แหวนเรื่องใหญ่ หัวใจเรื่องเล็ก

 

เมื่อพูดถึงการแต่งงาน สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือแหวนแต่งงาน เพราะเมื่อสวมแหวนที่นิ้วนางข้างซ้ายก็เหมือนประกาศตัวกลายๆ ว่าฉันมีเจ้าของแล้ว และเมื่อถอดแหวนนั้นทิ้ง ก็เหมือนย้ำให้ชัดเจนอยู่ในทีว่า ชีวิตการแต่งงานระหว่างฉันกับเธอได้สิ้นสุดแล้ว ไม่จำเป็นต้องพูดอะไรมากมายให้เสียเวลา

สำหรับคนบางคน เรื่องแหวนแต่งงานนี้อาจไม่สำคัญ แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดอย่างนั้น เมื่อมันสำคัญขนาดนี้ สิ่งที่ตามมาก็คือปัญหาใหญ่นั่นคือ ราคาของแหวนแต่งงาน

 

 

หากแหวนราคาถูกไป ก็จะดูไม่สมศักดิ์ศรีกับความรักที่เรามีให้แก่เจ้าสาว ไม่สมฐานะของเธอ และอาจครหาได้ว่ามาอยู่กับผู้ชายที่ไม่เอาถ่าน ในทางกลับกัน หากซื้อแพงเกินไปก็อาจกลายเป็นการทำอะไรเกินตัว จนก่อให้เกิดหนี้สินตั้งแต่ชีวิตคู่ยังไม่เริ่มต้นด้วยซ้ำ สาเหตุเพราะมันเป็นปัญหาโลกแตกจนมีนักวิทยาศาสตร์สนใจมาทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ครับ

โดยทั่วไปแล้ว สังคมอเมริกันเขามีธรรมเนียมง่ายๆ ในการซื้อแหวนแต่งงานว่า ควรมีราคาสัก 2 เท่าของเงินเดือน ถึงจะถือว่าสมฐานะ แต่จากงานวิจัยพบว่าจริงๆ แล้ว แหวนแต่งงานส่วนใหญ่มีราคาแค่ครึ่งหนึ่งของเงินเดือนเท่านั้น (อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าเงินเดือนของคนอเมริกันนั้นมากกว่าเงินเดือนของคนไทย)

นักวิทยาศาสตร์จึงค้นพบว่าต่อ จริงๆ แล้ว ราคาของแหวนสัมพันธ์กับอัตราการหย่าร้าง ราคาแหวนยิ่งสูง อัตราการหย่าร้างก็ยิ่งสูงขึ้นด้วย

 

 

จากการสำรวจคนจำนวนกว่า 3,151 คน ส่วนใหญ่ซื้อแหวนในราคาน้อยกว่าวงละ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ และพบว่าคนที่จ่ายเงินมากกว่า 2,000 ดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป มีความเสี่ยงสูงที่จะเลิกกัน และยิ่งสูงลิ่ว (เกิน 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ยิ่งมีโอกาสเลิกมากขึ้น แต่คนที่ซื้อแหวนในราคาต่ำกว่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ จะมีความเสี่ยงต่ำในการเลิกรา (เอาเป็นว่าผมให้ค่าเฉลี่ยของเงินเดือนคนอเมริกันไว้คือ 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนไทยคือ 20,000 บาท นะครับ)

ข้อมูลนี้อาจทำให้หลายคนงง เพราะคนที่มีตังค์ซื้อแหวนแพงๆ ก็ควรมีเงินใช้จ่ายอู้ฟู่แหละ และการมีเงินไม่ขาดตกบกพร่องนั้นก็น่าจะเป็นผลดีแก่ชีวิตคู่ 

 

คำอธิบายง่ายๆ คือ ยิ่งใช้เงินมากก็ยิ่งเป็นหนี้มาก ก่อให้เกิดความเครียดกับชีวิตคู่ เลยเลิกกันง่ายขึ้น แต่นั่นแหละครับ ถ้าสามีเป็นคนรวยอยู่แล้ว การจะซื้อแหวนเพชรแพงหรู 18 กะรัตคงจะไม่ทำให้เขาเกิดความเครียดเพราะใช้เงินมาก คำอธิบายนี้จึงไม่ใช่คำอธิบายที่สมบูรณ์แบบนัก

คำอธิบายต่อมาคือ การซื้อแหวนราคาประหยัด เนื่องจากคนสองคนนั้นมีนิสัยเข้ากันได้ รสนิยมคล้ายกัน รู้ว่าควรประหยัดเรื่องนี้ เลยซื้อแหวนถูกๆ มา ไม่ได้เกี่ยวกับเงินที่ใช้ซื้อแหวนแต่อย่างใด (ส่วนผู้ชายที่ใช้เงินซื้อแหวนราคาแพงนั้นเพื่อสนองความต้องการของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ได้ ทั้งที่เขาอยากประหยัด แต่รู้ว่าผู้หญิงอยากได้เลยจำใจต้องซื้อให้ ภาวะฝืนใจไม่บอกไม่กล่าวนี่แหละ เป็นอันตรายแก่ชีวิตคู่อย่างยิ่ง)

 

เพราะฉะนั้นบทสรุปจากงานวิจัยนี่ก็คือ คุยกันให้มากๆ ไว้ อย่ามโนเอาเองว่าอีกฝ่ายชอบหรือไม่ชอบอะไร ถ้าอยากรู้อะไรก็ให้ถามตรงๆ ดีกว่าสุดท้ายเสียทั้งเงิน เสียทั้งความรู้สึก และอาจจะเสียคนรักด้วย

ขอให้รักกันยาวๆ ครับ

 

อ้างอิง

คอลัมน์ “จักรวาลแห่งความรัก ดาวเคราะห์แห่งความเหงา”โดย นพ.ปีย์ เชษฐ์โชติศักดิ์

ข้อมูลอ้างอิง: https://onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1111/ecin.12206