ถ้าเอ่ยชื่อ สุจิตรา หลายคนคงทำหน้างุนงง แต่หากเอ่ยนามปากกา “ชลาลัย” เป็นต้องร้องอ๋อกัน เมื่อผลงานนับไม่ถ้วนบนเส้นทางนักเขียนหลายสิบปี ล้วนแปรเป็นละครจอแก้วจนถึงภาพยนตร์อันโด่งดัง ทำคนอินทั้งบ้านทั้งเมือง เรียกว่าในวงการน้ำหมึก นามปากกาทองนี้ได้สร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ เป็นต้นแบบให้นักเขียนรุ่นใหม่ได้เดินตามรอย ยิ่งในปีนี้ยังมีอีกหลายเรื่องทั้งในนามปากกา “ชลาลัย” และ “เกตุวดี” ทยอยมาเป็นละครให้ชมกันจนเต็มอิ่ม
แต่วันนี้ “ชลาลัย” จะเสนอนิยายฉบับพิเศษ ซึ่งไม่เคยเปิดเผยที่ใด
เป็นนิยายรักซึ่งมีพระเอกชื่อ “ประภัสร์ แสงฤทธิ์” และนางเอกชื่อ “สุจิตรา จินตนาเรขา” พร้อมกับเหล่าโซ่ทองคล้องใจทั้งสาม ธงรวี, ธนภัทร, ศุภิสรา
มาเปิดบ้านแสงฤทธิ์กันเลยค่ะ
ความลับที่ไม่เคยเปิดเผย
วันแรกซึ่งทั้งสองได้สบตากัน คือวันที่คุณแม่สุไปหาเพื่อน ซึ่งเป็นพนักงานบัญชีในบริษัทของพี่ชายคุณพ่อภัสร์ ช่วงแรกทั้งสองต่างไม่ได้สนใจกัน ได้แต่ทักทายตามประสาคนรู้จัก แต่นานวันเข้าเพื่อนรักก็กลับเป็นกามเทพโดยไม่รู้ตัว คอยเล่าเรื่องราวของอีกฝ่ายให้อีกฝ่ายฟัง จนทั้งคู่รับรู้ตัวตนและสถานภาพของคนที่ตนสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ
คุณแม่สุ: ตอนแรกเจอ เขาโสดแต่มีแฟน ส่วนเราก็มีครอบครัว ต่างไม่ได้รู้สึกอะไรกัน จนถึงตอนที่ต่างฝ่ายต่างเป็นโสด เขาเลิกกับแฟน ส่วนเราก็เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ได้มีโอกาสเจอกันมากขึ้น ไปทานข้าวกันเป็นกลุ่มๆ จนเป็นความคุ้นเคยขึ้นมา เมื่อเริ่มคบกัน ก็คิดว่าถ้าลูกเข้ากับเขาไม่ได้ก็ไม่คบต่อนะ วันนั้นนัดทานข้าว เป็นวันแรกที่พาลูกไปด้วย พี่ภัสร์นั่งอยู่แล้วบอกว่า “น้องบอล มาหาพ่อสิ” ปกติบอลเป็นคนหวงตัว ไม่ยอมให้ใครอุ้มนอกจากคนในครอบครัว แต่วิ่งเข้าไปหาแล้วให้อุ้ม ให้ป้อนข้าว เราก็ดีใจ คิดว่าคนนี้คงใช่แหละ เป็นคนที่จะดูแลเราได้ ผ่านมาสามสิบกว่าปีก็พิสูจน์แล้วว่าใช่จริงๆ เขาเหมือนเป็นพ่อลูกกันจริงๆ บอลมารู้ตอนเรียนมัธยม พอบอกเขา เขาก็นิ่ง บอกว่านึกแล้ว สงสัยมาตลอดว่าทำไมในทะเบียนบ้าน ชื่อพ่อเขาเป็นชื่ออื่น ที่ผ่านมาไม่มีใครรู้เรื่องนี้เลย นอกจากแค่ในหมู่ญาติ เป็นครั้งแรกที่เปิดเผยแบบนี้ (ยิ้ม) วันนี้ก็ได้ขออนุญาตจากลูกชายมาแล้ว ที่จะเล่าเรื่องนี้
ตอนนี้บอลโตเป็นผู้ใหญ่ มีครอบครัวของตัวเอง ไม่เคยรู้สึกว่าพ่อไม่ใช่พ่อ แถมรักเขามากกว่าน้องอีก จนต้องคอยบอกพ่อว่าอย่าดุน้อง ลูกทั้งสามคนไม่เคยรู้เรื่องนี้เลย พอรู้ก็ตกใจนิดหน่อย แต่สามพี่น้องก็รักกัน ไม่มีสิ่งใดที่ทำให้รู้สึกแปลกแยกแตกต่าง คนข้างนอกมักบอกว่าบอลเหมือนพ่อภัสร์มาก เราไม่กีดกันการเจอพ่อแท้ๆ ตกลงไว้ว่าให้ลูกโตก่อนนะ ให้ลูกรู้สึกรับทุกอย่างได้ก่อน เมื่อลูกรับได้ก็ให้เจอกัน ได้เจอทั้งปู่ย่า งานบวชก็มาร่วมงาน ฝ่ายนั้นขอบคุณด้วยว่าถ้าเลี้ยงเอง ลูกคงไม่ได้ดีแบบนี้
คุณพ่อภัสร์: ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร (ยิ้ม) ทุกวันนี้ทุกคนเหมือนเป็นญาติกัน ไปมาหาสู่กันเสมอ ไม่มีปัญหาอะไร ณ วันนั้นผมตั้งจิตอธิษฐานในใจว่าถ้าเด็กคนนี้เป็นลูกผมจริง ขอให้เขาเข้ามาหาผมอย่างเป็นธรรมชาติ เมื่อผมนั่งลงแล้วอ้าแขนเรียกเขา ว่ามาหาพ่อสิลูก สุที่ยืนอยู่ห่างๆ ไม่ได้ผลักดันลูกเลย แต่บอลวิ่งมาหาผม มากอด มาหอม ความรู้สึกผมในตอนนั้นเขาคือลูกเราจริงๆ มันอบอวลอบอุ่นเหมือนมีแสงเข้ามาในตัวผม เด็กคนนี้คือลูกผม ไม่มีสิ่งใดต้องตะขิดตะขวงใจสักนิด
พวกเราคือครอบครัวเดียวกัน
เรื่องราวที่ได้ยินจากเพื่อนมาตลอด ทั้งความสู้ชีวิต นิสัยใจคอต่างๆ จนได้มาสัมผัสเอง ทำให้คุณพ่อภัสร์รับรู้ว่าตัวจริงของฝ่ายหญิงเป็นคนอย่างไร ได้รู้ว่าผู้หญิงตัวคนเดียวนี้ต้องรับภาระต่างๆ มากมาย เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว คุณพ่อภัสร์จึงคิดในฐานะผู้ชายที่ชอบเขาแล้วว่า จะสามารถช่วยได้อย่างไรบ้าง ถ้าน้องบอลรับเขาได้ คุณพ่อภัสร์ก็พร้อมจะก้าวเดินไปด้วยกันกับคุณแม่สุอย่างเต็มใจ
คุณพ่อภัสร์: ผมไม่ได้คิดว่าตัวเองจะช่วยให้ครอบครัวเขาดีขึ้นยังไง แต่เมื่อรักเขาแล้ว ก็กล้าที่จะก้าวเข้าไปสู้ร่วมกับเขา ผมคิดแค่นั้นเอง (ยิ้ม) ผมพิสูจน์ให้เห็นว่าเราไม่ทิ้งกัน ไม่เคยทะเลาะกัน ถ้ารู้ว่าเขาโกรธ ผมก็หาทางเลี่ยงไปทำอย่างอื่น เพราะผมต้องการอยู่กับเขาจริงๆ
คุณแม่สุ: พออายุมากขึ้นต่างคนต่างแก่ (หัวเราะ) มีความงี่เง่ากันบ้าง เช่น อายุมากก็ขี้ลืม พอเขาลืมอะไร เราก็โมโห เราก็เป็นเหมือนกัน อายุมากขึ้นความอดทนต่ำลง โมโหใส่ง่าย จะรู้ตัวว่าทำไมต้องโมโหกับเรื่องแค่นี้เอง ชีวิตเราเป็นผู้ใหญ่ เพราะต้องดูแลที่บ้านมาตลอด ฝึกความเป็นผู้นำมาแต่แรก ไม่ได้กลัวการที่ต้องดูแลลูก เพื่อนก็คอยเล่าเรื่องของเขาให้ฟัง ได้รู้ว่าพี่ภัสร์เป็นคนอย่างไร รู้ว่าเขาเสียสละเพื่อครอบครัว ซึ่งคล้ายกับเรา ทำให้เหมือนรู้จักกันมานาน
หลักคิดที่ทำให้ครอบครัวมีสุข
คุณพ่อภัสร์: หลักที่ผมใช้คือ ห้ามทะเลาะต่อหน้าลูก เพราะลูกสำคัญที่สุด ถ้าทำให้เห็นก็จะเป็นแบบอย่าง เมื่อลูกออกไปสู่สังคมก็จะทำแบบนั้น การเที่ยวเสเพลก็หลีกเลี่ยง พยายามทำตัวให้เป็นแบบอย่าง ให้ลูกได้เห็นสิ่งดีจากพ่อและแม่ เช่น การทำกับข้าวทานด้วยกัน มันสร้างชีวิตครอบครัว ให้เงินไปซื้อแต่ไม่ทานด้วยกันในครอบครัว มันผิด กลายเป็นครอบครัวที่แตกฉานซ่านเซ็น ที่บ้านก็มีซื้ออาหารจากข้างนอก แต่กลับมาทานร่วมกันกับทุกคนในบ้านเสมอ
คุณแม่สุ: บนโต๊ะอาหารจะมีเรื่องเล่า (ยิ้ม) บางทีลูกไปเจอเรื่องอะไรมาก็มาเล่าให้ฟัง และที่บ้านจะมีประชุมสองครั้งในหนึ่งปี ทุกคนต้องพร้อมหน้ากัน แต่ละคนมีอะไรเล่าได้หมด เปิดโอกาสให้พูดทุกคน แม้กระทั่งพ่อแม่ ทำอะไรผิดพลาดหรือไม่ดี หรือไม่พอใจพ่อแม่เรื่องอะไร พูดมาได้เลย เราจะไม่โกรธลูก พวกเราคอยอัพเดทเรื่องราวกัน ทำให้ทุกคนรู้เรื่องของกันและกัน มีปัญหาให้คำแนะนำ ชีวิตคู่เองก็เช่นกัน มีอะไรให้พูดคุย เข้าใจกันแล้วก็จบ อย่าเก็บกลับมาคิด การเดินทางของชีวิตคู่มันยาวนาน จัดการให้เหมาะสมแล้วก็ปล่อยไป
คุณพ่อภัสร์: เราสองคนมีปัญหาจะไม่เก็บไว้ จึงไม่มีปมในใจกัน เพราะถ้าเก็บไว้นานๆ พอระเบิดก็พัง ความไว้เนื้อเชื่อใจคือสำคัญ เราไม่มีเรื่องชู้สาว อยู่กันเปิดเผย ไม่สบายใจก็ต่างถามกัน ไม่เก็บไว้ ถามแล้วก็จบไป (ยิ้ม)
คุณแม่สุ: ก่อนนี้ปัญหาส่วนมากเกิดจากเรื่องเล็กน้อย อายุเราห่างกันห้าปี ช่วงใหม่ๆ มีเรื่องหึงหวงกันบ้างตามประสาหนุ่มสาว ต่อมาเริ่มมีเหตุมีผลแทน ความรักหวานแหววก็เปลี่ยนเป็นเอื้ออาทรกัน มีเรื่องอะไรจะคิดถึงเวลาที่ลำบากด้วยกันมา และสิ่งที่ประทับใจในตัวเขาที่สุด คือเขารักลูกมาก (ยิ้ม)
