่เคยซบเซากลับรุ่งเรือง ทำให้เกิดความเลื่อมใสเป็นอย่างมาก จึงได้นำกิ่งมะม่วงหิมพานต์มาแกะสลักเป็นรูปเหมือนนาง และได้สร้างศาลเล็กๆ ขึ้นใต้ต้นมะม่วงหิมพานต์แห่งนั้น

ต่อมาชาวจีนในจังหวัดปัตตานีเห็นว่า ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธานั้น ตั้งอยู่ไกลจากตัวเมืองมาก ไม่สะดวกแก่การประกอบพิธี จึงร่วมกันสร้างศาลเจ้าแห่งใหม่ในเมืองปัตตานี ชื่อ “ศาลเจ้าเล่งจูเกียง” และได้อัญเชิญรูปสลักของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวมาประดิษฐาน ณ ศาลเจ้าแห่งนี้ รู้จักกันในชื่อ “ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 ของทุกปีมี “งานประเพณีแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” เป็นงานสมโภชที่ยิ่งใหญ่ มีการแสดงมหรสพ 7 วัน 7 คืน ชาวจีนทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านต่างหลั่งไหลมาสักการะเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวกันอย่างหนาแน่น



บนถนนอาเนาะรู ถนนสายเดียวกับที่ตั้งของศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเป็นย่านเมืองเก่าปัตตานี เรียกตามภาษาพื้นเมืองว่า “กือดาจีนอ” ที่แปลว่า “ตลาดจีน” แต่เดิมเป็นย่านการค้าสำคัญ มีท่าเทียบเรือสำหรับชาวต่างชาติเข้ามาค้าขายแลกเปลี่ยน มีด่านเก็บภาษี ย่านนี้จึงมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก สถาปัตยกรรมในย่านนี้มีทั้งบ้านเรือนย้อนยุค อาคารพาณิชย์แบบจีนดั้งเดิม บ้านกงสี บ้านที่เคยเปิดเป็นโรงเตี๊ยม บ้านเลขที่ 1 ของเมืองปัตตานีก็ตั้งอยู่ในย่านนี้ ปัจจุบันย่านเมืองเก่าปัตตานีได้รับการฟื้นฟูให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ด้วยการเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สามารถเข้าเยี่ยมชมบ้านเรือนสำคัญในย่านเพื่อเรียนรู้ความเป็นมา หรือจะเดินเล่นถ่ายภาพชิคๆ ก็เพลิดเพลินอีกแบบ


นาซิฆูลา

อีกสิ่งที่ไม่ควรพลาดหากได้มาเยือนปัตตานี คืออาหารพื้นเมือง เริ่มด้วยอาหารจานหลักที่เป็นข้าวแกงเรียกว่า “นาซิฆูลา” มีลักษณะเป็นข้าวมัน ราดด้วยแกงหรือปลาทอดไก่ทอด เมนูที่ต้องแนะนำคือข้าวมันมลายูเรียกว่า “นาซิลือเมาะ” เป็นข้าวมันราดน้ำพริกราดแกง พร้อมกับเครื่องเคียงเป็นไก่ทอดปลาขนาดเล็กทอดและไข่ต้ม ตามด้วยของหวานและชาร้อน ฟินอย่าบอกใครเลย อิ่มท้องแล้วต่อด้วยการเยี่ยมชม “มัสยิดกลางปัตตานี” สถานที่ประกอบศาสนกิจสำคัญของพี่น้องมุสลิมในภาคใต้ มัสยิดได้รับฉายาว่า “ทัชมาฮาลเมืองไทย” เนื่องจากรูปแบบสถาปัตยกรรมได้รับแรงบันดาลใจทัชมาฮาล มัสยิดกลางปัตตานีเป็นมัสยิดขนาดใหญ่ มีทางเดินทอดยาวมุ่งเข้าสู่มัสยิด สองข้างทางปลูกต้นไม้และจัดสวนไว้อย่างสวยงาม ด้านหน้ามัสยิดมีสระน้ำสีเขียวมรกตขนาดใหญ่ สะท้อนภาพของมัสยิดได้อย่างตรึงตา ตัวมัสยิดสีขาวสลับส้ม มีโดมขนาดใหญ่สีเขียวอลังการกับฉายาทัชมาฮาลเมืองไทยเลยจริงๆ

 

มัสยิดกลางปัตตานี

 

เราปิดทริปนี้ที่ “Patani Art Space” ตามความคิดริเริ่มของ “อาจารย์เจะ-ผศ.เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ” ผู้ต้องการให้ลูกศิษย์มีพื้นที่ทำงานศิลปะตามอุดมการณ์ คนส่วนใหญ่รู้จักปัตตานีอยู่แล้ว แต่อาจรู้จักเพียงด้านลบ อาจารย์ตั้งใจแสดงให้คนรู้จักในด้านบวกมากขึ้น จึงเปิดโอกาสให้เยาวชนและศิลปินชายแดนใต้ ได้แสดงฝีมือด้านศิลปะเพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ประยุกต์ใช้วัสดุและเทคนิคจากท้องถิ่นเอง ก่อเกิดงานศิลปะร่วมสมัย แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นแกลเลอรีหมุนเวียนแสดงงานศิลปะ เพื่อให้เยาวชนศิลปินท้องถิ่นได้ทำงาน อีกส่วนหนึ่งเป็นร้านกาแฟสำหรับนั่งเสพบรรยากาศ ตั้งอยู่ท่ามกลางท้องทุ่งนาเขียวขจี มีลมโชยชายเย็นสบาย

ทั้งที่ทริปนี้เรามีเวลามาเยือนปัตตานีเพียงน้อยนิด แต่เราก็ได้รู้จักปัตตานีอีกแง่มุมหนึ่งที่เราไม่เคยรู้จัก ก่อนหน้านี้คำว่า “สามจังหวัดชายแดนใต้” เป็นพื้นที่อันตราย เป็นคำที่แบ่งแยกความเป็นเขาและเรา แต่การเดินทางครั้งนี้ทำให้เราตระหนักว่าที่นี่ยังมีชีวิต มีพ่อแม่ พี่น้อง ลุงป้าน้าอา ที่นี่มีครอบครัว ที่นี่ยังมีความรู้สึกนึกคิด เหมือนกับคนจังหวัดอื่นๆ และที่สำคัญ “ที่นี่มีความสุข”