เรื่อง: Wonder Wanners
Facebook: Love is Wanthip

ในภาพยนตร์หลายเรื่องจากหลากหลายสัญชาติ
เรามักเห็นชายหญิงที่มีนิสัยต่างกันคนละขั้ว
แต่กลับตกหลุมรักกัน ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ
และจบด้วยภาพฝันวันแฮปปี้เอนดิ้ง
ไม่ว่าจะเป็น F4 รักใสๆ หัวใจสี่ดวง
My Love from the Star
(ยัยตัวร้ายกับนายต่างดาว)
โฉมงามกับเจ้าชายอสูร (Beauty and the Beast)
รักบานฉ่ำที่นอตติ้งฮิลล์ (Notting Hill)
ฯลฯ
ดูไปอินไป แต่ในชีวิตจริง คู่รักต่างขั้ว
หรือ opposites attract เป็นคู่ที่ยั่งยืนสวยหรูไหมนะ

 

ประเด็นนี้ยังเป็นที่ถกเถียงในงานวิจัยทางจิตวิทยา

ระหว่างคู่ที่เหมือนกัน
(similarity attraction)
หรือคู่ที่มีความแตกต่างกันดึงดูดเข้าหากัน
(opposites attract or complementarity)

ว่ารักแบบไหนยั่งยืนกว่า

 

          Dijkstra & Barelds (2008) อธิบายว่า คนที่ไม่เหมือนกันดึงดูดเข้าหากัน
เพราะต่างเติมเต็มส่วนที่ขาดซึ่งเป็นส่วนที่เขาปรารถนา
การมีอีกคนที่มีส่วนนั้นมาเติมเต็มจึงทำให้เขาอิ่มอกอิ่มใจ

          อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีการดึงดูดคนที่เหมือนกัน (similarity attraction) อธิบายว่า
คนเรามักดึงดูดอีกคนหนึ่งเข้าหา เพราะมีทัศนคติ ค่านิยม ไลฟ์สไตล์
พื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรม ความปรารถนา ที่เหมือนๆ กัน
คนเรามักอยากอยู่กับคนที่คิดเหมือนกัน เพราะเขาคอยสนับสนุน
ความเป็นเราและก่อให้เกิดความคุ้นเคยและความปลอดภัย
(Myers & Twenge, 2017)

         คนเรามักมองคนที่เหมือนกับเราว่า น่าดึงดูดกว่าคนที่ไม่เหมือนเรา
งานวิจัยทางจิตวิทยาส่วนใหญ่มักสนับสนุนทฤษฎีการดึงดูดคนที่เหมือนกัน
หรือคู่ที่เหมือนกัน


          มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งกล่าวว่า บุคลิกภาพที่เข้ากันได้ระหว่างคู่รัก
ส่อถึงความสัมพันธ์ที่ยืนยาว โดยเฉพาะในแง่มุม
การเปิดรับประสบการณ์ (openness) ยิ่งเข้ากันได้เท่าไหร่
ความสัมพันธ์ยิ่งมั่นคงขึ้นเท่านั้น
(Rammstedt et al., 2013)

 

         ในงานวิจัยเมื่อปี 2017 ซึ่งวิจัยความเหมือนกันในความสัมพันธ์ของ
คู่รัก เพื่อน หรือคนรู้จัก จำนวน 1,523 คู่
โดยให้ทำแบบทดสอบ
ความคล้ายคลึงทางนิสัย ทัศนคติ ค่านิยม กิจกรรม
รวมถึงพฤติกรรมการดื่มและการใช้ยา เปรียบเทียบกับ
ระยะเวลาของความใกล้ชิดผูกพัน ผลปรากฏว่า
ร้อยละ 86 คู่รักมีแนวโน้มที่เหมือนกัน จึงเห็นได้ว่า
คนเรามักดึงดูดเข้าหาคนที่มีบุคลิก ลักษณะนิสัย และทัศนคติ
ที่ใกล้เคียงกันมากกว่าคนที่บุคลิกนิสัยตรงกันข้าม (Bahns et al., 2017)

