งานที่รัก vs หัวหน้าที่ไม่(น่า)รัก

______________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________

 

 

 

“หนูตัดสินใจแล้วค่ะ ต่อให้หนูชอบงานนี้ เป็นงานที่ใฝ่ฝันว่าอยากทำตั้งแต่มัธยมแล้ว แต่ถ้ามันทำให้หนูเสียทั้งสุขภาพกายสุขภาพจิต หนูก็ไม่ควรต้องอดทนทำมันต่อไป ชีวิตหนูไม่ได้สิ้นหนทางจนต้องทู่ซี้ทำงานนี้จนตาย”

 

หญิงสาววัยยี่สิบปลายๆ พูดด้วยเสียงสั่นเครือ เธอยังปั้นสีหน้าเข้มแข็งไว้ได้ ตาโตๆ สองข้างของเธอเกร็งเหมือนจะพยายามคุมน้ำตาไว้ไม่ให้เอ่อ สุภาพสตรีท่านนี้ไม่ได้อยากมาพบจิตแพทย์ค่ะ รุ่นพี่ในที่ทำงานบังคับแกมขอร้องให้มาเพราะเธอตัดสินใจยื่นใบลาออกหลังจากทำงานขึ้นปีที่ 4 เธอเป็นคนคล่องแคล่วและมั่นใจ ทำงานเรียบร้อยและถือว่ามีจุดบกพร่องให้ตำหนิน้อยมากเมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นที่เข้างานมาในเวลาไล่เลี่ยกัน อาจเรียกได้ว่าเธอเป็นพนักงานที่เก่งที่สุดในรุ่นเดียวกัน ตำแหน่งที่สูงขึ้นรออยู่ข้างหน้า จึงเป็นเหตุให้ช็อกกันทั้งบริษัทเมื่อเธอตัดสินใจยื่นใบลาออก

 

“งานนี้ทำให้เสียสุขภาพอย่างไรคะ”

“เรื่องสุขภาพกายหนูไม่ได้กังวลมากหรอกค่ะ ทุกคนงานหนักเหมือนกัน ถึงงานจะยากแต่หนูก็ชอบทำเพราะมันเป็นการพัฒนาตัวเอง แต่ปัญหาคือสุขภาพจิตค่ะ หัวหน้าของหนูเป็นคนอารมณ์ร้าย ถ้าใครทำงานช้าก็จะโดนต่อว่ารุนแรง ถ้าทำงานผิดพลาดนี่ คำด่าหยาบคายออกมาไม่หยุดเลยค่ะ แต่หนูก็เป็นคนที่โดนน้อยที่สุดแล้วถ้าเทียบกับเพื่อนคนอื่น”

“เพราะอะไรคุณถึงโดนน้อยกว่าคนอื่นคะ”

“หนูปรับตัวได้ค่ะ รู้ว่าควรจะเข้าหายังไง จังหวะไหนควรพูด จังหวะไหนควรเงียบ แล้วงานหนูก็เรียบร้อย”

“ฟังดูแล้วคุณก็ปรับตัวได้ดี แล้วทำไมอยากลาออกเสียล่ะคะ”

“ก่อนหน้านี้มีคนลาออกไปคนหนึ่งค่ะ หัวหน้าก็เลยเอางานของคนนั้นมาให้หนูทำเกือบหมด เพราะเห็นว่าหนูทำงานได้ดี แทนที่แบ่งให้เท่าๆ กันเขากลับให้หนูทำคนเดียว พอไม่ได้ดั่งใจเขาก็ต่อว่า”

“คุณเลยอยากลาออกเพราะงานหนักขึ้นเหรอคะ”

“เปล่าค่ะ หนูคิดว่าถ้าหนูลาออกเขาคงจะลำบากขึ้น บางทีเขาอาจสำนึกได้ว่าเพราะความไม่ยุติธรรมแล้วก็อารมณ์ร้ายๆ ของเขาทำให้ตัวเขาเองต้องมาลำบากเพราะไม่มีใครอยากทำงานด้วย”

“คุณคิดว่าด้วยนิสัยแบบหัวหน้าคุณ เขาจะสำนึกไหมคะ”

 

