ในบรรณพิภพไทย นามนักแปล สุวิทย์ ขาวปลอด โดดเด่นเป็นที่รู้จักมาร่วมสี่สิบปี คอวรรณกรรมล้วนต้องเคยผ่านตาผลงานของเขา แต่วันนี้เราจะเปิดต้นฉบับพิเศษที่ไม่เคยตีพิมพ์ที่ใด เพราะเป็นนิยายรักโดยมีพระเอกเป็นครูหนุ่มจากสงขลา มาพบนางเอกเป็นสาวน้อยสดใสในเมืองกรุง แม้ไม่มีเรื่องอกสั่นขวัญแขวนแบบระเบิดภูเขาเผากระท่อม แต่ก็มีความลุ้นระทึกตามสไตล์นักแปลผู้เรืองนามเช่นกัน


เพราะสวรรค์ลิขิตไว้

เรื่องราวเริ่มขึ้นเมื่อครูหนุ่มจากสงขลามาเที่ยวกรุงเทพฯ ในช่วงปิดเทอม พักอยู่บ้านญาติที่ตลาดกรมชล ช่วยขายผัก จึงได้พบพานสาวน้อยแผงข้างๆ เป็นความรู้สึกจับใจที่เกิดขึ้นในพริบตาเดียว ก่อนทักทายกันด้วยอัธยาศัยไมตรี แต่ยังไม่ใช่รัก จนเมื่อฟ้ากำหนดเส้นทางเลือกมาให้เป็นจุดเปลี่ยน

“เรามาจากนครปฐม มาช่วยน้าขายของในกรุงเทพฯ น้ารับปากจะดูแลเราแทนพ่อแม่ พอเห็นเราสนิทสนมกับผู้ชาย ก็เกิดกลัวจะเสียหาย เพราะที่บ้านมีความคิดแบบคนโบราณอยู่”

เราฟังคุณวรรณวิภาเท้าความไปยังอดีตสมัยเกือบ 50 ปีก่อน นครปฐมที่ดูใกล้ในปัจจุบัน แต่สมัยนั้นห่างไกลจนต้องหาที่แรมคืนก่อนเข้ากรุงฯ ทั้งยังยึดติดกับความคิดแบบเก่า เมื่อสาวน้อยจากต่างจังหวัดเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ถ้ามีผู้ชายข้องแวะย่อมไม่ดีแน่นอน เราจึงไม่แปลกใจที่คุณน้ารีบแจ้งพ่อแม่ซึ่งพอทราบข่าวก็แทบจะมารับลูกสาวกลับบ้านที่นครปฐมทันที ทั้งที่ความสัมพันธ์ของสองหนุ่มสาวยังอยู่ในขั้นสนทนาวิสาสะกันเท่านั้น

“เราไม่อยากกลับ เพราะถ้ากลับตอนนั้นต้องถูกครหาว่าไปกรุงเทพฯแล้วเสียหายเรื่องผู้ชาย ทั้งที่ไม่เป็นความจริง แต่ความคิดในยุคนั้น ประจวบกับคนต่างจังหวัด คำนินทาของคนอื่นอีก ระหว่างที่น้าไปรับพ่อแม่ เพื่อมารับเรากลับบ้าน คุณสุวิทย์ก็กำลังจะกลับสงขลาพอดี”

“ผมชวนว่า ถ้าไม่อยากกลับบ้าน ก็ไปด้วยกันไหม มันเป็นโชคชะตานะ ทั้งที่ผมมีโอกาสเลือกมากกว่านี้ ไม่ได้ตั้งใจมากรุงเทพฯเพื่อหาเมีย แต่ผมเห็นเขากังวลมาก และเหตุเกิดจากผม ผมต้องรับผิดชอบ”

คำชวนจากครูหนุ่มผู้เคยถูกต้องเนื้อตัวหญิงสาวแค่จับมือกันเพียงหนเดียว กลับเป็นทางเลือกที่ทำให้ทั้งสองตกลงปลงใจร่วมหัวจมท้ายในที่สุด

