เราคิดกับเธอ “แค่พี่น้อง”
ผมเชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ฟังคำเสียดแทงที่แสนขมขื่นนี้ และบางคนอาจมีคำนี้คาใจอยู่จนถึงตอนนี้ก็เป็นได้
แม้จะบอกว่าเป็น “พี่น้อง” ซึ่งดูเหมือนมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งผูกพัน แต่เอาเข้าจริงอีกฝ่ายไม่ได้ต้องการลึกซึ้งกับเอ็งโว้ย เข้าใจไว้ด้วย (อุ๊ย! อินไปหน่อย ขอโทษนะหากแทงใจดำใคร)
ผมไม่ได้เขียนเรื่องนี้เพื่อตอบคำถามว่า ทำไมคุณถึงไม่ได้เป็นแฟนกับเขาหรือเธอคนนั้น เพราะต่างคนต่างมีเหตุผลในการให้สถานะพี่น้องกับใคร
แต่ผมเขียนขึ้นเพื่อบอกว่า ทำไมเมื่อเราปฏิเสธการเป็นแฟน เราจึงจำกัดสถานะไว้แค่ “พี่น้อง” ไม่ใช่ลุงป้า น้าอา ลูกหลาน หมาแมว ไก่กา ฯลฯ (ที่จริงอีกคำที่เรามักถูกกำหนดให้เป็นคือเพื่อน แต่นั่นเป็นสถานะซึ่งเราเป็นอยู่แล้ว จึงละไว้ในฐานที่เข้าใจ) และทำไมคนที่กำหนดสถานะนั้นมักเป็นผู้หญิง ส่วนคนที่ถูกกำหนดบทบาทพี่น้องมักเป็นผู้ชาย
ผมขออธิบายด้วยทฤษฎี Natural selection หรือการคัดเลือกโดยธรรมชาติว่า
ทำไมชายหลายคนถึงได้กลายเป็นพี่น้องกันโดยไม่ทันตั้งตัว
เรื่องนี้เกิดขึ้นมาหลายล้านปี ก่อนที่เราจะใช้คำสรรพนามแทนตัวเองว่า Homo sapiens ด้วยซ้ำ
ในบรรดาสัตว์โลก สัตว์ตัวเมียขึ้นชื่ออยู่แล้วเรื่องความ choosy หรือช่างเลือก (ภาษาปากเรียกว่า “เยอะ” ครับ) เพราะสัตว์ตัวเมียนั้นรับภาระตั้งท้องและเลี้ยงดูลูกที่ตนให้กำเนิด งานแบบนี้ถือเป็นงานที่โคตรหนักและใช้พลังงานมหาศาล สัตว์ตัวเมียทั้งหลายเลยไม่อยากเสี่ยงให้ลูกที่เกิดมาพิกลพิการ เพราะฉะนั้นพวกเธอจึงพยายามเลือกพ่อพันธุ์ที่ดีที่สุด แข็งแรงที่สุด
และหนึ่งในสาเหตุที่ลูกจะเกิดมาไม่แข็งแรงคือ การที่ตัวเมียผสมพันธุ์กับญาติที่ใกล้ชิด ทั้งนี้เพราะญาติกับเรามักมียีนที่เหมือนหรือใกล้เคียงกัน รวมถึงยีนด้อยด้วย หากคุณยังจำได้ตอนเรียนกฎของเมนเดล เมื่อผสมถั่วเหลืองกับถั่วเหลืองย่อมได้ถั่วเหลือง (แน่นอนสิ มันจะออกมาเป็นถั่วเขียวได้ยังไง) ซึ่งไม่ใช่แค่สีถั่วเท่านั้น แต่หมายรวมถึงถ้ายีนด้อยกับด้อยมาเจอกัน ความด้อยก็จะแสดงออกมาให้เห็นจากภายนอก แต่ถ้ายีนด้อยมาเจอยีนเด่น ความเด่นก็จะกลบไว้
‘การสืบพันธุ์กันในหมู่เครือญาติสนิท จึงกลายเป็นเรื่องอันตรายแก่ลูก
และการดำรงเผ่าพันธุ์ของมนุษย์มาก’
ด้วยเหตุนี้ธรรมชาติจึงเลือกสรรให้มนุษย์เกิดความรังเกียจการสืบพันธุ์กันในหมู่ญาติสนิท เช่น พ่อ แม่ ลูก พี่ น้อง คนเราเลยเกิดความขยะแขยงขึ้นเองตามธรรมชาติ หากต้องมีเพศสัมพันธ์กับญาติสนิท และในสมัยก่อนเราอาจะไม่มีการสื่อสารตรงๆ ว่า ใครเป็นพี่น้องกับใคร (กระบวนนี้อาจเกิดขึ้นก่อนที่มนุษย์จะพูดได้ด้วยซ้ำ) ธรรมชาติเลยใช้วิธีง่ายๆ ว่า ถ้าเราโตมาพร้อมๆ กับเด็กคนไหน เด็กคนนั้นก็คงเป็นพี่น้องกับเรานั่นแหละ เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ควรจะไปมีอะไรกับเขา โอเคมั้ย
แม้เราจะไม่ได้อยู่ป่าแบบในยุคโบราณแล้ว คนที่โตมาพร้อมกับเราตอนเด็กๆ ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เป็นญาติกัน แต่สัญชาตญาณการไม่ชอบคนที่เติบโตมาด้วยกันก็ยังคงอยู่
ด้วยเหตุนี้เราจึงมักไม่ค่อยพบใครที่แต่งงานกับคนที่เรียนอนุบาลมาด้วยกัน หรือไม่ค่อยเกิดความรู้สึกปิ๊งปั๊งสนใจเพื่อนที่โตด้วยกันมาตั้งแต่เด็กสักเท่าไหร่ เพราะสมองเราถูกดีไซน์มาให้ “ไม่เป็นแฟนกับพี่น้อง”
คำว่า “พี่น้อง” จึงกลายเป็นคำที่บอกกลายๆ ว่า ฉันจะไม่มีวันเป็นแฟนกับเธอ (ไม่ได้แอ้มฉันแน่ๆ) ด้วยประการฉะนี้ (ขยี้ไปอีก)
ส่วนการที่ผู้หญิงมักเป็นฝ่ายกำหนดสถานะพี่น้อง เพราะโดยธรรมชาติผู้ชายมีความรังเกียจการสืบพันธุ์กับพี่น้องน้อยกว่าผู้หญิง
อย่างที่บอกไปว่า ผู้หญิงเป็นฝ่ายทุ่มเทมากในการสร้างทายาทสักคนเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ แต่ผู้ชายนั้นทุ่มเทน้อยกว่า ผู้ชายก็เลยมักเป็นฝ่าย “ยอม” ให้ผู้หญิงกำหนดขอบเขตความสัมพันธ์เรื่อยมา (ผู้ชายนี่น่าสงสารจริงๆ นะครับ)
ด้วยเหตุนี้เราเลยต้องทุกข์ทรมานกับคำว่า “พี่น้อง” นี้ไปอีกนาน ฝันดีครับ “พี่น้อง”
คอลัมน์ “จักรวาลแห่งความรัก ดาวเคราะห์แห่งความเหงา”
โดย นพ.ปีย์ เชษฐ์โชติศักดิ์
Hug magazine ปีที่ 12 ฉบับที่ 7
ปก: ใบเฟิร์น อัญชสา