เธอนิ่งคิดไปนานเลยค่ะ ในที่สุดก็ส่ายหน้าอย่างหมดหวัง

 

 

“เขาคงไม่สำนึกหรอกค่ะ หนูไม่ใช่คนแรกที่ลาออก มีคนลาออกก่อนหน้าหนูตั้งหลายคน แต่เขาก็ยังนิสัยเหมือนเดิม ที่จริงหนูอาจจะแค่อยากหนีปัญหาเฉยๆ ก็ได้ค่ะ อยากไปให้ไกลจากหัวหน้าคนนี้”

“หมอคิดว่าการลาออกก็เป็นวิธีแก้ปัญหาอย่างหนึ่ง แต่มันไม่ใช่วิธีเดียวหรอกค่ะ หัวหน้าร้ายๆ คนเดียวทำให้คุณต้องลาออกจากงานในฝันแล้วก็ไปเสี่ยงกับที่ทำงานใหม่ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะมีหัวหน้าร้ายๆ แบบนี้อีกหรือเปล่า แม้แต่งานที่คุณรักคุณยังเลือกลาออก แล้วไปทำงานที่ใหม่ซึ่งอาจจะไม่ใช่งานที่คุณรัก ถ้าเจอปัญหาคุณจะไม่ยิ่งอยากลาออกเหรอคะ หมอคิดว่าคุณน่าจะหาทางอื่นนอกจากลาออกไว้ด้วยแล้วค่อยๆ พิจารณาอย่างมีสติ”

“หมอคิดว่าหนูไม่ควรลาออกเหรอคะ ทั้งที่งานทำให้หนูสุขภาพจิตแย่ แล้วหนูก็ยังมีทางไปนะคะ”

“ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คุณลาออกค่ะ ปัญหาอยู่ที่คุณไม่คิดถึงทางเลือกอื่นๆ เลยต่างหาก คนไข้ของหมอบางคนที่มีความกังวลหรือเครียดมากๆ ก็อาจจะมองโลกแคบเกินไป เห็นทางแก้ปัญหาแค่ทางเดียวทั้งที่มีอีกตั้งหลายทาง ถ้าคุณได้พบทางอื่นๆ และพิจารณาข้อดีข้อเสียอย่างรอบคอบแล้วจะเลือกลาออกก็ไม่เป็นไรค่ะ แต่ถ้าคุณไม่เห็นทางอื่นและมุ่งจะลาออกอย่างเดียว พอคุณหายเครียดแล้วเริ่มมีสติกลับมาคิดได้ คุณอาจเสียใจที่วันนี้คุณลาออกแทนที่จะใช้วิธีอื่น เช่น เจรจากับหัวหน้าเรื่องแบ่งงานให้ยุติธรรมหรือย้ายหน่วยงาน”

 

เธอยังดูไม่แน่ใจค่ะ แต่ก็บอกว่าที่จริงหลังจากวันที่มีข่าวลือว่าเธอจะลาออก หัวหน้าก็นัดประชุมเพื่อแบ่งงานกันใหม่ ทุกอย่างดูเหมือนจะดีขึ้น แต่ที่ยังยึดติดกับการลาออกอยู่เพราะยังเคืองหัวหน้าไม่หายนี่เอง

เป็นเรื่องปกติที่เวลาเครียดเรามักมองเห็นทางแก้ปัญหาแค่ทางเดียวเท่านั้น เป็นทางที่เราเชื่อว่าดีที่สุดและไม่ยอมฟังทางเลือกอื่นจากคนอื่นเลย วิธีสังเกตตัวเองง่ายๆ ว่าทางแก้ปัญหาของเราเหมาะสมหรือไม่ คือลองถามคนที่สนิทกับเรา 4 คนค่ะ ถ้าไม่มีใครคิดเหมือนเราเลย แบบสุภาพสตรีท่านนี้ที่ถามใครก็ไม่มีใครสนับสนุนให้ลาออก แสดงว่าวิธีคิดของเราอาจจะมีปัญหา ให้ตั้งสติแล้วค่อยๆ คิดตอนไม่เครียดนะคะ

 

คอลัมน์ : คุยชีวิตกับจิตแพทย์ 

โดย พญ.วินิทรา นวลละออง