 

          แม้แต่แอพพลิเคชั่นหาคู่ที่ได้รับความนิยมอย่าง
ทินเดอร์ (Tinder)
ยังจับคู่หนุ่มสาวโดยอิงจากความชอบ
ที่เหมือนกันจากโปรไฟล์เฟซบุ๊ก (Facebook profile)

          ส่วน eHarmony.com เว็บไซต์หาคู่ชื่อดังของ
สหรัฐอเมริกาเปิดเผยว่า การจับคู่คนโสดโดยนำข้อมูล
ความชอบและไม่ชอบที่คล้ายกันจากโปรไฟล์มาใช้
มักเป็นคู่ที่มีความสุข

         และยังมีงานวิจัยอื่นๆ อีกหลายชิ้นที่เนื้อหาสอดคล้องกัน
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า คนเรามักดึงดูดเข้าหาคนที่เหมือนกับเรา
มากกว่าคนที่มีความแตกต่างกัน

          อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่า
คู่รักที่มีนิสัยต่างขั้วไม่อาจอยู่ด้วยกันได้
ในชีวิตจริงยังมีอีกหลายๆ คู่ที่นิสัยไม่เหมือนกัน
ไลฟ์สไตล์ต่างกันแต่อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขและยั่งยืน
ยกตัวอย่างคู่รัก มาร์จีและไมเคิล เลนีย์ (Marti & Michael Laney)
ผู้เขียนหนังสือ The Introvert and Extrovert in Love:
Making It Work When Opposites Attract
เผยเคล็ดลับการใช้ชีวิตคู่ต่างขั้วที่ทำให้การสมรส
มีความสุขมายาวนานกว่า 42 ปี

 

          เคล็ดลับที่สำคัญคือ เข้าใจซึ่งกันและกัน เข้าใจธรรมชาติที่ต่างกัน
หากคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตคุณนั้นไม่เหมือนกันกับคุณ ก็อย่าเพิ่งปิดใจ

 

          เคล็ดลับในการมีชีวิตคู่ที่ดี คือ ความเข้าใจซึ่งกันและกัน
มีอะไรให้เปิดอกคุยกันและปรับตัวเข้าหากัน
หาจุดที่เหมือนกัน และทำกิจกรรมนั้นร่วมกัน
เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่แนบแน่น เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน
พอเวลาผ่านไปนานๆ คู่ที่ไม่เหมือนกันจะค่อยๆ ซึมซับ
และเหมือนกันเองทางใดทางหนึ่งโดยธรรมชาติ

 

 

หากเรารักกันมากพอ อุปสรรคต่างๆ ก็เป็นเพียงบททดสอบ
ให้เราสองคนรักกันมากขึ้น และผ่านพ้นอุปสรรคในชีวิตได้
รักแท้ชนะทุกสิ่งขอให้ทุกคนมีความสุขกับความรักค่ะ

 

Source:

  • Bahns, A. J., Crandall, C. S., Gillath, O., & Preacher, K. J. (2017). Similarity in relationships as niche construction: Choice, stability, and influence within dyads in a free choice environment. Journal of Personality and Social Psychology, 112(2), 329–355. doi: 10.1037/pspp0000088
  • Dijkstra, P., & Barelds, D. P. (2008). Do People Know What They Want: A Similar or Complementary Partner? Evolutionary Psychology, 6(4), 147470490800600. doi:10.1177/147470490800600406
  • Myers, D. G., & Twenge, J. M. (2017). Social psychology. New York, NY: McGraw-Hill.
  • Rammstedt, B., Spinath, F. M., Richter, D., & Schupp, J. (2013). Partnership longevity and personality congruence in couples. Personality and Individual Differences, 54, 832-835.