เราเชื่อว่าหลายคนย่อมเคยได้ยินชื่อโรคซึมเศร้า (major depressive disorder) รวมถึงเคยรับรู้มาว่าควรพูดหรือไม่ควรพูดอะไรกับคนที่เป็นโรคนี้ ภาพลักษณ์โรคซึมเศร้าในสายตาคนทั่วไปนั้น เป็นเหมือนสิ่งเปราะบาง เข้าใจยาก และไม่รู้จะรับมืออย่างไร ฮักจึงได้นัดสนทนากับคุณหมอเอ๋-แพทย์หญิงกุสุมาวดี คำเกลี้ยง จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เจ้าของหนังสือ จะซึม จะเศร้า ก้าวผ่านได้ (จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊คส์) เพื่อพูดถึงความเข้าใจผิดและข้อเท็จจริงที่คนไม่ซึมเศร้าควรทราบกัน

อาการที่แท้จริงของโรคซึมเศร้า

     “โรคซึมเศร้าถือว่าเป็นโรคทางอารมณ์ชนิดหนึ่งค่ะ ปัจจุบันคนเป็นมากขึ้นและอายุน้อยลง น้อยสุดที่ผ่านการวินิจฉัยเกณฑ์ 9 ข้อ คืออายุ 8 ขวบ เป็นซึมเศร้าแล้ว นอกนั้นจะมีอารมณ์เศร้าเป็นหลัก ไม่มีแรงจูงใจในการเรียน พบว่าเป็นตั้งแต่ ป.1-2 แล้วค่ะ ถ้าพ่อแม่มีปัญหาครอบครัว ทะเลาะกัน หรือครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว จะส่งผลต่อเด็กมากขึ้น คือถ้าเด็กไม่สบายใจ ไม่มีความสุข อารมณ์จะเป็นเหตุที่นำไปสู่ปัญหาการเรียนและพฤติกรรมต่อไป

     “สื่อฯที่เสพมีผลด้วยเช่นกัน มนุษย์เป็นสัตว์สังคม การเสพสื่อฯ มากเกินไป ไม่ว่าจะด้านไหน จะเริ่มอิน เพราะฉะนั้นต้องเสพพอควร พักทำกิจกรรมอื่นก่อน หรือรู้สึกว่าถ้าคนใกล้ตัวที่ร่วมเสพด้วย เช่น นั่งดูข่าวด้วยกัน เขาไม่มีอาการเหมือนเรา เราต้องหยุดละ หรือดูละครแล้วอิน รู้สึกหดหู่ อารมณ์ลบเกิด แต่เมื่อปิดแล้วอารมณ์ไม่ได้อยู่กับเราต่อ นั่นคือปกติ แต่ถ้าปิดแล้วยังวนเวียนอยู่ในหัว ไม่สามารถดึงตัวเองขึ้นมาได้ นั่นคือความเสี่ยงละ

     “ต้องเข้าใจต้นเหตุที่แท้จริง มีกรณีที่เป็นซึมเศร้าแต่ประเด็นเด่นคือเรื่องสมาธิสั้น มาพบหมอเพราะขาดสมาธิ คิดตัดสินใจเชื่องช้า สุดท้ายมีความคิดว่าชีวิตไร้ค่า ไม่มีความหมาย รู้สึกว่าความผิดทั้งหมดมาจากตัวเอง จะคิดสั้น นำไปสู่การปลิดชีวิตตัวเอง ร่างกายไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่เป็นที่ความผิดปกติในภาวะซึมเศร้า โทษตัวเองทุกอย่าง และนำไปสู่การทำร้ายตัวเอง คนรอบข้างถ้าเห็นสัญญาณ ต้องรีบช่วยเหลือ สิ่งที่ยากคือครอบครัวไม่เข้าใจ และเข้าไม่ถึงการรักษา

     “หลักๆ คนเป็นซึมเศร้าจะมีชุดความคิดด้านลบเกี่ยวกับตัวเอง ปัญหาทุกอย่างเกิดจากฉัน ถ้าฉันไม่อยู่ซักคน ครอบครัวจะดีขึ้น ถ้าคุณคิดถึงขั้นนั้นควรจะมาหาหมอ”

 

วิธีเช็คอาการ

     “คนเรามีอารมณ์หลากหลายในหนึ่งวัน ดีใจ ผิดหวัง เครียด ส่วนคนเป็นซึมเศร้าจะมีอาการต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่วันสองวัน แต่ต่อเนื่องสองอาทิตย์ สังเกตได้จากสองคำถามเป็นตะแกรงหยาบๆ ก่อน

