“กรดไหลย้อน”ภัยร้ายกว่าที่คิด

ร่างกายของเราและโรคกรดไหลย้อน

ตามปกติแล้วเมื่อเรารับประทานอาหารเข้าไป อาหารจะผ่านจากช่องปากลงสู่หลอดอาหาร กล้ามเนื้อหลอดอาหารจะบีบไล่อาหารจากบนลงล่าง ที่ปลายทางมีหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างที่คอยปิดเปิดทางเข้าของกระเพาะอาหาร แต่หากหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างหลวม คลายผิดจังหวะ หรือมีแรงดันในช่องท้องสูง น้ำย่อยที่อยู่ในกระเพาะก็จะไหลขึ้นมาก่อให้เกิดอาการของโรคกรดไหลย้อนได้

 

* อาการของโรคกรดไหลย้อน แบ่งเป็นอาการที่เกิดกับหลอดอาหารโดยตรงและอาการที่เกิดนอกหลอดอาหาร

 

อาการที่เกิดกับหลอดอาหารโดยตรง

  • อาการแสบร้อนอก อาการนี้เป็นอยู่ข้างในช่องอกตั้งแต่ระดับลิ้นปี่ กลางอก จนถึงลำคอและปาก รู้สึกแสบร้อนเล็กน้อยจนถึงอึดอัดเจ็บ
  • กลืนลำบาก กลืนอาหารลงสู่กระเพาะได้ช้าหรือฝืดกว่าปกติ คล้ายมีก้อนติดในลำคอเวลากลืน
  • เรอขย้อน  เป็นการเอาสิ่งที่อยู่ในกระเพาะอาหารขึ้นมาในลำคอ อาจจะเป็นเรอเปรี้ยวหรือเรอขม
  • เจ็บหน้าอก  เจ็บแน่นอึดอัด หายใจไม่คล่อง จนแยกไม่ได้จากอาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

 

อาการที่เกิดกับอวัยวะนอกหลอดอาหาร

  • เจ็บคอ น้ำย่อยที่ขึ้นมาที่ลำคอก่อความระคายเคืองแก่ลำคอและด้านหลังโพรงจมูกได้ ผู้ป่วยอาจเจ็บคอในตอนเช้า เสียงแหบ หรือมีเสมหะน้ำลายออกมาก
  • ไอเรื้อรัง เกิดจากน้ำย่อยก่อการระคายเคืองบริเวณลำคอ กล่องเสียงหรือหลอดลม จนกระตุ้นการไอ
  • เคลือบฟันผุกร่อน  กรดที่ขย้อนขึ้นมาจะทำให้เคลือบฟันสึกกร่อนได้ มักเกิดกับฟันกรามซี่ในสุดเนื่องจากเป็นฟันที่มีโอกาสสัมผัสกับกรดไหลย้อนในตอนกลางคืนมากที่สุด
  • หอบหืด  อาจเกิดจากการกระตุ้นหอบหืดผ่านทางเส้นประสาทของหลอดอาหาร หรือการสำลักน้ำย่อยลงหลอดลม

 

 

ปัจจัยเสี่ยงและสิ่งกระตุ้น

  • มีแรงดันจากช่องท้องมากขึ้น เช่น ในหญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่น้ำหนักตัวมาก หรือการใส่ชุดที่รัดบริเวณท้องแน่น
  • โรคหรือภาวะที่ส่งผลต่อการทำงานของบริเวณหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง เช่น ในผู้ที่มีโรคไส้เลื่อนกระบังลม 
  • การรับประทานอาหารแล้วเข้านอนทันทีโดยเฉพาะการนอนราบ
  • การรับประทานอาหารที่ใช้เวลาย่อยนาน เช่น อาหารมัน หรืออาหารปริมาณมากๆ ในกระเพาะอาหารจึงมีน้ำย่อยอยู่นานขึ้น มีโอกาสที่กรดจะไหลย้อนได้ง่ายขึ้น
  • อาหารหรือยาบางชนิด ตัวกระตุ้นที่พบได้บ่อยๆ มีหลายชนิดเช่น กาแฟ ชา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลไม้ตระกูลส้มมะนาว อาหารที่เผ็ดจัดเปรี้ยวจัด บุหรี่ 

 

อันตรายจากโรคกรดไหลย้อน

โดยมากแล้วกรดไหลย้อนที่เกิดขึ้นนานๆ ครั้งมักไม่เป็นอันตรายรุนแรง แต่ถ้าเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนานแล้วละก็ อาจก่อให้เกิดความผิดปกติของทางเดินอาหาร ได้แก่ การเกิดแผลในหลอดอาหาร จนเกิดอาการกลืนเจ็บหรือเลือดออกในหลอดอาหาร หลอดอาหารตีบแคบ จนเกิดอาการกลืนลำบาก หรือการเกิดหลอดอาหารบาร์เรตต์ที่มีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อหลอดอาหารซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งมากกว่าคนปกติ

 

การรักษา

  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและจัดการปัจจัยเสี่ยง เป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ก่อนจะไปพบแพทย์ เริ่มตั้งแต่การรับประทานอาหารแต่พอดี ไม่อิ่มจนเกินไป หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแล้วเข้านอนทันที หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง สังเกตชนิดอาหารที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการและหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านั้น
  • การใช้ยา ยาที่ใช้รักษาโรคกรดไหลย้อนมีหลายชนิด ได้แก่ ยาควบคุมการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ลดความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร และยาลดอาการแสบร้อนที่ทำหน้าซึ่งเคลือบทางเดินอาหารขณะที่กรดกำลังย้อนขึ้นมา
  • การผ่าตัด ใช้ในกรณีที่รักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผลหรือมีข้อห้ามในการใช้ยา

 

โรคกรดไหลย้อนถือเป็นปัญหาที่พบได้มากขึ้นเรื่อยๆ แม้ส่วนใหญ่จะไม่เป็นอันตรายรุนแรง แต่ก็สามารถรบกวนจนคุณภาพชีวิตของเราเสียได้ หากเริ่มมีอาการควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตลดละปัจจัยเสี่ยง และถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นก็ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา