ขี้เหวี่ยงหรือแค่เหงา

__________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________

 

ในชีวิตของคุณผู้อ่านคงหนีไม่พ้นการต้องเจอมนุษย์ประเภทที่เอาแต่ใจตัวเอง จุ้นจ้าน เรื่องเยอะ ชอบข่ม วีนเหวี่ยง และถากถางคนอื่นเป็นกิจวัตร จนสร้างมลพิษทางใจให้แก่เรายิ่งนัก

หากคนนั้นอยู่ที่โรงเรียน เขาก็คือสาเหตุที่เราไม่อยากไปเรียนหนังสือ หรือหากคนนั้นอยู่ที่ทำงาน เขาก็คือสาเหตุที่เราไม่อยากตื่นตอนเช้าไปทำงานนั่นแหละ คนพวกนี้มักดูเหมือนไม่สำนึกว่าตัวเองถูกคนรอบข้างเหม็นเบื่อจนไม่อยากเข้าใกล้ หนำซ้ำเดินกระหยิ่มยิ้มย่อง มีความสุขไปเรื่อย คล้ายกับว่าความเบื่อหน่ายของผู้อื่นคืออาหารจานโปรดของเขาก็ไม่ปาน

และก็คงมีสักครั้งที่คุณอดคิดไม่ได้ว่า

 

“ทำไมถึงเกิดมาเป็นคนแบบนี้วะ?”

“ชาติที่แล้วคงทำบาปมาเยอะ”

“พ่อแม่ไม่สั่งสอนเหรอ”

“สมองคงทำงานผิดปกติสินะ”

 

แหม อย่าเพิ่งให้ความโกรธเข้าครอบงำครับ เรามาใช้เหตุผลและวิทยาศาสตร์เพื่อเรียนรู้อย่างเข้าใจถึงความขี้เหวี่ยงกันดีกว่า

ดร.จอห์น ที. แคชออปโป (John T. Cacioppo) นักจิตวิทยาด้านประสาทวิทยาสังคม (Social Neuroscience) ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องจิตวิทยาความเหงา อธิบายไว้ว่า จริงๆ แล้วคนที่นิสัยไม่ดีดังเช่นที่เราเจอนั้น อาจจะเกิดจากการที่เขาคนนั้น “เหงา” มากก็ได้

แต่ปกติคนเหงาก็น่าจะต้องเก็บตัวอยู่บ้าน ร้องไห้ในตู้เสื้อผ้า กินชาบู ปั่นเรือเป็ดคนเดียว อะไรแบบนั้นไม่ใช่เหรอ แต่คนที่ดูไม่แยแสว่าใครจะรู้สึกยังไง คนแบบนี้เนี่ยนะ เหงา

ใช่แล้วครับ เขาเหงามากด้วย ดร.แคชออปโป อธิบายอาการของคนเหงาที่คนทั่วไปมักไม่รู้ไว้อย่างนี้ครับ

 

 

“ความเยอะ”

จากการทำ fMRI สแกนสมองของคนเหงา พบว่าสมองส่วน temporo-parietal junction ซึ่งทำหน้าที่รับรู้และเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นนั้นทำงานด้อยกว่าสมองส่วนนี้ของคนปกติ หมายความว่าสมองของคนเหงานั้นโฟกัสเรื่องของตัวเองเป็นหลัก “ฉันต้องการอย่างนั้น” “ฉันจะเอาอย่างนี้” “ฉันต้องได้มันเดี๋ยวนี้” โดยขาดความคิดยับยั้งชั่งใจ (เช่น ถ้าฉันขอสิ่งนี้ คนนั้นจะลำบากมั้ย เขาจะรู้สึกยังไง)

คน “เหงา” เลยกลายเป็นคน “เยอะ” ไปได้ง่ายๆ

 

 

“ขี้วิจารณ์และชอบถากถาง

 

ความเหงาทำให้สมองส่วนหน้าซึ่งเป็นสมองส่วนเหตุผลของเราทำงานน้อยลง เนื่องจากในยามรู้สึกเหงา เราจะอยู่ในสภาวะ survival mode หรือโหมดหนีตาย ซึ่งจะเป็นช่วงที่สมองส่วนเหตุผลทำงานน้อยที่สุด

 

สาเหตุที่ความเหงาทำให้เราอยู่ในโหมดนี้ก็เพราะ เมื่อครั้งมนุษย์อาศัยอยู่ในป่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องการฝูงและเป็นสัตว์ที่อ่อนแอมากเมื่อเทียบกับสัตว์นักล่าต่างๆ เราไม่มีเขี้ยวเล็บ วิ่งก็ช้า กระโดดก็ไม่ไกล ปีนต้นไม้ก็ไม่เก่ง ว่ายน้ำก็ไม่เร็ว บินก็ไม่ได้ สาเหตุเดียวที่เรากลายเป็นสัตว์ที่อยู่จุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารก็เพราะว่า เราอยู่กันเป็นฝูง สัตว์นักล่าจึงไม่กล้ามาตอแย เพราะฉะนั้นในอดีต หากเราถูกอัปเปหิออกจากฝูง นั่นคือช่วงเวลาที่ชีวิตอันตราย อาจมีเสือหรือสิงโตมาคาบเราไปกินตอนไหนก็ไม่รู้ เวลาที่เราถูกตัดขาดจากมนุษย์คนอื่นๆ (หรือเหงา) เราจึงจำเป็นต้องปรับตัวด้วยการใช้ survival mode ซึ่งเป็นโหมดที่แทบไม่ใช้ความสามารถในการคิดหรือใช้เหตุผลอะไร (แต่เป็นโหมดที่พร้อมสำหรับการหนีหรือสู้ได้อย่างดี)

จากการวิจัยพบว่าสมองส่วนเหตุผลของคนไม่เหงาจะเฟรชกว่าคนเหงาถึงเกือบ 10 ปี

เนื่องจากคนเหงาไม่สามารถมองอะไรผ่านสมองส่วนที่ใช้เหตุผลได้ดี พวกเขาจึงมักจะเห็นแต่แง่มุมแย่ๆ ของคนอื่นจากอคติของตัวเอง เป็นเหตุให้คนเหงาชอบวิจารณ์ถากถางชาวบ้านชาวช่องไงล่ะ

รู้อย่างนี้แล้วก็สงสารเขาบ้างนะครับ เพราะเขาไม่ได้ตั้งใจนิสัยไม่ดี เขาแค่เหงาน่ะ

 


คอลัมน์ “จักรวาลแห่งความรัก ดาวเคราะห์แห่งความเหงา”
โดย นพ.ปีย์ เชษฐ์โชติศักดิ์
Hug magazine ปีที่ 12 ฉบับที่ 6
ปก: กิ๊ฟ สิรินาถ