  1. ตลอดสองอาทิตย์ที่ผ่านมารวมวันนี้คุณรู้สึกหดหู่ เศร้า ท้อแท้หรือไม่
  2. ตลอดสองอาทิตย์ที่ผ่านมาคุณรู้สึกเบื่อ ทำอะไรไม่เพลิดเพลินหรือไม่

     “ถ้าตอบใช่ ข้อใดข้อหนึ่งมีแนวโน้มที่จะมีภาวะซึมเศร้า คนปกติมีอารมณ์เศร้าเบื่อได้ แต่เราคงไม่เศร้าต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง แค่เศร้าปกติครึ่งชั่วโมง เดี๋ยวก็เปลี่ยนเป็นอารมณ์อื่น กลัว กังวล ดีใจ แต่คนที่มีอาการซึมเศร้าจะรู้สึกแบบนี้เกือบทั้งวัน และต่อเนื่องกันถึง 14วัน นอกจาก 2 คำถามดังกล่าวแล้ว ควรทำแบบทดสอบ 9 ข้อในเว็บกรมสุขภาพจิต ที่จะกรองละเอียดอีกขั้นค่ะ”

 

ผู้หญิงอ่อนไหว หรือเพราะฮอร์โมนเปลี่ยน

     “ฮอร์โมนมีผลต่ออารมณ์ ผู้หญิงก่อนมีประจำเดือนมีอารมณ์เศร้าเป็นเรื่องปกติ เพราะฮอร์โมนเปลี่ยน พอประจำเดือนหมดแล้วจะรู้สึกดีขึ้น หรือหลังคลอด ผู้หญิงอาจรู้สึกซึมเศร้าได้ ถ้ามีการช่วยเหลือ ได้พักผ่อนเต็มที่ อาการจะหายไป ถือว่าเป็นเรื่องปกติ หรือความเศร้าหลังจากสูญเสียคนที่รักไป ให้เวลาสองเดือน ค่อยเดินหน้าต่อไปได้ เป็นเรื่องปกติค่ะ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าหลังจากนั้นยังหดหู่อยู่ ลองพบหมอเพื่อคุยกัน”

 

ความเข้าใจผิดระหว่างโรคจิตกับโรคซึมเศร้า

     “เข้าใจผิดมากที่สุดคือ เป็นซึมเศร้าเท่ากับเป็นโรคจิต ฉันไม่อยากเป็นเพราะไม่อยากเป็นโรคจิต ซึ่งไม่ใช่ค่ะ ถ้าเทียบโรคจิตกับโรคมะเร็ง ซึมเศร้าก็เป็นโรคปอด คนละโรคกัน โรคจิตเป็นโรคความคิดผิดปกติ แต่โรคซึมเศร้าเป็นโรคอารมณ์ผิดปกติ จิตเวช (psychiatry) มีหลายอย่าง เหมือนโรคทางกายที่มีหัวใจ ความดัน ปอด ตับ คนละอวัยวะ จิตใจมีหลายส่วนเช่นกัน เช่น ดูทีวีแล้วคิดว่าคนในทีวีจ้องจับผิดตัวเอง อันนี้คือโรคจิตเภท (schizophrenia) แต่โรคอารมณ์มีตั้งแต่ซึมเศร้า อารมณ์สองขั้ว (bipolar disorder) , ตื่นตระหนก (panic disorder) วิตกกังวล แพนิค จัดอยู่ในกลุ่มอารมณ์ แล้วแต่ละกลุ่มยังย่อยแยกอีกหลายโรค

     “ถ้าบอกว่าต่างกันอย่างไร โรคจิตเภทคนรอบข้างเดือดร้อน เจ้าตัวไม่รู้สึกเดือดร้อน เช่น ใช้ชีวิตปกติแต่สักพักเหมือนแว่วเสียงคนอื่นมาคุยด้วย ดูทีวีก็พูดถึงฉัน หวาดระแวงจนเอาอาวุธไปทำร้ายคนอื่น แต่โรคอารมณ์ ตัวเองเดือดร้อน จนต้องมารักษาด้วยตัวเอง ใจสั่น เศร้ามากๆ หรือตื่นตระหนก หมอเจอวัยรุ่นหลายคนจูงมือเพื่อนมา ไม่กล้าบอกที่บ้าน กลัวไม่เข้าใจ เพื่อนเคยมาหาแล้วดีขึ้นเลยพากันมา หรือไม่ได้เป็นอะไรแต่ช่วยเพื่อนไม่ได้เลยพามาหาหมอแทน

     “การตัดสินใจก้าวมาหาหมอได้ ต้องอาศัยความกล้าเหมือนกัน (ยิ้ม) ถ้ายังไม่สะดวกใจพบโดยตรงก็โทรหาก่อน เพื่อระบายและหมอก็ได้ข้อมูลที่จะช่วยเหลือ อย่างกรมสุขภาพจิต 1323 หรือองค์กรต่างๆ คนที่มีเงินไม่พอก็กังวล เรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ แค่หนูมาหาหมอก็ดีใจแล้ว ง่ายสุดก็ยกหูโทร.หาก่อนได้”

 

เมื่อสมองต้องการความสมดุล

     “สมองแบ่งเป็นสองส่วน ซีกซ้ายทำหน้าที่คิดและซีกขวาทำหน้าที่อารมณ์ คนเป็นซึมเศร้า สมองด้านอารมณ์จะทำงานอย่างหนัก เหมือนกระดานหก ส่วนที่เป็นตรรกะเหตุผลจะไม่ทำงาน การที่เราถามบางอย่างให้เขาตอบออกมา เหตุผลจะทำงานมากขึ้น อารมณ์ทำงานน้อยลง อย่างการกลัวผี ซีกอารมณ์ทำงานเต็มที่ บอกว่าผีไม่มีหรอก ไม่ช่วยค่ะ เมื่อผีอยู่เต็มหัวเขา แต่ซีกคิดด้วยเหตุผลจะช่วยคือ ถ้ามีผีจะรอดยังไง ความคิดนี้ต้องเกิดในตัวเขา และเราต้องเหนี่ยวนำเขา ไม่ว่าจากคนใกล้ตัว หรือผู้เชี่ยวชาญ ให้เขาตั้งคำถามกับตัวเอง เพื่อให้พลังงานไปอยู่ด้านตรรกะมากขึ้น อารมณ์น้อยลง แต่ต้องไม่ใช่เหตุผลของคนอื่น เช่น ผีไม่มีหรอก คำนี้ไม่ช่วยเลย ลองคิดว่าถ้ามีจะรอดได้ยังไง นี่น่าสนใจกว่า”

 

ถ้อยคำที่ไม่ควรพูดกับคนที่เป็นซึมเศร้า

     “ ‘เดี๋ยวมันก็ดีขึ้น คิดมากทำไม’ เหมือนอยากช่วยแต่ยิ่งบั่นทอนจิตใจ คนฟังจะคิดว่า ‘ฉันไม่เหมือนคนปกติ ฉันผิดไปเอง เป็นเพราะฉันเอง’ ดีสุดคือรับฟังค่ะ คนที่เป็นซึมเศร้ามีเรื่องอัดอั้นตันใจเยอะมาก ถ้าเขาได้พูดจะเป็นการระบายอย่างหนึ่ง คนรอบข้างลองฟังก่อน หรืออีกสิ่งที่เจอคือ ไม่อยากพูด เพราะพูดไปก็ไม่เข้าใจ โดนด่ากลับอีก คำที่ควรพูดกับคนเป็นซึมเศร้าคือ ‘เป็นห่วงนะ มีอะไรคุยให้ฟังได้นะ’ ให้เขารู้สึกว่าเราอยู่ข้างๆ ยังมีเราอยู่ หลายคนนั่งมองหน้ากัน ไม่พูดก็ใช้สัมผัสแทน อยู่ในจุดที่เขาอยู่ด้วย หมอมองว่า คนเป็นซึมเศร้าจะเหมือนตกลงไปในเหวลึก เราอยู่ที่ปากเหวแล้วตะโกนบอกให้เขาขึ้นมา ไม่ใช่เลย เราต้องลงไปด้วย แต่มีสายเชือกหย่อนคาหลักข้างบนไว้ พร้อมจะขึ้นไปด้วยกัน ให้รู้ว่ามีทางนี้อยู่นะ อยากให้เราทำอะไรไหม อยากพูดอะไรไหม

     “ลองคิดว่าทำไมเขาอยากนั่งตรงนี้ ต้องมีดีอะไรบางอย่าง ถ้าลุกมาจะต้องสูญเสียมันไป ถ้าวิธีกระตุ้นไม่เกิดผลก็นั่งร่วมกับเขา มีคุณแม่บอกว่าทำไมลูกคุยกับหมอแต่ไม่คุยกับแม่ หมอให้น้องพูดค่ะ หมอไม่ได้พูดสั่งสอนอะไรน้องเลย คุณแม่ก็นิ่งไป รู้ว่าหมอใช้คนละวิธีกัน ผู้ใหญ่ใช้วิธีที่ว่าหวังดี เรียนรู้โลกมามากกับเด็ก แต่บางครั้งมันไม่ใช่ เราต้องฟังเขา ตั้งคำถามให้เขาได้คิดแทน เขาจะร้อยเรียงคำตอบแล้วถามตัวเอง

     “เคสหนึ่งเพิ่งได้งานใหม่ ไม่แน่ใจว่าจะโดนออกจากงานไหม เพิ่งเลิกกับแฟน อยู่คนเดียว เนื่องจากญาติเสีย พ่อแม่เลยไปต่างจังหวัดหมด หมอถามแอดมิดไหม เพราะเสี่ยงจะฆ่าตัวตายมาก เขาก็ไม่เอา ถ้าแอดมิดแล้วงานใหม่ล่ะ ผ่อนรถอยู่ด้วย แฟนก็ทิ้งไปแล้ว เขาแค่อยากนอนหลับสนิทได้ ตอนเช้าจะได้มีแรงไปทำงานไหว ไม่ต้องคิดฟุ้งซ่าน แค่กลับไปทำงานก็สบายใจแล้ว เขาก็ค่อยๆ ดีขึ้น ถ้ายึดความคิดเรา คงต้องนอนโรงพยาบาล แล้วเขาต้องตกงานอีกแน่ เพราะฉะนั้นดีที่สุดคือฟังว่าเขาต้องการอะไร เลือกอันไหน ชีวิตเป็นของเขา แต่ต้องวัดใจกันพอสมควร หมอนัดเจออาทิตย์หน้า และตั้งคำถามว่าครั้งหน้าจะมีอะไรมาบอกหมอไหม เขาก็ว่าน่าจะนอนหลับได้มากขึ้น เหมือนเราเกี่ยวก้อยสัญญากันว่าจะเจอกันอีกนะ เมื่อเขารับปากด้วยตัวเอง พอจะทำอะไร เขาก็จะคิดว่าต้องมาเจอหมอตามสัญญานะ”

 

นัยแฝงของคำว่า “ไม่เป็นไร”

     “ต้องระแวงไว้ก่อนค่ะ ไม่เป็นไรคือเป็นไร (ยิ้ม) คนรอบข้างต้องอ่านสัญญาณจากเขา เพราะคนเราปากกับใจไม่ตรงกัน ต้องมีคนใกล้ชิดอยู่ด้วย หรือมีสัญญาใจด้วยกันอย่างที่หมอทำ คนเราถ้ามีสิ่งยึดเหนี่ยวสักหนึ่งอย่างจะยังอยู่ได้ คนที่มาหาหมอมีที่คิดสั้นกันหลายคน แต่ไม่ทำ เพราะมีภาพคนใกล้ตัว มีความสำเร็จในอนาคตรออยู่ เราใช้บางคำพูดดึงให้เขาเห็นจุดมุ่งหมายนั้น ถ้าเรื่องนี้เขาผ่านไปได้ สิ่งที่เขาจะได้รับคืออะไร เป้าหมายแรกๆ ของเขาในตอนนี้คืออะไร”

 

 

เมื่อซึมเศร้าถูกเอาไปใช้ในทางที่ผิด

     “คนเป็นโรคซึมเศร้าจะไม่ป่าวประกาศแก่ใคร เขาจะเฉือนเนื้อตัวเองให้คนอื่นได้ ไม่ใช่ให้คนอื่นยื่นให้ เป็นคนเสียสละชีวิตตัวเองให้มากกว่า เป็นการให้ฝ่ายเดียวด้วย แต่การเอาประโยชน์จากคนอื่น เป็นคนละขั้วกันเลย การเอาภาวะซึมเศร้ามาใช้ประโยชน์แบบนี้ก็ไม่ได้เป็นจริงแล้ว ที่จริงเรามีเซ้นส์ของใจเหมือนกันว่ามันไม่น่าใช่ อาจมีบางคนเคยเป็นลมชักจริงครั้งสองครั้งแล้วได้รับความสนใจ ได้สิทธิประโยชน์หลายอย่าง เลยคิดว่า ถ้าฉันเป็นแบบนี้ ทุกคนจะให้หมดสินะ ซึ่งไม่ใช่แล้วล่ะ”

 

ถ้าอยากหาย ควรทำอย่างไร

     “หมอแบ่งเป็นสามอย่าง เรื่องสารเคมี เรื่องตัวเขาเอง เรื่องคนรอบข้าง การมีคนรับฟังจะช่วยได้นะ สิ่งแวดล้อมที่ไม่ใช่ผู้คน เช่น มีสัตว์เลี้ยงสักตัว หรือเล่นกีฬา ไปออกกำลังกาย ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ ก็ช่วยได้ สื่อรอบตัวเรามีหลายอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจที่ดี ตอนนั้นด้วยอารมณ์ห่อเหี่ยวเพราะทำงานเต็มที่ แต่พอฉุกคิดด้วยเหตุผลได้ว่ายังมีลมหายใจ มีสิ่งที่รออยู่ เขาอาจลุกขึ้นมาได้ แค่พลิกขั้วความคิดตรรกะนิดหนึ่ง แต่มันก็ยากเหมือนกัน

     “เคสหนึ่งที่เขาบอกหมอว่าถ้าไม่ได้น้องหมา คงไม่ได้มาคุยกับหมอแล้ว น้องหมายังหายใจอยู่ เราเลยรู้สึกว่าเราต้องหายใจต่อด้วยเช่นกัน เป็นแสงสว่างเล็กๆ ที่ช่วยให้ตัดสินใจมีชีวิตต่อ”

 

คนพลังบวกแต่จากไปเพราะซึมเศร้า

     “บางคนเป็นนักแสดง หน้าฉากสดชื่นแต่ข้างในอกตรม สมมติเป็นตลกต้องแสดงให้เห็นว่าตลก แต่คนใกล้ชิดทราบว่าไม่ใช่ละ หน้าที่ขายเสียงหัวเราะต้องทำให้คนอื่นมีความสุข แต่พอเป็นเรื่องตัวเองกลับแก้ไม่ได้ คนใกล้ตัวน่าจะพอทราบ ต้องคอยจับสังเกตอาการ

     “เดี๋ยวนี้เราสื่อสารน้อยลง อยากให้เป็นชั่วโมงที่ไม่มีมือถือ ไม่มีจอ มานั่งคุยกัน 5-10 นาที อาจต้องมีชั่วโมงที่ไม่มีสิ่งกั้นระหว่างคนสองคน เพื่อเชื่อมโยงทางใจ ได้รู้ว่าแต่ละคนเจออะไรมาบ้างในแต่ละวัน รับฟังเพิ่มขึ้น ตั้งคำถามหรือชวนคุยในมุมอื่นของชีวิต วันนี้มีอะไรน่าสนุกบ้าง มีความสุขเรื่องอะไร ไม่สบายใจเรื่องอะไร ให้รู้ว่าเราแคร์เขา สังเกตเห็นเขาแปลกไปกว่าเดิม บางบ้านไม่ได้เชื่อมโยงกัน คนที่เป็นซึมเศร้าถ้ารู้สึกว่าไม่ได้เข้าพวกหรือเข้าสังคม จะตัดสินใจทำร้ายตัวเองเร็วขึ้น ควรดึงมามีส่วนร่วม มีคุณแม่มาคุยเรื่องลูกชอบเล่นเกม บอกให้เลิกได้แล้ว หมอถามว่าเวิร์คไหม ไม่เห็นเวิร์คเลย แม่เลยใช้วิธีใหม่ ไปนั่งอยู่ด้วยเลย ลูกไม่นอน แม่ก็ไม่นอน ในที่สุดผมนอนก็ได้ อยากให้แม่นอน”

 

วิธีที่ให้คนทั้งสองอยู่ร่วมกันได้

     “ตอนอยู่ในภาวะซึมเศร้าจะเหมือนผจญมรสุมอารมณ์ ระหว่างรักษาจะมีช่วงที่เขากลับสู่ภาวะปกติ เราช่วยดึงเขากลับมา ให้เขารู้สึกอยู่ร่วมกันได้ ใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ไม่ได้แบ่งแยกกัน ทำให้หายเร็วขึ้น

