ในโลกโซเชียลมีเดียทุกวันนี้ เราได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างท่วมท้นและรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนผู้ว่างงาน มาตรการรองรับผลกระทบทั้งการเงินและการคลัง ราคาน้ำมัน ราคาทองคำ VIX Index และ Earning Yield Gap

 

จะเห็นว่า ข้อมูลเยอะจน overload และหลายครั้งเรามักเลือกนำข้อมูลที่เราเชื่อหรือชอบมาประกอบการตัดสินใจในการลงทุน จนเกิดความรู้สึกเข้าข้างตัวเอง และเป็นอคติในการลงทุนที่เรียกว่า “confirmation bias”

 

สิ่งที่ตามมาคือ เรามั่นใจเกินไปจนกลายเป็น “overconfidence bias” และอาจทำให้การลงทุนเกิดความผิดพลาดได้

 

ยกตัวอย่างเช่น

ตอนประกาศปิดห้างรอบแรกถึงกลางเดือนเมษายน หุ้นหลายตัวที่เกี่ยวข้องทั้งร้านอาหาร โรงหนัง ห้างสรรพสินค้า ราคาตกกันหมด เราจึงมั่นใจว่า พอประกาศปิดห้างถึงสิ้นเดือน หุ้นต้องลงต่อแน่ เราเลยทั้ง short ทั้ง put สุดท้ายหุ้นไม่ลง ต่อมามีประกาศเคอร์ฟิวอีก ก็มั่นใจว่า แบบนี้หุ้นต้องลง ผลสุดท้ายหุ้นก็ไม่ลง เราขาดทุน

 

หุ้นโรงเรียนไม่เกี่ยวโดยตรง แค่เลื่อนเปิดเทอม ยังไงเสียเด็กก็ต้องเลื่อนชั้น ค่าเทอมไม่ลดแน่ๆ ผู้ปกครองไม่ย้ายโรงเรียนกลางคันอยู่แล้ว สุดท้ายหลายโรงเรียนประกาศลดค่าเทอม ไม่เก็บค่าอาหาร เพราะเรียนออนไลน์ กลายเป็นว่าแม้ไม่กระทบ กำไรก็ลดลงได้

 

โรงพยาบาลที่มีแต่คนไข้ชาวไทย คิดว่าคงไม่กระทบ แต่หลายคนโดยเฉพาะบ้านที่มีเด็ก ก็ไม่อยากมาโรงพยาบาลเพราะกลัวจะติดโควิด-19 จากที่นี่ คือ ถ้าจะมาต้องแบบไม่ไหวแล้ว มา admit เลย รายได้ OPD จึงลดลง

 

ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ซ่อมแซมบ้าน ในช่วงวิกฤตินี้ คนเราซื้อแต่ของกินของใช้ที่จำเป็นกัน ไม่มีใครเขาซ่อมบ้านกันหรอก หุ้นร้านค้าปลีกกลุ่มนี้ราคาร่วงเยอะ แต่ไม่ใช่ว่ามันจะต้องลงเรื่อยๆ เพราะถ้าราคาถูกเกินไป และนักลงทุนมองว่าเป็นเหตุการณ์ชั่วคราว ราคาก็เด้งกลับมาได้

 

ยังมีหุ้นอีกมากมายที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย ไม่ว่าจะเป็นสายการบินที่มองแล้วไม่อยากเชื่อว่าจะขึ้นเต็ม ร้อย ในระยะเวลาแค่ไม่กี่วัน ห้างสรรพสินค้าขนาดเล็กบางห้างที่ปกติคนน้อยอยู่แล้ว นี่ปิดห้างยิ่งอาการหนัก ราคาก็ยังขึ้นได้เยอะ

เพราะฉะนั้น เวลาเราเลือกหยิบข้อมูลมาพิจารณา จำเป็นต้องมองให้รอบด้าน หยิบทุกข้อมูลที่เป็นไปได้มาวิเคราะห์ และมองหลายๆ มุม เพื่อไม่ให้เกิดความลำเอียงไปทางใดทางหนึ่ง และที่สำคัญคือการวางแผนอย่างรัดกุมทุกครั้งที่ลงทุนว่า ถ้าเราคิดถูกจะทำอย่างไร และถ้าเราคิดผิดจะต้องทำอย่างไรกับการลงทุน.

 

HUG Magazine 

คอลัมน์ ‘เงินทองต้องรักษา’

เรื่อง: Stock Vitamins-วิตามินหุ้น