อยู่กับความ "เหงา" อย่าง "เข้าใจ"

เชื่อว่าหลายคนคงเคยเผชิญกับความเหงามาบ้างไม่มากก็น้อย

ระยะเวลาอาจสั้นหรือยาวนานจนบั่นทอนจิตใจนั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบแวดล้อมหลายอย่าง

ความเหงาเปรียบดั่งฤดูกาลที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่อีกไม่นานก็หวนกลับมาใหม่
แม้อยู่ท่ามกลางผู้คนมากมายก็รู้สึกเหงาได้

ฮักขอให้คุณลองเปิดใจเพื่อทำความรู้จักกับความเหงาจาก
พี่หมอเอิ้น-พญ.พิยะดา หาชัยภูมิ จิตแพทย์ นักแต่งเพลง
และวิทยากรการสื่อสารเพื่อความสุข


 

มุมมองต่อความเหงา

ความเหงาเป็นเรื่องแปลกทั้งในแง่นิยามและอารมณ์ความรู้สึก ผู้คนมากมายพยายามอยู่ห่างจากความเหงา แต่นั่นอาจยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกเหงาและว้าเหว่ มนุษย์รู้จักความเหงาผ่านประสบการณ์ของตนเอง แต่เป็นเรื่องยากเกินอธิบายว่าความเหงานั้นมีรูปแบบอย่างไร แตกต่างกับความโดดเดี่ยว แปลกแยก และอารมณ์ซึมเศร้าอย่างไร

 

“ความเหงาเป็นอารมณ์ที่เหมือนกับเป็นรสนิยม บางคนชอบและรู้สึกว่าบางครั้งความเหงาให้พลังบางอย่าง แต่เมื่ออยู่กับความเหงาได้สักพักกลับไม่อยากเหงาอีกแล้ว ก็ออกไปทำนู่น
ทำนี่เพื่อคลายเหงา เมื่อหมดพลังก็กลับมารู้สึกเหงาอีก ขณะที่บางคนไม่ชอบความเหงาเลย ไม่อยากให้มีความเหงาอยู่ในชีวิต ที่จริงแล้วความเหงาเป็นอารมณ์พื้นฐานตามธรรมชาติซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกคน มากหรือน้อย ชอบหรือไม่ชอบแตกต่างกัน หากเราจำเป็นต้องอยู่กับความเหงา ก็ต้องทำความเข้าใจความเหงาที่เรามีเสียก่อน ที่จริงแล้วโดยส่วนใหญ่ความเหงาเกิดจากสภาวะภายในเมื่อเรารู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มีใคร ส่วนสภาวะภายนอก เช่น อยู่ในสถานที่ซึ่งมีบรรยากาศเวิ้งว้าง ว่างเปล่า แสงสลัวๆ เรียกว่าบรรยากาศพาไปให้ใจเหงา องค์ประกอบที่จะกระตุ้นให้เกิดความเหงานั้นมีเยอะมาก ทั้งด้านสภาวะแวดล้อม ผู้คนรอบๆ ตัวเรา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ ‘มุมมองของเราที่มีต่อความเหงา’

 

บางทีเราอยู่ในสถานที่ซึ่งมีผู้คนเยอะแยะรอบตัว แต่หัวใจข้างในกลับรู้สึกเหงา นั่นแสดงว่าอาจเป็นความเหงาที่เริ่มไม่ปกติ แต่ถ้าเกิดเราอยู่ในสภาวะอย่างที่บอกไปก่อนหน้าคือ มีหลายสิ่งหลายอย่าง เช่น อากาศ สภาพแวดล้อม แสง สี เสียง ผู้คน มากระตุ้นให้ความเหงาเกิดขึ้น นั่นแสดงว่าเป็นอาการเหงาปกติ ถ้าความเหงามาเยือน และเรารู้สึกถึงความเหงาแล้วจะใช้ประโยชน์จากความเหงาอย่างไร ความเหงาส่วนใหญ่เกิดจากความรู้สึกว่ามีเราคนเดียว มีเราเพียงลำพัง ข้อดีของการที่เรามีความรู้สึกนี้คือ ช่วงเวลาที่เราจะได้รู้จักตัวเองมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อใดก็ตามที่เรามีกันสองคน มีกันเป็นหมู่คณะ มีกันเป็นสังคม ก็จะเริ่มมีชีวิตของคนอื่นเข้ามาในพื้นที่ชีวิตของเรามากขึ้น ยกตัวอย่างง่ายๆ บางคนเพิ่งรู้จักตัวเองว่าเป็นคนแบบไหนตอนที่ได้ใช้ชีวิตเองคนเดียว เหมือนกันกับความเหงาคือถ้าเราใช้ประโยชน์จากเขา ใช้ความเหงาเพื่อมองให้เห็นตัวเราได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ช่วงเวลาที่เรารู้สึกว่าเราอยู่คนเดียวทำให้เราตัดส่วนที่เรารับมาจากคนอื่น จากครอบครัว จากสังคมออก เราก็จะเห็นพื้นฐานทางอารมณ์ของเราได้ง่ายขึ้น เห็นว่าโดยพื้นฐานแล้วอารมณ์ของเราเป็นยังไง อะไรเป็นสิ่งสำคัญที่อยู่ในความคิดของเราตอนนี้ อะไรคือความปรารถนาที่แท้จริงของเรา โดยที่ไม่ต้องคิดว่าทำเพื่อใคร เราจะเห็นตัวเองชัดขึ้น รู้ว่าจริงๆ แล้วฉันเป็นคนยังไง ฉันมีศักยภาพอะไร ในขณะเดียวกันเราก็จะเห็นจุดอ่อนของตัวเองได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

 

ถ้าเราโชคดีอาจตั้ง mindset ชีวิตของตัวเองได้ ว่าสิ่งที่จะทำต่อจากนี้เพื่ออะไร เป้าหมายในชีวิตคืออะไร เริ่มวางแผนกับตัวเองได้ ค่อยๆ ลงมือทำได้ นี่คือประโยชน์ของความเหงา แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมองเห็นความเหงาในมุมนี้ สามารถอยู่กับตัวเองในลักษณะนี้ได้ นั่นหมายความว่า เราเริ่มเลือกใช้ประโยชน์จากความเหงาได้แล้ว เราเหงาได้ก็ไม่เหงาได้

 


 

ความเหงาในปัจจุบัน

“ปัจจุบันโลกหมุนเร็ว ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เนื่องจากเรามีเทคโนโลยีต่างๆ มีการสื่อสารหลายช่องทางมาก เราจึงแชร์ข่าวสารกันตลอด โลกเป็นใบเดียวจริงๆ ไม่ได้แบ่งแยกเป็นทวีปตามแผนที่โลกอีกต่อไปแล้ว แต่ผู้คนกลับทุกข์มากขึ้น ในฐานะจิตแพทย์เรารู้สึกว่าบางคน ‘ทุกข์จนรังเกียจความสุข’ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะคนที่คิดแบบนี้ไม่ว่าใครจะพูดอะไรเขาก็มองเป็นเรื่องแย่ไปหมด คิดว่าความสุขไม่มีอยู่จริงหรอก เพราะถ้ามีฉันต้องสัมผัสได้บ้าง ถามว่าทำไมไม่มีความสุขในชีวิต ก็เพราะว่าเรา ‘อยู่กับตัวเองไม่เป็น’ อีกทั้งความรวดเร็วและความสะดวกของเทคโนโลยีทำให้เราเห็นตัวเองน้อยลง เห็นแต่สิ่งที่เราอยากจะเป็นมากขึ้น เห็นแต่สิ่งที่คนอื่นเป็นมากขึ้น แล้วเกิดการเปรียบเทียบ ทว่ากลับไม่เคยเรียนรู้ตัวเอง อยู่แค่กับสิ่งที่ฉันเป็นวันนี้ แล้วก็ภาพที่ฉันอยากเป็น ภาพที่คนอื่นสำเร็จ คือการเปรียบเทียบเริ่มเป็นพลังที่มีอิทธิพลกับใจคนมากกว่าการที่เราสื่อสารกันด้วยความเข้าใจ หรือมีเวลาคุณภาพร่วมกัน

 

ถ้าเราไม่อยากมีชีวิตที่ทุกข์จนรังเกียจความสุข เราต้องอยู่กับความเหงาให้ได้ เริ่มหยุดเป็น เริ่มช้าลงเป็น เริ่มขอบคุณคนอื่นและขอบคุณตัวเองให้เป็น เวลาที่เราทำอะไรดีๆ เพื่อตัวเองและผู้อื่น ต้องเริ่มรู้จักอิ่มเอม คือเมื่อทำอะไรแล้วรู้สึกมีความสุข เราลองหยุดเพื่ออยู่กับความรู้สึกนั้น สัมผัสกับความสุขให้มากขึ้น เป็นกระบวนการที่จะทำให้เราไม่เป็นคนที่ทุกข์จนรังเกียจความสุข และเป็นเพื่อนกับความเหงาได้มากขึ้น

 

 