ส่วนประกอบของพระเอก
เมื่อเป็นนักเขียนนิยายรักย่อมต้องมีคำถามว่าได้ถ่ายแบบสามีข้างกายคนนี้ลงไปในนิยายบ้างไหม คุณแม่สุยอมรับโดยดุษณีว่ามี แต่เป็นการใส่ข้อดีทีละนิดละหน่อยลงไปผสมให้กลมกล่อม
คุณแม่สุ: พี่ภัสร์ช่างเอาใจ ทำอาหารให้กิน ก่อนนอนมีนวดให้ มีบ้านสองหลัง บางทีทำงานต้องการสมาธิก็แยกนอนกัน เขาบอกว่าคิดถึงนะ กลับมาเถอะ นอนไม่หลับ (ยิ้ม) เอาใจใส่ มีความโรแมนติกในแบบง่ายๆ เช่น วันวาเลนไทน์เดินเจอดอกไม้ข้างทางก็เด็ดมาให้ (หัวเราะ) ส่วนเราไม่เป็นนางเอกนิยายตัวเอง เหมือนเข้าไปดูชีวิตคนมากกว่า ตัวละครมีนิสัยของตัวเอง มาเจอกัน พูดสนทนากัน มันเป็นชีวิตของพวกเขาที่โลดแล่นกันเอง เรื่องเดียวที่เกี่ยวข้องคือไฟน้ำค้าง นางเอกมีอาชีพเป็นนักเขียน มีแค่ตรงนั้น
เมื่อเลือกสลับบทบาท
ในยุคปัจจุบันฝ่ายชายเริ่มหันมาเป็นพ่อบ้านมากขึ้น ให้ฝ่ายหญิงเป็นคนออกไปทำงานแทน ปรับให้เหมาะสมกับความถนัดของแต่ละคน แต่ในสมัยก่อนนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมรับไม่ได้ สำหรับครอบครัวนี้ สังคมไม่สำคัญเท่าการรักษาครอบครัวตนให้อยู่รอด ก่อนที่จะสายเกินไป
คุณแม่สุ: เคยทำธุรกิจก็มีวิถีชีวิตอีกแบบ ตอนอยู่กรุงเทพฯ ได้อุ้มลูกวันละห้านาที แล้วส่งให้พี่เลี้ยงต่อ เรามีลูกมาทำไม เมื่อไม่มีเวลาให้ลูก ต่างคนต่างไปงานเลี้ยง กลับบ้าน 4-5 ทุ่ม ชีวิตครอบครัวเต็มไปด้วยความอ้างว้าง ทำงานเหมือนคนบ้า ไม่ได้เจอหน้ากัน เลยตัดสินใจคุยกันว่าขอให้สุทำนะ แล้วพ่อไม่ต้องทำ เขาก็ตกลง ที่สำคัญต้องหนักแน่นทั้งคู่ (ย้ำ) เพราะคนรอบข้างมักพูดชวนเป็นเรื่องทะเลาะอีก สัญญาแล้วเราต้องทำได้ด้วย ตัดสินใจพาครอบครัวกลับชลบุรี วิถีชีวิตเปลี่ยนหมด ได้เป็นครอบครัวจริงๆ จนวันนี้มีความสุขดี (ยิ้ม) ครอบครัวอื่นก็มองว่าทำไมเป็นแบบนี้ได้นะ เพราะเราสองคนรู้จักการปรับ ถ้าไม่ปรับคงพังหรือแยกย้ายกันไปแล้ว ถ้าให้เลิกเป็นนักเขียนเราทำไม่ได้ มันคือจิตวิญญาณของเรา แต่สามารถดูแลครอบครัวด้วยวิชาชีพนี้ได้ เขาเห็นมาแล้วที่เราเคยเลี้ยงทั้งครอบครัวมาก่อน เลยเชื่อใจ และพี่ภัสร์ดูแลลูกๆ ดีมาก จนถึงวันนี้ไม่ได้ตัดสินใจผิดเลย
คุณพ่อภัสร์: ตอนทำงาน ออกจากบ้านแต่เช้าแล้วกลับดึกทุกวัน ไปงานสังคมกับเพื่อนหรือลูกค้า บางทีกลับมาเห็นภรรยานอนกอดลูกเล็กๆ ก็รู้สึกสะท้อนใจขึ้นมา ดูไม่มีความอบอุ่น ลูกๆ เริ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เลยย้อนมาคิดว่ากำลังทำอะไรอยู่ สุทำงานเขียนหนังสืออยู่บ้าน ดูแลลูกไปด้วย เหมือนไปเพิ่มภาระให้เขา ผู้ชายมักคิดว่าทำงานข้างนอกเหนื่อยมาแล้วนะ มันไม่เหมือนกัน ผู้ชายต้องช่วยทำงานบ้านบ้าง เลยตัดสินใจเปลี่ยน ผมมีความสุขดี ได้ดูแลเขากับลูกๆ ได้ทำกับข้าวให้ทาน ที่บ้านอบอุ่นไม่รู้สึกขาดอะไร สุก็ทำงานเขียนออกมาได้เยอะ มันไม่ได้ทรมานหรือกดดันผมเลย กลับชอบมากกว่า เพราะได้สิ่งที่ดีขึ้นมาแทน (ยิ้ม)
คุณแม่สุ: ตัดสินใจอยู่กันเรียบง่าย ไม่ติดต่อใครในสังคมเก่าที่เคยอยู่ นอกจากส่งนิยาย ไม่เคยให้สัมภาษณ์อีก จนคนคิดว่า “ชลาลัย” ตายไปแล้ว (หัวเราะ) เพราะเห็นแต่ผลงาน ไม่เคยเห็นตัวจริง ตอนแรกพ่อแม่หมู่ญาติไม่ยอมรับในเรื่องนี้ บางคนมีแดกดันบ้างว่า ตกลงใครเป็นผัวเป็นเมีย หรือเกาะเมียกิน แต่เราสองคนผ่านตรงนี้ด้วยการหันหน้าถามกันเองว่า นี่คือครอบครัวของเรา เวลาเราทุกข์ เราทุกข์ด้วยกัน เวลาเราสุข เราสุขด้วยกัน ใครช่วยให้เราสุขหรือทุกข์ เราเลือกเองได้ เพราะคือครอบครัวเรา ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน เราก็คือภรรยาของเขา เขาก็คือสามีของเรา แค่เปลี่ยนหน้าที่เท่านั้น
ความเข้มข้นในทุกตัวอักษร
คุณแม่สุ: หายไปเกือบยี่สิบปี สมัยก่อนมีคนอยากซื้อนิยายไปทำหนัง ต้องประกาศลงหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ว่าต้องการติดต่อคุณ “ชลาลัย” จะซื้อนิยายเรื่องนี้ ญาติต้องมาบอกให้รู้ เราถึงติดต่อกลับไป ตอนนั้นติดต่อแค่ดาราภาพยนตร์ด้วยการเขียนนิยายแล้วส่งแฟกซ์ไป ไม่ยุ่งไม่สนใจใคร นักเขียนด้วยกันก็ไม่ติดต่อ
คุณพ่อภัสร์: สมัยก่อนต้นฉบับเป็นกระดาษ ต้องหอบเป็นปึกเวลาไปขายต้นฉบับ ผมได้เห็นการทำงานของเขา ดูเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งนะ (ยิ้ม) ถ้าวันไหนไม่ได้ยินเสียงพิมพ์ดีดเหมือนอรรถรสบางอย่างในชีวิตขาดไป ไปต่างจังหวัด ต้องหิ้วพิมพ์ดีด กระดาษปึกหนึ่งใส่ท้ายรถไปด้วย ขึ้นเขาไปดอยทำได้เต็มที่ ผมชอบมากเวลาที่เห็นสุนั่งทำงานมีสมาธิ รู้สึกประทับใจ เหมือนมีพลังออกมา ถ้าพูดแบบไม่อาย โอเค ครอบครัวไม่อดตายละ (หัวเราะทั้งคู่) แล้วไฟเขาโชติช่วงมาก ผมช่วยได้แค่ทำกับข้าว งานบ้าน แต่เรื่องงานทำให้ไม่ได้ พอได้ยินเสียงพิมพ์ดีดรัวยาวต่อเนื่องมีสมาธิ ก็เกิดพลังใจ มองหน้าลูก เห็นความก้าวหน้าของครอบครัว ประทับใจทุกครั้งที่ได้ยิน ได้เห็นภาพนั้น
คุณแม่สุ: เดี๋ยวนี้ไม่ประทับใจเพราะไม่เห็นภาพนั้นแล้ว ใช้คอมฯ แทน (หัวเราะทั้งคู่) สมัยก่อนพูดได้เลยว่าเมื่อไรที่คุณโขกงานก็ได้เงิน ทุกตัวอักษรมีค่าหมด เขียนอะไรมาขายได้หมด ถ้าเปิดเรื่องใหม่ อาทิตย์หน้าผู้จัดละครจะจองเข้ามาละ สำนักพิมพ์จะมาจองตั้งแต่ยังเป็นชื่อเรื่อง ตอนเก็บตัว ติดต่อกับสำนักพิมพ์บางแห่งเท่านั้น ทำเท่าที่ทำได้ ไม่เหมือนสมัยอยู่กรุงเทพฯ เกรงใจคนนั้นคนนี้ ถึงขั้นเขียน14ตอนของ14เรื่องต่ออาทิตย์ เวลาได้ยินเสียงโทรศัพท์สะดุ้งเฮือกเลย มันเครียดมาก ตายไม่ได้เลยนะ เพราะแต่ละที่ปิดเล่มไม่พร้อมกัน เราเหมือนคนบ้าจริงๆ ขับรถอยู่ โดนโทร.ตาม ต้องไปในปั๊มนั่งเขียนแล้วส่งแฟกซ์ให้เขา รู้สึกเหมือนคนใกล้ตาย ต่อมาค่อยๆ ลดจำนวนเรื่องลง ไปอยู่ต่างจังหวัด เขียนประมาณ5-6เรื่อง ก็อยู่ได้ อยู่กรุงเทพฯใช้เงินเยอะ สังคมเยอะ อยู่ต่างจังหวัดสบายขึ้น
ปรับตัวกับวงการน้ำหมึกในยุคใหม่
ชีวิตคือการปรับตัวคงไม่ผิด เมื่อตลาดเปลี่ยน แนวการอ่านเปลี่ยน รวมถึงช่องทางการติดตามก็เปลี่ยน “ชลาลัย” นักเขียนคนดังจึงต้องปรับเปลี่ยนเช่นกัน แล้วเป็นนักเขียนรุ่นเก่าคนแรกๆ ที่กระโจนเข้าสู่ตลาดรุ่นใหม่อย่างไม่หวั่นเกรงใดๆ
คุณแม่สุ: สำนักพิมพ์และนิตยสารปิดตัวไปเรื่อยๆ หัวใหญ่ที่สุดอย่างดาราภาพยนตร์ปิด เรารู้ว่าความไม่แน่นอน ช่วงที่อยู่กับครอบครัวไม่ได้ตามข่าวในวงการเขียน เหมือนคนอยู่ในถ้ำมานาน ไม่รู้จักนักเขียนชื่อดังของยุคสมัย พิมพ์งานขายเองเป็นล้าน ได้ลองศึกษาอีบุ๊คเพราะไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร เรามองว่าหนังสือเล่มเริ่มตันละ อยากรองรับผู้อ่านที่ดูละครแล้วอยากอ่านนิยายก็มาโหลดไปอ่านได้
