นินทานั้นสำคัญฉะนี้

คอลัมน์ : “จักรวาลแห่งความรัก ดาวเคราะห์แห่งความเหงา”
โดย : นพ.ปีย์ เชษฐ์โชติศักดิ์

 

 

ในสังคมนั้น (ไม่ใช่เฉพาะสังคมไทย) เราเห็นคนนินทากันอยู่เป็นปกติ แม้คุณจะบอกว่าคุณไม่มีนิสัยนินทา แต่การสนทนาในแต่ละวันของเราก็เกี่ยวข้องกับเรื่องของคนอื่นอยู่เป็นประจำ “เฮ้ย ไอ้นิดเป็นยังไงบ้างตอนนี้ ได้ข่าวว่ามันย้ายไปอยู่บริษัท A แล้วนะ” บทสนทนาทำนองนี้บางคนอาจไม่ได้คิดว่าเป็นการนินทา แต่ถ้าเรานิยามคำ “นินทา” ว่าเป็นการพูดถึงคนอื่นในทางไม่ดีลับหลัง วันหนึ่งๆ เราก็นินทากันไม่น้อยทีเดียว ผลการศึกษาของ ดร.Nicholas Emler พบว่า การสนทนาแต่ละวันของเรามักเป็นเรื่องของคนอื่นหรือเรื่องนินทาถึงร้อยละ 80 (มีเรื่องนินทาว่าร้ายอยู่ประมาณร้อยละ 5) แต่การนินทายังลามไปถึง เซเล็บ ดารา นักการเมือง ผู้มีชื่อเสียง ถึงกับมีการตั้งสำนักข่าว หรือออกหนังสือพิมพ์ แม็กกาซีน เพื่อเอาคนดังเหล่านี้มานินทา หารายได้เข้ากระเป๋า หรือแม้แต่พวกเราก็พร้อมจะไปฟอลโลว์ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ของเหล่าคนดังเพื่อติดตามและนินทาคนเหล่านั้นอย่างใกล้ชิด

 

เลยเกิดความสงสัยนะครับว่า ทำไมมนุษย์ถึงได้จริงจังกับการนินทามากขนาดนี้?

 

นักวิทยาศาสตร์ ดร.โรบิน ดันบาร์ เสนอว่า จริงๆ แล้วที่มนุษย์เป็นอย่างทุกวันนี้เพราะการนินทา เมื่อมนุษย์อยู่กันเป็นฝูงขนาดใหญ่ การพัฒนาภาษาของมนุษย์เกิดจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลของคนในเผ่าว่าใครทำอะไร ที่ไหน นิสัยเป็นอย่างไรจึงเป็นเรื่องสำคัญ เช่น การรู้ว่าไอ้แตงโมมันขี้โกง ชอบแกล้งป่วยเวลาจะออกล่าแมมมอธทุกที แต่พอได้เนื้อมาก็ทำทีตีสนิทขอกินด้วย เราจึงรู้ว่าไม่ควรแบ่งอาหารให้และควรอยู่ห่างไว้ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเราที่ส่งผลต่อการมีโอกาสอยู่รอดและสืบพันธุ์ได้มากขึ้น

 

ยีนชอบฟังเรื่องชาวบ้านจึงเป็นยีนที่มีประโยชน์ต่อการดำรงเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ และกลายเป็นนิสัยหลักอย่างหนึ่งของมนุษย์ตอนนี้ในที่สุด และเมื่อมันเกิดขึ้นมากในคนทุกรุ่น ความแตกต่างต่อการอยู่รอดแม้เพียงเล็กน้อยก็จะค่อยๆ มากขึ้น 

 

ถ้าเราไม่มีภาษา เราก็ต้องโดนไอ้แตงโมโกงก่อนถึงจะรู้ แต่ถ้าเรามีภาษาไว้สื่อสาร เราแค่ฟังประสบการณ์ที่คนอื่นถูกกระทำก็จะรู้ว่าควรวางตัวอย่างไรกับไอ้แตงโมดี ภาษาของมนุษย์ยุคแรกๆ ก็คงไม่ต่างจากภาษาของเด็กเล็กหัดพูด การพูดและทำความเข้าใจคงเป็นเรื่องลำบาก

 

แต่มนุษย์ที่สื่อสารได้ดี ใช้ภาษาได้เก่งกว่าคนอื่นๆ ย่อมมีความได้เปรียบในการเอาชีวิตรอด และแพร่พันธุ์ได้มากกว่า

 

ภาษาของมนุษย์จึงซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ตามสมองของเรา จนในที่สุดคำวิเศษณ์อย่าง “ขี้โกง” ก็เกิดขึ้น ถือเป็นเรื่องที่ปฏิวัติวงการสื่อสารของมนุษย์ เพราะคำเดียวก็สามารถอธิบายพฤติกรรมโดยรวมที่คนคนหนึ่งทำ โดยไม่ต้องเสียเวลาเล่า คำว่า “ขี้โกง” (และคำวิเศษณ์ที่ใช้อธิบายนิสัยของมนุษย์) เป็นคำที่ต้องใช้จินตนาการสูงทั้งผู้พูดและผู้ฟัง จึงน่าจะเกิดทีหลัง เมื่อสมองเรามีขนาดใหญ่พอจะประมวลผลเรื่องเหล่านี้ได้   

ภาษาของมนุษย์จึงเริ่มก่อรูปขึ้นอย่างช้าๆ จะเห็นได้ว่า รูปแบบประโยคของภาษาทั่วโลก ย่อมประกอบด้วย ประธาน (ใคร) กริยา (ทำอะไร) กรรม (กับใคร) ที่ไหน เมื่อไหร่ (เป็นส่วนขยาย) เหมือนกันทั้งหมด เพราะนั่นเป็นวิธีการใช้ภาษาเบื้องต้น หากเราอยากรู้ว่าคนยุคหินพูดกันอย่างไร ก็ลองฟังได้จากเด็กเล็กที่เริ่มหัดพูดคำง่ายๆ อย่างวัตถุหรือคนที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ตามด้วยกริยาต่างๆ ส่วนคำแสดงลักษณะต่างๆ เช่น ขี้โกง น่ารัก น่าเบื่อ ซึ่งต้องอาศัยจินตนาการ และเป็นนามธรรม จะอยู่รั้งท้าย เพราะต้องอาศัยการเรียนรู้และสมองที่ซับซ้อนกว่าเดิม

 

เมื่อการนินทามีผลต่อการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์เรามากขนาดนี้ ครั้งต่อไปที่คุณเจอคนขี้นินทาก็อย่าเพิ่งรำคาญเขานะครับ แต่คุณต้องขอบคุณเขาด้วยซ้ำที่ทำหน้าที่สำคัญของมนุษยชาติเพื่อให้เรายังมีชีวิตอยู่

 

 

อ้างอิง

https://www.dailymail.co.uk/sciencetech/article-1211863/Youll-guess–We-spend-80-cent-time-gossiping.html