ลองเหงาให้สุดแต่อย่าจมดิ่ง

“เมื่อความเหงาเกิดขึ้นแล้วเรายังนึกถึงประโยชน์ของความเหงาไม่ทันก็ยังไม่ต้องคิด จงเหงาให้ถึงที่สุดก่อน หากมีสติ ถ้าเหงาก็ถอยออกมาแล้วลองปรับมุมมองที่มีต่อความเหงาหรือมองให้กว้างขึ้น ถ้าวิธีนี้ยากเกินไป ลอง ‘เหงาไปขั้นสุด แต่อย่าเหงาถึงขั้นตาย’ อยู่กับความเหงาแล้วเฝ้าดูว่าเขาสร้างความทุกข์อะไรให้เราบ้าง เป็นการเรียนรู้ด้านลบของความเหงา มันอาจทำให้เราคิดถึงใครบางคนซึ่งรอเราอยู่ที่บ้านก็ได้ หากเรามองแต่มุมของตัวเองย่อมเจ็บปวด ให้ลองคิดในทางกลับกันว่าแล้วคนอื่นเหงาเหมือนเราไหม คนที่บ้านรู้สึกแบบนี้เหมือนกันหรือเปล่า บางทีแค่นึกถึงใครบางคนที่มีความสำคัญในชีวิต เราอาจกลับไปหาเขา หรือเราอาจอยากทำอะไรที่เรียกว่าเวลาคุณภาพร่วมกัน

 

บางครั้งความเหงาอาจอยู่เป็นเพื่อนกับเราก็ได้ ที่จริงแล้วความเหงาก็อยู่ในตัวเรานี่ละ แต่เมื่อปัจจัยอื่นเข้ามามีอิทธิพลในชีวิตของเรามากกว่า เราอาจลืมอารมณ์เหล่านี้ไป บางทีก็ทำให้เราลืมใครบางคนเหมือนกัน ไม่ใช่แค่เราที่ถูกลืม ในขณะที่เราจมอยู่กับการเป็นคนที่ถูกลืม ตอนนั้นมันเป็นช่วงเวลาที่เราลืมใครต่อใครไปเยอะ เราลืมคนที่เคยทำอะไรดีๆ ให้เรา เพราะตอนนั้นมัวคิดเพียงว่าเราเคยทำดีกับใครบ้าง แล้วทำไมวันนี้คนคนนั้นไม่อยู่ตรงนี้กับเรา

 


 

เมื่อเหงาเกินไปจนหัวใจอ่อนแอ

“มนุษย์นั้นฉลาด สมองของเราปรับตัวอยู่เสมอ ถ้าอยู่ในสภาวะจิตใจที่เป็นปกติแล้วมีอะไรมากระทบ ทำให้เราต้องเหงาหรือเศร้า สมองจะปรับตัวไปเป็นสมองที่เหงา เศร้า อยู่พักหนึ่ง ถ้าเราไม่หยุดแล้วถอยออกมาย่อมจมลงไปเรื่อยๆ เมื่อจมจนถึงขั้นสุดแล้วยังไม่เรียนรู้ความทุกข์นั้น สมองก็จะเศร้าและทำให้เรามีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้ เมื่อใดที่บอกว่าเป็นโรคหมายถึงเราควบคุมอะไรไม่ได้ เพราะเซลล์สมองเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เมื่อเป็นโรคต้องรักษา ถ้าคุณเพียงอยู่ในช่วงปรับตัว อาจแค่รับการเยียวยา เช่น ออกไปทำสิ่งดีๆ ออกกำลังกาย ทำบุญ แบ่งปันสิ่งที่ตัวเองทำให้ผู้อื่นได้ หรือแม้แต่การนั่ง นอนเฉยๆ ให้ร่างกายและจิตใจได้พักผ่อนก็นับเป็นการเยียวยาอย่างหนึ่ง

 

“ไม่ใช่ว่าคุณรู้สึกป่วยแล้วถึงมาพบจิตแพทย์ ภารกิจของการเป็นหมอคือ ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู เมื่อใดที่รู้สึกเหงา เศร้า จมกับความรู้สึกนี้มานานจนรู้สึกไม่ดี เริ่มถอนตัวเองไม่ได้หรือรู้สึกว่าไม่มีทางออกกับเรื่องนี้ แต่สมองยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก เราป้องกันโดยการมาหาหมอหรือพบนักจิตวิทยาก่อน นั่นอาจเป็นครั้งเดียวที่คุณมาหาหมอ

 

