คอลัมน์ ‘พาหัวใจไปเที่ยว’

เรื่อง: น้องฟาง

     เส้นทางลึกเข้าไปจากถนนสายน่าน-ทุ่งช้าง คดเคี้ยวลัดเลาะไปบนถนนลูกรังขนาดกว้างพอดีกับตัวรถ เสียงคนขับตะโกนบอกเราว่า ถึงจุดหมายปลายทาง “บ้านห้วยพ่าน” หมู่บ้านในตำบลเปือ อำเภอเชียงกลาง อำเภอที่เล็กที่สุดของจังหวัดน่าน ทริปของเราจึงเริ่มต้นขึ้น

     ผู้ใหญ่บ้าน “ธวัชชัย ใจปิง” แนะนำให้เรารู้จักกับ “โชค” เจ้าควายร่างอวบเสมือนยักษ์ใหญ่ ที่ต้อนรับอยู่ด้านหน้า ช่างน่าเอ็นดู ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่เป็นชาวลัวะ ที่แต่เดิมตั้งถิ่นฐานบริเวณภูดอยแถบต้นแม่น้ำน่าน จนเมื่อ พ.ศ.2514 เกิดเหตุการณ์สู้รบระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับรัฐบาลไทย ส่งผลให้ชาวบ้านต้องอพยพหนีภัยสงคราม กระทั่งมาถึงพื้นที่ระหว่างหุบเขาริมน้ำน่าน จึงก่อตั้งชุมชนบ้านห้วยพ่านตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

     ผู้ใหญ่พาข้ามสะพานแขวนข้ามแม่น้ำน่าน ที่น่าจะมีไม่เกิน 5 แห่งในประเทศ แลนด์มาร์คสำคัญอันเป็นทางเข้าออกหลักของหมู่บ้าน ความกว้างของสะพานเท่ากับรถ 1 คัน ทุกก้าวที่เหยียบลงบนสะพานที่มีสายสลิงยึดโยงมาจากเสาบนฝั่ง โดยไม่มีเสาปักลงในน้ำ สะพานแกว่งไกวพาให้ใจตื่นเต้น ข้างใต้เป็นแม่น้ำมีน้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา เปรียบเสมือนลมหายใจของชาวห้วยพ่าน เป็นเส้นเลือดสายใหญ่ที่ไหลลงมาตามสันเขา เป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค ลำน้ำน่านเป็นทุกอย่างให้เธอในชุมชนนี้แล้วจริงๆ ไม่แปลกใจเลยที่ชาวบ้านห้วยพ่านนั้นรักและหวงแหนลำน้ำสายนี้เป็นอย่างมาก

 

     ที่ตั้งของชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์ มีน้ำ มีป่า มีแหล่งอาหารเป็นของตัวเองเปรียบเสมือนคลังอาหาร ลืมตาตื่นขึ้นมา ถ้าท้องหิวก็เข้าป่าหาอาหาร เมนูพิเศษตำรับชาวห้วนพ่านคือ “หลามป๊า” หรือแกงปลาในกระบอกไม้ไผ่ ที่อุดมด้วยคุณค่าทางอาหารแต่กรรมวิธีไม่ซับซ้อน กระเพาะส่งเสียงร้องด้วยความหิว พร้อมมื้อกลางวันในสำรับกลางป่าแบบฉบับชาวห้วยพ่าน ที่มีผืนป่าเป็นคลังวัตถุดิบที่มีสิ่งต่างๆ ให้เลือกสรรมากมาย

 

     ชาวบ้านที่นี่ทำนาเป็นอาชีพหลัก เห็นได้จากบ้านทุกหลังจะมียุ้งข้าวอยู่ข้างๆ เสมอ เมื่อถึงฤดูกาลปักดำหรือเก็บเกี่ยว ชาวบ้านจะมารวมตัวช่วยกันเวียนทำจนครบทุกแปลง บรรยากาศในวันเกี่ยวข้าว เหมือนงานรื่นเริงเล็กๆ ข้าวปลาไม่ขาด เจ้าของนาคอยเลี้ยงดูปูเสื่อเป็นอย่างดี แปลงนาผืนน้อยใหญ่กลายเป็นสนามเด็กเล่นของเด็กๆ เลียนแบบผู้ใหญ่ จนเกิดเป็นความคุ้นเคยและชำนาญ กระทั่งซึมซับเป็นวิถีชีวิตในที่สุด

 

     ด้วยธรรมชาติที่สมบูรณ์ วิถีชีวิตที่คงไว้ซึ่งความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม ประกอบกับแนวคิดของผู้นำด้านการศึกษาที่ก้าวหน้าเพื่อเยาวชนในชุมชน เพื่อบ่มเพาะให้คนในชุมชนเติบโตได้ด้วยตนเองท่ามกลางทรัพยากรที่ชุมชนมีอย่างยั่งยืน ให้ชุมชนบ้านห้วยพ่านเป็นชุมชนท่องเที่ยวตัวอย่างแห่งหนึ่งของจังหวัดน่าน วิถีอันแสนเรียบง่ายนี้ยังช่วยให้เราได้เรียนรู้การใช้ชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่งด้วย.