     “อย่างที่บอก ถ้าเขายังไม่ลุกออกมา ก็ไปนั่งร่วมกับเขา ถ้าอยากชวน ก็เช่น ‘ออกกำลังกายคนเดียวเหงา ตัวเองไปเป็นเพื่อนเราหน่อย’ ค่อยๆ ตะลอม อย่าฝืน ให้เขามีพื้นที่ส่วนตัว เพราะคนซึมเศร้าจะเฉือนเนื้อตัวเองให้คนอื่น ตัวอาจไปเป็นเพื่อนได้ แต่ใจไม่ไปด้วย ควรลองบอกว่า ‘เราแค่อยากไปออกกำลังกาย แต่ไม่กล้าไปคนเดียว ถ้ามีเธอไปด้วยเราจะอุ่นใจนะ แต่ถ้าพร้อมเมื่อไรบอกนะ’ ให้เขารู้สึกว่ามีพื้นที่ โดยไม่ต้องเสียสละไปแต่ใจหดหู่ ให้อิสระแก่เขา ทำให้เขารู้สึกมีทางเลือกและไม่ถูกทอดทิ้ง เธอไปไหนฉันไปด้วย คนคนหนึ่งเป็นผู้ให้ต้องมีพลังมากพอ แค่เราไปนั่งใกล้ๆ เขา แต่ไม่ลากเขาไป แค่บอกให้รู้ว่าเราจะไปด้วยกัน ช่วยกัน พร้อมเมื่อไรไปกัน มันจะง่ายกว่า”

 

หากผู้ใหญ่เป็นซึมเศร้าควรทำอย่างไร

     “ตอนนี้มีแหล่งช่วยเหลือเยอะขึ้น รู้สึกเครียดก็มาคุยกับหมอ คุยกับใครก็ได้ที่จะช่วยให้ดีขึ้น ถ้าไม่แน่ใจว่าแค่ความเครียดหรือเป็นซึมเศร้าแล้ว ให้ทำแบบประเมินก่อน หรือโทร.ไปถาม ช่วยได้ในเบื้องต้น ถ้าเขาบอกว่าน่าจะเข้าข่ายแล้วนะ ลองมาพบหมอค่ะ และอยากบอกว่าเป็นแล้วหายได้ กลับมาดีขึ้นได้ การรักษามีหลายรูปแบบ ใช้ยา การทำจิตบำบัด กระตุ้นสมอง ฯลฯ ไม่ได้น่ากลัวเลย บางคนมาแค่มีเรื่องไม่สบายใจ ไม่ใช่ซึมเศร้า ได้คุยกับหมอแล้วเติมพลังเพื่อใช้ชีวิตต่อไป บางทีการพูดกับตัวเองในกระจกก็อาจได้ไอเดียที่เป็นทางออก หรือการอยู่กับสัตว์เลี้ยงที่มีชีวิต ก็ทำให้รู้สึกว่าฉันยังมีชีวิตอยู่ได้เช่นกัน

 

HUG MAGAZINE

คอลัมน์: แขกรับเชิญ

     “บริการทางด้านจิตเวชมีทั่วประเทศ มีทุกภูมิภาค ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นมีเว็บไซต์แจ้งว่ามีแพทย์ที่ไหนบ้าง โทร.หาสายด่วนได้ แค่เปิดโอกาสให้ตัวเอง ลองสิ่งใหม่ๆ บางคนเคยไปหาหมอแล้วรู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระหมอ ก็อาจต้องหาหมอคนที่สอง คนแรกอาจไม่คลิกกัน ลองหมอคนที่สองดู ลองเปิดหาทางช่วยเหลือใหม่ๆ แค่มาหา หมอก็ดีใจแล้ว

     “นอกจากดูแลร่างกาย เราต้องดูแลจิตใจด้วย มันเป็นเรื่องปกติค่ะ นักจิตวิทยาจะพูดคุยให้คำปรึกษาได้ แต่จิตแพทย์จะให้ยารักษาได้ด้วย จะรู้ว่าโรคนี้มาจากร่างกายหรือจิตใจ เช่นบางคนมีอาการคล้ายโรคทางอารมณ์บางอย่าง แต่พอรักษาไทรอยด์แล้วดีขึ้น ร่างกายกับจิตใจมันเชื่อมกัน จิตแพทย์จะประเมินได้ ถือว่าเป็นข้อแตกต่างจากนักจิตวิทยาค่ะ”

 

หมอเอ๋ – กุสุมาวดี คำเกลี้ยง