โชคดีที่สนใจเว็บ Meb จึงโทร.ติดต่อโดยตรง บังเอิญว่าเจ้าของเว็บเป็นคนรับสายเอง เราบอกว่าสนใจในอีบุ๊คแต่ไม่รู้ว่าคืออะไร ถ้าจะเอาหนังสือมาลงอีบุคขาย ต้องทำอย่างไร พอบอกเขาว่าเราเป็นใคร เขาก็ไม่อยากเชื่อว่าพี่ “ชลาลัย” ตัวจริงเหรอ (หัวเราะ)
ตอนนั้นไม่มีนักเขียนรุ่นเราไปลงในเว็บเขาเลย เขาก็อธิบายให้ฟัง และบอกว่าเอานิยายที่เราถือลิขสิทธิ์ทั้งหมดมา ผมจะทำให้เอง จากกระดาษเป็นไฟล์ลงคอม จัดหน้า ทำปกให้ อยู่ที่ความไว้วางใจกันจริงๆ ทุกวันนี้ทำที่เว็บนี้ที่เดียว พอเริ่มทำเพจเอง ก็มีนักเขียนแนวสารคดีที่ใช้นามปากกา “เกตุวดี” เหมือนกัน เข้ามาแนะนำตัวแล้วบอกว่าไม่รู้ว่ามีนามปากกานี้มาก่อน ตอนนั้นเขาเปลี่ยนไม่ได้เพราะพิมพ์หนังสือไปแล้ว แต่เขาขอใช้คำลงท้ายต่อเป็น “เกตุวดียามามูระ” เราถือว่าโอเค เพราะเขาเป็นคนติดต่อเข้ามาก่อน (ยิ้ม)
ความรู้สึกที่ประทับในส่วนลึก
คุณแม่สุ: พอได้มาอยู่ด้วยกันถึงรู้ว่าไม่เหมือนผู้ชายคนอื่นเลย เพราะช่างดูแลทุกอย่าง เสื้อผ้าหน้าผม เส้นด้ายที่โผล่ออกมา จะหากรรไกรมาตัดให้ บอกไม่ดูเรียบร้อย (ยิ้ม) เขาเป็นคนใส่ใจกับเรามาก และการดูแลลูกๆ ประทับใจมากๆ ดูแลน้องบอลตามที่สัญญาว่านี่คือลูกของเขา ไม่มีใครติได้เลยในเรื่องนี้ จนตอนนี้บอลแต่งงานจะมีหลาน ก็ยังรักเหมือนเดิม ญาติพี่น้องยอมรับ แม่เรารักเขามาก เพราะรู้ว่ารักลูกเราจริงๆ
คุณพ่อภัสร์: ผมคงไม่มีอะไรมาก แค่บอกว่าผมจะดูแลคุณกับลูกๆ ตลอดไป ให้มีความสุขมากๆ เป็นสิ่งที่ผมตั้งใจมาแต่แรก ผมไม่เคยลืมคำพูดตัวเอง จะรักและเทิดทูนบูชาความรักตามที่ให้สัญญาเอาไว้ทุกคำ สิ่งนี้อยู่ในหัวใจผมตลอด ไม่ว่าจะเป็นอะไรไปก็ตาม
ทั้งแววตาและรอยยิ้มที่ทั้งสองต่างมีให้แก่กันในยามนี้ คงไม่สามารถบันทึกด้วยตัวอักษรใดได้หมดสิ้น แต่แน่ชัดแล้วว่านิยายฉบับพิเศษของ “ชลาลัย” เรื่องนี้ พระเอกรักนางเอกด้วยหัวใจทั้งดวงดุจเดียวกับนางเอกเองก็รักพระเอกจนหมดใจเช่นกัน
HUG MAGAZINE
รักไม่รู้จบ
เนื้อเรื่อง: มาศวดี ถนอมพงษ์พันธ์
ภาพ: อนุชา ศรีกรการ
รักไม่ต้องการเวลา : แนท-ณัฐชา & เป๊ก-รัฐภูมิ
อาจเป็นเพราะความเข้ากันได้ดี และความรู้สึกดีๆ ที่มีให้กัน…