วินาทีนั้นทั้งสองตัดสินใจขึ้นรถไฟทั้งที่ไม่มีเงิน เมื่อรถผ่านศาลพระพรหมก็ไหว้อธิษฐานกันว่าถ้าเราไปได้ตลอดรอดฝั่งจะกลับมาปลายทางคือสงขลา เพื่อเรียนรู้ชีวิตครอบครัวที่ล้มลุกคลุกคลานลองผิดถูกกันไป

แค่ตอนแรกเราก็ตื่นเต้นระทึกใจซะแล้ว


พลัดพรากครั้งแรก

“อยู่กันตามมีตามเกิด เงินเดือนออกก็แบ่งกันคนละครึ่ง เคยทำปลาเจี๋ยน วางแผนกันว่าวันนี้กินน้ำแกง พรุ่งนี้กินเนื้อปลากัน ปรากฏว่าตอนเช้าบูด เนื้อปลาก็ไม่ได้กิน เพราะไม่มีไฟฟ้า ไม่มีตู้เย็น พออยู่ด้วยกันก็เกิดความรู้สึกผูกพันที่ไม่ใช่ความรัก แต่เหมือนเพื่อนกันมากกว่า จนเขาจะกลับกรุงเทพฯ”

คุณสุวิทย์เล่าถึงวันที่ไปส่งภรรยาขึ้นรถที่สถานีหาดใหญ่ เขาเริ่มเข้าใจตัวเองเมื่อไร้เงาคุณวรรณวิภาเคียงข้างดั่งหลายเดือนที่ผ่านมา และตระหนักว่านี่คือความรัก

“ผมรักผู้หญิงคนนี้ หนึ่งอาทิตย์ผ่านไป ผมตามไปที่กรุงเทพฯ ไปที่ตลาดเดิม แอบหลบมุมอยู่ไกลๆ ฝากบอกคนที่เดินผ่านมาว่า ช่วยไปบอกผู้หญิงเสื้อเหลืองตรงแผงนั่นหน่อยว่า คนจากสงขลามา”

คุณวรรณวิภาเองก็แจกแจงความในใจครั้งนั้นว่าตัวเองอยากกลับกรุงเทพฯ เพราะเหตุใด ไม่ใช่ความลำบากยากเย็น แต่เป็นความคิดถึงผูกพันกับญาติพี่น้องที่จากกันอย่างกะทันหัน ชนิดที่บัตรประชาชนก็ยังไม่ได้ติดตัวไปด้วย

“กลัวพ่อแม่เป็นห่วง ด้วยวัยเรา อายุยังน้อย พอกลับมายิ่งหนักกว่าเดิม ว่าเห็นไหม ต้องซมซานกลับมา เสียตัวแล้วเขาทิ้งมา ทั้งที่ไม่ได้โดนทิ้ง แค่เราอยากกลับมาเอง อยากคุยกับญาติพี่น้องดีๆ อีก เพราะไปแบบไม่บอกกล่าว กลายเป็นว่าจะถูกพากลับนครปฐมให้ได้ ถ้าน้าพาไปส่งครั้งนี้ต้องโดนอะไรอีกมาก ถูกครหาหนักกว่าเดิม”

เหมือนฉากเดิมๆ เกิดขึ้นอีกครั้ง วันที่กำลังจะถูกพากลับ พระเอกก็มาหานางเอกพอดี และครั้งนี้นางเอกเตรียมตัวพร้อม มีความตั้งใจแน่วแน่และชัดเจน ปราศจากความลังเลใดๆ เหนี่ยวรั้งอีก จับมือกันก้าวขึ้นรถไฟด้วยความรู้สึกอบอุ่นใจที่มีให้กัน

“สมัยก่อนจะลือว่าคนถูกหลอกไปขายทางมาเลย์กันเยอะ พ่อแม่ก็ยิ่งกังวล พอผ่านไปสักพัก เลยเขียนจดหมายไปหา บอกว่าไม่เป็นไรนะ อยู่ที่นี่สบายดี พ่อแม่ก็เริ่มเข้าใจ ไม่ว่าอะไร พอมีลูก เลยพาไปไหว้พ่อแม่”

ถึงแม้ดูราวกับเรื่องเหลือเชื่อ ที่คุณสุวิทย์ตัดสินใจมาในวันที่กำลังจะต้องจากกันไกล เราก็นึกสงสัยว่าวันนั้นถ้าคุณวรรณวิภาปฏิเสธไม่ขอร่วมชีวิตด้วยอีก จะเป็นเช่นไร

“ถ้าเขาปฏิเสธก็ตามใจเขา ผมยอมรับได้ ขอแค่ให้เขามีความสุขแล้วกัน (ยิ้ม)”

คำว่าโลกนี้ไม่มีเหตุบังเอิญ มันคงเป็นเรื่องจริง


จำพรากครั้งที่สอง

เงินเดือนครูหนุ่มวุฒิน้อยเริ่มไม่พอเลี้ยงสามปากท้อง คุณสุวิทย์จึงตัดสินใจสอบชิงทุนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อใช้วุฒิการศึกษามาปรับฐานเงินเดือน ส่วนคุณวรรณาตัดสินใจอุ้มลูกไปอยู่บ้านคุณกัณหา แก้วไทย พี่สาวของคุณสุวิทย์ และช่วยขายของด้วย ตัวคุณสุวิทย์ร่ำเรียนเขียนอ่านที่สงขลาโดยพักอาศัยบ้านพี่สาวอีกคนและเดินไปเรียนแทน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย แต่การจำพรากครั้งนี้ก็สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อมันเป็นประตูสู่เส้นทางยอดนักแปลในปัจจุบัน

“อาจารย์สอนภาษาอังกฤษตอนนั้นบอกว่าในชั่วโมงจะให้พูดแต่อังกฤษ ไม่พูดไทย ผลจึงจดจำภาษาได้รวดเร็ว คิดเป็นภาษาอังกฤษแทนคิดเป็นไทย พกดิกชั่นนารีติดตัว คลังศัพท์ในหัวเลยมากขึ้น มีน้องมาฝากให้แปลเรื่อง A Christmas Carol (ของ ชาลส์ ดิกเกนส์) ซึ่งแปลจบ รู้สึกว่าทำได้นี่ ตัวอาจารย์ชอบอ่านอกาธา คริสตี้ ลองมาแปลดู ก็แปลได้ ผมจึงแปลนิยายเสนอสำนักพิมพ์ ตอนนั้นเริ่มกลับมาอยู่เป็นครอบครัวแล้ว กำลังจะจบแล้ว เขาบอกว่าอยากอยู่ด้วยกัน ผมก็ตอบว่ามาอยู่ด้วยกันเลย”

ก้าวแรกในวงวรรณกรรมนั้นคุณสุวิทย์เลยไม่ได้ก้าวลำพัง เขาจูงลูกน้อยจากสงขลาเข้ากรุงเทพฯ ด้วย เมื่อถึงหัวลำโพง เขาเพียรโทร.หาสำนักพิมพ์ต่างๆ เพื่อเสนอต้นฉบับ ก็ถูกทุกแห่งปฏิเสธ จนแทบถอดใจ แต่เมื่อล้วงเจอเบอร์สุดท้ายในก้นกระเป๋า คุณสุวิทย์ก็เลยลองดูอีกสักครั้ง

“เขาบอกให้มาลองคุยกัน นั่งตุ๊กตุ๊กมาที่มเหศักดิ์ ผมอยู่หัวลำโพงในตอนนั้น และตอบไปว่าไม่มีเงิน เขาก็บอกเดี๋ยวออกค่ารถให้ การเป็นนักแปลหนังสือ บรรณาธิการดูแค่สามบรรทัดหรือครึ่งหน้าก็รู้แล้วว่าไปรอดไหม เรื่องที่เอาไปส่งเป็นนิยายที่มีคนแปลแล้ว แต่เมื่อเขาดูสำนวนรู้ว่าทำได้ เลยให้เรื่อง The Deadly Messiah (ฤกษ์เพชฌฆาต) มาแปลเป็นงานแรก”นับจากนั้นโลกหนังสือก็ได้รู้จักชื่อ สุวิทย์ ขาวปลอดเป็นครั้งแรก

 

ยืนหยัดสู้เพื่อฝัน

เราถามคุณวรรณวิภาถึงความรู้สึกเมื่อครั้งตัดสินใจแยกห่างกันทั้งที่ยังมีลูกน้อย คุณวรรณวิภาตอบว่าไม่มีปัญหาเพราะนั่นเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่ออนาคตของครอบครัว

“ต้องไปเรียนมีค่าใช้จ่าย ถ้าเราอยู่ด้วยก็กลายเป็นสามปาก ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มอีก เลยตัดสินใจไปช่วยคุณแม่คุณสุวิทย์ขายของที่กรุงเทพฯ รอเรียนจบปริญญาตรี จะได้มีเงินเดือนมั่นคง ช่วงนั้นรับทุนหลวง เรียนไปได้เงินเดือนด้วย แต่ไม่เยอะ เดือนละ 1,200 พอจบก็ต้องใช้ทุนอีกสี่ปี”

“พอได้งานหนังสือ ผมนั่งแปลในโรงอาหารมหา’ลัย เพื่อนๆ ก็มาช่วยกันลอกลงต้นฉบับให้ ครั้งแรกได้เงินมา5,000 ดีใจมาก (ยิ้ม) ตอนนั้นคิดแค่ว่าปรับวุฒิเพื่อเพิ่มเงินเดือน ที่ไหนได้ มันเปลี่ยนชีวิตไปอีกทาง”

หลังจากสมาชิกครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้าอีกครั้ง ในช่วงเวลาที่คุณสุวิทย์ใช้ทุนราชการ คุณวรรณวิภาก็ทำขนมขาย หรือไปเป็นแม่บ้านให้นายฝรั่ง ตามวิสัยไม่อยู่นิ่ง จนเมื่อใช้ทุนจบ คุณสุวิทย์ก็เข้าสู่เส้นทางนักแปลเต็มตัว และมีคุณวรรณวิภาคอยสนับสนุนช่วยเหลืออยู่ข้างๆจนถึงวันนี้


47 ปีที่กลมเกลียว

เป็นไปได้รึที่สามีภรรยาซึ่งเปรียบเหมือนลิ้นกับฟันจะไม่เคยมีปากมีเสียง ทั้งที่อยู่ด้วยกันมานานเกือบห้าสิบปี คุณสุวิทย์ยิ้มแย้มเล่าด้วยน้ำเสียงชัดเจนว่าเป็นไปได้

“ต้องถามว่าคุณรักกันจริงหรือเปล่า คุณรักเขาเท่ากับที่รักตัวเองไหม ถ้าน้อยกว่าก็อย่าอยู่ด้วยกันเลย ต้องรักให้เท่ากับที่รักตัวเรา การทะเลาะกันเป็นรอยร้าว ถ้าเริ่มด่า ปากมันจะพาไปละ เอาให้เจ็บสักนิดเถอะนะ เป็นความสะใจทั้งที่ไม่ควรทำ”

คุณวรรณวิภาเสริมว่าเมื่อเลือกตัดสินใจจะอยู่ด้วยกันแล้วแต่แรก ก็ต้องอยู่ให้ได้ตลอดรอดฝั่ง ในข้อนี้ก็ใช้สอนลูกชายก่อนครองเรือนเช่นกัน

“เราสองคนอยู่ไปนานๆ ก็รักกันมากขึ้น ไม่เคยลดลงเลย 47 ปีที่อยู่กันแบบเพื่อน ไม่เคยทะเลาะ ไม่ขึ้นเสียงใส่กัน เวลาเห็นลูกชายกับลูกสะใภ้เถียงกัน ก็บอกว่าอย่าทำแบบนี้นะ พ่อกับแม่ไม่เคยขึ้นเสียงใส่กันเลยสักครั้ง”

เรานึกสงสัยขึ้นมา เพราะมนุษย์ใช่ว่าจะอดกลั้นอยู่ได้ตลอด ถ้าถึงคราวทนไม่ไหวแล้วควรทำเช่นไร

“ไม่ชอบใจก็เงียบซะ รอให้ใจเย็นก่อน พร้อมแล้วค่อยมาคุย ไม่พร้อมอย่าคุย หรือทำเฉยไปสักพักก็ดีเอง คุณสุวิทย์เป็นคนดีด้วย เหล้าไม่ดื่ม บุหรี่เลิกแล้ว ไม่เที่ยว ไม่เล่นการพนัน ไม่รู้ว่าพ้นจากเขาแล้วจะไปหาคนแบบนี้ได้ที่ไหน ดังนั้นมีอะไรให้คุยกัน และคอยช่วยเหลือกัน เขาต้องแปลหนังสือ เราก็ออกบูท


ความดีของคู่ชีวิต

ภรรยาในสายตาเป็นคนเช่นไร คุณสุวิทย์อมยิ้มทันทีที่ได้ยินคำถามนี้ ก่อนจะพูดเสียงดังฟังชัดว่า

“ผมบอกลูกเสมอว่า แม้แม่จะดูดุ แต่แม่เป็นคนจิตใจดีนะ ป๊าทนคนไม่ดีไม่ได้หรอก เพราะงั้นเชื่อเถอะ แม่เป็นคนใจกว้าง เขาเป็นคนซื่อ ไม่มีอะไรเลยที่ทำเพื่อตัวเอง เขามีชีวิตเพื่อครอบครัวจริงๆ”

“คุณสุวิทย์เป็นคนดี ไม่อย่างนั้นจะอยู่ด้วยกันได้อย่างไรมาตั้ง 47 ปี และไม่เคยทะเลาะกันเลย ไม่มีเกี่ยงกันว่านี่หน้าที่ฉัน นั่นหน้าที่เธอ ช่วยกันทำร่วมกัน ที่บ้านมีหมาที่แก่แล้ว ถ่ายเรี่ยราด คุณสุวิทย์ยังดูแลมันได้ ยังบอกคุณกัณหาเลยว่า ไม่กลัวหรอกถ้าเกิดเป็นอะไรตอนแก่ เขาดูแลได้แน่ ขนาดหมายังดูแลได้เลย (หัวเราะร่วน)”

คุณวรรณวิภายิ้มแย้มเล่าถึงนิสัยเด่นอีกอย่างของสามีคือเป็นคนติดบ้านมาก ไม่ชอบไปไหน แม้แต่วันเกิด ลูกชายชวนไปทานข้าวนอกบ้านก็ไม่ไป หรือเวลาที่คุณวรรณวิภาไปออกบูทขายหนังสือต่างจังหวัดเป็นเดือนๆ คุณสุวิทย์ก็อยู่เหย้าเฝ้าเรือน ไม่เคยต้องถามว่าไปไหนมาสักครั้ง

 

แง่คิดการเลือกคู่

คนเราย่อมอยากให้ความรักยาวนาน แล้วต้องเลือกอย่างไรถึงจะเจอคนที่คู่ควร

“ผมมองว่า คุณต้องทำความรู้จักกันอย่างจริงจังก่อน เรียกว่ารู้สันดานตัวเองและเขาให้ดีว่าไปกันได้ไหม วาจาก็เป็นสิ่งสำคัญ การทะเลาะด่ากัน มันมีแผลนะ แล้วถ้าเกิดลงไม้ลงมือ เมื่อมีครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่สองจะตามมา”

“หนักนิดเบาหน่อย ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เพราะไม่ใช่จะอยู่กัน 10-20 วันแล้วเลิก ต้องพูดจาเพราะๆ อย่าพูดมึงกู ถ้าพูดคือไม่ให้เกียรติกันแล้ว บางคนข้างบ้านด่ากัน ตีกัน พอเช้ามาหัวเราะกัน ซึ่งมันไม่ได้หรอก เมื่อคืนยังด่ากันอยู่แท้ๆ ไม่ควรทำเลยดีกว่า”


ช่วงชีวิตคึกคะนอง

คุณสุวิทย์เล่าว่าสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ใช้ชีวิตเหมือนหนุ่มโสด มีคนคุยด้วยหลายคน แม้กระทั่งดาวมหาวิทยาลัย แต่ไม่เคยล่วงเกินใคร แทบไม่เคยจับมือด้วยซ้ำ เพราะรู้ตัวเสมอว่าต้องทำอะไร เลยเป็นได้แค่เพื่อนคุย เมื่อถึงเวลาจึงทุ่มเทให้ครอบครัวเท่านั้น เขาฝากข้อคิดแก่หนุ่มๆ ที่กำลังมีครอบครัวว่า

“ให้รักครอบครัวเข้าไว้ รักเมียให้มากกว่าผู้หญิงอื่น ผมคิดนะว่าถ้าผมเห็นแก่ตัว ทิ้งขว้างภรรยา แล้ววันหนึ่งขับรถผ่านเห็นเขาพอดี ผมจะรู้สึกอย่างไร มันคงไม่ดีแน่ๆ


นิยายภาคพิเศษ

แล้วเรื่องราวของชีวิตรักนี้ เหมือนนิยายเรื่องใด เราถามด้วยความสนใจใคร่รู้อย่างยิ่ง  “เป็นเจ็ดเล่มจบของเจฟฟรีย์ อาร์เชอร์ (ยิ้ม) จริงๆ ชีวิตมีรสชาตินะ ต่างแค่ผมยังไม่ดีเท่าในพระเอกนิยาย ผมเคยสุดเหวี่ยงตอนมหาวิทยาลัย แต่เมื่อถึงเวลาก็รู้ว่าควรทำอะไร”


หลักนักแปล

“การจะเป็นนักแปลที่ดีต้องเป็นนักอ่านที่ดี พื้นฐานทั้งหมดมาจากการรักหนังสือ สำคัญด้วยว่ามีความสุขในการทำงานไหม ผมมีความสุขกับการทำงาน รู้ว่าเกิดมาเพื่อทำอะไร ทันทีที่ใช้ทุนจบสี่ปี ก็ยื่นจดหมายลาออก ไม่ติดต่อกลับไปอีกเลย เพราะรู้ตัวดีว่าอยากแปลหนังสือ มาตอนนี้มักได้ยินคนพูดเสมอว่าได้อ่านนิยายที่ผมแปลตั้งแต่เด็ก บางคนบอกว่าเจอครั้งล่าสุดเมื่อสี่สิบปีก่อน ทุกวันนี้ผมอยู่ได้เพราะสมาชิกนักอ่านทุกท่านครับ (ยิ้ม)”


จะไม่พรากจากกันอีก

ก่อนจากลา เราเอ่ยถามถึงสิ่งสำคัญที่ทั้งสองจดจารเอาไว้ในใจ เป็นความรู้สึกที่มีให้แก่กันว่าคืออะไร คุณสุวิทย์นิ่งเงียบสักครู่ก่อนจะมองภรรยาคู่ชีวิตแล้วเอ่ยด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

“ตอนที่ส่งครอบครัวไปบ้านพี่สาว ผมเศร้าใจมาก บอกคุณวรรณวิภาว่าจากกันแค่ครั้งนี้นะ กลับมาแล้วเราจะไม่จากกันอีกแล้วนะ ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ”

“เราสองคนเหมือนกัน จึงนึกถึงในเรื่องเดียวกัน อยู่ด้วยกันมาก็ไม่เคยคิดว่าจะแยกกันเลย จนทุกวันนี้ก็ยังดูแลซึ่งกันและกันอยู่”รอยยิ้มของคุณวรรณวิภาเป็นหลักฐานชัดเจนว่านับจากนี้ไป สัญญาข้อนี้จะเป็นจริงจนวันสุดท้าย

จบการสัมภาษณ์วันนี้ เรารู้สึกกว่าจะมาเป็นสุวิทย์ ขาวปลอดผู้เรืองนามได้ ส่วนหนึ่งเพราะมีครอบครัวคอยเกื้อกูล เป็นทั้งแรงใจและกำลังใจให้ยังมุ่งมั่นทำงานที่ใฝ่ฝัน เพื่อความรื่นรมย์ของผู้อ่านในโลกนิยายนี้ต่อไป

" หนักนิดเบาหน่อย ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เพราะไม่ใช่จะอยู่กัน 10-20 วันแล้วเลิก ต้องพูดจาเพราะๆ อย่าพูดมึงกู ถ้าพูดคือไม่ให้เกียรติกันแล้ว "

— สุวิทย์ ขาวปลอด