มนุษย์ทุกคนล้วนมีบาดแผล เราเติบโตมาพร้อมกับบาดแผลในแบบของเรา การเป็นโรคนั้นไม่สนุกแม้บอกว่ารักษาหาย โรคซึมเศร้านั้นไม่ได้น่ารังเกียจหรือน่าอาย แต่ควรป้องกันไว้ก่อนดีกว่า คือเท่าที่เราเคยรักษามานั้นหายได้จริง แต่มักทิ้งร่องรอยบางอย่างไว้ การใช้ชีวิตก็ไม่เต็มที่เหมือนเดิม

 


 

ความจริงของความเหงา

“การดูแลตัวเองตั้งแต่แรกสำคัญที่สุด อย่างแรกคือต้องฝึกฝนความ ‘ซื่อสัตย์กับตัวเอง’ ว่าเรารู้สึกอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้ฉันเหงา ฉันเศร้า ฉันไม่ชอบความรู้สึกแบบนี้เลย ไม่ชอบระดับ 10 ให้ลองค่อยๆ ค้นหาความหมายของการไม่ชอบระดับ 10 ในขณะที่เพื่อนๆ หรือใครหลายๆ คนเมื่อความเหงามาเยือนเขาอาจไม่ชอบแค่ระดับ 5 แล้วมันมีความหมายกับชีวิตเราอย่างไร ถ้าเราไม่ซื่อสัตย์กับตัวเองก็จะรีบปฏิเสธ และบอกตัวเองว่าทำยังไงก็ได้ให้ไม่เหงา แต่ไม่กล้าถามตัวเองว่าทำไมถึงไม่ชอบ เพราะอะไร แน่นอนว่าเราอาจไม่ได้คำตอบทันที ประโยชน์ที่ได้จากการถามตัวเองคือ ความเหงาก็จะทำร้ายเราได้น้อยลง จากระดับ 10 ลดลงสู่ระดับ 5

 

“จากนั้นลองมองดูว่า เรามี ‘คนที่พร้อมรับฟัง’ ที่ไม่ใช่หมอไหม เรามีเพื่อน คนในครอบครัว เพื่อนร่วมงานที่รับฟังเราได้ไหม อาจลองคุยกับเขาว่า เราแค่อยากเล่าให้ฟังเฉยๆ นะ เพราะถ้าเราไม่บอกแบบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เขาจะให้คำแนะนำ คำปลอบใจมาสารพัด เพราะเขาอยากช่วยคุณ หลังจากได้เล่าจนจบแล้วเราจะรู้สึกเบาสบาย นั่นเท่ากับว่าเราได้เยียวยาตนเองแล้ว ส่วนการเยียวยาขั้นสุดคือเราจะเริ่มมองเห็น ‘ความจริงของความเหงา’ ว่ามันมีข้อดี ข้อเสียอย่างไร ขั้นสุดไปกว่านั้นคือเราเริ่มเลือกได้ว่าจะเหงาหรือไม่เหงา เริ่มรู้ทันมันมากขึ้น เริ่มรู้จักวิธีการดูแลตัวเองจากความเหงาได้ดียิ่งขึ้น”

 

ในเมื่อความเหงาเป็นเรื่องซับซ้อนและไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะความเหงามาเยือนหัวใจได้ทุกที่ ทุกเวลา อย่ามัวปล่อยให้ความเหงาเกาะกินใจ ลองย้อนกลับมามองตัวเราและความเหงาในแง่ดีบ้างเป็นไร เพื่อใช้ชีวิตอยู่กับความเหงาอย่างเข้าใจ

 


Hug magazine ปีที่ 11 ฉบับที่ 5
(15 เม.ย.-14 พ.ค. 2562)
คอลัมน์: แขกรับเชิญ

จดหมายจากความเหงา

“อย่างที่พี่เอิ้นเคยแต่งเพลงจดหมายจากความเหงาว่า ความเหงาเป็นเพื่อนเก่าที่แสนดี ‘…หากมองโลกนี้ในแง่ดีสักครั้ง เธอจะรู้ว่าต่อให้เหงามากมายสักเท่าไหร่ ก็ไม่ทำร้ายใครให้ต้องถึงตาย สบายใจได้เสมอ อดทนเอาไว้ในเวลาที่เหงา กลับมามองตัวเราและชีวิตจริงที่ต้องเจอ เพราะเธออาจเปลี่ยนจากความเหงาเป็นเพื่อนเก่าที่แสนดี...’ สุดท้ายแล้วเมื่อความเหงาเกิดขึ้นถ้าเรารู้เท่าทัน เราก็จะเห็นคุณค่าของความเหงาเหมือนเขาเป็นเพื่อนของเราคนหนึ่ง”